หลายวันก่อนฉันนั่งดูคลิปเพื่อนสาวโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กซ้ำไปซ้ำมา มันคือภาพของลูกสาวที่ยังอยู่ในวัยไม่ถึงขวบเล่นหยอกล้อกับพ่อของเธอ พาลให้กลับมาคิดถึงตัวเองว่า ตัวเรานี้ก็อายุไม่ใช่น้อยแล้ว ถ้ามีลูกช้ากว่านี้ลูกของเราจะโตทันลูกของเพื่อนคนนี้หรือเปล่านะ แต่ภาพดังกล่าวก็มักจะถูกเบรกด้วยเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิต ที่ทำให้รู้สึกว่าฉันไม่ใช่คนที่มีความพร้อมในการมีลูก อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้
เพื่อนหลายๆ คนที่พบเห็นในชีวิตประจำวันก็คิดเห็นเช่นนี้กันเป็นเรื่องปกติ บางคนคบกับแฟนมานาน มีแพลนจะแต่งงานกันเร็วๆ นี้ แต่พอถามถึงแผนการในอนาคตกลับลังเลไม่แน่ใจว่าเธอจะมีลูกดีไหม ส่วนบางคนก็ตั้งธงไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ชีวิตนี้จะไม่มีลูกเด็ดขาด
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้อธิบายในมิติทางเศรษฐศาสตร์ว่า ที่จริงแล้วความอยากมีลูกที่ถดถอยลงคือปรากฏการณ์ร่วมในสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ผู้หญิงมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ขณะที่หลายๆ ประเทศมีความพยายามอย่างมากที่จะสนับสนุนให้ประชากรมีลูกแต่ก็ยังไม่ปรากฏผลสำเร็จแม้สักแห่ง
ลีกวนยู อดีตประธานาธิบดีของประเทศสิงคโปร์ได้เคยกล่าวไว้ในช่วงก่อนเสียชีวิตว่า เขาสามารถสร้างประเทศสิงคโปร์ให้เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบันได้ แต่มีอยู่นโยบายหนึ่งที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ยังไม่เป็นผลคือ การรณรงค์ให้คนสิงคโปร์อยากมีลูก ประเทศไทยเองก็มีนโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับครอบครัวที่มีบุตร แต่ในความเป็นจริงจะมีสักกี่คนที่อยากมีลูกเพราะแค่หวังลดหย่อนภาษี ส่วนเกาหลีใต้ไปไกลกว่านั้น ถึงกับรณรงค์ผ่านการฉายหนังโป๊ในโทรทัศน์ช่องปกติ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้คู่รักคิดอยากมีลูกมากขึ้น
ขณะที่มีงานวิจัยมากมายได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ในสภาพสังคมปัจจุบัน เช่น เทรนด์ของการแต่งงานที่ช้าลง ทำให้ความพร้อมของสุขภาพร่างกายถดถอยไปตามวัย รวมทั้งสถานภาพต่างๆ ของผู้หญิงที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ผู้หญิงได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงขึ้น และยังได้รับการเปิดกว้างให้มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่ผู้หญิงมีโอกาสสูงในตลาดแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และด้วยความที่ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นนี้เองที่ส่งผลในทางกลับกันให้ผู้หญิงในยุคปัจจุบันตัดสินใจที่จะไม่มีลูกหลายๆ คนมองว่า การมีลูกนั้นเป็นต้นทุนอย่างมหาศาล
ต้นทุนทางการเงิน (Monetary Cost)
หรือต้นทุนค่าใช้จ่ายจากค่าเลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่านม ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและอื่นๆ ในการที่จะส่งเสียเด็กคนหนึ่งจนเรียนจบคิดเป็นต้นทุนโดยเฉลี่ยตั้งแต่กว่า 1 ล้านบาท ไปจนถึง กว่า 50 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความพรีเมียมของแพ็กเกจที่คุณเลือกอีกทีหนึ่ง
ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)
คือต้นทุนที่ตามมาจากการที่แม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเลี้ยงลูก ซึ่งส่งผลให้มีเวลาในการทำงานน้อยลง หรืออาจใช้ได้ในกรณีที่คุณแม่อาจต้องลาออกจากการทำงานประจำมาทำหน้าที่แม่บ้าน งานศึกษา
มีการศึกษาของ Amalia Miller นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันพบว่า ผู้หญิงที่เลื่อนเวลาการมีลูกไปอีกหนึ่งปีจะทำให้รายได้ตลอดทั้งชีวิตของผู้หญิงคนนั้นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 10 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ถ้ามีลูกช้าลงอีก 10 ปี ผู้หญิงคนนั้นจะมีรายได้ตลอดทั้งชีวิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 100 เลยทีเดียว
ต้นทุนที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-Monetary Cost)
พลังกาย พลังใจ และความอดทนต่างๆ ตั้งแต่การอุ้มท้อง ตั้งครรภ์ ตลอดจนการเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ขึ้นก็เป็นต้นทุนที่สำคัญอันเกิดขึ้นจากการมีลูกแทบทั้งสิ้น และสำหรับผู้หญิงบางคนต้นทุนที่ไม่ใช่ต้นทุนทางการเงินได้กลายเป็นเรื่องใหญ่เสียยิ่งกว่าต้นทุนทางการเงินด้วยซ้ำ
แต่หากมองให้ละเอียดลงไป เกณฑ์ดังกล่าวที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่า ‘ฉันจะไม่มีลูก’ อาจมีเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางเท่านั้น หากเราไปดูชีวิตครอบครัวของผู้หญิงในกลุ่มที่มีฐานะจะพบว่า พวกเธอยังคงไว้ซึ่งค่านิยมของการแต่งงานและมีลูกไว้สืบสกุลและสานต่อธุรกิจ ต้นทุนทางการเงินจึงไม่นับเป็นอุปสรรคต่อพวกเธอแต่อย่างใด ขณะที่เมื่อไปมองดูชนชั้นล่างจะพบว่า ‘การท้องไม่พร้อม’ จากการไม่คุมกำเนิดยังมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยคนกลุ่มนี้ยังมีลูกในจำนวนที่มากเหมือนเดิม ผิดกับชนชั้นกลางที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อและเทคโนโลยีซึ่งตอกย้ำถึงนิยามของความเป็นแม่ที่ต้องดูแลเอาใจใส่ให้ลูกของเราไม่น้อยหน้าใคร การมีลูกจึงมาพร้อมกับความคาดหวังว่าลูกเราจะอัจฉริยะเทียบเท่าลูกคนอื่นได้หรือไม่ กระทั่งห่วงกังวลว่าลูกจะเติบโตเป็นคนดีของสังคมหรือเปล่า และจะสามารถอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างไร ซึ่งในที่สุด แล้วการมีลูกอาจกลายเป็นความทุกข์อันใหญ่หลวง (ที่ยังไม่เกิด) ต่อคนที่ยังไม่ทันเป็นแม่ก็เป็นได้
คนจำนวนมากที่ยังไม่มีลูกไปมองลูกว่าเป็นต้นทุนมากกว่าที่จะมองในด้านประโยชน์ของการมีลูก ทั้งๆ ที่ประโยชน์ในการมีลูกนั้นมีมากมาย อย่างน้อยที่สุดก็คือความสุขที่เราจะได้รับจากเขา มากน้อยแค่ไหนคงต้องให้แม่แต่ละคนเป็นผู้ตอบด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ด้วยภาพลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่มักจะมองคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากหน้าที่การงาน จากเงินที่เขาหาได้ หรือจากของที่เขาใช้ ซึ่งล้วนเป็นเพียงการให้คุณค่ากับ ‘ภาพภายนอก’ ที่มองเห็น แต่จริงๆ แล้วผู้ที่ประสบความสำเร็จยังควรมองให้เห็นถึงเรื่องของภาพภายในบ้านและชีวิตในครอบครัวว่าเขาเหล่านั้นสามารถดูแลครอบครัวของตัวเองได้ดีเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่า ภาพเหล่านั้นไม่สามารถอวดโอ่ให้คนภายนอกให้เห็นได้ ทั้งๆ ที่ถ้าเราเข้าไปดูดีๆ แล้วจะเห็นว่า กว่าที่คนคนหนึ่งจะเติบโตจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างที่เห็นได้จากภาพภายนอกนั้น เขาต้องมีเบื้องหลังที่ดีจากคนในบ้านหรือจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ทั้งสิ้น เมื่อประโยชน์ของการเป็นแม่ถูกซ่อนไว้เพียงแค่ส่วนฐานของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ ในขณะที่สังคมมองเห็นเพียงก้อนน้ำแข็งที่โผล่มาพ้นน้ำ ก็ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดผู้หญิงในปัจจุบันจึงไม่อยากตกอยู่ในสถานะของการเป็น ‘แม่’