ทำแท้ง

WHY? | ทำไมการทำแท้งจึงถูกกฎหมายในบางประเทศ

ถ้าถามว่า การทำแท้งผิดหรือไม่? คำตอบที่ได้มักจะแบ่งออกเป็น 2 มุมมอง ซึ่งแต่ละมุมมองนั้นส่งผลต่อวิธีคิดและแนวทางการปฏิบัติของสังคมด้วย และในปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าโลกเราก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะเรายังไม่สามารถยืนยันได้เต็มปากว่า สิทธิของตัวอ่อน กับ สิทธิของสตรี สิ่งไหนมีความสำคัญมากกว่ากัน ต่างคน ต่างประเทศ ต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ในสังคมของเราจึงมีแนวคิดที่เชื่อว่าการทำแท้งผิดทุกกรณี ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดที่เชื่อว่าการทำแท้งไม่ผิดเพราะผู้หญิงมีสิทธิ์ในร่างกายของตนเอง จึงทำให้เกิดความขัดแย้งของแนวคิดทั้งสอง ถ้าเปรียบเป็นสงคราม กระสุนปืนจากแต่ละฝ่ายนั้นไม่ได้ยิงไปโดนอีกฝ่ายเลย ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งทั่วโลกต่างหากที่กลับกลายต้องเป็นผู้รับลูกกระสุนแต่เพียงผู้เดียว

 

     แนวคิดที่เชื่อว่าการทำแท้งเป็นบาป มีความเห็นว่า ความเป็นมนุษย์เริ่มต้นเมื่อเซลล์ไข่ของเพศหญิงและเซลล์อสุจิของเพศชายได้ปฏิสนธิกัน เช่น แนวคิดทางศาสนาต่างๆ อย่างศาสนาพุทธที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ แม้จะไม่ได้ระบุว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดเสียทีเดียว แต่มีความเชื่อว่าการเป็นมนุษย์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิในท้องของผู้หญิง การทำแท้งจึงถือเป็นการฆาตกรรมทำให้เป็นบาป ถ้าสังเกตจะพบว่ารายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องลี้ลับมักจะยัดเยียดเคราะห์กรรมแทบจะทุกประเภทให้กับผู้หญิงที่เคยทำแท้ง การทำแท้งจึงเป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อและยอมจำนนต่อแนวคิดเรื่องบาปบุญ

     นอกจากศาสนาพุทธแล้วยังมีศาสนาอิสลามที่เชื่อว่าการทำแท้งเป็นบาป เพราะเด็กที่กำลังจะเกิดถือเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ จึงไม่ควรทำลาย ในศาสนาคริสต์เองก็เชื่อว่าทารกในครรภ์มีชีวิตเทียบเท่าผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น การทำแท้งจึงเป็นเรื่องผิด อย่างไรก็ตามข้อสรุปข้างต้นนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์ของแต่ละศาสนาเท่านั้น ในทางปฏิบัติแต่ละศาสนาก็ไม่ได้เอาบทบัญญัติเหล่านี้มาตัดสินการทำแท้งในทุกกรณีเสียทีเดียว

     ในขณะเดียวกันก็มี แนวคิดที่เชื่อว่าการทำแท้งไม่บาป เพราะเห็นว่าความเป็นมนุษย์หรือความเป็นบุคคลนั้นเริ่มต้นเมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาอย่างสมบูรณ์และปลอดภัย โดยให้เหตุผลว่าแม้ตัวอ่อนจะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือมีหัวใจที่ยังเต้นอยู่ แต่ก็ไม่ถือว่ามีความเป็นมนุษย์เพราะความเป็นมนุษย์ต้องประกอบด้วยความสามารถในการคิด ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และมีลักษณะทางกายภาพปรากฏให้เห็น แนวคิดนี้จึงเชื่อว่าการทำแท้งไม่ใช่การฆ่าคน แต่เป็นการยับยั้งสภาพการเป็นมนุษย์เท่านั้น และยังมีข้อโต้แย้งที่น่าสนใจอีกข้อคือ ถ้าการทำแท้งผิด การกินยาคุมก็ต้องผิดด้วยเพราะเป็นการยับยั้งสภาพการเป็นมนุษย์เช่นกัน

     ดูเหมือนว่าทั้งสองแนวคิดนี้จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การตัดสินที่สุดโต่ง คือ ผิด กับ ไม่ผิด เท่านั้น การพบทางออกของปัญหาหรือกฎหมายที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายคงจะเกิดขึ้นได้ยาก ประเทศแต่ละประเทศต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการออกกฎหมายย่อมมีรากฐานมาจากแนวคิดเหล่านี้

     ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามทำแท้งปรากฏในข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 โดยอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้เพียง 2 กรณีคือ กรณีที่ผู้หญิงสุขภาพไม่แข็งแรงทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และ กรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากถูกกระทำชำเรา นอกเหนือจากนี้ถือว่าผิดทุกกรณีทั้งหญิงผู้ทำแท้งและผู้ทำให้แท้ง

     กฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2500 ในตอนนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีพลังมากจนส่งผลให้กฎหมายทำแท้งเป็นอย่างทุกวันนี้ อนุรักษ์นิยมเป็นแนวคิดที่เชื่อมั่นในความดีงาม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามครรลองคลองธรรม และให้ความสำคัญกับเจตจำนงเสรีหรือการตัดสินใจของบุคคลค่อนข้างน้อย

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ประเทศไทยดูมีหวังอีกครั้งเมื่อมีการนำเสนอให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ก็มีข้อคัดค้านจากประชาชนอย่างล้นหลาม นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ได้อภิปรายไว้คร่าวๆ ว่าการทำแท้งนั้นผิดทั้งทางโลกและทางธรรม เขาอ้างว่าในทางโลกจะทำให้จำนวนผู้หญิงที่ทำแท้งเพิ่มมากขึ้น ในทางธรรมก็เห็นว่าเป็นบาป ขัดต่อภาพลักษณ์ของเมืองพุทธ จึงเสนอแนวทางแก้ไขคือให้ประชาชนรักษาศีล ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในวันพระ ลดกำหนัดโดยการไม่ไปเที่ยวกลางคืน คุมกำเนิดหรือถ้าคลอดลูกก็ให้นำไปไว้ที่สังคมสงเคราะห์หรือนำไปให้ญาติเลี้ยง โดยมีการหาข้อมูลสนับสนุนจากแพทย์มารองรับมากมาย

     ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังคงหลงทางอยู่ในวาทกรรมนี้ เพราะหลังจากที่พลตรีจำลองได้กล่าววาทกรรมเหล่านั้นออกไป ผ่านมา 30 กว่าปี เราก็ยังหาทางออกไม่ได้ และตัวกฎหมายเองก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ประเทศเรากำลังต่อต้านการทำแท้งถูกกฎหมาย ยังมีอีกหลายๆ ประเทศกำลังผลักดันกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ เพื่อหยุดการทำแท้งเถื่อนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตถึง 80,000 คนต่อปี

     งานวิจัยหลายฉบับระบุว่า การทำแท้งแบบไม่ปลอดภัยทำให้ผู้หญิงร้อยละ 30 เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บ ล้มป่วย หรือเสียชีวิต ในขณะที่การทำแท้งแบบปลอดภัยจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเพียงร้อยละ 0.05 เท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบางประเทศจึงอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย

     เมื่อปี ค.ศ. 1938 ประเทศอังกฤษยกเลิกความผิดเกี่ยวกับการทำแท้ง เนื่องจากมีคดีหนึ่งที่นายแพทย์ Alec Bourne ทำแท้งให้กับเด็กหญิงที่ถูกทหารข่มขืนหมู่ เขาจึงถูกจับกุม ต่อมาเขาอ้างในชั้นศาลว่าสาเหตุที่ทำแท้งไปนั้นก็เพื่อรักษาชีวิตของเด็กเอาไว้ ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งนี้ จึงทำให้อังกฤษต้องกลับมาพิจารณากฎหมายทำแท้งอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

     การปฏิวัติกฎหมายการทำแท้งครั้งนี้มีการเพิ่มข้อยกเว้นกรณีทำแท้งขึ้นมาใหม่ โดยผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ถ้าได้รับการรับรองจากแพทย์ 2 คน และต้องทำภายใน 24 สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ ถ้าพวกเธอยังไม่แน่ใจก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนได้ ยิ่งไปกว่านั้นการทำแท้งยังรวมอยู่ในประกันสุขภาพที่ให้ประชาชนของอังกฤษสามารถรับบริการได้ฟรี

     Kaitlyn Mccoy ตัวแทนกลุ่มทำแท้ง มูลนิธิมานุษยะ สถานทูตอังกฤษ กล่าวในการเสวนาเรื่อง ‘ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย’ ว่า ตั้งแต่มีการอนุญาตให้ทำแท้งได้ก็ยังไม่มีใครออกมาต่อต้านกฎหมายนี้ และในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ยังมีประชาชนร้อยละ 93 ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงทำแท้งได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าอังกฤษจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขนาดนี้แล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับการทำแท้ง โดยพวกเขาต้องการลดการรับรองของแพทย์จาก 2 คนให้เหลือเพียงคนเดียว เพราะเกรงว่าอาจจะทำให้ล่าช้า เมื่ออายุครรภ์ของผู้หญิงเพิ่มขึ้นก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการทำแท้ง

     ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งได้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 นอกจากเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิง สหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญกับสิทธิของพวกเธออีกด้วย โดยมีความคิดเห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายของพวกเธออย่างเต็มเปี่ยม และสิทธินั้นก็เหนือกว่าสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ที่ยังไม่ถือว่าเป็นมนุษย์ ผู้หญิงจึงสามารถเลือกที่จะทำแท้งได้เพราะถือเป็นการจัดการกับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่แค่เพียงด้านสุขภาพแต่รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตของเด็กที่กำลังจะเกิดมา

     หากใครที่กำลังสงสัยว่าทำแท้งถูกกฎหมายเป็นเหมือนการชี้โพรงให้กระรอก ทำให้ผู้หญิงไปทำแท้งมากขึ้นหรือไม่ ตอบได้เลยว่าผิดคาด เพราะถึงกฎหมายจะอนุญาตหรือห้าม ผู้หญิงที่ทำแท้งก็มีจำนวนเท่าเดิมอยู่ดี การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึงต่างหากที่จะทำให้อัตราการทำแท้งลดลง การที่กฎหมายเอื้อให้ทำแท้งได้จึงเป็นการช่วยให้พวกเธอได้รับการรักษาที่ปลอดภัยมากกว่า

     Gilda Sedgh นักวิทยาศาสตร์การวิจัย (Principal Research Scientist) ของสถาบัน Guttmacher กล่าวว่า “อัตราการทำแท้งสูงสุดและต่ำสุดอยู่ในหมู่ประเทศที่ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย” โดยประเทศที่มีการทำแท้งสูงที่สุดอยู่ในยุโรปตะวันออก ส่วนต่ำสุดอยู่ที่ยุโรปตะวันตก ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

     จูโน่ แม็คกัฟฟ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Juno (2007) เป็นหนึ่งตัวอย่างของเด็กสาวที่ท้องในวัยเรียนแต่ไม่ได้ทำแท้ง เธอผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เพราะมีครอบครัวและเพื่อนที่คอยช่วยเหลือ แต่เพราะผู้หญิงทุกคนไม่ได้โชคดีเหมือนจูโน่ มีเหตุผลหลากหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงต้องการทำแท้งนอกเหนือจาก 2 กรณีที่กฎหมายไทยกำหนดไว้อีกมากมาย และหลายๆ กรณีอาจทำให้เธอรู้สึกว่าถึงเวลาต้องเลือก ระหว่างชีวิตของเธอ หรือ ชีวิตของเด็กที่กำลังจะเกิด

     แท้จริงแล้วสังคมไทยหรือสังคมโลกอาจไม่ได้ต้องการคำตอบว่าการทำแท้งเป็นเรื่องถูกหรือผิด เพียงแต่ต้องการให้มองเห็นและเข้าใจถึงปัญหาของผู้หญิงที่จำเป็นต้องทำแท้งและให้แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนแก่พวกเธอ ในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมายังมีผู้หญิงร้อยละ 42 อาศัยอยู่ใน 125 ประเทศที่ถูกจำกัดการทำแท้ง

     มีผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากของการทำแท้ง แม้พวกเธอจะตัดสินใจเลือกอนาคตของตัวเองโดยการทำแท้ง แต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าอนาคตของเธอนั้นจะสดใสหรือมอดดับ เมื่อต้องลงเอยด้วยการทำแท้งเถื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชักไม่แน่ใจเหมือนกันว่ากฎหมายที่ว่ายุติธรรมนั้นกำลังคุ้มครองชีวิตใคร