10 บทความ

เสาะแสวงหาความสุขอันผิดเพี้ยน ทำไมชื่อเรื่อง The Pursuit of Happyness ถึงสะกดด้วยตัว Y

“Don’t ever let somebody tell you ‘you can’t do something’. Not even me.” —อย่ายอมให้ใครมาบอกว่าลูกทำอะไรไม่ได้ แม้แต่พ่อ

     หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Pursuit of Happyness คงจำได้ดีว่านี่คือคำพูดสุดซึ้งของ คริส การ์ดเนอร์ รับบทโดย วิล สมิธ ที่พูดกับลูกชาย คริสโตเฟอร์ ซึ่งเป็นฉากที่ทำเอาเราซึ้งจนน้ำตาไหลทุกครั้งที่เปิดดู

     หนังระดับตำนานเรื่องนี้พาเราไปล้วงลึกถึงช่วงชีวิตอันตกต่ำสุดขีดของเขา ต้องหอบกระเตงลูกไปนอนในห้องน้ำของสถานีรถไฟใต้ดิน โดนสบประมาทจากคนอื่นมากมาย จนสุดท้ายก็เอาชนะอุปสรรคและออกตามหาความสุข (Happiness) ในแบบของตนเองได้ ซึ่งเป็นความสุขที่ดันสะกดผิดอย่างตั้งใจจนกลายเป็น Happyness ซะด้วยสิ

     ว่าแต่ทำไมคำว่า ‘ความสุข’ หรือ Happiness ในเรื่องนี้ ถึงสะกดด้วยตัว Y ไม่ใช่ I ไปหาคำตอบพร้อมกันได้เลย

 

Happyness

 

     ในช่วงที่ภาพยนตร์ออกฉายแรกๆ (ปี 2006) มีผู้ชมทั่วโลกจำนวนไม่น้อยคิดว่าชื่อเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดพลาดของผู้ผลิต ถึงขั้นมีการตั้ง forum โจมตีความสะเพร่าของทีมทำหนังว่าเขียนคำว่า Happiness ผิดได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วชื่อนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดหรือสะเพร่าแม้แต่น้อย เพราะหลังจากที่ภาพยนตร์ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้วในชื่อ The Pursuit of Happiness คริส การ์ดเนอร์ นักธุรกิจผิวสีผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวดังกล่าวกลับขอเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น The Pursuit of Happyness ซึ่งสะกดด้วยตัว Y แทน เพราะมันตรงกับสารที่เขาต้องการจะสื่อมากกว่า

     The Pursuit of Happyness เล่าเรื่องราวชีวิตจริงของ คริส การ์ดเนอร์ นักธุรกิจชาวผิวสีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในอเมริกา โดยสะท้อนช่วงเวลาอันยากลำบากของชีวิตเขาและลูกชาย คริสโตเฟอร์ ในซานฟรานซิสโก หลังจากถูกภรรยาทอดทิ้งไปหางานใหม่ในนิวยอร์ก

 

     หนังพาเราดำดิ่งในเรื่องราวแบบอเมริกันดรีมของคนที่เริ่มจากศูนย์ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ต้องหอบลูกไปนอนในสวนสาธารณะและห้องน้ำของสถานีรถไฟใต้ดิน แต่ด้วยทัศนคติมองโลกในแง่ดีและไม่ยอมแพ้ของคริส ก็ทำให้เขาได้งานเป็นโบรกเกอร์ในบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาบอกว่าได้สัมผัสกับ ‘ความสุข’ อย่างแท้จริง

     ชื่อเรื่องของหนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่มาจากคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (Declaration of Independence) ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ที่เขียนขึ้นโดย โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ว่า

We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of Happiness.” เราให้การยอมรับในความจริงที่แน่แท้ในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนเกิดเกิดมาเสมอภาคเท่าเทียมกัน เราได้รับสิทธิและเสรีภาพจากพระเจ้าผู้สร้างอันมิอาจถูกพรากไปได้ ได้แก่ สิทธิในชีวิต อิสรภาพ และสิทธิที่จะแสวงหาความสุข

 

Happyness

 

     คริส การ์ดเนอร์ คิดทบทวนถึงความสุขและการแสวงหาความสุขมาตลอด ครั้งหนึ่งเขาไปรับลูกชายที่สถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งมีเจ้าของเป็นคนจีน แล้วเหลือบไปเห็นคำว่า Happyness บนกำแพง เขาเกิดความสงสัยว่า ทำไมคำว่าความสุขถึงสะกดด้วย Y ไม่ใช่ I ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษคือ Why not I? หรือทำไมคำว่าความสุขถึงไม่มี i อยู่ในนั้น โดยเขายังบอกกับลูกเขาด้วยว่า คำว่า Happyness ที่เห็นบนกำแพงนั้นผิด ความสุขที่ถูกต้องต้องสะกดด้วย i

     แต่ต่อมา มุมมองด้านความสุขของ คริส การ์ดเนอร์ กลับกลายเป็นขั้วตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากที่เขาทุ่มเทพลังชีวิตไปกับการทำงาน จนไต่เต้าเป็นพนักงานเงินเดือนสูง และกลายเป็นซีอีโอของบริษัทนายหน้าค้าหุ้น Gardner Rich & Co เขาได้ออกหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 ในชื่อ The Pursuit of Happyness ซึ่งสะกดด้วย Y โดยเขาเผยถึงเหตุผลในการสะกดผิดว่า เมื่อก่อนเขาเคยคิดว่า happiness คือ I หรือ ฉัน (อย่างที่เขาเคยพูดไว้ว่า Why not I) แต่หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จ กลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีเงินทองมากมาย Happiness กลับกลายเป็น Y หรือ ‘you’

 

Happyness

 

     เขาเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงแล้วคือการทำเพื่อคนอื่น การเสียสละ และการต่อสู้เพื่อลูกชาย ทั้งยังยกตัวอย่างว่าในช่วงชีวิตที่เขาตกต่ำที่สุดจนกลายเป็นคนไร้บ้าน ถ้าไม่มีลูกชายเขาอาจฆ่าตัวตายไปแล้วก็ได้ ทุกวันนี้ การ์ดเนอร์ยังผันตัวเองจากนักธุรกิจมาเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก โดยไม่ลืมที่จะกล่าวถึงตัว Y ในคำว่า Happyness เสมอ ขนาดวิกิพีเดียยังให้คำจำกัดความเขาว่า ‘ผู้ใจบุญ’ เลยล่ะ

 


ที่มา: