ความสำเร็จ

Why? | ความสำเร็จเกิดจากอะไร ทำไมพยายามเท่าไรก็ไม่พอ

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ตั้งแต่เด็กเราคงเคยได้ยินคำสอนนี้กันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อโตขึ้นเรากลับได้แต่สงสัย ความพยายามก็อยู่ที่นี่ไง แล้วไหนล่ะความสำเร็จ?

ความสำเร็จ

 

บทบาทของโชค ในโลกของความสำเร็จ

     โรเบิร์ต แฟรงก์ (Robert Frank) นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยคอร์​เนล เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อนานมาแล้วชื่อ Success and Luck: Good Fortune and Myth of Meritocracy มีเนื้อหาเกี่ยวกับโชคในฐานะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ หลังจากหนังสือตีพิมพ์เขาได้รับเชิญไปออกรายการ Fox Business ดำเนินรายการโดย สจวต วาร์นีย์ (Stuart Varney) ผู้ประกาศข่าวชาวอังกฤษที่มาประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเปลี่ยนสัญชาติในภายหลัง

     เมื่อช่วงพูดคุยของรายการเริ่มได้ไม่นาน วาร์นีย์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟและยิงคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบใส่แฟรงก์ไม่ยั้ง โดยมีใจความว่า เขาอ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วรู้สึกถูกดูถูกอย่างมาก เขาถามแฟรงก์ว่า เมื่อ 35 ปีก่อน ผมมาอเมริกาตัวเปล่า สร้างตัวด้วยการทำงานหนัก ทักษะความสามารถ และการยอมรับความเสี่ยง คุณจะบอกว่าความสำเร็จของผมเป็นเพราะโชคอย่างนั้นเหรอ

     คำตอบของแฟรงก์เรียบง่ายไม่หวือหวา เขาเพียงบอกว่าไม่ใช่ว่าคนจะสำเร็จได้โดยไม่ต้องพยายาม ความพยายามเป็นส่วนสำคัญในการประสบความสำเร็จจริง เพียงแต่โชคก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน มีคนมากมายพยายามเทียบเท่ากับวาร์นีย์ แต่ก็ไม่สามารถถีบตัวเองมาถึงจุดที่เขาเป็นอยู่ได้ แต่ผู้ดำเนินรายการคนนั้นไม่มีใจจะรับฟังและเขาก็ได้ช่วงชิงคำพูดทั้งหมดไปจากแขกรับเชิญ

     ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคงมีหลายคนที่เห็นด้วยกับแฟรงก์ และอีกหลายคนที่เห็นด้วยกับวาร์นีย ใช่ โชคอาจมีส่วนแต่เราก็จำต้องเชื่อว่าความสำเร็จมาจากความพยายาม ดังคำที่บอกกันมาว่า ขงเบ้งเคยกล่าวไว้ “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” ไม่อย่างนั้นชีวิตก็จะไร้แรงผลักดันและได้เพียงรอคอยโชคไปวันๆ ตามแต่สวรรค์จะเมตตา

     หากเราไม่ยอมรับว่าการพยายามอย่างสุดความสามารถจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ ความหมายของการฟันฝ่าปัญหาชีวิตทั้งหมดก็จะสูญไป เราจำเป็นต้องเชื่อว่าเรากำหนดชีวิตตัวเองได้ เพื่อคงความหมายของชีวิตไว้ จึงไม่มีพื้นที่หลงเหลือสำหรับโชคลาง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมว่าโชคที่เรากำลังพูดถึง ไม่ใช่เพียงโชคดีที่กำลังจะมาถึง แต่รวมทั้งโชคร้ายที่เราประสบกันมาในอดีตด้วย

 

ความสำเร็จ

 

ต้นทุนโชคร้ายในชีวิตและสังคม

      อาเลน เดอ บัตตัน (Alain de Botton) นักปรัชญาและโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในลอนดอน กล่าวถึงความสำเร็จไว้อย่างน่าสนใจในการพูด Ted Talk ของเขา A Kinder, Gentler Philosophy of Success ว่าพื้นฐานความคิดที่บอกว่า ‘ทำอย่างไรได้อย่างนั้น’ สิ่งที่ได้รับเป็นผลจากการกระทำของเราเอง ทุกคนสำเร็จได้ และความสำเร็จมาจากความพยายามของตัวเราเองเท่านั้น ฟังดูมีเหตุผล เข้าใจง่าย และยอมรับได้ง่าย แต่ปัญหาของการมองเช่นนี้ก็คือด้านกลับของมัน

     ในขณะที่คนจนในยุคกลางของอังกฤษถูกอธิบายว่าเขาเป็นคนโชคร้าย คนจนในยุคปัจจุบันในอเมริกาถูกอธิบายว่าเขาเป็นลูเซอร์ เป็นไอ้ขี้แพ้ของสังคม เพราะไม่พยายาม จึงไม่สำเร็จ

     ด้านกลับของการเชื่อว่า ‘ทำอย่างไรได้อย่างนั้น’ ก็คือ คนที่ประสบความล้มเหลวจะถูกนิยามว่าเขาเป็นเช่นนั้นเพราะตัวเขาเอง และไอ้พวกขี้แพ้เหล่านั้นก็สมควรแล้วที่จะจมอยู่ในที่ของมัน

     ความคิดว่าทุกคนสำเร็จได้ถ้าพยายาม จริงๆ แล้วตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม เราเริ่มจากจุดสตาร์ทเดียวกัน ถ้าตั้งใจมากพอ มุ่งมั่นมากพอ พยายามมากพอ ย่อมต้องเข้าสู่เส้นชัยได้เช่นกัน เพราะเราเท่ากัน เป็นคนเหมือนกัน ซึ่งก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจเกิดมาไม่เท่ากัน

     ทำไมเราจึงเกิดมาที่ประเทศนี้ ในครอบครัวที่เป็นอยู่ มีสถานะทางการเงินอย่างที่เป็น เติบโตมาในย่านที่เราอยู่ มีระบอบการปกครองอย่างที่เป็น เรามีส่วนตัดสินใจเลือกมากแค่ไหนในปัจจัยเหล่านี้ บางคนพิการตั้งแต่เกิด บางคนสูญเสียคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก สังคมที่เติบโตมา ความเจริญที่เข้าถึงย่านที่อยู่อาศัยนั้นๆ ก็กำหนดทิศทางของชีวิตคนคนหนึ่งไม่น้อย อีกทั้งเรายังเราใช้โชคในทุกๆ วัน เราโชคดีแค่ไหนที่เราข้ามถนนโดยไม่เจอคนขับหลับในฝ่าไฟแดง

     หากเราตัดสินคนจากการกระทำเพียงอย่างเดียว เราอาจจะบอกได้ว่า “พี่ตาบอดคนนั้นขายคุกกี้ราคาแพง ไม่อร่อยอีกต่างหาก ทำไมไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือหาอาชีพอื่น” “ป้าคนนั้นเดินร้องเพลงอะไรก็ไม่รู้โหวกเหวกอยู่ได้ใครจะอยากไปบริจาค” หรือ “นี่วันพระก็ไม่ใช่ทำไมน้องเขายังจะมาขายพวงมาลัยอยู่ได้วะ”

     หากเราไม่เชื่อว่าความพยายามจะนำเราไปสู่จุดหมาย ก็คงไม่มีความหมายที่จะพยายาม เราจึงดิ้นรนและพยายามอย่างถึงที่สุดเพราะนั่นเป็นทางเลือกเดียว แต่ในสังคมมีคนอีกมากที่ไม่มีโอกาสจะเลือก ‘ทางเลือกเดียว’ แบบที่เราเลือกได้

     ในขณะที่เราคิดว่าเรามีทางเลือกเดียว ยังมีคนที่ไม่มีทางเลือกอยู่ เมื่อเรารู้สึกว่า ‘ไม่มี’ ยังมีคนที่มีน้อยกว่า ‘ไม่มี’ ของเรา

 

ความสำเร็จ

 

อำนาจภายใน ชีวิตในมือเรา

     แนวคิดเรื่องการเชื่อในปัจจัยภายนอกหรืออำนาจภายในตัวนั้นมีมานานแล้ว จูเลียน รอตเตอร์ (Julian Rotter) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เสนอแนวคิดเรื่อง Locus of Control หรือ ความเชื่อเรื่องอำนาจควบคุมที่นำมาสู่การกำหนดวิถีชีวิต ไว้ในปี ค.ศ. 1954

     เขาเสนอว่าบุคลิกภาพคนเราตามแนวคิดนี้มี 2 แบบ คือ บุคลิกภาพแบบ External Locus of Control ที่เชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นอิทธิพลของอำนาจภายนอกที่ตัวเองแก้ไขไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์เลือก อาจเป็นดวง กรรม โชค ความบังเอิญ หรืออิทธิพลของคนอื่น จึงไม่คิดจะแก้ไขปัญหาที่เกิด เพราะคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ อาจเฉื่อยชา หรือขาดความพยายาม แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจมีชีวิตที่มีความสุข ปลอดความกังวล หรือใจเบาได้เช่นกัน

     บุคลิกภาพอีกแบบหนึ่งคือ Internal Locus of Control ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่รับรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวเป็นผลจากการกระทำหรือความสามารถของตัวเอง จึงมีความกระตือรือร้นที่จะควบคุม จัดการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบตัว มีแรงจูงใจในการเรียนรู้สูงกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้ประสบการณ์ที่เราพบเจอระหว่างเติบโตก็ส่งผลให้เรามีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพแบบใดแบบหนึ่งด้วย

 

     ที่สุดแล้วบทความนี้จึงอาจไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ เราก็ยังคงต้องพยายามและพัฒนาตัวเองให้พร้อมเมื่อโอกาสมาถึง และหลายคนก็คงคิดว่าโชคเป็นปัจจัยหนึ่งอยู่แล้ว สังเกตได้จากตามศาลเจ้าหรือหน้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในวันที่มีการสอบแข่งขันเข้าเรียน พวงมาลัย ดอกไม้ น้ำแดง ม้าลาย ถูกวางเรียงราย เพราะสิ่งที่ทำได้ ก็ได้ทำไปแล้ว ผู้คนมากมายยังพยายามจะ ‘ควบคุมโชค’ ด้วยการขอพรหรือบนบาน

     ทุกสิ่งที่เราทำทั้งความพยายามและการพัฒนาตัวเองจึงเป็นเพียงความหวังที่จะเพิ่มความเป็นไปได้ที่เราจะได้สิ่งที่ต้องการ เพราะโลกเองก็มีปัจจัยมากมายที่ควบคุมไม่ได้อยู่มาก เราจึงต้องพยายามทำในสิ่งที่ควบคุมได้ให้เต็มที่ ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัว ช่วยเหลือกัน และไม่ด่วนตัดสินคนที่อาจโชคดีน้อยกว่าเรา เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างอ่อนโยน ในโลกที่อาจไม่ได้ใจดีกับผู้อยู่อาศัยสักเท่าไร

 


อ้างอิง: www.thecut.comwww.ted.com/talkshttp://wilderdom.com