คำว่า Cyber น่ะเอาต์ไปแล้ว แม้แต่ผู้ให้กำเนิดคำนี้ยังพูดเองเลย
วิลเลียม กิบสัน นักเขียนนิยายไซ-ไฟ เป็นคนแรกที่นำคำว่า cyber (ไซเบอร์) มาใช้ในความหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เขาใช้คำว่า ‘ไซเบอร์สเปซ’ ในผลงานเรื่องสั้นและนิยายหลายๆ เรื่องที่เขียนขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 ครั้งแรกที่คำนี้ปรากฏคือในเรื่องสั้น Burning Chrome ปี 1982 และคำนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อนิยายเรื่อง Neuromancer ได้รับรางวัลและมีชื่อเสียงอย่างมากในปี 1984
เขาเล่าว่า ตอนกำลังเริ่มต้นแต่งนิยาย เขากำลังมองหาคำศัพท์อะไรบางอย่างมาอธิบายโลกเสมือนของข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล ก็เอากระดาษมานั่งจดความคิดต่างๆ เริ่มต้นจากคำว่า infospace แล้วต่อมาก็กลายเป็น dataspace จนกระทั่งได้คำว่า cyberspace ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ให้ความรู้สึกแปลกประหลาด อ่านออกเสียงแล้วคล่องปาก อีกทั้งมันยังให้ความรู้สึกเป็นนามธรรม กลวงเปล่า ไม่มีอะไรอยู่ภายใน สะท้อนความคิดเกี่ยวกับโลกเสมือนว่าไร้สาระ ไม่เป็นความจริง
หลังจากนั้นมา คำว่าไซเบอร์ก็กลายเป็นคำอุปสรรคยอดฮิต หรือ preffiix เอาไว้เติมข้างหน้าคำอื่นๆ เพื่อให้มีความหมายว่าเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต เช่น ไซเบอร์พังก์ ไซเบอร์เซ็กซ์ ไซเบอร์เซเคียวริตี้ ไซเบอร์บูลีอิ้ง ฯลฯ คำนี้ฮิตกันอยู่พักใหญ่ในช่วงทศวรรษ 90 ต่อมาจนถึงช่วงหลังสหัสวรรษ มันฮิตพอๆ กับคำว่า ‘e’ ที่นำไปเติมข้างหน้าคำศัพท์อื่น เช่น อีเมล อีคอมเมิร์ช ฯลฯ แล้วให้ความหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตคล้ายกัน
จนเมื่อไม่นานมานี้ วิลเลียม กิบสัน เพิ่งออกมาบอกว่า
“คำว่าไซเบอร์สเปซนั้นจบไปแล้ว จบไปแบบเดียวกับที่ครั้งหนึ่งผู้คนเลิกใช้คำว่า ‘อิเล็กทรอ’ มาประกอบกับคำอื่นเพื่อทำให้ดูเจ๋งขึ้น เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอิเล็กทรอนิกส์กันหมดแล้ว คำว่าอิเล็กทรอจบไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และคำว่าไซเบอร์ก็จบไปแบบนั้น”
ระบบภาษามีความเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างลึกซึ้ง คำศัพท์หนึ่งๆ ที่ผู้คนตกลงร่วมกันเพื่อใช้แทนความหมายใดๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความหมายนั้นต่อสังคมในช่วงเวลานั้น คำศัพท์ใหม่ถูกบัญญัติขึ้นมาแล้วได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็เพราะความหมายที่มันสื่อถึงนั้นมีความสำคัญอย่างมากและผู้คนต้องสื่อสารเกี่ยวกับมัน เมื่อความหมายลื่นไหลไปเรื่อยๆ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยนไป คำศัพท์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย
เหมือนกับเมื่อกระแสไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่มีความสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทุกคนก็ต้องการพูดคำว่าอิเล็กทรอ จนกระทั่งเมื่อมันกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาสามัญ ผู้คนไม่จำเป็นต้องพูดถึงมันอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะมันมีอยู่แล้ว และมีอยู่ทั่วไป คำศัพท์นี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไปด้วยความรู้สึกขึ้นมาพร้อมๆ กันว่ามันเชยแล้ว เช่นเดียวกันกับคำว่า cyber
เมื่อยี่สิบปีก่อนตอนที่คำว่าไซเบอร์กำลังฮิตๆ มันเป็นสิ่งใหม่ที่คนยังไม่คุ้นเคยและไม่แพร่หลาย โลกไซเบอร์จะเกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อคุณนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ๆ เสียบสายไฟรุงรัง เชื่อมต่อกับโทรศัพท์บ้าน แล้วโทร.เข้าไปหาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เมื่อเข้าไปอยู่ในนั้น มันช่างสลักสำคัญและยิ่งใหญ่เหลือเกิน และนำไปสู่สิ่งใหม่อีกมากมายนานัปการ จนกระทั่งกดปุ่มวางสายโทรศัพท์ แล้วปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ลุกออกจากเก้าอี้ โลกไซเบอร์ก็ดับลงตรงนั้น
ครั้งหนึ่ง โลกไซเบอร์เคยแยกขาดออกจากโลกแห่งความจริงขนาดนั้น และมันทำให้เราตระหนักรู้ตัวตลอดเวลาว่าอันไหนเสมือน อันไหนจริง จนกระทั่งเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปด้วยเครือข่ายความเร็วสูงขึ้น ราคาถูกลง และอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เล็กกะทัดรัด รวดเร็วทันใจ ใช้ง่าย ราคาถูก และต่ออินเทอร์เนตได้ทุกที่ ทุกเวลา
ในวันนี้ โลกไซเบอร์หลอมรวมเข้ากับโลกแห่งความจริง เหมือนกับกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ดำรงอยู่คู่ขนานกันไปแบบต่อเนื่อง เราไม่ได้แยกแยะแล้วว่าอันไหนจริง อันไหนเสมือน คำว่าไซเบอร์นั้นจึงเอาต์ไปแล้ว มันสะท้อนถึงวิธีคิดของผู้คนในสังคมร่วมสมัยที่มีต่ออินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป เมื่อสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผู้คนก็จะพยายามขยับตัวตามไป จึงเรียกได้ว่าเราอยู่ร่วมสมัยกัน จะมีเหลืออยู่บางคนที่ไม่ได้ขยับตาม ในกรอบความคิดแบบเดิม ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย ก็จะใช้คำศัพท์คำเดิมอยู่
เหมือนกับในทุกวันนี้ ผมฟังวิทยุรายการข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ก็ได้ยินอะไรๆ ที่เป็น 4.0 อยู่เสมอ ในบ้านเราก็มีคำศัพท์ฮิตแบบนี้เข้ามาเป็นระยะ ในช่วงสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินคำว่าโลกาภิวัตน์ ความยั่งยืน บูรณาการ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เออีซี ฯลฯ
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถ้าเป็นเรื่องทางราชการหรือนโยบายรัฐ ก็มักจะมีการนำตัวอักษร e และ i มาเติมหน้าชื่อนโยบายต่างๆ
จนมาถึงทุกวันนี้ สิ่งที่กำลังฮิตมากๆ ก็คือการพยายามนำเลข 4.0 มาเติมหลังทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มันดูเจ๋ง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมาย และคิดว่ามันเอาต์สุดๆ ไม่ใช่เอาต์แค่ตัวคำศัพท์ แต่รวมถึงแนวความคิดที่กลวงเปล่าของความพยายามที่จะใช้มัน
สิ่งที่ร่วมสมัยก็จะเคลื่อนไปเป็นขบวนเดียวกัน เหลือทิ้งสิ่งที่ล่วงพ้นสมัยไว้เบื้องหลัง ชีวิตคนเราไม่เหมือนกับแฟชั่น ที่สักวันอาจจะวนย้อนกลับมาฮิตได้เป็นวัฏจักร คนเราเมื่อล่วงพ้นไปแล้ว ก็จะล่วงพ้นไปเลย แต่ละเจเนอเรชันจะผลัดเปลี่ยนขึ้นมาทดแทนกัน ดังนั้น สิ่งที่ถูกต้องคือการวิ่งแล้วส่งไม้ผลัดไป ไม่ใช่การวิ่งย่ำอยู่กับที่ ด้วยแนวคิดหรือคำศัพท์ที่ครั้งหนึ่งเคยทันสมัยเหลือเกิน