จำได้ไหมว่าคุณรู้จักไฟตั้งแต่เมื่อไหร่? แล้วตอนแรกที่เห็นไฟคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง? สำหรับผมจำได้ชัดเจนว่า ตอนเด็กๆ เห็นไฟครั้งแรกแล้วรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะที่บ้านชอบจุดไฟทำอาหารปิ้งย่างกินเป็นมื้อเย็นอยู่บ่อยๆ เมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน ถ้าไม่นับความสว่างจากหลอดไฟ เห็นจะมีแต่แสงจากไฟนี่แหละที่ชวนหลงใหลทุกครั้งที่ได้มอง เปลวไฟพลิ้วไหวไปตามแรงลมที่พัดมากระทบคล้ายว่ามันมีชีวิตเป็นของตัวเอง รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ได้ยินเสียงเรียกจากผู้ใหญ่ว่าไม่ให้เข้าไปยืนใกล้ไฟ การโดนดุเพราะชอบเอาไม้เขี่ยไฟเล่นจึงแทบเป็นสิ่งคุ้นชินในวัยเด็กของผมก็ว่าได้ (ผู้ใหญ่เองก็คงเบื่อหน่ายกับความซนและดื้อด้านของผมเหมือนกัน)
จากนั้นไม่นานความอยากรู้อยากลองได้เรียกร้องให้ผมแอบจุดไฟเล่นเองบริเวณหลังบ้านในมุมหนึ่งที่ความเป็นเด็กคิดว่าลับสายตาผู้ใหญ่ ผมใช้อุปกรณ์ไม่กี่อย่าง เช่น ก้านไม้ขีด ปืนจุดไฟ และเทียน เมื่อจุดไฟติดผมเริ่มเล่นสนุก เศษกระดาษ ใบไม้ เปลือกลูกอม หนังยาง ไม้ลูกชิ้น และสิ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อยเท่าที่หามาได้อีกนับไม่ถ้วน ถูกนำมาลองจุดไฟทั้งหมด โดยเฉพาะหลอดพลาสติก ทันทีที่จ่อเข้าไปโดนความร้อนของไฟมันจะขดและหดสั้นอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งส่งกลิ่นฉุนจนต้องวิ่งหนี กลิ่นนี้เองที่ลอยไปแตะจมูกผู้ใหญ่ในบ้านจนรู้สาเหตุ ผมถูกอบรมชุดใหญ่ หมดสิ้นเวลาแห่งความสนุกโดยสมบูรณ์ เป็นวีรกรรมวัยเด็กที่จำได้ไม่เคยลืม คิดถึงเรื่องนี้ทีไรก็อดขำไม่ได้ทุกที
แต่สำหรับบางคนก็อาจขำไม่ออก ถ้าความคลั่งไคล้และความชอบเล่นกับไฟนั้นไม่ได้เกิดจากความใคร่รู้อย่างเด็กที่ยังไร้เดียงสา แต่เกิดจากแรงกระตุ้นหรือสิ่งยุยั่วบางอย่างที่เก็บลึกอยู่ภายในใจจนทำให้คนคนนั้นไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้จุดไฟเผาได้ ความบกพร่องในการควบคุมตัวเองทั้งด้านอารมณ์และพฤติกรรมเช่นนี้คืออาการป่วยทางจิตที่เรียกว่า Pyromania
จากพฤติกรรมลักลอบวางเพลิงในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส สู่ความสงสัยให้จิตแพทย์หาสาเหตุที่แท้จริง
ย้อนกลับไปในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ในตอนนั้นมีคนจำนวนหนึ่งลักลอบวางเพลิง (arson) ตามสถานที่ต่างๆ จนถูกเหมารวมว่าคนเหล่านี้ทำไปเพราะมีเป้าหมายคือตั้งใจก่อความวุ่นวายและสร้างความเสียหายเพื่อผลประโยชน์บางอย่างซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สงบของเหตุบ้านการเมืองในขณะนั้น ทางการฝรั่งเศสเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกหัวรุนแรง หากปล่อยเอาไว้จะทำให้เกิดปัญหาไม่จบสิ้นตามมา จึงหมายหัวคนที่ลักลอบวางเพลิงขั้นเด็ดขาดโดยลงโทษประหารชีวิตทุกกรณี ทำให้ผู้ลักลอบวางเพลิงบางส่วนถูกประหารด้วยการเผาทั้งเป็นอย่างโหดร้าย
ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มสงบลงและกลับสู่ภาวะปกติ จนกระทั่งเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 19 แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบวางเพลิงอยู่บ้างประปราย ในตอนนั้นเอง Charles Chrétian Henry Marc จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสคนแรกที่สนใจศึกษาพฤติกรรมของคนที่ลงมือลักลอบวางเพลิง เขาสงสัยว่าทำไมคนถึงกล้าจุดไฟเผาสิ่งต่างๆ โดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี จึงพยายามหาคำอธิบายของการกระทำที่ดูเป็นภัยเหล่านี้ จนสรุปได้ว่าเป็นรูปแบบพฤติกรรมที่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปจนผิดปกติ และตั้งชื่อเรียกอาการนี้ในปี 1833 ว่า Monomania Incendiare (ถอดความเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ Insane Incendiarism หมายถึง การก่อความไม่สงบด้วยวิธีวางเพลิงซึ่งกระทำไปเพราะความผิดปกติทางจิต) ต่อมาในปี 1845 Jean Etienne Esquirol จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสพยายามศึกษาอาการนี้ต่อ และอธิบายอาการเพิ่มเติมว่าไม่ใช่แค่หมกมุ่นอยู่กับไฟเท่านั้น แต่ยังต้องมีความปรารถนาลึกๆ ที่จะจุดไฟเผาบางสิ่งบางอย่างด้วย
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาการลักลอบวางเพลิงกลับถูกนำไปเชื่อมโยงกับความวิกลจริต (insanity) ของอารมณ์หรือพฤติกรรมวิปริตที่มีฐานความคิดเรื่องศาสนาและศีลธรรมทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง จนถูกมองว่าต้องอาศัยความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนามาเยียวยาอาการ หรือไม่ก็อาจจะรักษาไม่ได้ด้วยซ้ำ ขณะที่แนวทางด้านการแพทย์กลับถูกตีตราว่าเป็นความสิ้นหวังสำหรับการรักษาความผิดปกตินี้
ในเวลาเดียวกัน หลัง Charles Chrétian Henry Marc ตั้งชื่อเฉพาะเพื่อใช้เรียกพฤติกรรมลักลอบวางเพลิงในฝรั่งเศส แวดวงจิตเวชในสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับอาการชอบจุดไฟมากขึ้น โดย Isaac Ray จิตแพทย์ชาวอเมริกัน คือคนแรกในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มศึกษาอาการนี้ เขาได้เขียนหนังสือ A Treatise on the Medical Jurisprudence of Insanity และตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1838 ซึ่งเป็นตำราภาษาอังกฤษเล่มแรกว่าด้วยความเกี่ยวข้องกันระหว่างอาการจิตเวชและการกระทำผิดกฎหมาย
ความสำคัญของตำราเล่มนี้คือได้บัญญัติคำว่า Pyromania ขึ้นเป็นครั้งแรก pyr มาจากรากภาษากรีก หมายถึง ไฟ ส่วน mania คือ การบ้าคลั้งในบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้น Pyromania จึงหมายถึง อาการคลั้งไคล้ไฟ เพื่อใช้อธิบายการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบใดๆ หลังจากจุดไฟเล่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางจิต เพราะในสหรัฐอเมริกาก็ประสบปัญหาไฟไหมจากการถูกลอบวางเพลิงเป็นประจำ แต่กว่าจะมีเกณฑ์วินิจฉัยอาการ Pyromania ก็ล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 20
จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวของ Pyromania เมื่อความอยากอยู่เหนืออำนาจที่ใจจะควบคุมได้
ระหว่างปี 1940-1960 Nolan D.C. Lewis และ Helen Yarnell ร่วมกันศึกษา Pyromania อย่างจริงจัง จนสามารถรวบรวมข้อมูลและสถิติใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกตินี้ แล้วตีพิมพ์เป็นหนังสือว่าด้วยอาการชอบจุดไฟโดยเฉพาะ ซึ่งพวกเขาตั้งชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า Pathological Firesetting (Pyromania) และออกเผยแพร่ในปี 1951 หลังจากนั้นเพียงปีเดียว สมาคมจิตแพทย์อเมริกันจึงบรรจุ Pyromania ลงในคู่มือมาตรฐานสำหรับวินิจฉัยโรคจิตเวชฉบับแรก (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ถือเป็นการจุดไฟให้ Pyromania เด่นชัดขึ้นจนได้รับความสนใจมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่อุปสรรคสำคัญของการศึกษาอาการชอบจุดไฟเผาคือ จำนวนคนชอบลับลอบวางเพลิงที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น Pyromania จริงๆ นั้นมีน้อย จนทำให้ Pyromania กลายเป็นความผิดปกติที่พบได้ยาก (rare disorder) ผลการศึกษาของ Nolan D.C. Lewis และ Helen Yarnell จึงถือเป็น landmark study หรือการศึกษาที่วางรากฐานสำคัญให้กับการศึกษาใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เกณฑ์การวินิจฉัยฉบับปรับปรุงล่าสุดในปี 2013 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการ Pyromania หรือ Pathological Fire-Setting ไว้ว่า เป็นพฤติกรรมผิดปกติของคนที่ชอบจุดไฟเผาสิ่งของต่างๆ เล่น ซึ่งเป็นอาการในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorder) เพราะไม่สามารถควบคุมการกระทำของตัวเองให้อยู่ในร่องในรอยได้ จนเกิดพฤติกรรมที่สร้างปัญหาต่อตัวเอง และอาจรวมถึงคนอื่นหรือสิ่งอื่นด้วย
ลักษณะเฉพาะของ Pyromania คือผู้ป่วยจะต้องมีความตั้งใจและจงใจวางเพลิงหลายครั้งหลายหน แต่ไม่ถึงขั้นวางแผนล่วงหน้า และต้องไม่ได้เกิดจากอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา อาการประสาทหลอน (Hallucination) และอาการหลงผิดไม่อยู่กับความเป็นจริง (Delusion) ก่อนลงมือจุดไฟ ผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกเครียด เป็นกังวล แสดงอาการหรืออารมณ์ตื่นเร้าออกมาชัดเจน หลังจากจุดไฟติดแล้ว ผู้ป่วยจะให้ความสนใจหรือมีความอยากรู้อยากเห็นไฟที่ตัวเองเป็นคนจุด เพราะจะทำให้มีความสุขพึงพอใจ และรู้สึกผ่อนคลาย ขณะเฝ้าดูเปลวไฟกำลังลุกไหม้ แต่จะเกิดความรู้สึกผิดในการกระทำตามมา จนเกิดเป็นความละอายใจในตอนท้าย
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่า Pyromania แตกต่างจากการลักลอบวางเพลิงคือ ต้องเป็นการจุดไฟเพื่อสนองความอยากของตัวเองล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับแรงจูงใจหรือจุดประสงค์อื่นแอบแฝง โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมือง หรือสร้างความเสียหายแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินของคนอื่น
ประสบการณ์รุนแรงในวัยเด็ก สร้างบาดแผลและปมในใจให้กลายเป็นผู้ป่วยชอบจุดไฟเล่น
แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากผลการศึกษาจำนวนมากซึ่งค้นประวัติผู้ป่วย Pyromania วัยผู้ใหญ่ย้อนหลังไปถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก กลับพบจุดร่วมเหมือนกันคือเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ และถูกเพิกเฉย (neglect) หรือขาดพ่อแม่และคนในครอบครัวที่พึ่งพิงได้ยามเกิดปัญหา เมื่อถูกกลั่นแกล้งและรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะไม่มีเพื่อนคบ รวมทั้งมีพฤติกรรมแปลกแยกและต่อต้านสังคม เช่น เคยหนีออกจากบ้าน เคยประกอบอาชญากรรม และยังพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) และภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) อีกด้วย
สาเหตุทั้งหมดนี้สร้างบาดแผลให้ชีวิตและก่อปมในใจจนทำให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่คลั่งไคล้การจุดไฟเพื่อระบายความเครียดในใจที่ไม่มีวันจบสิ้น อาการชอบจุดไฟเล่นยังพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จากผลสำรวจชาวอเมริกัน 9,282 คน ในปี 1998 พบว่า จำนวนคนที่ป่วยเป็น Pyromania มีผู้ชายถึง 90% แต่ปัจจุบันคนที่ป่วยด้วยอาการนี้จริงๆ กลับมีแนวโน้มพบน้อยลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้การศึกษาหาสาเหตุ อาการและวิธีการรักษากลายเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับแนวทางการรักษา ส่วนใหญ่จะใช้จิตบำบัดร่วมกับการปรับพฤติกรรม โดยเน้นการฝึกผ่อนคลายความเครียดและความกังวลใจเป็นหลัก ระยะเวลาและผลการรักษาจึงขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสาเหตุ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ความต่อเนื่อง และการออกแบบวิธีการบำบัดเฉพาะตามสาเหตุและความเป็นมา เพราะ Pyromania เป็นอาการเรื้อรังที่ค่อยๆ สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก กว่าจะได้รับการตรวจพบและเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาก็ล่วงเลยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว
ความจริงอาการอยากรู้อยากลองจุดไฟเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเหมือนที่ผมได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเองในช่วงต้นของบทความ เมื่อโตขึ้นและเริ่มเรียนรู้ความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น อาการเช่นนี้จะลดลงตามอายุเมื่อเข้าใจถึงอันตรายของไฟ แต่สำหรับผู้ป่วย Pyromania จะยังคงความชอบไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นเพียงวิธีเดียวที่เขาเลือกแสดงออกเพื่อระบายความเครียดและความกังวลใจจากเรื่องราวในอดีตให้บรรเทาลง แม้จะช่วยเยียวยาได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม
References:
- https://psychiatryonline.org/doi/10.1176/appi.ajp-rj.2016.110707
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pyromania
- http://jaapl.org/content/40/3/355#ref-54
- www.psychologytoday.com/us/conditions/pyromania
- หนังสือ Current Perspectives on Sex Crimes, 3rd edition (2002) โดย Ronald M. Holmes, Stephen T. Holmes