กัญชา

เปิดพจนานุกรมสายเขียว ทำไมภาษาอังกฤษถึงมีคำที่แปลว่า ‘กัญชา’ เยอะนัก

1,200 คือจำนวนคำศัพท์ภาษาอังกฤษและคำยืมจากภาษาต่างประเทศที่แปลว่า ‘กัญชา’

ในจำนวนศัพท์พันกว่าคำนี้ แบ่งแยกออกมาได้ทั้งคำศัพท์ทางการแพทย์ คำศัพท์ทางการที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป และคำศัพท์สแลงที่เหล่าสายเขียวใช้ในฐานะ ‘รหัสลับ’ เพื่อเอ่ยถึงพืชไร่ชนิดนี้โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ตัว นอกจากนี้ยังมีคำสแลงที่หมายถึงอาการ ‘high’ หรือมึนเมากัญชา อีกกว่าหลายร้อยคำ

ในโอกาสที่เรากำลังเข้าใกล้วันกัญชาโลก (20 เมษายน) หรือที่ตามรหัสลับเรียกว่า 420 เราขอชวนคุณมารู้จักกับ กัญชา พืชสีเขียวที่ถูกมองว่าเป็นทั้งปีศาจสารเสพติดและฮีโร่ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยทางการแพทย์ได้มหาศาล ผ่านชุดคำศัพท์หลากภาษา ที่แสดงให้เห็นถึงที่มา ประวัติศาสตร์ การหลบซ่อน และการเปลี่ยนแปลงผ่านกาลเวลาของพืชชนิดนี้

กัญชา

 

ทำไมคำที่หมายถึง ‘กัญชา’ จึงมีเยอะนัก

     เนื่องจากกัญชาเป็นพืชผิดกฎหมายมาเป็นเวลานาน ผู้เสพและผู้ขายจึงจำเป็นต้องใช้คำเลี่ยงที่หมายถึงกัญชาในทางอ้อมๆ เช่น grass, pot, weed หรือแม้กระทั่ง asparagus และ broccoli เพื่อไม่ให้พ่อแม่ คุณครู หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ว่ากำลังพูดถึงอะไรอยู่ ถ้าหากคำไหนใช้บ่อยจนทำให้คนเหล่านี้สงสัยแล้ว พวกเขาก็จะเปลี่ยนคำใหม่ไปเรื่อยๆ ทำให้มีศัพท์ที่แปลว่ากัญชาเกิดขึ้นใหม่อยู่มากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลก

     แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ในภาษาต่างประเทศเท่านั้นที่คำสแลงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเอ่ยถึงกัญชา เพราะถ้าหันไปมองภาษาไทยเราก็ยังมีคำว่า เนื้อ ปุ๊น พืช ใบหญ้าร่าเริง หญ้ายิ้ม และอีกมากมายที่สายเขียวอาจไม่เคยบอกเรา โดย โจนาธาน กรีน (Jonathon Green) นักวิชาการด้านคำสแลงกล่าวว่า คำสแลงที่แปลว่ากัญชาคำแรกนั้นเก่าแก่มากถึง 400 ปีทีเดียว

     นอกจากเหตุผลเรื่องการใช้คำสแลงเพื่อปิดบังผู้อื่นแล้ว ยังมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า คลังแสงคำศัพท์มากมายที่แปลว่ากัญชายังมาจากความพยายามที่จะบรรยายความรู้สึกหรรษา จินตภาพแปลกประหลาด และความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในระหว่างมึนเมาอย่างได้ที่ด้วย

 

     แต่ละคำมีความแตกต่างกันอย่างไร เราขอรวบรวม 8 ตัวอย่างคำศัพท์ที่แปลว่า ‘กัญชา’ มาไว้ในที่นี้

 

1. Cannabis

     เป็นคำศัพท์ที่เป็นทางการที่สุด มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชสกุลกัญชาว่า Cannabis Sativa คำนี้หมายรวมถึงทั้งกัญชง (Hemp) พืชเศรษฐกิจที่มีประโยชน์มากมาย สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอ กระดาษ และเชือกคุณภาพดี และกัญชา (Marijuana) พืชที่หลายประเทศจัดว่าเป็นสารเสพติด แต่ก็เป็นสมุนไพรชั้นเลิศในทางการแพทย์ ช่วยรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ และสร้างความสนุกสนานร่าเริง โดยมีหลักฐานปรากฏว่า cannabis เป็นพืชล้มลุกที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มานานกว่า 12,000 ปี

 

2. Marijuana

     เป็นคำศัพท์ที่แปลว่ากัญชาที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก โดยเริ่มถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (ก่อนหน้านั้นจะใช้ว่า cannabis) เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติเม็กซิโก ทำให้มีชาวเม็กซิกันอพยพขึ้นมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งหอบเอาวัฒนธรรมการสูบกัญชาและคำว่า mallihuan ซึ่งเป็นภาษา Aztec ใช้ในภาคกลางของเม็กซิโก มาเผยแพร่ด้วย ต่อมาคำนี้พัฒนาเป็นคำว่า marijuana และ marihuana จนกลายเป็นคำที่ใช้ในทางการของสหรัฐฯ และไปปรากฏอยู่ในชื่อกฎหมาย เช่น Marihuana Tax Act of 1937

 

กัญชา

 

3. Pot

     คำที่แปลว่า ‘หม้อ’ คำนี้จริงๆ ก็เป็นคำสแลงที่เป็นที่นิยมของเหล่านักดูดเนื้อเช่นกัน โดยเริ่มถูกนำมาใช้ช่วง ค.ศ. 1930-1940 ซึ่งเป็นช่วงที่ดนตรีแจ๊ซกำลังไต่ระดับความนิยมในหลายพื้นที่ของอเมริกา นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า pot ในที่นี้ มาจากคำภาษาสเปนว่า potiguaya ซึ่งเป็นชื่อเครื่องดื่มประเภทไวน์และบรั่นดีที่ใส่ใบกัญชาเข้าไป โดยคำนี้ได้รับความนิยมมากจนกระทั่งยุค ค.ศ. 1970 ก็ถูกล้มแชมป์ด้วยคำสแลงคำต่อไป

 

4. Weed

     เป็นคำที่แพร่หลายมากในช่วง ค.ศ. 1970-1990 โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า วัยรุ่นยุคนั้นหันมาใช้คำนี้มากขึ้นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงคำว่า pot ที่พ่อแม่ของเขารู้จักดี ส่วนความหมายของคำว่า weed จริงๆ แล้วมาจากคำที่ใช้เรียกวัชพืชที่อยู่ในป่าและสามารถยืนต้นอยู่รอดได้แม้ในสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ซึ่งยังแสดงถึงเซนส์ของการกีดกันกัญชาอย่างรุนแรงในด้านกฎหมายของยุคนั้น จากพืชที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (cannabis) สู่วัชพืชป่าหายากและเป็นอันตรายต่อผู้เสพ (weed)

 

5. Ganja

     ค่ำคืนนี้ยังมีดวงดาวเจิดจ้า… ใช่เลย คำว่า ganja อ่านเหมือนคำว่า ‘กัญชา’ ในภาษาไทยอย่างไม่มีผิดเพี้ยน เนื่องจากเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงบริเวณยอดและดอกของพืชตระกูลกัญชา (Cannabis Sativa) นั่นเอง แม้จะไม่ใช่ศัพท์กัญชาในภาษาอังกฤษที่อยู่ในกระแสหลักนัก แต่สายเขียวฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่ก็เข้าใจคำนี้กันเกือบหมดทุกคน แถมตำนานเร็กเก้อย่าง บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) ก็นำคำนี้ไปใช้เป็นชื่อเพลงของเขาว่า Ganja Gun ด้วย

 

 

6. Mary Jane

     ชื่อนี้ไม่ได้หมายถึงแฟนสาวของสไปเดอร์แมนเท่านั้น แต่ยังเป็นคำสแลงที่เพี้ยนมาจากคำว่า mari + juana ด้วย โดยในภาษาสเปน ตัว i ในคำว่า mari จะออกเสียงยาวเหมือนชื่อภาษาอังกฤษว่า Mary ส่วน Juana ก็เป็นชื่อผู้หญิงในภาษาสเปนที่เทียบเคียงกับภาษาอังกฤษได้ว่า Jane เพราะฉะนั้นก็อาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่สไปเดอร์แมนเท่านั้นที่หลงรัก Mary Jane เพราะผู้ใช้กัญชากว่า 200 ล้านคนทั่วโลกก็มีความสุขเพราะเธอคนนี้เหมือนกัน

 

7. Chronic

     อีกหนึ่งคำสแลงที่หมายถึงกัญชาและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมฮิปฮอปอเมริกันคือ Chronic โดยเจ้าพ่อฮิปฮอปสายเขียว สนูป ด็อกก์ (Snoop Dogg) เริ่มนำคำนี้ไปใช้ในช่วงปี 90s แถมยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่ออัลบั้ม The Chronic ของ Dr.Dre เพื่อนซี้ ในปี ค.ศ. 1992 ด้วย อย่างไรก็ตาม สนูป ด็อกก์ เล่าถึงที่มาตลกๆ ของคำนี้ว่า ในปี ค.ศ. 1991 เขาไปร่วมงานปาร์ตี้ที่เปิดเพลงดังจนแทบจะคุยกับใครไม่รู้เรื่อง แล้วมีคนหนึ่งเดินมาบอกว่า กัญชาที่เขาสูบอยู่เป็นกัญชาที่ปลูกโดยวิธี hydroponics แต่เขาได้ยินผิดเป็น hydrochronic ปรากฏว่า สนูป ด็อกก์ ชอบคำนี้มาก และตัดให้มันสั้นลงเหลือแค่ Chronic ต่อมาเขาเรียนรู้ว่าตัวเองฟังผิด แต่คำศัพท์นี้ก็ได้กระจายแพร่หลายในหมู่สายเขียวจนแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว

 

8. Skunk

     คำนี้คงเดาที่มาไม่ยาก เพราะกัญชามีกลิ่นเหม็นเขียวที่รุนแรงเหมือนสกังก์นั่นเอง โดยผู้เริ่มสูบกัญชาใหม่ๆ ยังเคยเผยว่ามันมีกลิ่นเหม็นเหมือนสัตว์ที่เพิ่งตายด้วย

 

กัญชา

 

Bong คือคำไทย

     บ้อง หรือ Bong เป็นคำสากลสำหรับใช้เรียกอุปกรณ์เสพกัญชาที่ทั่วโลกเข้าใจและใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่แท้จริงแล้วคำว่า Bong นั้นมีที่มาจากภาษาไทย โดยหลักฐานแรกสุดที่พบคำว่า Bong ในภาษาอังกฤษจากพจนานุกรม ไทย-อังกฤษ ของ McFarland ในปี ค.ศ. 1944 มีที่มาคือ ในยุคสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันเข้ามาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก และพวกเขาก็ได้พบกับวัฒนธรรมการสูบกัญชาผ่านบ้องไม้ไผ่ จนเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ทหารอเมริกันในขณะนั้น

 


ที่มา: