Social Conflict | ‘ถ้ากูไม่ได้ มึงก็ต้องไม่ได้’ จากความขัดแย้งสู่การแก้แค้นสุดแสนเจ็บปวดและย่อยยับ

“ทีตอนนั้นอีกฝ่ายยังทำได้ ดังนั้นถ้าจะทำเหมือนกันก็ไม่ถือว่าผิด”

 

“ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย”

 

รูปประโยคคุ้นหูที่ฟังแวบแรกอาจดูเข้าท่า แต่เมื่อคิดทบทวนไปมาให้ดีจะรู้ว่าตรรกะพังพินาศ แล้วในความพังๆ นี่แหละที่สะท้อนให้เห็นความจริงที่ดำมืด เพราะเมื่อผู้คนในสังคมรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาเหล่านั้นจึงรู้สึกคับแค้นใจมากพอที่จะลงมือล้างแค้นด้วยตัวเอง

     สังคมสองมาตรฐาน (double standard) จึงสร้างความขัดแย้ง (social conffllict) ให้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่ว่าใครก็ตามหากได้ขึ้นมามีอำนาจ จะเกิดการล้างแค้นอีกฝ่ายโดยอ้างความยุติธรรมเสมอ และความน่ากลัวของการแก้แค้นคือทุกคน ทุกฝ่าย ยอมจ่ายไม่ว่าจะด้วยราคาใด เพื่อแลกกับการเอาคืนอย่างสะใจ และไม่สนด้วยว่าการแก้แค้นครั้งนั้นจะนำไปสู่ความเสียหายย่อยยับให้ใครบ้าง เพราะถ้าการทำให้ฝ่ายตรงข้ามฉิบหาย ต้องแลกมาด้วยความฉิบหายแก่ตนเองอย่างเสมอกัน …ก็ยอม

 

จากสองมาตรฐานสู่ความขัดแย้งในฐานะชนวนที่นำไปสู่จุดแตกหัก

     สองมาตรฐาน คือความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติโดยตั้งอยู่บนความรู้สึกอคติที่ชอบพอกันเป็นพิเศษ (favouritism) โดยเฉพาะชนชั้นทางสังคมและยศฐาบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์โดยตรง จนทำให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียพยายามหาหนทางเพื่อปกป้องคุณลักษณะที่สร้างความชอบพอเหล่านี้ไว้โดยไม่สนว่าสิ่งที่ทำนั้นขัดกับหลักคุณธรรม รวมถึงหลักการเรื่องความเสมอภาค (equity) และความเท่าเทียม (equality) ด้วย ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกลับคืนมา

     โดยทั่วไปแล้ว ความขัดแย้งเป็นความคิดที่ไม่ลงรอยระหว่างบุคคล กลุ่มคน หรือฝ่ายข้าง แต่เมื่อค้นให้ลึกลงไปจะพบว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งคือการเข้ากันไม่ได้ของพฤติกรรมหรือเป้าหมาย (รวมถึงความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์) ที่แต่ละฝ่ายยึดถือ ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเกรงกลัวต่อความอยุติธรรม การสูญสิ้นอำนาจต่อรอง การสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างที่หวังได้หรือครอบครอง และเป็นผลมาจากการถูกเลือกปฏิบัติ จนนำไปสู่ความต้องการเอาชนะฝ่ายอื่นๆ ให้ได้

     กลายเป็นว่าความไม่เป็นธรรม อำนาจ และผลประโยชน์ คือแรงจูงใจที่ทำให้มนุษย์สร้างปัญหาและส่งต่อความขัดแย้งได้ไม่จบไม่สิ้น ความขัดแย้งจึงกลายสถานะเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่คอยจุดชนวนนำไปสู่จุดแตกหักในสังคม

 

จากความขัดแย้งสู่การแก้แค้นและหวังเอาคืนให้สาสม

     ในชีวิตประจำวันทุกคนมีโอกาสประสบกับปัญหาความขัดแย้งอยู่เสมอ ตราบใดที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล้วนสามารถทำลายความสัมพันธ์ลงได้ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวในครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นใดในวงสังคมที่เราเข้าไปข้องเกี่ยว แต่สำหรับความขัดแย้งในกลุ่มคนมักเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนได้ส่วนเสียในอำนาจหรือผลประโยชน์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกันอยู่แล้ว หรือเกิดจากการถูกปลุกปั่นอารมณ์และชักนำให้แสดงออกหรือเกิดพฤติกรรมต่อต้านคนเห็นต่าง โดยฝีมือของคนใดคนหนึ่งที่หวังใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการสร้างความเกลียดชังจากความขัดแย้ง

     แต่หนึ่งในปัญหาทางจิตวิทยาพื้นฐานที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในใจของทุกคนคือ ความกลัวว่าคนอื่นจะมาฉกฉวยโอกาสเอาเปรียบตนเอง ซึ่งมนุษย์ต่างมีความรู้สึกนี้ร่วมกันเป็นทุนเดิม ดังนั้น ทันทีที่ถูกคุกคามหรือได้รับความไม่เป็นธรรม สิ่งแรกที่คนเราจะคิดทำคือเรียกร้องหาความเป็นธรรมนั้นก่อนเสมอ แต่ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นกลับคืน เราจะหาหนทางอื่นเพื่อทวงคืนความยุติธรรม ซึ่งมีเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองไม่ตกอยู่ภายใต้ความอยุติธรรมนั้นอีกต่อไป

     ดังนั้น ระดับความเข้มข้นของการทวงคืนจึงขึ้นอยู่กับว่า เรื่องที่ถูกเอาเปรียบหรือคิดว่ากำลังจะถูกเอาเปรียบนั้น มีผลต่อความรู้สึกและความเป็นไปของชีวิตมากน้อยแค่ไหน หมายความว่ายิ่งมาก ยิ่งเกิดความคับแค้นใจจนอยากเอาคืนให้สาสม เลวร้ายที่สุดคือการทำได้ทุกอย่างเพื่อทวงความยุติธรรม โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่ใช้จะรุนแรงหรือสกปรกแค่ไหน การแก้แค้นหรือความพยาบาทจึงไม่ได้เป็นแค่ของหวาน หากแต่เป็นอาหารจานพิเศษที่หล่อเลี้ยงความมืดดำที่ซุกซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของความเป็นมนุษย์ต่างหาก

 

ข้อพิสูจน์ว่ามนุษย์ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อการแก้แค้น

     ในบทที่ 5 The Case for Revenge จากหนังสือ The Upside of Irrationality (มีฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น) ของ Dan Ariely ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กล่าวถึงการทดลองเรื่อง Trust Game ของ Ernst Fehr นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชาวออสเตรีย-สวิส เพื่อศึกษากระบวนการคิดและพฤติกรรมจากความไว้เนื้อเชื่อใจ และการแก้แค้น

     Ernst Fehr ออกแบบการทดลองโดยมอบเงินให้ผู้เข้าร่วมการทดลองสองคน จำนวนคนละ 10 เหรียญฯ เพื่อเล่นเกม โดยทั้งสองคนนี้ไม่รู้จักกันมาก่อนและถูกจับแยกให้อยู่คนละห้อง ลองจินตนาการว่าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเล่นเกมนี้ และคุณได้สิทธิ์เริ่มเล่นก่อน มีกติกาง่ายๆ คือ ถ้าคุณยอมมอบเงิน 10 เหรียญฯ ให้อีกคน เขาคนนั้นจะได้รับเงิน 10 เหรียญฯ ของคุณ พร้อมกับเงินสมทบอีก 4 เท่า (40 เหรียญฯ) หมายความว่าคนนั้นจะได้รับเงินทั้งหมด 50 เหรียญฯ โดยที่ตัวคุณไม่ได้สักเหรียญ แต่ถ้าไม่ยอมแลกเท่ากับว่าคุณก็ได้เงิน 10 เหรียญฯ เท่าเดิม ด้วยเงื่อนไขของเกมคุณจะตัดสินใจอย่างไร?

     คนส่วนมากมักจะคิดล่วงหน้าไปถึงอนาคตว่า ถ้าตัวเองยอมมอบเงิน 10 เหรียญฯ ให้ไปแล้ว อีกฝ่ายจะย่อมแบ่งเงินครึ่งหนึ่งกลับคืนมา (25 เหรียญฯ) ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ตั้งอยู่บนความไว้วางใจ ความรู้สึกเรื่องความเท่าเทียม และความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีเคารพกันและกัน โดยผลการทดลองพบว่า คนส่วนใหญ่ตัดสินใจมอบเงิน 10 เหรียญฯ ให้ และได้ส่วนแบ่ง 25 เหรียญฯ ตามที่หวังไว้

     แต่การทดลองยังไม่ได้จบลง เพราะ Ernst Fehr พบว่ามีคนจำนวนหนึ่งไม่ได้แบ่งเงิน 25 เหรียญฯ ให้คนที่ยอมจ่าย 10 เหรียญฯ เขาจึงนำคู่ทดลองที่เกิดกรณีเช่นนี้กลับมาเล่นเกมกันอีกครั้งด้วยกติกาใหม่ คือ คนที่ยอมยกเงิน 10 เหรียญฯ ให้ไปในครั้งก่อน สามารถจ่ายเงินส่วนตัวให้กับผู้วิจัยเหมือนเป็นการจ้างวานให้ไปหักเงิน 50 เหรียญฯ ของอีกฝ่ายออกได้มากถึงสองเท่า หมายความว่า ถ้าจ่าย 1 เหรียญฯ อีกฝ่ายจะถูกหัก 2 เหรียญฯ แสดงว่าถ้าต้องการหักเงินอีกฝ่ายให้หมดสิ้น ต้องยอมควักเงินส่วนตัว 25 เหรียญฯ

     ถ้าคุณคือคนที่ถูกทำลายความคาดหวัง คุณจะทำอย่างไร?

     ผลการทดลองครั้งนี้ร้ายกาจจนน่าตกใจ เพราะคนส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินส่วนตัว 25 เหรียญฯ เพื่อกอบกู้ความไม่เป็นธรรมที่ตัวเองเคยได้รับ และชดเชยความรู้สึกว่ามนุษย์เท่าเทียมกันไปพร้อมๆ กัน แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะมีบางคนยอมจ่ายเงินมากกว่า 25 เหรียญฯ เพื่อล้างแค้นให้สาสมกับความรู้สึกถูกเอาเปรียบจากคนทรยศ หมายความว่านอกจากอีกฝ่ายจะไม่ได้เงิน 50 เหรียญฯ แล้ว ยังต้องจ่างเงินส่วนตัวเพิ่มเป็นสองเท่าตามสัดส่วนที่ถูกวางเงิน การทดลองของ Ernst Fehr จึงพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามนุษย์สามารถทำได้ทุกวิถีทางเพื่อการแก้แค้น และการทดลองต่อไปน่ากลัวกว่าการแก้แค้นเสียอีก

 

เมื่อกูไม่ได้ มึงก็ต้องไม่ได้ ถ้าจะต้องเจ็บปวดและย่อยยับก็เอาให้ฉิบหายเสมอกัน

     จากหนังสือเล่มเดียวกันยังกล่าวถึงการทดลองในชิมแปนซีของสถาบัน Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology ประเทศเยอรมนี ที่พยายามอธิบายว่าลิงไม่มีหาง (ape) ยอมสูญเสียทุกอย่างเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามสูญเสียเหมือนกัน

     ชิมแปนซีสองตัวอยู่ในกรงขังที่หันหน้าเข้าหากันและเหลือพื้นที่ว่างตรงกลางไว้ ถาดอาหารจะถูกวางชิดติดกรงชิมแปนซีด้านขวา ส่วนกรงด้านซ้ายมีปลายเชือกที่ผูกติดกับถาดอาหาร เมื่อดึงจะทำให้ถาดเลื่อนออกจากกรงด้านขวาและเข้าใกล้กรงด้านซ้ายเรื่อยๆ จนเข้ามาประชิดติดกรง จากนั้นพื้นที่รองถาดจะเปิดออก ทำให้อาหารทั้งหมดถูกเททิ้ง ผลคือชิมแปนซีทั้งสองตัวจะอดกินอาหารทั้งคู่ ซึ่งผลการทดลองก็เป็นไปตามคาดไม่มีผิด เมื่อชิมแปนซีตัวขวาพยายามยื่นมือออกจากกรงมาหยิบอาหาร ชิมแปนซีตัวซ้ายจะกระตุกเชือกให้ถาดเลื่อนออก ถึงแม้มันรู้ดีว่าสุดท้ายถ้าถาดอาหารเลื่อนมาถึงหน้ากรงก็ไม่ได้กินอยู่ดี การทดลองนี้จึงพยายามชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้เอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่ฝังลึกอยู่ในสัญชาตญาณและการมีชีวิต ทันทีที่รู้สึกถึงการเสียเปรียบ หรือไม่ได้รับผลประโยชน์บางอย่าง จะเกิดพฤติกรรมต่อต้านอีกฝ่ายทันที ซึ่งเป็นไปในเชิงขัดขวางไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

 

Social Conflictภาพการทดลองจากเอกสารงานวิจัย No third-party punishment in chimpanzees โดย Katrin Riedla, Keith Jensena, Josep Calla, and Michael Tomaselloa

 

     มนุษย์เราก็เหมือนกับชิมแปนซี เรายอมทำทุกอย่างเช่นเดียวกับที่ชิมแปนซีในกรงซ้ายทำ ต่างกันที่เราไม่ได้แค่ดึงเชือกแย่งอาหารในถาด แต่มนุษย์เหี้ยมโหดและกระทำรุนแรงมากกว่านั้น เพราะความขัดแย้งนำพาให้มนุษย์โกรธแค้นเลือดขึ้นหน้า จนกล้าทำสิ่งที่เลวร้ายเกินกว่าใครจะคาดคิด หวังทำลายให้ชีวิตใครบางคนพังพินาศและย่อยยับไม่เหลือชิ้นดี 

    “ถ้ากูไม่ได้ มึงก็ต้องไม่ได้ด้วย”

     “ถ้ากูจะต้องฉิบหาย ก็ให้ฉิบหายเหมือนกันทุกฝ่าย”

     ผลลัพธ์จากการกระทำจึงหนีไม่พ้นความเจ็บปวดแสนสาหัสจากความสูญเสียและสูญสิ้นของบางสิ่งบางอย่าง คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือเราจะมีวิธีจัดการกับปัญหาจากความขัดแย้งเหล่านี้อย่างไร?

 

Prisoner’s Dilemma และหนทางก้าวข้ามความขัดแย้ง

     Prisoner’s Dilemma คือสถานการณ์จำลองความยากลำบากในการตัดสินใจของนักโทษ เป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ผลประโยชน์ และการร่วมมือ คุณลองคิดตามว่า ผู้ต้องสงสัยสองคนถูกจับแยกห้องเพื่อสอบสวนหาความผิดมาลงโทษ เจ้าหน้าที่รู้ว่าทั้งคู่ผิดจริงเพียงแต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะลงโทษสถานหนักได้ เจ้าหน้าที่จึงตั้งเงื่อนไขให้แต่ละคนสารภาพไว้คือ (1) ถ้าคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้สารภาพ คนสารภาพจะพ้นโทษ ส่วนคนไม่สารภาพจะต้องโทษสถานหนัก (2) ถ้าทั้งคู่สารภาพ จะได้รับโทษปานกลาง (3) แต่ถ้าไม่มีใครสารภาพเลย ทั้งคู่จะได้รับโทษสถานเบาที่สุด ซึ่งเงื่อนไขสุดท้ายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ปัญหาคือนักโทษจะต้องคิดหนักและประสบกับความยากลำบากในการคิดไม่ตกว่าจะสารภาพดีหรือไม่ เพราะผลลัพธ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเองคนเดียวเท่านั้น

     สถานการณ์นี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อนักโทษไม่สามารถสื่อสารกันได้ แต่ละคนจะเกิดความไม่ไว้วางใจ กลัวว่าอีกฝ่ายจะรีบสารภาพ ต่างฝ่ายจึงเลือกที่จะสารภาพเพื่อไม่ให้เกิดการถูกเอาเปรียบจนเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ แต่ถ้านักโทษทั้งคู่ได้พูดคุยตกลงกัน นอกจากจะช่วยลดความขัดแย้งและความคิดที่ว่าถ้าเราไม่ทำอีกฝ่ายจะทำแล้ว ยังทำให้เพิ่มความมั่นใจว่าอีกฝ่ายจะร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันมากกว่าฉกฉวยโอกาสทำเพื่อประโยชย์ส่วนตน แล้วนักโทษทั้งคู่จะตกลงกันไม่รับสารภาพ และได้รับโทษสถานเบาเท่านั้น

     กรณี Prisoner’s Dilemma จึงนำเสนอหนทางที่ช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มความสมานฉันท์ได้ด้วยการติดต่อ (contact) การสื่อสาร (communication) ความร่วมมือ (cooperation) รวมถึงการอ่อนข้อยอมถอยคนละก้าว (conciliation) โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม การติดต่อจะทลายกำแพงระหว่างกลุ่มและช่วยทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมดีขึ้น นอกจากนี้การสื่อสารและการอ่อนข้อยังช่วยยุติความขัดแย้งเมื่อแต่ละฝ่ายเรียกร้องข้อต่อรองอย่างสมเหตุสมผลเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันจนเกิดเป็นความร่วมมือ

 

Social Conflict

สามารถทดลองแก้ปัญหาสถานการณ์ Prisoner’s Dilemma ได้ที่ http://bit.ly/2SCpFOB

 

     ถึงตรงนี้เราได้รู้ความจริงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในสังคมอยู่สองเรื่องคือ มนุษย์สามารถขุดดึงความมืดดำในใจออกมาแสดงได้อย่างร้ายกาจ ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ไม่ได้อับจนหนทางหรือหมดปัญญาคิดหาวิธีการแก้ไขความขัดแย้งไม่ได้เสียทีเดียว

     สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์เลือกให้ตัวเองก้าวเดินไปในเส้นทางบนความขัดแย้งเหล่านี้ จะยืนยันเอาชนะและแก้แค้นเอาคืนให้สาสม จะริเริ่มความร่วมมือใหม่เพื่อหาหนทางแก้ไขข้อขัดแย้ง จะอยู่อย่างนิ่งเฉยไม่หือไม่อือกับปัญหาใดๆ เพราะเบื่อหน่ายเต็มที หรือจะนับวันรอพาตัวออกไปให้ไกลที่สุดจากวังวนของปัญหาเดิมๆ ทั้งหมดนี้คือการตัดสินใจที่ทุกคนจะต้องชั่งน้ำหนักในใจด้วยความนึกคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรม อำนาจ และผลประโยชน์

     แต่ตราบใดที่มนุษย์ไม่สามารถก้าวข้ามความเห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ และใช้ชีวิตอยู่ในความขัดแย้งและแรงเกลียดชัง รวมถึงระบบที่เลือกปฏิบัติไม่เป็นกลาง ก็ไม่มีวันที่ความขัดแย้งนั้นจะถูกแก้ไข ความเคียดแค้นยังคงดำเนินต่อไป ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ไม่จบสิ้นเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ประเทศต้องประสบกับความฉิบหายหรือความพังพินาศย่อยยับจากความขัดแย้งในสังคม เช่นเดียวกันกับที่ชีวิตของทุกๆ คน ค่อยๆ ถูกบั่นทอนลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และไม่ว่าเราจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่วังวนแห่งความอยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป

 


References:

1. http://ftp.iza.org/dp3895.pdf

2. www.eva.mpg.de/documents/NatlAcadSciences/Riedl_No_PNAS_2012_1567748.pdf

3. www.oxfordbibliographies.com/view/document/obo-9780199828340/obo-9780199828340-0155.xml

4. www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5397528

5. www.facebook.com/photo.php?fbid=10151801846376534&set=a.99648006533&type=3&theater