การเรียกเงินเดือนก็เหมือนการตั้งราคาสินค้า (Pricing) ซึ่งมีทั้งคนที่ตั้งแล้วได้ราคาดีและได้ราคาไม่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องดูด้วยว่าตัวเรานั้นกำลังขายตัวเองแบบไหน ขายแบบสินค้าทั่วไป? หรือสินค้าพรีเมียม?
พูดอีกอย่างคือก่อนจะคิดเรื่องเรียกเงินเดือน อาจต้องคิดก่อนว่าเรากำลังจะย้ายไปทำงานแบบธรรมดา หรือแบบไม่ธรรมดา กล่าวคือย้ายไปรับตำแหน่งเดิมหรือสูงขึ้นกว่านิดหน่อย หรือกำลังย้ายไปเป็น “กุญแจ” ให้กับบริษัท เพราะการย้ายงานแบบหนึ่งกับแบบสองมีวิธีคิดการเรียกเงินที่แตกต่างกัน
การย้ายไปแบบธรรมดา เช่น ปรับตำแหน่งขึ้นมาหนึ่งสเต็ป สูตรการเรียกเงินที่ทำโดยทั่วไปคือ ขอขึ้นมาประมาณ 20% เช่น ถ้าเคยได้ 25,000 บาท ก็ขอมาเป็น 30,000 บาท เป็นต้น แต่การย้ายไปเป็น “คนเปลี่ยนเกม” (Game Changer) การขึ้นเงินเดือนไม่ได้พูดกันเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ากันเป็นกี่เท่าตัว เช่น เงินเดือน 100,000 บาท ขึ้นมาเป็น 300,000 บาท
ซึ่งในบทความนี้จะขอพูดถึงการขึ้นเงินเดือนแบบที่สอง เพราะแบบแรกเป็นการเดินตามเกมที่คนอื่นกำหนด แต่แบบที่สองคือเราเป็นคนกำหนดราคาเอง และแน่นอนว่าพอเป็นคนกำหนดราคาก็ย่อมได้ราคาดีกว่าตลาด โดยการเรียกเงินเดือนแบบที่สองนั้นต้องประเมินจากปัจจัยอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่
1. ขนาดของบริษัท
ตรรกะง่ายๆ ถ้าบริษัทมีรายได้น้อย การเรียกเงินเดือนสูงๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นบริษัทมีรายได้มหึมา การจะเรียกเงินเดือนสูงไม่ใช่เรื่องแปลก
เช่น ถ้าบริษัทมีรายได้ต่อปี 30 ล้านบาท เราจะไปขอเงินเดือนปีละแสน หรือตกปีละล้านกว่าๆ การขอเงินเดือนแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของบริษัท ถ้าไม่ใช่ว่าเราคือตัวเปลี่ยนเกมจริงๆ แบบที่ว่าบริษัทกำลังจะขาดทุน แล้วเราคือคนที่พลิกให้มาเป็นกำไร การขอเงินเดือนเป็นแสนก็เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ แน่นอน
ทว่า ถ้าบริษัทขนาดหมื่นล้านบาท การขอเงินเดือนปีละล้านกว่าบาท ย่อมไม่ใช่เรื่องใหญ่ เหมือนคุณมีเงินหมื่น เสียไปบาทหนึ่งยังไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าคุณมี 30 บาท เสียไปบาทหนึ่ง ก็มีรู้สึกบ้างเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าคิดอยากได้เงินเดือนสูง ต้องประเมินก่อนว่าขนาดบริษัทใหญ่พอจะพร้อมจ่ายเราไหม
2. บริษัทกำลังขยายขนาดใหญ่ขึ้นแค่ไหน
ถัดมาก็ต้องดูประกอบด้วยว่าบริษัทกำลังขยายขนาดใหญ่ขึ้นแค่ไหน บางทีบริษัทที่จะเข้าไปทำอาจยังกลางๆ แต่ถ้าเกิดเป็นบริษัทที่คิดจะขยายใหญ่ โอกาสที่จะเข้าไปขอเงินเดือนสูงๆ ก็ย่อมเป็นไปได้ ถ้าตำแหน่งที่เราเข้าไปมีผลโดยตรงกับการขยายขนาดของบริษัท
นี่จึงเป็นเหตุผลที่คนอยากเร่งไต่เงินเดือนจะไม่เข้าไปทำในบริษัทไซซ์มหึมาในทันที แต่มาสร้างเวทีที่บริษัท “กำลังโต” ก่อน เพราะมองว่านี่เป็นเวทีที่พวกเขาจะปล่อยของ พอวันที่ผลงานพวกเขาฉายแววจนเตะตาบริษัทใหญ่ค่อยไปเร่งขึ้นเงินอย่างก้าวกระโดดอีกรอบแทน
ในทางกลับกัน เรื่องการขยายขนาดบริษัทก็ยังให้มุมมองกับคนที่คิดอยากเติบโตได้อีกด้วยว่าควรอยู่ต่อหรือออกไปลุยที่อื่นแทน กล่าวคือโดยทั่วไป ทุกบริษัทจะต้องตั้งเป้ากำไรสูงขึ้นกว่าปีก่อน อย่างน้อย 5-10% เหตุผลใหญ่ๆ เลย เพราะพนักงานต้องปรับเงินเดือนทุกปี ถ้าบริษัทไม่โตขึ้น แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปปรับเงินเดือนพนักงาน ฉะนั้น ถ้าเราทำงานอยู่ออฟฟิศที่โตขึ้นปีละ 5-10% ก็พนันได้เลยว่าเราจะขอขึ้นเงินเดือนตัวเองได้ไม่เกินนี้
ดังนั้น ถ้ามีฝันว่าอยากได้เงินเดือนขึ้นติดจรวดก็ต้องหันกลับมาประเมินด้วยว่าออฟฟิศนั้นกำลังโตแบบไหน โตแบบเล็กหรือโตแบบยิ่งใหญ่ เพราะถ้าโตแบบใหญ่ นั่นแปลว่ามันมีโอกาสที่เราจะเข้าไปเป็นกุญแจให้บริษัท ซึ่งก็เป็นโอกาสที่เราจะต่อรองขึ้นเงินเดือนแบบติดจรวดในอนาคต
3. มูลค่าที่เราจะสร้างให้บริษัท
แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าบริษัทจะไซซ์เป็นอย่างไร หรือโตมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องมาวัดที่ฝีมือของเราว่าเราคือกุญแจดอกนั้นที่เขาตามหาจริงๆ
ถ้าเราเข้าไปเป็น “คนสร้างเงิน” หรือ “คนประหยัดเงิน” ให้บริษัทได้อย่างมหาศาล แบบนี้ก็มีอำนาจต่อรองที่จะเรียกเงินเดือนสูงๆ เช่น จะเข้าไปทำงานด้านการตลาด เราบอกบริษัทว่าสามารถทำเงินให้เขาได้มากกว่า 15 เท่าของเงินเดือนที่เราขอ แบบนี้ก็ย่อมเป็นไปได้ที่เขาจะรับดีล เพราะแปลว่าเขาลงทุนแล้วคุ้มค่า คือยอมจ่ายเยอะหน่อย แต่ก็ได้เงินเยอะขึ้น
หรือบางทีเข้าทำงานด้านไอที แล้วบอกบริษัทว่า ถ้าเราเข้าไปทำงาน เราจะเอาเทคโนโลยีและระบบใหม่เข้ามาใช้ ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนบริษัทลงเกือบ 80 ล้านบาทต่อปี แบบนี้จะเรียกเงินเดือนเป็นแสนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเขาจ่ายเรา 1 แต่เราช่วยเขาประหยัดได้เกือบ 40
โดยสรุปแล้ว ก่อนจะเรียกเงินเดือน สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนคือเราเข้าไปเป็นฟันเฟือง หรือเข้าไปเป็นกุญแจให้บริษัท ถ้าเป็นแบบแรก การเรียกเงินก็คิดแบบง่ายๆ คือคิดจากราคากลางในตลาด เช่น จะไปเป็นผู้จัดการ ราคาอยู่ที่ 35,000-45,000 บาท ก็เรียกไปสุดเพดานแล้วรอให้บริษัทต่อลงมาอีกที หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ขอขึ้น 20% กล่าวคือสูงกว่าเรตเงินเดือนที่เก่าที่ปรับขึ้นทุกปี 5-10% ขึ้นมาอีกหน่อย จาก 30,000 ก็มาเป็น 36,000 บาท
แต่ถ้าจะเข้าไปเป็นกุญแจ การเรียกเงินไม่ได้ใช้สูตรทั่วไป แต่ดูกันที่มูลค่าที่เราจะไปทำให้เขา ถ้าเราทำให้เขาได้เยอะ เราก็เรียกได้เยอะตามเนื้อผ้า
พูดอีกอย่างคือการขึ้นเงินเดือนแบบแรกใช้ราคากลางตลาดเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าเป็นแบบที่สองอยู่ที่ถ้าเรากำหนดได้ว่าเรามีศักยภาพทำประโยชน์ให้บริษัทนั้นได้เท่าไร เราก็มีสิทธิ์กำหนดราคาค่าตัวเราด้วยเช่นกัน