Animal Farm

คำศัพท์สะท้อนเผด็จการใน Animal Farm เมื่อผู้นำหลงอำนาจ ความเท่าเทียมก็เป็นเพียงเรื่องสมมติ

ถ้าพูดถึงวรรณกรรมระดับโลกที่สอดแทรกแนวคิดทางการเมืองได้อย่างเข้มข้น เผ็ดมัน และสนุกสนาน Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ต้องติดอันดับเป็นหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยเนื้อเรื่องที่สื่อถึงการยึดอำนาจเผด็จการ และความล้มเหลวของการสร้างโลกใหม่แห่งความเท่าเทียม ผ่านการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ โดยใช้ฟาร์มสัตว์และเหตุการณ์ ‘บ้านๆ’ ทำให้เรื่องราวยากๆ อย่างการเกิดขึ้นของลัทธิมาร์กซ์และคอมมิวนิสต์กลายเป็นเรื่องย่อยง่าย อ่านสนุก และยังเสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ

     จึงเป็นเรื่องชวนสร้างความฮือฮา (และงุนงง) เป็นอย่างมาก เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแนะนำให้คนไทยอ่านวรรณกรรมเล่มนี้เพื่อพัฒนาสติปัญญาและใช้เป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิต ทั้งๆ ที่เนื้อหาในหนังสือดูจะเสียดสีเหน็บแนมการเมืองไทยในปัจจุบันเสียเหลือเกิน

     ในคอลัมน์ World Wide Words ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงขอพาคุณไปรู้จักกับชุดคำศัพท์และประโยคเด็ดเกี่ยวกับการเมืองและอำนาจเผด็จการที่น่าสนใจซึ่งซุกซ่อนอยู่ในหนังสือ Animal Farm ที่แม้คนเขียนตั้งใจจะเขียนเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซีย แต่ดันส่งแรงกระเพื่อมแบบแสบๆ คันๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงการเมืองไทย

 

Animal Farm
image: https://payload.cargocollective.com

 

     Animal Farm เป็นนวนิยายเชิงสัญลักษณ์ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488) เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางต่ำ เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตในสังคมชนชั้นที่หลากหลาย เช่น เรียนหนังสือในโรงเรียนของชนชั้นสูง รับราชการเป็นตำรวจซึ่งไปประจำการอยู่ในพม่า (ตอนนั้นถูกปกครองโดยอังกฤษ) ใช้ชีวิตอย่างคนจรจัด ทำงานใช้แรงงาน สอนหนังสือ และเป็นนักข่าว การเปลี่ยนงานบ่อยๆ และมีรูปแบบชีวิตไม่แน่นอน ทำให้จอร์จสัมผัสการกดขี่ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองอยู่บ่อยครั้ง

     เขาเขียนนิยายเรื่อง Animal Farm ขึ้นในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ซึ่งขณะนั้นสหราชอาณาจักรกำลังเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าชาวอังกฤษส่วนใหญ่จะยกย่องสตาลิน แต่ตัวเขาเองกลับไม่พอใจกับเรื่องดังกล่าว และถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือเสียดสีอำนาจเผด็จการเล่มนี้ โดยในตอนแรกต้นฉบับถูกหลายสำนักพิมพ์ปฏิเสธ แต่ภายหลังได้รับความนิยมเนื่องจากความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสงครามเย็น

 

Animal Farm
George Orwell

 

     สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เราขอเล่าคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องของฟาร์มแมนเนอร์ (Manor Farm) ที่มีเจ้าของเป็นชายขี้เหล้าชื่อ โจนส์ (Jones) เขาถูกบรรดาสัตว์ในฟาร์มมองว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่เอาไหน วันๆ เอาแต่ดื่มเหล้าและใช้แรงงานสัตว์ หมูเมเจอร์เฒ่า (Old Major) ผู้นำของสัตว์ในฟาร์มจึงจุดชนวนให้สัตว์ในฟาร์มลุกฮือขึ้นมาต่อต้านโจนส์เพื่อจะได้เป็นอิสรภาพ ก่อนที่มันจะตายจากไปด้วยความชรา หลังจากนั้น บรรดาสัตว์ก็ขับไล่เจ้าของเก่าออกจากฟาร์มไปได้สำเร็จ ผู้นำหมูสองตัวจึงแย่งอำนาจกันจนสุดท้ายได้ ‘นโปเลียน’ เป็นผู้นำสูงสุดของฟาร์ม โดยตั้งใจจะปกครองสัตว์ทุกตัวอย่างเท่าเทียม

     แต่อำนาจอันหอมหวานก็ทำให้นโปเลียนหลงระเริงจนหน้ามืดตามัว จากที่เคยวาดฝันอยากสร้างโลกแห่งสังคมนิยมที่ทุกคนมีความเสมอภาคก็กลับกลายเป็นผู้ที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าสัตว์ตัวอื่นๆ สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงผู้นำที่พรากเอาสิทธิของประชาชนไปไม่ต่างจากนายโจนส์ เจ้าของฟาร์มคนก่อนแต่อย่างใด

     และนี่คือคำศัพท์ทางการเมืองและประโยคเด็ดส่วนหนึ่งจากการปฏิวัติของ Animal Farm

 

Comrade

     คำนี้ปรากฏขึ้นหลายครั้งในตอนที่หมูเมเจอร์เฒ่า สโนวบอลล์ และนโปเลียน สามผู้นำหมูนักปฏิวัติใช้เรียกบรรดาเพื่อนๆ สัตว์ในฟาร์มเวลาต้องการรวมพล เช่น ประโยคที่เมเจอร์เฒ่าบอกว่า

     “I do not think, comrades, that I shall be with you for many months longer, and before I die, I feel it my duty to pass on to you such wisdom as I have acquired.”

     (สหาย ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่เคียงข้างพวกท่านได้อีกหลายเดือนนัก แต่ก่อนตาย ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องส่งต่อความรู้และปัญญาที่ข้าพเจ้าสั่งสมมาให้กับพวกท่าน)

     ตามหลักการใช้แล้ว คำว่า comrade ไม่ได้แปลว่า เพื่อน หรือ สหาย (friend) เท่านั้น แต่ยังแปลว่า สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (a member of the Communist party) ด้วย โดยคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) และถูกใช้อย่างแพร่หลายในการปฏิวัติรัสเซีย (Russia Revolution) ดังที่ปรากฏในโปสเตอร์ด้านล่างนี้

 

Animal Farm
ความหมาย: Comrades, let’s exercise! (สหาย ไปออกกำลังกายกันเถอะ!)

 

Dissentient

     แปลตรงตัวได้ว่า ผู้ไม่สนับสนุน หรือ ผู้ไม่เห็นด้วย มักนำมาใช้กับเหตุการณ์ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อย เช่น การลงคะแนนเสียงทางการเมืองที่คนส่วนใหญ่เทคะแนนโหวตไปที่พรรคเดียวกัน และมีเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้นที่คิดเห็นต่างออกไป คนเหล่านี้จะถูกเรียกว่า ‘Dissentient’ เช่นเดียวกับตอนที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกขับไล่นายโจนส์ออกไปจากฟาร์ม

     “There were only four dissentients, the three dogs and the cat, who was afterwards discovered to have voted on both sides.”

     (มีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง 4 เสียงเท่านั้นคือ สุนัข 3 เสียงและแมวอีก 1 เสียง ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นผู้ที่โหวตให้กับทั้งสองฝั่ง)

     มีผู้วิเคราะห์วรรณกรรมกล่าวว่าเหตุการณ์นี้คือการโกงคะแนนโหวต ที่ทำให้ผู้เห็นต่างมาเป็นฝ่ายของตน อ้าว… เหตุการณ์คุ้นๆ อีกแล้วล่ะสิ

 

Maxim: Four legs good, two legs bad

     Maxim แปลว่า ข้อเขียนที่เป็นความจริง, หลักการ, หลักปฏิบัติ, หลักคำสอน หรือคติพจน์ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เป็นหลักที่ตรงกับความจริงก็ได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ทำกันมานานจนกลายเป็น ‘ชุดความจริง’ ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยอมรับและสืบทอด เช่น ประโยคในหนังสือที่ว่า

     “After much thought Snowball declared that the Seven Commandments could in effect be reduced to a single maxim, namely: Four legs good, two legs bad.”

     (หลังจากคิดมานาน สโนวบอลล์ก็ประกาศว่าบัญญัติ 7 ประการ สามารถลดทอดนให้เหลือเป็นคติพจน์ที่ชัดเจนเพียงข้อความเดียว นั่นก็คือ สี่ขาดี สองขาเลว)

 

Animal Farm
image: https://live.staticflickr.com

 

     ข้อความนี้มีบทบาทอย่างมากในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสัตว์ทั้งหมดในฟาร์ม พวกมันถูกเสี้ยมสอนให้รังเกียจมนุษย์ที่จัดว่าเป็นสัตว์สองขา และยกย่องเพื่อนพ้องที่เป็นสัตว์สี่ขา แต่เมื่อนโปเลียนเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เริ่มทำตัวเหมือนมนุษย์ด้วยการเดินสองขา กินเหล้า นอนบนเตียง จนแต่งตั้ง maxim หรือคติพจน์ใหม่ว่า

     “Four legs good, two legs better.—สี่ขาดี สองขาดีกว่า” 

     เพื่อเป็นการเชิดชูตัวเอง และทำให้เห็นว่าตัวมันสูงส่งกว่าคนอื่น เหตุการณ์นี้ยังเป็นข้อพิสูจน์ด้วยว่า Maxim หรือคติพจน์สวยหรูที่สัตว์ในฟาร์มเชื่อมั่นและเคารพนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองที่มอบผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่มเท่านั้น คล้ายๆ กับกฎหมายของประเทศใครน้า…

 

All animals are equal, but some animals are more equal than others.

     ประโยคเด็ดที่เป็นเหมือนบทสรุปทั้งหมดของ Animal Farm แปลความหมายได้ว่า สัตว์ทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวมีความเท่าเทียมกันมากกว่าสัตว์อื่น

 

Animal Farm
image: https://pbs.twimg.com

 

     เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อของ จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียนว่า แม้ตอนแรกแก่นของลัทธิสังคมนิยมจะฟังดูสวยงาม ชวนฝัน สามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมได้จริงๆ แต่สุดท้ายแล้วอำนาจก็จะไปตกอยู่ในมือของใครบางคนหรือคนบางกลุ่มเสมอ ซึ่งคนกลุ่มนั้นก็จะรับ ‘ความเท่าเทียมกว่า’ (more equal) เช่นเดียวกับนโปเลียนที่นั่งตักตวงความสุขจากประชาชนที่ทำงานหนัก ไม่ต่างอะไรจากเจ้านายคนก่อนที่มันขับไล่ออกไป

     นักภาษาศาสตร์ยังสังเกตว่าในวรรณกรรมของจอร์จมักปรากฏคำว่า ‘more’ กับคำคุณศัพท์ที่โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถผันเป็นขั้นกว่าได้เช่น

     more correct (ถูกต้องมากกว่า)

     more false (ผิดมากกว่า)

     more equal (เท่าเทียมมากกว่า)

     โดยมีการวิเคราะห์ว่า จอร์จตั้งใจจะใช้หลักไวยากรณ์ผิดๆ นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าความถูก-ผิด และความเท่าเทียมนั้นสุดท้ายแล้วไม่มีอยู่จริง แต่ถูกบรรทัดฐานทางสังคมขัดเกลาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แนวคิดการเมืองแบบสังคมนิยมที่ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมจึงไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ แต่จะวนเวียนเป็นวงจรการตักตวงอำนาจอันไม่สิ้นสุด ผ่านการกระทำที่ถูกต้องกว่า หรือเท่าเทียมกว่า (แบบปลอมๆ) เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดใน Animal Farm นั่นเอง

 


ที่มา: