ชื่ออาหาร

ที่มาของชื่ออาหารชวนตั้งคำถาม: ถั่วในโดนัท ทรายในแซนด์วิช และชายเป็นผู้เจ้าของ Egg Benedict

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมโดนัทถึงมีคำว่า ‘nut’ ทั้งๆ ที่มันไม่มีถั่ว แล้วทำไมแซนด์วิชถึงมีคำว่า ‘sand’ นำหน้า ทั้งๆ ที่มันไม่น่าเกี่ยวข้องกับทราย ยังไม่รวมไปถึงซีซาร์สลัด ที่ชวนตั้งคำถามว่าเป็นเมนูที่ถูกคิดค้นโดยจูเลียส ซีซาร์ แม่ทัพโรมันผู้ยิ่งใหญ่หรือเปล่า

     เราขอชวนคุณไปล้อมวงรับประทานอาหารฝรั่งสุดฮิต 5 ชนิด พร้อมดื่มด่ำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในวัตถุดิบกรรมวิธีการปรุง และเหตุการณ์บังเอิญน่าเหลือเชื่อ ในคอลัมน์ World Wide Words ประจำสัปดาห์นี้

 

ชื่ออาหาร

Sandwich

     หลายคนอาจเคยคิดว่าอาหารทานง่ายที่ประกอบขึ้นจากขนมปัง 2 แผ่น ประกบเนื้อสัตว์ ชีส หรือผักอย่าง ‘แซนด์วิช’ มีที่มาเกี่ยวข้องกับทะเลหรือทราย เนื่องจากมีคำว่า Sand ปรากฏอยู่บนชื่อ แต่จริงๆ แล้วแซนด์วิชไม่ได้เกี่ยวกับทรายโดยตรง แต่ต้องย้อนอดีตไปถึงชีวิตของลอร์ดชาวอังกฤษคนหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 18

     จอห์น มอนทากิว (John Montagu) เป็นรัฐบุรุษชาวอังกฤษ ลอร์ดคนที่หนึ่งแห่งศาลพาณิชย์นาวี อธิบดีกรมไปรษณีย์ และเป็นทายาทรุ่น 4 ที่ปกครองเมืองเล็กทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศชื่อว่า Sandwich ซึ่งแปลว่า หมู่บ้านที่เต็มไปด้วยทราย (Sand Village หรือ Sandy Place) โดยเมื่อก่อน ขุนนางมักจะถูกเรียกชื่อด้วยเมืองที่เขาปกครอง เช่น Earl of Sandwich หรือ Earl of Wessex

 

ชื่ออาหาร
จอห์น มอนทากิว เอิร์ลที่ 4 แห่งแซนด์วิช

 

     คืนหนึ่งในปี ค.ศ. 1762 จอห์นแห่งหมู่บ้านแซนด์วิชได้เดินทางไปกรุงลอนดอน และเล่นพนันอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งจนดึก เวลาผ่านไปนานจนเขารู้สึกหิวมาก แต่ก็ไม่สามารถหยุดเล่นเกมไพ่ได้ เขาจึงบอกบริกรให้เอาขนมปังสองแผ่นประกบเนื้อย่างมาให้ เขาจะได้กินไปเล่นพนันไป โดยที่ไม่ต้องใช้มีดใช้ส้อมให้วุ่นวาย แถมมือไม่เลอะเทอะด้วย พอคนอื่นๆ ได้ยินดังนั้นจึงสนใจสั่งบริกรว่า “เอาเหมือนแซนด์วิช!” และอาหารชนิดนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อ แซนด์วิช เหมือนลอร์ดผู้สั่งเมนูนี้เป็นคนแรกนั่นเอง

     อย่างไรก็ตาม คำว่าแซนด์วิชจะใช้ต่อเมื่อเป็นเมนูขนมปังที่ประกบด้วยเนื้อเย็นๆ เท่านั้น เช่น แฮม ทูน่า แตงกวาดอง ไก่ฉีก แต่ถ้าเป็นเนื้อร้อนจะเรียกว่า ‘เบอร์เกอร์’ (Burger) แทน

     นอกจากเป็นเมนูอาหารแล้ว คำว่า sandwich ยังสามารถกลายเป็นคำกริยาที่แปลว่า ‘โดนประกบ’ หรือ ‘แทรก’ (ระหว่างของ 2 สิ่ง) ด้วย เช่น My car was sandwiched between two other cars in the parking lot. (รถยนต์ของฉันถูกรถอีก 2 คันประกบในลานจอดรถ)

 

ชื่ออาหาร

Caesar Salad

     จูเลียส ซีซาร์ หนึ่งในแม่ทัพและผู้ประพันธ์ร้อยแก้วชาวโรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นผู้คิดค้นหลักการทางการเมือง ยุทธศาสตร์รบ และศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผู้คนสมัยใหม่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเขาอยู่ประจำ ใช่แล้ว! จูเลียส ซีซาร์ ไม่ได้เป็นคนคิดค้นซีซาร์สลัดแต่อย่างใด เพราะเรื่องราวของสลัดจานนี้นั้นเกิดขึ้นในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างประเทศเม็กซิโก

     ในปี ค.ศ. 1924 Caesar Cardini เจ้าของร้านอาหารขายดิบขายดีในเมือง Tijuana ประเทศเม็กซิโก เกิดขาดแคลนวัตถุดิบในครัวอย่างกะทันหัน แล้วจู่ๆ ก็มีกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่เดินเข้ามาในร้านเพื่อลองชิมฝีมืออันเลื่องชื่อของเขา ด้วยความที่ไม่อยากเสียหน้า นายซีซาร์จึงต้อนรับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการอิมไพรไวส์เมนูสลัดขึ้นมาใหม่โดยใช้วัตถุดิบง่ายๆ ที่เหลืออยู่ในครัว เช่น ผักกาด กระเทียม ขนมปังกรอบ ชีสพาร์เมซาน น้ำมันมะกอก ไข่ต้ม ราดด้วยวูสเตอร์ซอส (Worcestershire sauce) ซอสกลิ่นหอม รสเปรี้ยว ที่บางคนรู้จักในนามซอสไก่งวง

     ปรากฏว่าลูกค้ากลุ่มนั้นชอบสลัดจานนี้มาก จนนำไปบอกคนอื่นๆ ในเมืองแบบปากต่อปาก “มากินสลัดของซีซาร์สิ” เมนูนี้จึงได้ชื่อว่าซีซาร์สลัด เพื่อเป็นเกียรติแก่ชายผู้คิดค้นมันขึ้นมาในที่สุด

 

ชื่ออาหาร

French Toast

     รู้หรือไม่ว่าของหวานหรูๆ ยั่วๆ ที่ฮอตฮิตในเมืองไทยมาหลายปี จริงๆ แล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากการรียูสเศษขนมปังเก่าที่ไม่มีความนุ่มและไม่อร่อย แถมไม่ใช่ของฝรั่งเศสอีก อ้าว! แล้วทำไมมันถึงชื่อเฟรนช์โทสต์ละเนี่ย

     ใครที่รับประทานขนมปังบ่อยๆ น่าจะรู้ดีว่า หากทิ้งขนมปังก้อนไว้เป็นเวลานาน ความชุ่มชื้นของมันจะระเหยออก ทำให้ขนมปังมีเนื้อแข็ง กรอบ ไม่อร่อย แต่ในอดีต ผู้คนไม่ได้หาซื้อขนมปังชิ้นใหม่มารับประทานได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน พวกเขาจึงต้อง ‘รีไซเคิล’ ขนมปังก้อนเดิมให้กลับมากินได้อีกครั้งโดยการนำมันไปชุบไข่ นม และทอดบนน้ำมันหรือเนย

     มีหลักฐานปรากฏว่า เฟรนช์โทสต์ถูกคิดค้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน (ศตวรรษที่ 5) โดยใช้ชื่อว่า Pan Dulcis เพื่อเป็นการชุบชีวิตขนมปังเก่าให้กินได้และมีรสชาติดีอีกครั้ง แต่มันกลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในชื่อ เฟรนช์โทสต์ ช่วงที่ผู้คนเริ่มอพยพไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ ราว ค.ศ. 1742 เนื่องจาก โจเซฟ เฟรนช์ (Joseph French) เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในแอลบานี รัฐนิวยอร์ก ได้นำเมนูขนมปังชุบไข่กับนมมาเสิร์ฟหน้าร้าน และใช้ชื่อว่า French Toast เพื่อจะสื่อว่าเป็น ‘ขนมปังของเฟรนช์’ นามสกุลของเขา แต่ว่ากันว่า นายโจเซฟ เฟรนช์ เป็นคนที่ไม่มีการศึกษามากนักและไม่รู้จักการใส่เครื่องหมาย (’) เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ (จริงๆ ต้องเป็น French’s Toast) เมนูขนมปังดังกล่าวจึงสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นขนมปังฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ชื่ออาหาร

Donut

     ขนมกลมๆ มีรูตรงกลาง มีที่มาของชื่อจากคำว่า Dough (แป้ง) + Nut (ถั่ว) แม้ว่าเราจะไม่ค่อยเห็นโดนัทที่มีถั่วในปัจจุบันกันสักเท่าไหร่แล้ว แต่ในอดีตนั้นถั่วถือว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของโดนัทเลยทีเดียว

     จุดเริ่มต้นของโดนัทที่เรารู้จักกันนั้นเริ่มขึ้นเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 โดยเป็นเมนูที่พัฒนามาจาก olykoek เค้กทอดสไตล์ดัตช์ ที่มักยัดไส้ถั่วหรือผลไม้เชื่อมไว้ตรงกลาง เนื่องจากเวลานำแป้งไปทอดในน้ำมัน เนื้อแป้งตรงกลางมักจะไม่สุก หรือสุกช้ากว่าตรงอื่น เพราะความร้อนเข้าไปไม่ถึง พวกเขาจึงยัดไส้ถั่วหรือผลไม้เอาไว้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ไม่ต้องทำให้สุกนั่นเอง

 

ชื่ออาหาร
กัปตันแฮนสัน เกรกอรี

 

     แต่โดนัทมีรูได้อย่างไร เราคงต้องยกความดีความชอบให้ แฮนสัน เกรกอรี  (Hanson Gregory) กัปตันเรือชาวอเมริกันที่มักนำโดนัทไส้วอลนัทหรือเฮเซลนัทอร่อยๆ จากคุณแม่ขึ้นเรือมารับประทานเวลาออกเดินทางไกลเสมอ วันหนึ่งเมื่อเขาออกเรือและไม่ได้เอาโดนัทมาด้วย แถมบนเรือก็ไม่มีวัตถุดิบอื่นๆ นอกจากแป้งเปล่า เขาจึงสร้างสรรค์โดนัทมีรูชิ้นแรกของโลกขึ้นด้วยการนำขวดพริกไทยไปกดไว้ตรงกลางก้อนแป้งและลองเอาไปทอด ปรากฏว่าโดนัทก้อนนั้นสามารถทอดจนสุกเป็นสีเหลืองทองทั่วชิ้นได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องสอดไส้ถั่วให้ยุ่งยาก ภายหลัง เขานำความสำเร็จนี้ไปบอกแม่ และเคลมตัวเองว่าเป็นชายผู้คิดค้นรูของโดนัทคนแรกของโลก

 

ชื่ออาหาร

Egg Benedict

     เมนูสุดท้าย เราขอชวนคุณไปพบกับนายเบเนดิกต์สุดชิคและไข่เยิ้มๆ ของเขา

     ในช่วงท้ายศตวรรษที่ 19 คนมีฐานะในนิวยอร์กเริ่มมีรสนิยมออกมารับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวันนอกบ้านกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของวัฒนธรรมการรับประทานบรันช์ (Brunch) ในร้านอาหาร ซึ่งเป็นมื้อที่รวมอาหารเช้า (Breakfast) และอาหารกลางวัน (Lunch) เข้าด้วยกัน

     ช่วงสายวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1894 นาย Lemuel Benedict โบรกเกอร์หนุ่มที่ว่ากันว่าเป็นขาปาร์ตี้และแต่งตัวจัดจ้านในย่านแมนฮัตตันมากๆ คนหนึ่ง เดินเข้าไปในโรงแรม Waldorf Astoria เพื่อหาเมนูแก้อาการแฮงโอเวอร์ เนื่องจากปารตี้หนักเกินไปเมื่อคืน เขาสั่งเมนูขนมปังทอดเนย ควบคู่กับ poached egg เบคอนกรอบ และซอสฮอลแลนเดซรสเข้มข้น ซึ่งเป็นเมนูที่เขาเลือกออกมาเองจากรายการอาหารเช้า ปรากฏว่าหัวหน้าเชฟของโรงแรมลองชิมแล้วชื่นชอบมาก จึงทำให้มันเป็นเมนูถาวรของห้องอาหารตั้งแต่นั้น แถมตั้งชื่อว่า Egg Benedict เพื่อเป็นเกียรติแก่ชายผู้คิดค้นเมนูนี้ (ด้วยความบังเอิญ) ด้วย

     ถ้าหากใครไปเที่ยวนิวยอร์ก แล้วมีโอกาสแวะไปโรงแรม Waldorf Astoria ก็อย่าลืมไปลองชิม Egg Benedict สูตรต้นตำรับด้วยล่ะ

 


ที่มา: