นอน

Why? | ใช่! นอนน้อยไม่ดี แต่ทำไมเราถึงไม่ควรนอนมากเกินไป

ในวันที่ใช้ร่างกายออกแรงทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งวัน เมื่อถึงบ้านสิ่งแรกที่อยากทำคงหนีไม่พ้นการเอนหลังลงบนเตียงนุ่มๆ เพื่อให้ร่างกายได้นอนหลับ และพักผ่อนคลายความเหนื่อยล้า เป็นอันจบวันหนึ่งๆ ไป การนอนจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของชีวิต

     โดยปกติเราควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง เพราะหากนอนน้อยหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แต่ถ้าหากนอนมากเกินกว่านั้น จะเป็นอะไรไหม คอลัมน์ Why? ขออาสาพาผู้อ่านไปหาคำตอบและทำความรู้จักกับโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ภายในร่างกายของเรา

     การนอนหลับ เป็นวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อและอวัยวะทุกส่วนจากการทำงานอย่างหนักมาตลอดวันให้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในวันต่อไป หากนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง อาจส่งผลให้การทำงานของร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทและสมองมีประสิทธิภาพน้อยลง ทำงานได้ไม่เต็มที่ คุณภาพการประมวลผลความคิดและการรู้สติอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ มีงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศยืนยันว่าคนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง หรือนอนมากกว่า 10 ชั่วโมงเป็นประจำ อาจมีอายุขัยสั้นลงกว่าคนที่นอนหลับปกติ

 

การนอนมากเกินไปคืออะไร

     การนอนมากเกินไปในที่นี้หมายถึงโรคนอนเกิน (Hypersomnia) ซึ่งเป็นโรคที่มีพฤติกรรมการนอนหลับยาวนานเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป คนที่มีภาวะโรคนี้จะตื่นจากการนอนยากมาก และเมื่อตื่นแล้วจะรู้สึกว่าต้องการนอนต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะมีความรู้สึกต้องการการนอนหลับตลอดเวลา ในระหว่างวันมักจะงีบหลับหลายๆ ครั้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม ในผู้ป่วยที่มีอาการมากจะสามารถหลับได้ทันทีระหว่างทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะพูดคุยสนทนา หรือระหว่างกินอาหาร เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกไม่สดชื่น เพราะมีความรู้สึกง่วงต่อไปอีก (Non-Restorative Sleep) และสามารถหลับในเวลากลางวันได้วันละหลายๆ ครั้ง เกิดเป็นอาการที่เด่นชัดของโรค คือง่วงมากในเวลากลางวัน (Excessive Daytime Sleepiness)

 

ทำไมนอนเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ

    มีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ พฤติกรรมการนอนของ ลิลลี คลาร์ก หญิงสาวชาวอังกฤษผู้ใช้เวลานอนหลับมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน เธอได้เปิดเผยว่าขณะที่เธออายุย่าง 18 ปี วันนั้นเธอออกมากินมื้อเที่ยงนอกบ้านในร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่ในขณะที่เธอกำลังรออาหารมาเสิร์ฟที่โต๊ะ เธอก็ฟุบหลับลงบนโต๊ะขึ้นมาเสียดื้อๆ เมื่อครอบครัวของเธอเห็นจึงรีบปลุกเธอทันที แต่ปรากฏว่าเธอไม่ยอมตื่น ปลุกเท่าไหร่ก็ไม่ตื่น สุดท้ายครอบครัวของเธอตัดสินใจช่วยกันอุ้มตัวเธอออกจากร้านอาหาร และพากลับบ้านทันที วันนั้นเธอนอนหลับชนิดที่ว่าใครปลุกก็ไม่ตื่น ไม่มีอะไรรบกวนการนอนของเธอได้ จนเธอใช้เวลาหลับไปทั้งหมด 23 ชั่วโมง ก่อนจะตื่นขึ้นมาขับถ่าย กินอาหาร แล้วกลับไปนอนหลับในทันที เป็นวงจรเช่นนี้ติดต่อกันนานถึง 2 เดือน

 

นอน

 

     ซึ่งสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการอดนอนมาเป็นเวลานาน หมายความว่าการนอนที่ดีควรนอนให้อยู่ในช่วง 6-8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ไม่ควรนอนน้อยหรือมากกว่านี้ ทั้งยังควรเข้านอนและตื่นให้ตรงเวลา สำหรับเวลาที่ควรจะนอนคือ ก่อน 4 ทุ่ม และเวลาที่ควรตื่น คือประมาณ ตี 5 ถึง 6 โมงเช้า การอดนอนหรือนอนไม่เป็นเวลาจะทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ซึ่งโดยปกติแล้วในร่างกายของคนเราจะมีนาฬิกาชีวิต (Body Clock) คือวงจรที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน แม้แต่การแปรเปลี่ยนของอุณหภูมิร่างกาย นอกจากการอดนอนที่ส่งผลต่อการทำงานของนาฬิกาชีวภาพแล้ว การเดินทางข้ามประเทศที่มีเวลาต่างกันมากๆ เช่นระหว่างซีกโลกก็ส่งผลต่อการทำงานของนาฬิกาชีวภาพได้เช่นเดียวกัน

     นอกจากนี้ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลหรือเกิดการหลั่งที่ผิดปกติไป ก็ทำให้ร่างกายนอนหลับมากผิดปกติได้ด้วย โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) คือฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง และมีบทบาทช่วยควบคุมการนอนหลับ ทำให้เรามีการนอนหลับที่ดี หากร่างกายหลั่งเมลาโทนินน้อยเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับ ในขณะเดียวกันถ้ามากเกินไปก็จะส่งผลให้มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันหรือทำให้นอนมากกว่าปกติ

     นอกจากนี้การที่สมองได้รับบาดเจ็บหรือเป็นโรคเกี่ยวกับทางสมอง เช่น สมองผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อุบัติเหตุทางสมองหรือได้รับบาดเจ็บจากการเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ หรือสาเหตุการทำงานผิดปกติที่เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการนอนมากเกินไปได้ด้วย

 

ทำไมเราถึงไม่ควรนอนมากเกินไป

     เราเห็นตัวการ์ตูนริลัคคุมะ (Rilakuma) ที่โปรดปรานการนอนเป็นชีวิตจิตใจ และเห็นภาพเจ้าไข่ขี้เกียจ (Gudetama) ที่บ่นว่า ‘ขี้เกียจอ่า’ ‘ไม่อยากทำอะไรเลย’ และก็นอนอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวัน ถึงบางครั้งเราจะมีความรู้สึกอิจฉาชีวิตของเจ้าการ์ตูนทั้ง 2 ตัวนี้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วในภาวะที่ร่างกายปกติ เราไม่ควรให้ร่างกายนอนเกิน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน

      เพราะการนอนมากเกินไปจะทำให้สมองล้าและกลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา มีการศึกษาเกี่ยวกับการนอนในปี 2012 พบว่า หญิงชราที่นอนหลับมากเกินไปหรือน้อยเกินไปนานติดต่อกันมากกว่า 6 ปี สมองจะเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกับหญิงสาวซึ่งนอนหลับมากกว่า 9 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า 5 ชั่วโมงก็จะทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่าปกติถึง 2 ปี

     ยิ่งไปกว่านั้น การนอนทั้งวันไม่ได้ขยับไปไหนก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะฮอร์โมนแห่งความสงบหรือเซโรโทนิน (Serotonin) และสารแห่งความสุขหรือเอนดอร์ฟิน (Endorphin) จะหลั่งน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อความรู้สึกเซื่องซึม และถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ในท้ายที่สุดจะเกิดเป็นอาการซึมเศร้า มีผลวิจัยรับรองว่า ผู้ที่นอนหลับระหว่าง 7-9 ชั่วโมงจะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าราวร้อยละ 27 ในขณะที่ผู้ที่นอนหลับนาน 9 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นจะมีโอกาสเสี่ยงมากถึงร้อยละ 49

 

นอน

 

     การนอนมากเกินไปทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องกินอาหารที่มีไขมันสูงหรือกินขนมหวานๆ เนื่องจากร่ายกายเกิดการขยับหรือเคลื่อนไหวน้อยลงทำให้ระบบการเผาผลาญไขมันลดลงไปด้วย ร่างกายมีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้เกิดโรคต่าง ได้ เช่น เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน โดยนักวิจัยพบว่า ผู้ที่นอนหลับมากกว่า 8 ชั่วโมงจะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 มากกว่าผู้ที่นอนหลับระหว่าง 7-8 ชั่วโมงมากถึง 2 เท่า แม้ว่าจะมีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของมวลร่างกายแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ เพราะว่าผู้ที่นอนหลับ 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาหัวใจเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 2 เท่า และโรคหลอดเลือดแดง 1.1 เท่า

     การนอนจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่เราจะมองข้ามไป แต่ควรใส่ใจกับการนอนให้มากขึ้นกว่าที่เคย เพราะการนอนไม่ใช่แค่เพียงการล้มตัวนอนลงบนเตียงเท่านั้น หากแต่เป็นการที่ร่างกายได้พักผ่อนและซ่อมแซมตัวเอง เพื่อตื่นมาต้อนรับเช้าวันใหม่อย่างสดใส และถ้าให้ดีที่สุด เราต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ในปริมาณเวลา และช่วงเวลาที่เหมาะสม มิเช่นนั้นอาจจะได้นอนหลับไปตลอดกาล

 


ที่มา: www.samitivejhospitals.comhttps://med.mahidol.ac.thwww.bangkokhospital.comhttp://kls-support.org.uk