Idiot | คำศัพท์ที่ชาวกรีกโบราณใช้เรียกคนที่ไม่ออกไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

24 มีนาคม หรือวันเลือกตั้งปี 62 ที่หลายคนรอคอยกำลังใกล้เข้ามาเต็มที ทำให้ช่วงนี้เราได้เห็นบรรยากาศทางการเมืองสุดร้อนระอุทั้งบนโซเชียลมีเดีย สื่อต่างๆ และบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดที่บางทีก็เลยเถิดจนกลายเป็นดีเบตเล็กๆ โดยเฉพาะกับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่วัย 18-23 ที่จะได้ออกไปเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

        แต่ถ้าใครขอนอนหลับทับสิทธิ์ คิด (เอาเอง) ว่าเสียงของตัวเองไม่มีความหมายและไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับสังคม หรือหมกมุ่นกับเรื่องราวของชีวิตตนเองมากไปจนไม่ใส่การบ้านการเมือง คุณอาจจะเข้าข่ายคนประเภทที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่า ‘Idiot’

        ในยุคกรีกโบราณ ‘Idiot’ ไม่ได้เป็นคำด่าหยาบคายที่แปลว่า ‘โง่’ หรือ ‘ไร้การศึกษา’ อย่างทุกวันนี้ แต่มีรากศัพท์มาจากคำว่า idiōtēs (ἰδιώτη) หมายถึง ‘a private person’ หรือ คนที่ใส่ใจแต่เรื่องของตัวเองและไม่ออกไปมีส่วนร่วมกับบ้านเมือง ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า ídios (ἴδιος) หมายถึง of one’s own—ของตนเอง

        ชาวกรีกยุคนั้นมองว่าการสนใจแต่เรื่องของตนเองโดยไม่ฝักใฝ่ทำอะไรเพื่อสังคมเป็นการกระทำที่ไร้เกียรติ เนื่องจากเป็นการหันหลังให้กับชุมชนและคนรอบข้าง ทั้งยังเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น พลเมืองเพศชายที่อายุมากกว่า 18 ปีบริบูรณ์ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมในการเมืองและการบริหารประเทศ ทั้งการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และโหวตข้อกฎหมายใหม่ๆ มากกว่าปีละ 40 ครั้ง โดยคนที่ลงสมัครเลือกตั้งจะสวมชุดขาว และถูกเรียกว่า Candidatus ซึ่งกลายมาเป็นคำว่า Candidate ที่เราใช้ในปัจจุบัน

 

Idiot
ภาพวาด Cicero Denounces Catiline (1888) โดย Cesare Maccari

        ความเชื่อมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหยั่งรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวกรีกโบราณ เห็นได้จากแนวคิดของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ อริสโตเติล ที่กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) เพราะเขาเชื่อว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วจะต้องมีชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นๆ มีการติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระตามลำพัง สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆ อย่างให้กับตนเอง และเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุด

        การสร้างสังคมที่เข้มแข็งจึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนทุกคนออกมามีส่วนร่วม เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเพิกเฉยกับหน้าที่พลเมือง ระบอบประชาธิปไตยก็จะค่อยๆ ล่มสลายและเสื่อมโทรม หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ในยุคนั้นยังมีการตั้งกฎให้ชนชั้นทาสนำเชือกทาสีแดงไปป้ายคนที่ไม่เข้าการประชุมทางการเมือง เพื่อเป็นหลักฐานในการเก็บค่าปรับด้วย เพราะสิ่งหนึ่งที่น่าสยดสยองที่สุดสำหรับพวกเขาคือ Idiot หรือมนุษย์ที่ไม่ยอมออกมามีส่วนร่วมอันใด

        เชื่อมโยงกับคำพูดของเพลโตที่เคยเขียนไว้ใน Republic 1 ว่า

        “But the greatest penalty is to be ruled under an evil person, if one does not take initiative in politics.” —หากคุณไม่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็จะได้รับบทลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดคือการถูกปกครองโดยบุคคลผู้ชั่วร้าย

 

Idiot
ภาพวาด The Idiot (1892) โดย Evert Larock

จาก Idiot ยุคกรีก สู่ Idiot ยุคนี้

        ต่อมา คำว่า idiot ได้ถูกนำไปใช้ในภาษาละตินว่า ‘idiota’ ซึ่งมีความหมายแฝงเชิงเยาะเย้ยที่ใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ignorant person (บุคคลผู้ขาดความรู้) และ outsider (คนนอก) หลังจากนั้นก็กลายมาเป็นคำยืมภาษาฝรั่งเศสว่า ‘idiote’ หมายถึง illiterate (คนไร้การศึกษา, คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) และหมายรวมถึงคำว่า stupid (โง่, ไร้สมอง) หรือ fool (คนเขลา) ในศตวรรษที่ 13

        คำศัพท์นี้ค่อยๆ แพร่ขยายไปยังภาษาอังกฤษในยุคกลาง โดยแบกเอาความหมายจากภาษาฝรั่งเศสติดไปด้วย จนถึงศตวรรษที่ 14 ก็ได้มีการเพิ่มความหมายของคำว่า idiot ว่า ‘mentally deficient’ หรือ บุคคลผู้มีความผิดปกติทางจิต ทำให้ความหมายดั้งเดิมของคำนี้ที่มีความข้องเกี่ยวกับการบ้านการเมืองจากยุคกรีกโบราณค่อยๆ ถูกลบเลือนไป

        นอกจากนี้ ในวงการแพทย์และจิตวิทยาช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการใช้คำว่า idiot เพื่อหมายถึงบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และใช้อ้างถึงคนที่มีระดับไอคิวต่ำกว่า 30 ด้วย

        ปัจจุบัน คำว่า idiot ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายที่มีความข้องเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว โดยพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ดได้ให้ความหมายของคำนี้ว่า a stupid person (คนโง่) หรือ a person of low intelligence (คนผู้มีสติปัญญาต่ำ) และบางบริบทก็ใช้เป็นคำก่นด่าถากทางคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือคนโง่

 

Idiot
Sex and the City (1998–2004)

 

        อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คงไม่มีใครเอาเชือกสีแดงไปป้ายคนที่ไม่ออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเรียกค่าปรับอีกแล้ว แต่การไม่ออกไปใช้สิทธิ์อาจนำพามาซึ่งบทลงโทษทางอ้อมที่เจ็บหนักกว่าการโดนเรียกค่าปรับหลายเท่า การออกไปเลือกตั้งจึงนับว่าเป็นหน้าที่พลเมืองที่ไม่ควรเพิกเฉย และเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย (ที่หวังว่า) จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ในประเทศของเรา

 


ที่มา : www.etymonline.comwww.historydisclosure.com, http://talesoftimesforgotten.comwww.mirror.co.uk