กินเก่ง

Why? | ทำไมคนเรากินเก่งได้ไม่เท่ากัน

การกินเป็นกิจกรรมพื้นฐานของร่างกายที่สำคัญต่อการมีชีวิต แม้ว่าแต่ละคนจะมีรสนิยมในการกินที่เฉพาะเจาะจง เช่น กินเพื่อสุขภาพ กินเพื่อเข้าสังคม กินเพื่อรับประสบการณ์ในวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย หรือกินเพื่อความสาแก่ใจเน้นปริมาณเอาให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่ทุกคนล้วนมีข้อจำกัดในการกินจนนำไปสู่การเปรียบเทียบได้ และเกิดเป็นข้อสงสัยว่าทำไมบางคนกินไปนิดเดียวก็อิ่มเสียแล้ว ในขณะที่บางคนกลับกินได้เรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะอิ่มหรือแม้กระทั่วตัวเราเองในแต่ละวันก็กินได้มากน้อยต่างกัน ข้อสงสัยชวนใคร่รู้นี้นำไปสู่การหาคำตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วเราก็พบว่ามีปัจจัยมากมายเหลือเกินที่ส่งผลต่อการกินของคนเรา

กินเก่ง

 

     โดยปกติกลไกการทำงานของร่างกายเรื่องการกินจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึก 2 ความรู้สึกคือ ความรู้สึกหิวและความรู้สึกอิ่ม ซึ่งความหิวจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายต้องการอาหาร เพราะท้อง (กระเพาะอาหาร) ว่าง สมองจึงสั่งการให้กระเพาะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน Ghrelin) จนเกิดอาการท้องร้องสร้างความรู้สึกหิว กระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้เราต้องหาอาหารกิน เมื่อได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ร่างกายจะหยุดหลั่งฮอร์โมนเกรลิน แล้วเริ่มหลั่งฮอร์โมนเลปติน (Leptin) แทน เพื่อทำให้เรามีความรู้สึกอิ่ม จนลดการกินให้น้อยลงและหยุดกินในที่สุด

     ส่วนการกินได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ความเคยชินในการรองรับปริมาณอาหารของกระเพาะ โดยทั่วไปกระเพาะอาหารขณะท้องว่างมีปริมาตร 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรเท่านั้น แต่เมื่อได้รับอาหารจะสามารถขยายได้ 10–40 เท่า และเพิ่มปริมาตรเป็น 500–2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร เท่ากับจะสามารถจุอาหารได้ประมาณ 1-4 ลิตร ซึ่งการยืดและหดของกระเพาะในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกิน

     คนที่กินอาหารปริมาณมากอย่างสม่ำเสมอจนเป็นปกตินิสัย กระเพาะจะขยายตัวรองรับปริมาณอาหารจนเคยชิน ทำให้เป็นคนกินจุและอิ่มช้า ในทางกลับกันคนที่กินน้อยมาก กระเพาะจะไม่ขยายตัวออกเท่าคนกินจุ ทำให้กินอาหารได้น้อยกว่า

กินเก่ง

     นอกจากนี้การทำกิจกรรมต่างๆ ก็ส่งต่อปริมาณการกินได้เหมือนกัน หากเรากินอาหารหรือขนมขณะทำกิจกรรมที่เกิดความรู้สึกเพลินเพลิน อย่างการดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ เราจะกินได้มากกว่าปกติ เนื่องจากสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตาดูมากกว่าอยู่กับการกิน ทำให้กินต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงความหิวอิ่ม

     หรือในกิจกรรมที่ก่อความเครียด เช่น การทำงาน มักทำให้รู้สึกหิวบ่อย เพราะความเครียดทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะไปกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกหิวและกินได้เยอะขึ้น หรือแม้กระทั่งการได้รับสิ่งเร้ามากๆ ก็สามารถกระตุ้นความอยากอาหารได้เช่นเดียวกัน เช่น การมองรูปภาพอาหาร การดูคลิปอาหาร หรือการได้กลิ่นอาหาร ก็ทำให้เราหิวทั้งๆ ที่ตอนนั้นท้องอาจเต็มไปด้วยอาหารแล้ว โดยเฉพาะสำหรับคนนอนดึกที่มักจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้บ่อยครั้งในเวลากลางคืน นอกจากนี้ การหยุดพักระหว่างกิน เช่น หยุดเพื่อสนทนา หรือไปทำกิจกรรมอื่นซึ่งขัดจังหวะการกิน ก็ทำให้อิ่มไวได้ เพราะกระเพาะอาหารทำงานขาดช่วงไป

     อารมณ์เองก็มีส่วนทำให้ปริมาณการกินของเราเปลี่ยนไป หากกำลังเศร้า โกรธเคือง หรือโมโห อาจทำให้บางคนกินอะไรไม่ได้ไปทั้งวัน จนกว่าสภาวะทางอารมณ์จะเข้าสู่ปกติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าคนอกหักใหม่ๆ อาจมีลักษณะของร่างกายที่ซูบผอมไปจากเดิม เพราะไม่รู้สึกอยากอาหารใดๆ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะทำให้กินมากขึ้นอย่างเป็นบ้าเป็นหลังจนอ้วนอย่างไม่รู้ตัว หรือความรู้สึกเบื่อ ก็ทำให้อยากอาหารได้ เพราะบางคนจัดการกับความเบื่อด้วยการหาอะไรใส่ปาก ซึ่งอาจทำให้มีพฤติกรรมการกินที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย นอกจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้กลายเป็นคนกินจุกจิกได้ด้วย

     สำหรับพฤติกรรมการกินที่มากสุดโต่งและน้อยสุดขั้ว อาจมีสาเหตุมากจากอาการเจ็บป่วย เป็นเรื่องปกติหากผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะมีความอยากอาหารน้อยลง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทำให้เบื่อหน่ายอาหารหรืออยากอาหารได้มากกว่าปกติ ส่วนโรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) ก็ทำให้ผู้ป่วยปฏิเสธการกินอาหารเพราะกลัวว่าตัวเองจะอ้วน หรือภาวะกินเยอะผิดปกติ (Binge Eating Disorder) ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการกินอาหารปริมาณมากและเร็วผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นผลมาจากความเครียดและภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ซึ่งนำไปสู่ปัญหาโรคอ้วนได้ รวมไปถึงการรับยาบางชนิด และอาหารเสริม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นสรรพคุณดูแลรักษารูปร่างและลดความอ้วน อาจส่งผลกระทบทำให้รู้สึกอยากอาหารน้อยลง ตลอดจนรู้สึกพะอืดพะอมเมื่อต้องกินอาหารได้

     พฤติกรรมการกินที่มากหรือน้อยผิดปกติอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย เมื่อพูดถึงบุคคลที่กินได้เยอะมาก กลุ่มคนที่เราจะนึกถึงเป็นอันดับแรกคือนักแข่งกินมาราธอนหรือนักกินจุ อย่างเช่น แกลโซแนะ (Gal Sone) นักกินจุชาวญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียงจากความสามารถในการกินได้เยอะมากกว่าคนปกติ เมื่อเอ็กซ์เรย์อวัยวะในช่องท้องของเธอ จะพบกับสาเหตุที่ทำให้เธอกินจุ อยู่ที่หูรูดกระเพาะอาหารช่วงท้ายที่เป็นรอยต่อไปสู่ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ โดยไม่กักเก็บอาหารไว้ในกระเพาะอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับปล่อยให้อาหารลำเลียงไปยังลำไส้เล็กเลย โดยเฉลี่ยลำไส้เล็กของเรายาวประมาณ 6–10 เมตร หรือเทียบเท่าความสูงของอาคาร 2–3 ชั้น ทำให้เธอมีพื้นที่เก็บอาหารมากผิดปกติ อีกทั้งกระเพาะของเธอยังขยายมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า เมื่อความลับถูกเปิดเผยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เธอสามารถกินได้มากจนน่าตกใจ

 

กินเก่ง

 

     สิ่งที่น่าสนใจคือ เราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินได้ ด้วยการปรับการกินด้วยตัวเอง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้อิ่มช้าและกินได้มาก เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายจะไปชะลอการหลั่งสารที่ทำให้รู้สึกอิ่ม ฉะนั้นแม้ร่างกายจะได้รับพลังงานจากเครื่องดื่มนี้ไปแล้วแต่เรากลับยังรู้สึกหิวอยู่ เป็นสาเหตุทำให้เราสามารถกินกับแกล้ม ตลอดจนข้าวต้มโต้รุ่งต่อได้ นักดื่มส่วนมากจึงเสี่ยงต่อภาวะอ้วน

     ส่วนการกินของหวาน จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว เพราะน้ำตาลในของหวานสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว และถูกดูดซับเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว ทำให้อิ่มและลดความรู้สึกอยากกินลง เหตุนี้เองเราจึงกินของหวานเพื่อปิดท้ายมื้ออาหาร และไม่แปลกเลยที่ผู้ใหญ่มักห้ามเด็กๆ ไม่ให้กินขนมหวานก่อนกินข้าว

     การดื่มน้ำเยอะๆ ก็จะทำให้อิ่มง่ายขึ้นเช่นกัน คนที่ต้องการลดน้ำหนักจึงมักจะดื่มน้ำเยอะ แต่สำหรับเด็กๆ ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่จึงมักจะถูกห้ามไม่ให้ดื่มน้ำมาก ดังคำกล่าวที่ว่า อย่ากินข้าวคำน้ำคำ เพราะเมื่อกินอาหารได้น้อยลง เท่ากับว่าร่างกายได้รับสารอาหารน้อยลงตามไปด้วย

     ส่วนการอดอาหารไม่กินอะไรเลย โดยหวังว่าจะทำให้กินได้มากขึ้นในมื้อถัดไปนั้นถือเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เนี่องจากกระเพาะอาหารจะหดและบีบตัวทำให้กินได้น้อยลง ผ่านไปชั่วครู่เดียวก็จะรู้สึกอิ่ม ดังนั้นเราควรกินอาหารให้ครบทุกมื้อตามปริมาณที่ร่างกายต้องการเพื่อให้กระเพาะได้ยืดตัวทำงานตามปกติ นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่เราจะสามารถกินอาหารในมื้อเย็นได้เยอะกว่ามื้อเช้า เพราะกระเพาะได้ถูกยืดมาแล้วตลอดวัน

 

กินเก่ง

 

     สำหรับคนทั่วไปที่อยากจะกินได้มากขึ้นในบางสถานการณ์โดยเฉพาะการกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ก็มีวิธีง่ายๆ เพื่อให้กระเพาะของคุณสามารถจุอาหารได้มากกว่าที่เคย โดยเริ่มกินอาหารย่อยง่ายไล่จากของเบาไปหนัก และเริ่มจากรสชาติอ่อนไปจัด เพราะหากเริ่มจากรสจัดก่อนจะทำให้หิวน้ำ และอิ่มเร็วขึ้น อีกทั้งโซเดียมที่อยู่ในอาหารรสจัด จะทำให้ความอยากอาหารลดลง ขณะกินก็ควรหั่นอาหารออกเป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำเพื่อให้เคี้ยวง่าย และไม่ให้อัดแน่นเต็มกระเพาะ ทั้งยังลดการทำงานของกรามด้วย

     เราอาจจะสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ โดยการเอาสิ่งนู้นมาลองกินคู่กับสิ่งนี้เพื่อให้เราไม่รู้สึกเบื่อหรือเลี่ยนไปเสียก่อน การดื่มน้ำก็ไม่ควรเป็นดื่มอัดลมหรือน้ำที่มีรสหวานเพราะน้ำตาลทำให้อิ่มเร็ว หากจะดื่มแนะนำน้ำรสชาติเฝื่อนๆ ที่ช่วยล้างปากได้ดี อย่างน้ำชา รวมถึงควรแต่งกายให้สบายไม่รัดแน่นลำตัว

     โดยปกติคนเราจะกินอาหารได้น้อยลงตามวัยที่แก่ตัวมากขึ้น เนื่องจากประสิทธิภาพการรับรส และกลิ่นอาหารจะเริ่มถดถอยและเสื่อมสมรรถนะลงทำให้กินอาหารแล้วไม่อร่อย และไม่อยากอาหาร รวมถึงเริ่มมีปัญหาสุขภาพช่องปาก และการบีบและคลายตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ที่เริ่มทำงานไม่ปกติ ทำให้กระเพาะขยายตัวได้น้อย ลำไส้ก็บีบตัวน้อย การย่อยจึงไม่สมบูรณ์ ประสบกับภาวะอาหารตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้นานขึ้น เกิดเป็นอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือแชมป์กินจุ เมื่อแก่ตัว จะทำให้กินได้น้อยลงด้วยกันทั้งนั้น

     เมื่อเรารู้แล้วว่าความสามารถในการกินเกิดจากหลากหลายสาเหตุ มีทั้งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความเคยชินของกระเพาะอาหาร ดังนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยนวิถีการกินอย่างทันทีทันใด แต่อย่างน้อยก็ขอเราได้รู้เท่าทันพฤติกรรมการกินของตัวเอง เพื่อให้ทุกๆ ช่วงชีวิตของเรามีความสุขกับการกิน

 


ที่มา: www.encyclopedia.comwww.nimh.nih.govwww.scienceofeds.orgwww.wired.comhttps://thenewinquiry.com