งานชงกาแฟ

อย่าประเมิน ‘งานชงกาแฟ’ ต่ำไป! ไม่ว่าลูกน้องหรือหัวหน้าก็ควรมี ‘งานชงกาแฟ’

เรียกว่าเป็นกรณีคลาสสิกก็ว่าได้ ที่มักมีการถกเถียงว่าหน้าที่ ‘ชงกาแฟ’ ให้ลูกค้าและหัวหน้าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำหรือเปล่า? บางคนมองว่า ไม่ได้อยู่ใน Job Description แล้วจะทำไปทำไม แถมดูจะไม่ให้เกียรติกันด้วยถ้าบริษัทไหนยังมีนโยบายให้พนักงานชงกาแฟให้หัวหน้า

     ทว่า ‘งานชงกาแฟ’ มีมิติที่ลึกกว่านั้น จริงอยู่ที่งานชงกาแฟไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหน้าที่ที่พนักงานต้องทำ แต่งานชงกาแฟมักถูกใช้เป็น ‘คำถามหลอก’ ที่หลายคนไม่ทันคิด เพราะมีกรรมการสอบสัมภาษณ์หลายคนที่ยังนิยมถามคำถามนี้กับผู้สมัครว่า ‘ถ้าหัวหน้าให้คุณชงกาแฟหรือเสิร์ฟน้ำ คุณจะทำไหม?’

     อย่างไรก็ถาม ถ้ามีคนถามคุณด้วยคำถามนี้ละก็ ก่อนตอบ อยากให้คุณลองสังเกตก่อนว่าแก้วน้ำที่เสิร์ฟแขกบนโต๊ะนั้นมาจากไหน? ถ้ามีแม่บ้านมาเสิร์ฟก็ขอให้คิดได้เลยว่านี่เป็นคำถามหลอกชัวร์!

     เพราะออฟฟิศยุคนี้แทบจะเป็น 4.0 กันหมดแล้ว คือมีแม่บ้านที่มีหน้าที่ชงกาแฟคอยให้บริการ หรือไม่ หลายที่ก็แทบจะเป็นหน้าที่ใครหน้าที่มัน จะหัวหน้าหรือลูกน้อง ใครใคร่ชงก็ชงเอาเอง การไหว้วานหรือเรียกใช้ใครเป็นแจ๋วประจำออฟฟิศ บางทีเป็นเรื่องน่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ (แต่ก็ไม่เถียงว่าทุกวันนี้ก็ยังมี)

     ฉะนั้น ถ้าว่ากันตามตรงคำถาม ‘ชงกาแฟให้ได้ไหม?’ ไม่ใช่คำถามเพื่อให้มาชงกาแฟให้จริงๆ หรอก แต่ซ่อนคำถามอีกชั้นหนึ่งเข้าไปว่า ‘คุณเป็นคนประเภทตายตัวว่า ฉันจะทำแค่งานของตัวเองเท่านั้น?’ หรือ ‘คุณเป็นคนที่พร้อมจะช่วยบริษัทอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะเกินหน้าที่ตัวเองก็ตาม?’

     เหตุผลเพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่า เวลาทำงานจริงๆ หน้างานอาจจะมีงานบางอย่างที่อยู่นอกหน้าที่ แต่ถ้าเราทำจะช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์ เช่น มีลูกค้าต่างประเทศเดินทางมาคุยงาน แต่เผอิญว่าวันนั้นคนขับรถบริษัทลากระทันหัน ครั้นจะส่งลูกค้านั่งแท็กซี่ก็กระไรอยู่ เราเลยอาสาขับรถพาลูกค้าไปส่งสนามบินและแวะพาทานข้าวเพื่อสร้างความประทับใจ

     ซึ่งถามว่างานขับรถให้ลูกค้าใช้หน้าที่ตาม Job Description ไหม? ก็ไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่ทำแล้วช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์ พูดอีกอย่างมันก็คือ ‘งานชงกาแฟ’ นั่นเอง

     จริงอยู่ว่า ถ้าไม่ยอมชงกาแฟก็ไม่ผิด แต่ถ้าจะก้าวขึ้นไปทำงานตำแหน่งใหญ่ๆ ต้องยอมรับว่าเราต้องโชว์ให้บริษัทหรือนายจ้างเห็นว่า ‘เราคือคนที่เต็มที่เพื่อบริษัท’ เพราะคิดดูว่า ถ้ามีคนสมัครงาน 2 คน ที่มีวุฒิหรือประสบการณ์ใกล้เคียงกัน คนหนึ่งบอกว่าจะทำเฉพาะแค่งานตัวเอง แต่อีกคนบอกว่าเขาพร้อมสู้ พร้อมช่วยบริษัทเต็มที่ คุณคิดว่า ถ้าคุณเป็นนายจ้างคุณจะเลือกใคร?

     แต่ถึงอย่างไร ขอให้เชื่อเถอะ บริษัทหรือนายจ้างที่แฟร์จริงๆ เขาก็ไม่ได้จ้างเรามาเพื่อมาชงกาแฟหรอก เพราะถ้าเขาบ้าจี้ทำแบบนั้นจริงๆ คุณเองก็ต้องพิจารณาออฟฟิศนั้นด้วยเหมือนกันว่า นายจ้างที่มีแนวคิดคร่ำครึแบบนี้ ยังใช่องค์กรที่อยากทำด้วยหรือเปล่า

 

     ในทำนองเดียวกัน คนเป็นหัวหน้าหรือผู้นำเองก็ควรมี ‘งานชงกาแฟ’ ด้วยเหมือนกัน เหตุผลเพราะปัญหาของคนเป็นหัวหน้าหรือคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูงๆ มักประสบคล้ายกันคือ พอมีอำนาจมากขึ้น พวกเขามักหยิ่งยโส ซึ่งต่อมานิสัยไม่ดีเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน เพราะไม่มีลูกน้องหรือลูกค้าคนไหนที่ชอบคนอีโก้ จองหอง และเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

     ฉะนั้น ถ้าหัวหน้าคนไหนที่ตระหนักถึงพิษภัยของนิสัยไม่ดีที่มากับอำนาจ สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือพยายามฝึกตัวเองให้มีความถ่อมตัว โดยวิธีหนึ่งที่ฝึกตัวเองได้ดีก็คือการหัดทำอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับข้อมูลในหนังสือ Good To Great เขียนโดย Jim Collins ที่เข้าไปศึกษาบรรดาบริษัทชั้นนำของโลกแล้วพบว่า บริษัทที่มีผู้นำถ่อมตัว ทุ่มเทตั้งใจทำงานเพื่อช่วยลูกน้องและลูกค้า เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บริษัทเติบโตยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืน

     อย่างผู้บริหารใหญ่หลายคนก็มีวิธีฝึกตัวเองแตกต่างกันไป เช่น ‘คุณแทน’ – ธนพงศ์ จิราพาณิชกุล ซีอีโอบริษัทธนจิรา ที่มีฝีไม้ลายมือในการปลุกปั้นแบรนด์นอกให้ดังในเมืองไทยอย่างถล่มทลาย ไม่ว่าจะเป็น Pandora, Marimekko ถึงจะเป็นผู้บริหารระดับพันล้าน แต่คุณแทนก็ยังขับรถเอง จองตั๋วเครื่องบินด้วยตัวเอง ยังล้างจานและซื้อข้าวด้วยตัวเอง ซึ่งอาจเป็นสไตล์ของคุณแทนที่ชอบทำอะไรเอง

     แต่สิ่งหนึ่งที่ได้แน่ๆ คือความติดดิน ความถ่อมตัว การทำงานที่ไม่ได้อยู่แต่บนหอคอย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น เพราะหลายครั้งคุณแทนได้ไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน หรือเห็นพฤติกรรมลูกค้า จากการลงมือไปดูงานด้วยตัวเอง

     ในทำนองเดียวกัน การทำอะไรด้วยตัวเองก็ช่วยให้ได้ใจลูกน้องด้วยเช่นกัน เพราะลูกน้องจะรู้สึกทันทีว่า ถ้าหัวหน้าติดดินและทำอะไรเอง แสดงว่าหัวหน้าเราเป็นคนลุยงาน เป็นคนหนักเบาเอาสู้ พอตัวเองจะขี้เกียจก็จะเริ่มเกรงใจ เพราะขนาดหัวหน้ายังทำงานหนักกว่าเราเลย นอกจากนี้ตัวหัวหน้าเองก็ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้องได้อีกด้วย

     และที่แน่นอนที่สุด หัวหน้าที่ยอม ‘ชงกาแฟ’ ก็มักจะเป็นหัวหน้าที่ไม่ยอมให้ลูกน้องชงกาแฟให้ เพราะเขาไม่ใช่คนบ้ายศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ เจ้าตัวชงเองน่าจะอร่อยกว่า (หัวเราะ)