คำพูด คือสิ่งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดอย่างหนึ่งในโลก
หลายครั้งที่คำพูดเพียงไม่กี่คำ เปลี่ยนความคิด จิตใจ รวมไปถึงชีวิตของคนคนหนึ่งจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ โดยเฉพาะคำพูดครั้งสุดท้าย หรือ Last Words ที่อาจเป็นได้ทั้งประโยคสั่งลา การบอกเล่าบทเรียนชีวิต หรือการปลดเปลื้องความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของผู้ที่กำลังเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้อีกไม่นาน
มาดูกันดีกว่าว่า เหล่าบุคคลสำคัญและผู้มีชื่อเสียงระดับโลกผู้ล่วงลับทั้ง 8 คนต่อไปนี้ ได้เอ่ยคำพูดสุดท้ายของชีวิตไว้ว่าอย่างไร และพวกเขาได้สอดแทรกแนวคิดอะไรเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังอย่างเราบ้าง
01 Bob Marley
“Money can’t buy life” —เงินซื้อชีวิตไม่ได้
ตำนานนักร้องเร็กเก้ชาวจาเมกา บ็อบ มาร์เลย์ เสียชีวิตในวัยเพียง 36 ปี ระหว่างรับการรักษาโรคมะเร็งในไมอามี สหรัฐอเมริกา ด้วยคำพูดสุดท้ายว่า “Money can’t buy life” หรือ “เงินซื้อชีวิตไม่ได้”
เขาเป็นที่รู้จักจากการถ่ายทอดดนตรีแนวสกาของจาเมกา นำเสนอเนื้อหาชีวิตของคนยากจนในย่านเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนว่า ศิลปินจาเมกาไม่จำเป็นต้องยึดแนวทางการให้ความบันเทิงแบบตะวันตก แต่เขียนเพลงจากวัตถุดิบใกล้ตัวได้ นอกจากนี้เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ผลักดันให้ยุติสงครามการเมืองภายในของจาเมกาด้วยการจัดคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพ ‘One Love’
ในช่วงท้ายของชีวิต เขาได้รับมอบเหรียญเกียรติยศจากรัฐบาลจาเมกา และเสียชีวิตหลังจากนั้นหนึ่งเดือนด้วยโรคมะเร็ง แต่ก่อนเขาจะสิ้นลมหายใจ เขาได้บอกกับลูกชาย ซิกกี้ มาร์เลย์ (Ziggy Marley) ว่า “Money can’t buy life” เพราะแม้ว่าเขาจะได้เกียรติยศ ชื่อเสียง และเงินทองมากมายจากการขายอัลบั้มสุดท้าย ก็ไม่ได้ทำให้เขาหายขาดจากโรคร้ายอันน่ากลัว สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่เงิน แต่เป็นการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าก่อนที่วันสุดท้ายจะเดินทางมาถึง
02 Karl Marx
“Last words are for fools who haven’t said enough!” —คำพูดสุดท้ายมีไว้สำหรับคนโง่ที่ทั้งชีวิตนี้ยังพูดไม่พอ!
คาร์ล มาร์กซ์ บุคคลสำคัญชาวเยอรมัน ผู้เป็นทั้งนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีการเมือง นักสังคมวิทยา นักหนังสือพิมพ์ และนักสังคมนิยมปฏิวัติ เสียชีวิตในวัย 64 ปี ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แนวคิดของเขาเกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐศาสตร์ และการเมือง ที่เรียกรวมว่า ลัทธิมาร์กซ์ โดยเขาเคยเรียกร้องให้ชนชั้นแรงงานลงมือปฏิวัติแบบจัดระเบียบเพื่อโค่นทุนนิยม และนำมาซึ่งการปลดปล่อยให้เป็นอิสระทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ งานด้านเศรษฐศาสตร์ของเขายังสร้างความเข้าใจเรื่องแรงงานกับทุน ซึ่งเป็นพื้นความคิดที่มีอิทธิพลอย่างมากทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่
เขาเสียชีวิตด้วยอาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบขณะใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตอยู่ในกรุงลอนดอน โดยก่อนที่เขาจะจากไป แม่บ้านได้ถามเขาว่าอยากเอ่ยคำพูดสุดท้ายอะไรไว้ไหม เพื่อที่เธอจะได้เขียนมันไว้ให้คนรุ่นหลัง แต่เขากลับตะโกนใส่เธอว่า “Last words are for fools who haven’t said enough!” หรือ “คำพูดสุดท้ายมีไว้สำหรับคนโง่ที่ทั้งชีวิตนี้ยังพูดไม่พอ!” เป็นไปได้ว่ามาร์กซ์ได้ถ่ายทอดความคิด ความรู้ และความรู้สึกต่างๆ ออกมาทั้งในทางคำพูดและตัวหนังสือไว้มากมายแล้ว จนคนอย่างเขาไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำสุดท้ายของชีวิตอีก
03 Leonardo da Vinci
“I have offended God and mankind because my work did not reach the quality it should have.” —ผมทำผิดต่อพระเจ้าและมวลมนุษยชาติ เพราะงานของผมมันยังไม่มีคุณภาพเพียงพออย่างที่ควรจะเป็น
ลีโอนาโด ดา วินชี ชาวอิตาลีผู้มีชื่อเสียงก้องโลกจากผลงานภาพวาดโมนา ลิซา และ The Last Supper เป็นอัจฉริยบุคคลที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งสถาปนิก นักดนตรี นักกายวิภาคศาสตร์ นักประดิษฐ์ วิศวกร ประติมากร นักเรขาคณิต นักวาดภาพ นักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นชายที่รักการเรียนรู้และการทำงานเกือบจะทุกแขนงบนโลก
ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังคิดว่าผลงานของเขายังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกในวัย 67 ปี เขาได้ฝากคำพูดสุดท้ายไว้ว่า “I have offended God and mankind because my work did not reach the quality it should have.” หรือ “ผมทำผิดต่อพระเจ้าและมวลมนุษยชาติ เพราะงานของผมมันยังไม่มีคุณภาพเพียงพออย่างที่ควรจะเป็น” ซึ่งไม่ใช่คำพูดเชิงตัดพ้อหรือพยายามจะถ่อมตนแต่อย่างใด เนื่องจากหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่เขาจะสิ้นใจ เขาได้ไปสารภาพบาปกับบาทหลวงในเรื่องการทำงานจริงๆ โดยว่ากันว่าเป็นความรู้สึกผิดจากอาการป่วยหนักที่ทำให้เขาไม่สามารถทำงานที่ค้างไว้หลายชิ้นให้เสร็จทันก่อนจะจากโลกนี้ไปได้
04 Frida Kahlo
“I hope this exit is joyful and I hope never to return” —ฉันหวังว่าทางออกครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความสุข และหวังว่าจะไม่ต้องกลับมาอีก
คำสุดท้ายของ ฟรีดา คาห์โล ศิลปินหญิงและนักเคลื่อนไหวชาวเม็กซิกัน ไม่ได้เอ่ยออกมาเป็นคำพูด แต่ถูกเขียนอยู่ในไดอารีหน้าสุดท้าย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 1954
ตลอดชีวิตของ ฟรีดา คาห์โล เต็มไปด้วยความเจ็บปวด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเล่าเรื่องตลก แนวคิดเรื่องศิลปะของเธอค่อนข้างแปลกในสมัยนั้น และบ่อยครั้งก็หมกมุ่นอยู่กับการเกิดและความตาย เพศและความรุนแรง โดยในปี 1953 หนึ่งปีก่อนเสียชีวิต ผลงานภาพของฟรีดาถูกจัดแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกในเมืองบ้านเกิดของเธอ แต่เพราะสุขภาพอันย่ำแย่ เธอจึงต้องนอนเปลไปร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการ
วันที่ 13 กรกฎาคม 1954 ฟรีดา คาห์โล เสียชีวิตเนื่องจากลิ่มเลือดอุดตันในปอด แต่กลุ่มเพื่อนที่ใกล้ชิดยังแคลงใจว่าเธอฆ่าตัวตาย เพราะ ดิเอโก ริเบรา สามีของฟรีดา ไม่ยอมให้มีการชันสูตรศพ ทั้งยังมีข้อความในไดอารีที่ดูคล้ายจะเป็นจดหมายลา ปรากฏใจความว่า “I hope this exit is joyful and I hope never to return” หรือ “ฉันหวังว่าทางออกครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความสุข และหวังว่าจะไม่ต้องกลับมาอีก”
05 Vincent van Gogh
“The sadness will last forever” —ความเศร้าจะคงอยู่ตลอดไป
วินเซนต์ แวน โก๊ะ จิตรกรชาวดัตช์ที่มีชีวิตอย่างโศกเศร้าและรันทดที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกว่า 2,100 ชิ้นในเวลาเพียงสิบกว่าปี ในจำนวนนี้เป็นภาพสีน้ำมัน 860 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในสองปีสุดท้ายของชีวิตเขา
ด้วยปัญหาความปั่นป่วนทางจิตใจ ทำให้แวน โก๊ะ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลจิตเวชอยู่หลายครั้ง และถึงแม้ว่างานของเขาจะมีชื่อเสียงโด่งดังสำหรับคนรุ่นหลัง แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับมากนักขณะที่เขามีชีวิตอยู่ ทั้งยังถูกมองว่าเป็นคนบ้าและคนล้มเหลว
ความยากจน ภาวะซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพทางกายทำให้เขาตัดสินใจใช้ปืนลูกโม่ยิงหน้าอกตนเอง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1890 บาดแผลครั้งนั้นทำให้เขาเสียชีวิตในอีกสองวันถัดมา โดยเขายังทิ้งโน้ตไว้ให้กับ ธีโอ (Theo) น้องชายสุดที่รักของเขาว่า “The sadness will last forever” หรือ “ความเศร้าจะคงอยู่ตลอดไป”
หลังจากเสียชีวิตได้ไม่นาน ผลงานของเขากลับโด่งดังและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้หลายคนได้เห็นความเศร้าในชีวิตที่เขาถ่ายทอดออกมาผ่านรูปวาดนั้นซึ่งยังคงอยู่จวบจนปัจจุบันอย่างที่เขาได้เผยไว้ในโน้ตครั้งสุดท้ายของชีวิต
06 Winston Churchill
“I’m bored with it all.” —ผมเบื่อหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง
รัฐบุรุษชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรสองสมัย เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล เป็นชายที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสงครามของศตวรรษที่ 20 และยังเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ นักประวัติศาสตร์ ศิลปิน นักเขียน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และยังเป็นบุคคลแรกที่ได้เป็น พลเมืองเกียรติยศแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำมากมาย เขากลับเข้าสู่อาการโคม่าเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมองในวัย 90 ปี และแม้ว่าเขาจะนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เขาก็เอ่ยขึ้นอย่างเสียดสีว่า “I’m bored with it all.” หรือ “ผมเบื่อหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง” และเสียชีวิตลง เราก็ได้แต่หวังว่าวินสตันจะมีชีวิตที่สนุกสนานกว่าโลกยุคสงครามในโลกหลังความตาย
07 Ernest Hemingway
“Good Night, my kitten” —ฝันดี ลูกแมวน้อยของผม
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นชาวอเมริกัน เจ้าของผลงาน แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง (The Sun Also Rises) เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) ความตายในช่วงบ่าย (Death in the Afternoon) และอีกมากมาย เขาผ่านการแต่งงาน 4 ครั้ง และมักเป็นโรคเครียดและหดหู่เนื่องจากความกลัวเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วย เพราะในครอบครัวเขามีบรรพบุรุษที่ป่วยด้วยโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
หลังจากป่วยเรื้อรังและดื่มสุรามานาน เฮมิงเวย์ในวัย 61 ปี ได้ฆ่าตัวตายด้วยปืนลูกซองแฝดสำหรับล่าสัตว์ ที่รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา พร้อมกับกระดาษโน้ตสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ให้ภรรยาคนที่ 4 แมรี เวลช์ (Mary Welsh) ว่า “Good Night, my kitten” หรือ “ฝันดี ลูกแมวน้อยของผม”
08 Marie Antoinette
“Pardon me, sir. I did not mean to do it on purpose” —ขออภัยค่ะ ฉันไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบนั้น
พระนางมารี อองตัวเนตต์ ราชินีของประเทศฝรั่งเศส ที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นเจ้าของคำพูด ‘Let them eat cake’ ซึ่งสร้างความวุ่นวายในกลุ่มชนชั้นกลาง-ล่างทั่วประเทศฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน เมื่อสิริอายุได้ 37 พรรษา
ขณะเดินไปยังเครื่องประหาร เธอเผลอเหยียบเท้าชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ในบริเวณนั้น หลังจากที่เธอสูญเสียศักดิ์ พระสวามี เกียรติยศ และทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ว่ากันว่าเธอได้กล่าวขอโทษชายผู้นั้นว่า “Pardon me, sir. I did not mean to do it on purpose” หรือ “ขออภัยค่ะ ฉันไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบนั้น” จนกลายเป็นคำพูดที่น่าเศร้าและน่าคิดที่เธอได้ฝากไว้ให้ชายชนชั้นกลางผู้นั้นในวันสุดท้าย