หัวเราะ

Why? | หัวเราะทำไม ถ้าไม่มีอะไรน่าขำ

ถ้าพูดถึงเสียงหัวเราะ ก็ต้องนึกถึงเรื่องตลก ถ้าเกิดอยู่ดีๆ เราหัวเราะขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย คนก็คงหาว่าบ้า แต่ทว่ามีงานวิจัยหนึ่งบอกเราว่าคนเราหัวเราะไปกับบทสนทนาทั่วไปบ่อยกว่ามุกตลกหลายเท่า

ก็แล้วถ้าไม่มีเรื่องอะไรให้ขำ ทำไมเราถึงยังหัวเราะ?

     Robert Provine ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและจิตวิทยามหาวิทยาลัยแมริแลนด์ และผู้ช่วยของเขา ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการหัวเราะของมนุษย์โดยสังเกตผู้คนตามที่ต่างๆ อย่างห้างสรรพสินค้าและตามท้องถนนในเมือง และบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่ใครสักคนจะหัวเราะ คำพูดไหนที่ทำให้หัวเราะ และคนหัวเราะคือผู้พูดหรือผู้ฟัง

     จากการศึกษากว่า 10 ปี รวมแล้วกว่า 2,000 ตัวอย่าง Provine พบว่าที่มาของเสียงหัวเราะส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากมุกชวนขำ ทว่า 80-90% นั้นมาจากคำพูดทั่วไปในบทสนทนา เช่น “ใช่ๆ” “ไปไหนมา” “ทำข้อสอบเป็นไงบ้าง” “แน่ใจเหรอ” หรือ “นายไม่ต้องกินเบียร์ก็ได้ จ่ายตังค์ก็พอ” และผู้พูดมักจะเป็นฝ่ายหัวเราะเสียเองบ่อยกว่าผู้ฟังถึง 46% นอกจากนี้เขายังพบว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะหัวเราะเมื่ออยู่กับคนอื่น มากกว่าเวลาอยู่คนเดียวถึง 30 เท่า

 

หัวเราะ

 

     การศึกษาของ Provine ชี้ว่าการหัวเราะเป็นเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับผู้อื่น บ่อยครั้งเวลาที่เราหัวเราะไปด้วยกันกับเพื่อน เราไม่ได้หัวเราะเพราะมุกตลก แต่เราหัวเราะเพื่อแสดงว่าเราเข้าใจพวกเขา เห็นด้วยกับเขา สบายใจที่อยู่ด้วย ชื่นชอบ รู้สึกปลอดภัย และเป็นพวกเดียวกัน

     แต่ทั้งนี้วิทยาศาสตร์และจิตวิทยายังไม่มีคำตอบที่หนักแน่นสำหรับเหตุผลที่คนเราหัวเราะ เพราะการศึกษาของ Provine เองก็ถูกค่อนขอดว่าไม่รัดกุม ไม่มีการควบคุมตัวแปร เป็นแค่การสังเกตเพียงอย่างเดียว แม้ว่าเจ้าตัวจะชี้แจงว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างการหัวเราะนั้นมักจะหายไปเมื่อเราพยายามจับตาดูมันอย่างจริงจัง ยิ่งทำการทดลองอย่างเป็นกิจจะก็ยิ่งไม่สามารถศึกษาเสียงหัวเราะตามธรรมชาติจริงๆ ได้

     แง่มุมของการหัวเราะเองนั้นมีอยู่หลากหลายและมีความพยายามที่จะอธิบายเรื่องนี้กันมาอย่างยาวนาน เมื่อการศึกษาของ Provine เองก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมเราถึงหัวเราะเพราะมุกตลก เราคงต้องหาคำอธิบายจากแนวคิดอื่น โดยแนวคิดหลักซึ่งเป็นที่พูดถึงกันเมื่อพูดถึงอารมณ์ขันและการหัวเราะนั้นมีอยู่ 3 แนวคิดหลักๆ ด้วยกันดังนี้

     1. ทฤษฎีความไม่สอดคล้องกัน (Incongruity Theory) แนวคิดนี้เริ่มมาจากการการคิดในเชิงปรัชญาที่สืบย้อนไปได้ถึงนักปรัชญาอย่างเอมมานูเอล คานท์ หรือ อาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ สามารถตีความได้ในหลายแง่มุม สำหรับในทางจิตวิทยาแล้วได้มีการพัฒนาแนวคิดนี้ให้กลายเป็น ทฤษฎีความไม่สอดคล้องและการคลี่คลาย (Incongruity-resolution Theory) ซึ่งอธิบายว่าอารมณ์ขันเกิดจากการพบว่าสิ่งที่คาดว่าจะเกิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นคนละอย่างกัน และเราสามารถคลี่คลายหาคำตอบได้ว่าสองสิ่งนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร หรือก็คือการ ‘เก็ตมุก’ นั่นเอง เช่น

     ปุจฉา: เจอคนเข้าตา ทำยังไงดี?

     วิสัชนา: ก็ล้างออกด้วยน้ำสะอาดสิ

     เมื่อเห็นคำว่าคนเข้าตา เรานึกว่านั่นหมายถึงคนที่เราชอบ แต่พบว่าคนเข้าตาที่พูดถึงคือคนเข้าไปอยู่ในตา นี่คือความไม่สอดคล้องของสิ่งที่เราคาดคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเราเก็ตว่านี่เป็นการเล่นคำจากสองความหมายของคำว่า “คนเข้าตา” ตามแนวคิดนี้การเก็ตมุกคือหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ชุดตรรกะใหม่ที่ช่วยเพิ่มแง่มุมให้เราคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้ดีขึ้น นี่เป็นเหตุว่าทำไมเจอมุกซ้ำแล้วไม่ขำ ก็เพราะเราเรียนรู้รูปแบบตรรกะนี้ไปแล้วนั่นเอง

 

หัวเราะ

 

     2. ทฤษฎีการปลดปล่อย (Relief Theory) ผู้ริเริ่มแนวคิดนี้คือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิทยาสำนักจิตวิเคราะห์ แนวคิดนี้อธิบายว่าอารมณ์ขันคือทางออกของการปลดปล่อยความก้าวร้าวหรือความต้องการทางเพศที่สะสมและถูกกดไว้ออกมาในรูปแบบที่สังคมยอมรับได้ เราจึงหัวเราะไปกับตลกเจ็บตัว มุกเหยียด หรือมุกใต้สะดือ เพราะมันช่วยลดความตึงเครียดทางจิตของเราที่สั่งสมไว้ ในขณะที่ซูเปอร์อีโก้หรือจิตสำนึกที่มีศีลธรรมของเราคอยกดข่มไม่ให้แสดงความก้าวร้าวออกมา มุกตลกช่วยให้เราปลดปล่อยอารมณ์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับออกมาโดยหลอกซูเปอร์อีโก้ว่ามันก็แค่มุกขำๆ หรือล้อเล่นนิดเดียวเอง

     อีกคำอธิบายหนึ่งของทฤษฎีนี้คือการหัวเราะเป็นการปลดปล่อยปลดปล่อยแรงขับหรืออารมณ์ที่ถูกกระตุ้นให้สั่งสมขึ้นหรือก็คือถูกบิวด์ขึ้นมาแล้วแต่อยู่ดีๆ กลับพบว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด และเราไม่ต้องใช้อารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์ค้างที่เกิดขึ้นต้องการถูกปลดปล่อยเลยออกมาในรูปของการหัวเราะโล่งใจแทน เช่น เวลาที่ตัวละครในหนังอยู่ในห้องมืดน่ากลัว เพลงเร้าหนักขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงดังมาจากข้างหลัง เขากำไฟฉายในมือแน่น กลั้นหายใจหันควับกลับไป เจอหมาคอร์กี้ตัวหนึ่งกำลังนั่งปลดทุกข์อยู่

 

หัวเราะ

 

     3. ทฤษฎีความเหนือกว่า (Superiority Theory) จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ยิ่งย้อนไปไกลถึงสมัยของนักปรัชญาอย่างอริสโตเติล โดยแนวคิดนี้มีใจความว่าคนเราหัวเราะคนที่ทำผิดพลาดหรือประสบเคราะห์ร้ายอย่างการลื่นล้ม ก็เพราะเรามีความสุขที่ได้รู้สึกเหนือกว่าผู้อื่น นี่เป็นคำอธิบายที่ครอบคลุมถึงมุกล้อเลียนหรือตลกเจ็บตัวด้วย

     การวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันชี้ว่าแง่มุมหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นก็คือความอิจฉา โดยใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อบนใบหน้า แล้วให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูภาพคนแต่ละกลุ่ม มองภาพคนที่เป็นตัวแทนของคนแต่ละประเภท คือนักเรียน ผู้สูงอายุ คนติดยา และคนรวย โดยจับคู่ภาพกับสถานการณ์ต่างๆ พบว่าเมื่อนึกภาพผู้สูงอายุเจอเรื่องร้าย ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกสงสาร ขณะที่เมื่อคนรวยประสบเหตุการณ์เดียวกันกลับรู้สึกมีความสุข ทั้งนี้ความอิจฉาเป็นแค่แง่มุมหนึ่งของความสุขที่เป็นความทุกข์ของผู้อื่น เพราะเมื่อเราดูวิดีโอคนทำอะไรเฟลๆ เราไม่ได้รู้สึกอิจฉาแต่ก็ยังหัวเราะออกมาอยู่ดี

 

 

     แม้ทุกคำอธิบายที่มีอยู่ล้วนแล้วแต่มีช่องโหว่ ยังไม่มีคำตอบตายตัวว่าทำไมมนุษย์เราถึงหัวเราะ แต่เรื่องที่แน่นอนคือการหัวเราะส่งผลดีต่อสุขภาพ การหัวเราะช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล ในขณะที่กระตุ้นการหลั่งโดปามีน สารแห่งความสุข ช่วยเผาผลาญพลังงาน เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจทำให้เลือดสูบฉีดได้ดีขึ้นจึงลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ได้มากขึ้น ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้นด้วย

     สำหรับใครที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ผมมีเรื่องชวนขำอย่างหนึ่ง เรื่องตลกก็คือการใช้เวลาดูคลิปตลกสักคลิปอาจจะมีประโยชน์กว่าการอ่านบทความนี้แล้วเครียดว่าคนเราหัวเราะเพราะอะไรตั้งเยอะเลยล่ะ แหะๆ

 


ที่มา: www.nbcnews.comwww.sscnet.ucla.eduhttps://science.howstuffworks.comwww.damninteresting.comwww.ncbi.nlm.nih.gov, www.freidok.uni-freiburg.de, https://blogs.princeton.edu, www.anzam.org, http://time.com