Debate | จากกิจกรรมโต้แย้งด้วยเหตุผลในยุคกรีก สู่อาวุธอันทรงพลังทางการเมืองทั่วโลก

ยิ่งวันเลือกตั้งใกล้เข้ามา สนามดีเบตหลายแห่งก็เหมือนจะยิ่งลุกเป็นไฟ มีบรรดาผู้สมัครของพรรคต่างๆ งัดนโยบาย กลยุทธ์ คารม และเหตุผลขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดการบริหารประเทศของตนเองมากมาย ในขณะเดียวกันก็มีนักการเมืองบางท่านปฏิเสธการเข้าร่วมดีเบต เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์และโต้คารม

แต่จริงๆ แล้วคำว่า ‘debate’ นั้นหมายรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวหรือไม่ แล้วคารมเป็นสิ่งสำคัญกับการดีเบตเหมือนกับตอนที่เราโต้วาทีกันในสมัยมัธยมหรือเปล่า เราขอชวนคุณไปล้วงลึกถึงรากศัพท์และประวัติศาสตร์ของคำว่า ‘debate’ ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ สู่กิจกรรมที่มีความสำคัญในเวทีการเมืองทั่วโลก

 

City of Words

     ในยุคกรีกโบราณ ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ที่แข็งแรง การดีเบตเรื่องกฎหมายจัดว่าเป็นกิจกรรมการพูดในที่สาธารณะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยแต่ละครั้งจะมีผู้ฟังเข้าร่วมอยู่ราว 500-2,000 คน แน่นอนว่าการดีเบตไม่ใช่แค่ออกมาพูดชี้แจงข้อกฎหมายและเดินลงจากเวทีไปเท่านั้น แต่ต้องมีการโต้แย้งจากฝ่ายตรงข้าม ฟังความเห็นจากประชาชน พัฒนาไอเดีย และถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีวาทศิลป์ด้วย เนื่องจากชาวกรีกในยุคนั้นมองว่าความสามารถในการพูดโน้มน้าวใจมีความสำคัญต่ออนาคตของชาติ และการเอาชนะสงครามกับประเทศอื่นๆ ใครพูดดีหรือพูดเก่งก็จะได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ

     นอกจากนี้ ชาวกรีกโบราณยังจัดการพูดในที่สาธารณะให้เป็นกีฬาโอลิมปิกด้วย โดยผู้ชนะจะได้รับมงกุฎรูปใบมะกอก สัญลักษณ์แห่งความหวัง อิสรภาพ และชัยชนะ แล้วถูกพาไปแห่รอบเมืองราวกับเป็นฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะให้ความสำคัญกับการพูดมากขนาดนี้ เอเธนส์จึงได้รับฉายาว่าเป็น City of Words หรือ ‘เมืองแห่งวาจา’ ในเวลาต่อมา

 

debate (n.) การโต้วาที, การอภิปราย, การไตร่ตรอง / (v.) โต้แย้ง, ถกเถียง, อภิปราย, พิจารณา

     ในช่วงศตวรรษที่ 14 คำว่า ‘debatre’ ก็ปรากฏขึ้นในภาษาฝรั่งเศสโบราณ เป็นคำกริยา (verb) หมายความว่า โต้แย้ง คัดค้าน รวมถึง ต่อสู้ และสร้างสงคราม โดยคำว่า ‘batre’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘battuere’ ในภาษาละติน แปลว่า to beat (ทุบตี / ต่อสู้) และเติมคำ preffiix ไว้ด้านหน้าว่า de ซึ่งแปลว่า down (ลง)

     แต่คำว่า debate ในเชิงที่แปลว่า โต้วาที ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจริงๆ คือในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ช่วงศตวรรษที่ 18 แค่ชื่อก็น่าจะเดาออกว่ายุคนี้เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ให้ค่ากับสติปัญญาและเหตุผลเป็นอย่างมาก หรือจะเรียกว่าเป็นหนึ่งในช่วงที่มนุษยชาติบูชาความ ‘เนิร์ด’ อย่างสุดๆ ก็ได้ เพราะหลังจากที่วิทยาศาสตร์เริ่มก้าวหน้า หลักจารีตและเรื่องราวความเชื่อทางศาสนาก็ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญไป มีการปฏิรูปสังคมและส่งเสริมการใช้หลักเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่องมงาย ทั้งยังมีนักคิด รวมถึงเหล่าปัญญาชนที่มีเชื่อเสียงของโลกเกิดขึ้นมามากมาย เช่น จอห์น ล็อก (1632–1704), ไอแซก นิวตัน (1643–1727) และ วอลแตร์ (1694–1778)

 

debate
Declaration of Independence โดย John Trumbull

 

     ในยุคสมัยที่สติปัญญาและการใช้เหตุผลเป็นเรื่องน่ายกย่อง หนึ่งในกิจกรรมที่ฮิตที่สุดขณะนั้นจึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด และประชันชั้นเชิงทางความรู้อย่างการดีเบต โดยเฉพาะในลอนดอนที่มีการส่งเสริมวัฒนธรรมของสังคมแห่งการดีเบตในประชากรทุกเพศ ทุกชนชั้น ก่อให้เกิดสภาพสังคมอันเปิดกว้าง ที่ไม่ได้สงวนการพูดคุยเรื่องยากๆ ไว้กับชนชั้นนำเท่านั้น และเป็นช่องทางของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ เสนอไอเดียและหลักปรัชญาในพื้นที่สาธารณะด้วย

     อย่างใน ค.ศ. 1780 มีการรายงานว่าได้มีการจัดกิจกรรมดีเบตทั่วอังกฤษโดยองค์กรเพื่อสังคมกว่า 35 แห่ง ส่วนหัวข้อในการดีเบตนั้นขึ้นอยู่กับประธานหรือพิธีกรในงานเป็นสำคัญ โดยมีกติกาคล้ายๆ กับในปัจจุบันคือ ผู้โต้วาทีสามารถพูดเสนอความคิดของตนเองได้ในเวลาจำกัด จากนั้นก็ยกเวทีให้ฝ่ายตรงข้ามได้พูดบ้าง ในตอนท้าย จะเป็นช่วงที่เปิดให้ผู้ฟังโหวตว่าเห็นด้วยหรือคล้อยตามฝ่ายไหนมากกว่ากัน หรืออาจจะถามคำถามเพิ่มเติมเพื่อให้มีการดีเบตกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้พูดจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท หรือดูถูกผู้พูดฝ่ายตรงข้ามเป็นอันขาด การโต้วาทีอย่างโปร่งใสนั้นต้องเกิดขึ้นด้วยการงัดข้อเหตุผลและเสนอแนวคิดอย่างสุภาพ ในรูปแบบของปัญญาชนเท่านั้น

 

เมื่อดีเบตกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

     การดีเบตก็เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี ค.ศ. 1960 วิทยุและสถานีโทรทัศน์ของอเมริกาได้มีการถ่ายทอดสดดีเบตทางการเมืองเป็นครั้งแรกระหว่าง จอห์น เอฟ เคนเนดี พรรคเดโมแครต และ ริชาร์ด นิกสัน พรรครีพับลิกัน ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในดีเบตทางการเมืองในตำนาน และเรียกเรตติ้งอย่างถล่มทลายด้วยยอดชมกว่า 66.4 ล้าน (ในสมัยที่ยังไม่มี Youtube) การโต้วาทีครั้งนั้นจบลงด้วยผู้ชนะที่ทำได้ดีกว่าคือ จอห์น เอฟ เคนเนดี และว่ากันว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 35 ของอเมริกาในที่สุด

 

debate
image: thesocialrobot.com

 

Dark Debate

     แต่ใช่ว่าการดีเบตทุกครั้งจะจบลงด้วยข้อสรุปที่สวยงาม เพราะอย่างใน ค.ศ. 2016 ได้เกิดการดีเบตสุดอื้อฉาวขึ้นระหว่างสองผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน จนถูกเรียกว่าเป็น Dark Debate เนื่องจากเป็นการโต้วาทีที่เน้นไปที่การโจมตีกล่าวร้าย ดูหมิ่น และขัดจังหวะกัน โดยมีคำพูดที่รุนแรงของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวหาว่าฮิลลารีเป็นคนโกหก เกลียดขังคนอื่น และข่มขู่ว่าถ้าตัวเองได้เป็นประธานาธิบดีก็จะเอาเธอเข้าคุก

 

debate
image: https://img.thedailybeast.com

 

ความหมายที่บิดเบือนของคำว่า debate

     เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่าง Dark Debate บ่อยขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจึงเริ่มมองการดีเบตเป็นสนามกระแทกกระทั้นทางอารมณ์ โดยตีตราว่าผู้ที่ชนะหรือได้คะแนนนิยมมากกว่าจะต้องเป็นบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยคารม และถ้อยคำที่ชวนให้คล้อยตาม ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ปูทางการดีเบตไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น formal discussion หรือการถกเถียงกันอย่างเป็นทางการ ในประเด็นบางอย่าง โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เหตุผล ตรรกะ ความรู้ มาสนับสนุนความคิดของตนเอง

     เพราะฉะนั้น หากมองว่าเวทีดีเบตเป็นเพียงสนามประลองอารมณ์ของคนพูดเก่งคารมดีเท่านั้น ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะคนคารมดีเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถชนะดีเบตได้ หากไม่มีตรรกะและเหตุผลที่แข็งแรงพอ นอกจากนี้ การดีเบตทางการเมืองยังเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล และทำให้ประชาชนได้เปรียบเทียบวิสัยทัศน์ของผู้สมัครในประเด็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกตั้งด้วย 

 

คำอื่นๆ ที่มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า debate

     Root หรือรากศัพท์ของคำว่า debate คือ bat มีความหมายว่า beat (ทุบตี, ต่อสู้, เอาชนะ) โดยเราจะเห็นรากศัพท์นี้ไปปรากฏอยู่ในคำอื่นๆ ในภาษาอังกฤษ เช่น

     – battle (n.) การสู้รบ สมรภูมิ / (v.) ต่อสู้ ดิ้นรน

     – batter (v.) ทุบตีอย่างต่อเนื่อง

     – combat (n.) การประจัญบาน ความขัดแย้ง การรบ

 


ที่มา: www.collinsdictionary.com, www.etymonline.com, www.unlv.edu, wordpandit.com