Petrichor

ฉันหลงรักกลิ่นหลังฝนตก และฉันก็หลงรักคำของมันด้วย

ซู่…

เสียงฝนตกกระทบพื้นดินสลับกับฟ้าร้องเป็นช่วงๆ เป็นสัญญาณบอกว่าหน้าฝนได้เวียนกลับมาทำให้ชุ่มฉ่ำและเปียกปอนกันอีกแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงไม่ได้ชื่นชอบกับความเฉอะแฉะและชวนง่วงนอนของฤดูนี้เท่าไหร่นัก แต่ส่วนตัวแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ฉันรอคอยจะเปิดหน้าต่างออกไปสูดเข้าปอดทุกครั้งหลังฝนหยุดตก

     นั่นคือกลิ่นหอมจางๆ ของผืนดินแห้งแล้งที่ได้สัมผัสความชุ่มชื้นจากหยดน้ำฝน หรือที่ในภาษาอังกฤษมีคำสั้นๆ อธิบายไว้ได้อย่างไพเราะว่า Petrichor ซึ่งติดโผเป็นหนึ่งในคำศัพท์ความหมายลึกซึ้งที่ชาวอินเทอร์เน็ตชื่นชอบที่สุด โดยพจนานุกรม Merriam-Webster ด้วย

 

 

กลิ่นฝนแรก

     โดยทั่วไปแล้ว ฝนและดินจะไม่มีกลิ่น แต่หากใครที่โตมาในบ้านต่างจังหวัด อาจจะเคยได้ยินคนรุ่นพ่อแม่พูดว่า ‘หอมกลิ่นดิน’ เวลาฝนตกใหม่ๆ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเวลาที่น้ำฝนตกลงมากระทบกับพื้นดินแห้งแล้ง โดยเฉพาะฝนแรกของฤดูกาล

     กลิ่นดินจากฝนแรกที่ว่านี้ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Petrichor (อ่านว่า เพทริเคอร์) โดย Oxford Dictionary ได้ให้นิยามของคำนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ‘A pleasant smell that frequently accompanies the ffiirst rain after a long period of warm, dry weather’ (กลิ่นหอมที่มักปรากฏขึ้นจากฝนที่ตกลงมาครั้งแรกหลังสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งเป็นเวลานาน)

     แค่คำคำเดียวก็สื่อความหมายและความรู้สึกได้ครอบคลุม ลึกซึ้ง แถมฟังดูโรแมนติกอย่างบอกไม่ถูก แต่ต้องบอกเลยว่า คนที่บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมากลับไม่ใช่กวีหรือนักภาษาศาสตร์ที่ไหน แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์สองท่านจากออสเตรเลียผู้หลงใหลกลิ่นของสายฝนและผืนดินเป็นเวลาหลายสิบปี

 

     ในปี ค.ศ. 1964 อิสเบล แบร์ (Isabel Bear) และ ริชาร์ด โธมัส (Richard Thomas) สองนักวิจัยชาวออสซี่ ผู้พยายามหาคำตอบว่ากลิ่นหลังฝนตกนี้คืออะไรกันแน่ โดยทั้งคู่ริเริ่มบัญญัติคำที่ใช้เรียกกลิ่นนี้ว่า petrichor มาจากการเอาคำกรีกสองคำมาต่อกัน นั่นคือ ‘petros’ หมายความว่า ก้อนหิน และ ‘ichor’ แปลว่าของเหลวที่ไหลอยู่ในเส้นโลหิตของทวยเทพ โดยหลังจากการศึกษาวิจัยเป็นเวลานาน ทั้งสองคนอธิบายว่า แท้จริงแล้วกลิ่นดินไม่ใช่กลิ่นโมเลกุลของดินที่ผสมรวมกับน้ำฝนอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นกลิ่นของสารหอมระเหย จีออสมิน (Geosmin) ที่สร้างขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรีย สกุลสเตรปโตไมคีส (Streptomyces)

     ถ้าใครนึกภาพไม่ออก ลองเปิดวิดีโอนี้แสดงการหยดของเม็ดฝนในระดับ slow-motion ดูได้ แล้วจะเห็นถึงละอองเม็ดเล็กๆ ที่ลอยขึ้นมาจากเม็ดฝนเลยล่ะ

 

 

     เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราได้กลิ่นหลังฝนตก นั่นเป็นเพราะจมูกเรารับรู้กลิ่นของโมเลกุลที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรียชนิดนี้ ซึ่งมีอยู่มากมายในดิน และยิ่งเมื่อฝนตกหนักขึ้น ปริมาณจีออสมินที่หลุดลอยไปในอากาศก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้กลิ่นดินหลังตกฝนชัดเจนขึ้นนั่นเอง

 

You smell like petrichor

     ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงหลงใหลกลิ่นดินหอมๆ ที่เกิดขึ้นหลังฝนตกนัก แต่ก็มีการสันนิษฐานว่า เพราะกลิ่นเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่สามารถพาเราหวนย้อนถึงความทรงจำเก่าๆ ได้ แม้ว่าจะอยู่ในเมืองหลวงที่ผู้คนและตึกรามหนาแน่น แต่แค่วันไหนที่ฝนตกลงกระทบดิน กลิ่นที่คุ้นเคยในบ้านต่างจังหวัด ทุ่งนา หรือแม้กระทั่งภูเขาที่เราไปเที่ยวก็ย้อนกลับมาให้หายคิดถึงและเติมเต็มความอบอุ่นในหัวใจ คล้ายๆ กับการได้ยินเพลงเก่าที่พ่อแม่เคยร้องให้ฟัง หรือได้กินขนมวัยเด็กอีกครั้ง

     เพราะความหลงใหลในกลิ่น petrichor ทำให้ปัจจุบัน จีออสมิน ซึ่งเป็นสารหอมระเหยที่เกิดขึ้นหลังฝนตกกระทบดินได้กลายองค์ประกอบสำคัญของน้ำหอมหลายชนิดไปแล้ว โดยมารินา บาร์เซนิลลา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหอมยังเคยกล่าวว่า

     กลิ่นนี้ให้ความรู้สึกถึงความเก่าแก่แบบปฐมกาล และถึงแม้ว่าคุณจะนำมันไปผสมกับอย่างอื่นในสัดส่วนหนึ่งต่อพันล้าน มนุษย์ก็ยังสามารถรับรู้กลิ่นนี้ได้

     ว่าแล้วก็อยากจะไปพุ่งตัวไปซื้อน้ำหอมกลิ่นนี้มาฉีดให้หนำใจ แต่คิดๆ ดูแล้วคงจะดีกว่าถ้ารออีกหน่อย หากเย็นนี้ฝนตก เราคงได้กลิ่น petrichor ริมหน้าต่างห้องอย่างชัดเจน พร้อมหอบเอาความทรงจำเก่าๆ ให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง

 


ที่มา: