Ask กัญชาชน | สังคมไทยอนุรักษ์นิยมเกินไปหรือเปล่า และเสรีนิยมจะพาเราไปถึงจุดไหน?

2018 Highland 4.20 เป็นอีเวนต์ที่โด่งดังแบบเงียบๆ ในหมู่ชาวเอ็กซ์แพทและคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า กำลังจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 เมษายน ที่ดาดฟ้าตึกฟอร์จูนทาวน์ รัชดาภิเษก เพื่อรวมสรรพความรู้และความคิดเห็นจากหลากหลายแวดวง เกี่ยวกับการใช้กัญชาในฐานะของยารักษาโรค และพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของโลก

งานนี้จัดโดยกลุ่ม กัญชาชน หรือ Highland นำโดย 4 หนุ่มสาว คือ รัฐพล แสนรักษ์, ช่อขวัญ ช่อผกา, อรัญ เอเวอรี่ และ ชัยวัฒน์ บานใจ

พวกเขาพยายามรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชา เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพวกเขาเชื่อว่าเทรนด์ของโลกเราในตอนนี้ ไล่เรื่อยมาจากยุโรป อเมริกา และเอเชีย กำลังค่อยๆ กลับมาเปิดกว้างให้กับพืชสมุนไพรเจ้าปัญหาตัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากที่โบราณกาลนานมา มันเป็นพืชริมรั้วทั่วไปที่ใครๆ ก็นำมาใช้ประโยชน์สารพัด เราเคยมองมันไม่ต่างจากบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งกาแฟ แต่ในประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอน มันกลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง คือเมื่อไม่ถึงร้อยปี ช่วงที่อเมริกายังมีการค้าทาส แล้วค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ยุคสงครามโลก และกลับมาผ่อนคลายในยุคบุปผาชน จนกระทั่งล่าสุด มันถูกนำมาวิเคราะห์วิจัยผลทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลาย

กัญชาถูกผู้มีอำนาจกำหนดความหมาย และเป็นอคติที่ติดหัวเรามายาวนาน ถ้าเราตั้งคำถามกับกัญชาที่ดูเหมือนว่าจะน่ากลัว และผิดบาปที่สุดได้ เราจะรู้จักวิธีการตั้งคำถามกับอำนาจครอบงำ และอคติภายในใจของเราได้ทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ

มาลองรื้อสร้างประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของกัญชา ร่วมกับกลุ่ม Highland มาดูว่าพวกเขานำแนวคิดเสรีนิยมมาต่อสู้กับอำนาจนำ และผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยมในสังคมนี้อย่างไร

 

 

adB: การจัดงาน Highland 420 Thailand มีอุปสรรค หรือมีใครเข้ามาตักเตือนหรือยัง

ชัยวัฒน์: มีคนแสดงความกังวลมา แต่พอเราชี้แจงก็เคลียร์แล้ว จะมีใครที่ขายกัญชาแล้วมาจัดงานกันโจ่งแจ้งให้จับแบบนี้ เขาไปแอบขายกันเงียบๆ ไม่ดีกว่าเหรอ เราจัดเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า มันเป็นงานอุดมการณ์มากกว่า คือสิ่งที่พวกเราผลักดันโดยไม่มุ่งผลกำไร พองานเติบโตขึ้นมาในแต่ละปี ปีนี้ก็เอาวิชาการมาย่อยให้ง่ายขึ้นไปอีก และมีพาร์ทความบันเทิงเข้ามา แต่เราไม่ใช่มิวสิคเฟสติวัลที่บันเทิงโครมคราม

ช่อขวัญ: มูฟเมนต์ของประชาชนแบบนี้ ยังไงก็ต้องมีเพลงเข้าไปอยู่แล้ว เหมือนกับการเมือง 14 ตุลา พ่อก็เล่าให้ฟังว่าเขามีดนตรีเล่นบนเวที มันประมาณนั้นแหละ

 

adB: แต่ละคนมีหน้าที่การงานดีๆ ทำไมต้องออกมารณรงค์ในเรื่องที่สังคมและกฎหมายไม่ยอมรับ

รัฐพล: ส่วนตัวผม เมื่อชีวิตเคยผ่านปัญหาตรงนั้นมา พบว่าการที่เรามีกฎหมายแบบนี้และมีความเชื่อแบบนี้ มันไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น กลับเป็นการทำร้ายประชาชนและยิ่งทำให้สังคมแย่ลงๆ การปล่อยไปก็ทำให้เรายังอยู่ในสังคมที่แย่แบบนี้ต่อไป เราก็น่าจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้นบ้าง

ชัยวัฒน์: มันคือเรื่องปัญหายาเสพติด เพียงแต่ว่าวิธีการแก้ปัญหานี้ที่ผ่านมายังไม่ถูกต้อง ถ้าเราปราบปรามรุนแรงและมีกฎหมายเข้มงวดขนาดนี้แล้ว รัฐเราไม่ควรจะมียาเสพติดเหลืออยู่แล้ว แต่ที่ยังมีอยู่และรุนแรงขึ้นๆ ก็แปลว่ามันไม่ถูกต้อง เรามีตัวอย่างการแก้ปัญหาของเมืองนอก ที่เขาใช้วิธีอื่นๆ มาเล่าให้ฟัง ทำไมไม่ลองมาดูกันบ้าง มาทบทวนกัน เราแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีเดิมแล้วคาดหวังผลที่แตกต่าง มันเป็นไปได้เหรอ

รัฐพล: ในตลาดโลกตอนนี้ กัญชากลายเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เราน่าจะได้มีความรู้ในเรื่องนี้กันไว้บ้าง ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ยังไงๆ กัญชาก็จะกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายทั่วโลก เพราะว่าเทรนด์โลกไปทางนั้นจริงๆ ถ้าเราเริ่มต้นช้าก็เสียเปรียบ ถ้าเราได้เริ่มวิจัยก็อาจจะได้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ นี่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเทรนด์โลก

 

adB: เส้นทางของสังคมจะต้องวิวัฒนาการไปทางนี้จริงหรือ

รัฐพล: เหมือนกับเมื่อหลายร้อยปีก่อน เราจะบอกว่าโลกจะต้องเดินไปทางประชาธิปไตยทั้งหมด ก็คงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นไปได้ มันเหมือนเรื่อง LGBT เรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทุกวันนี้กลายเป็นที่ยอมรับ หรือแม้กระทั่งเรื่องแอลกอฮอล์เมื่อก่อนก็ผิดกฎหมายทั้งหมด จนกระทั่งวันหนึ่งเรารู้แล้วว่ากฎหมายแบบนั้นไม่เวิร์ค

ช่อขวัญ: เหมือนกับเรื่องบุหรี่ โบราณก็สูบกันแล้วบอกว่ามันเป็นยา แต่พอมาตอนนี้เรากลับสอนว่าสูบแล้วเป็นมะเร็ง โลกมันเปลี่ยนความคิดไปเรื่อยๆ กัญชาก็แค่เป็นเรื่องหนึ่งในนั้นเช่นกัน ตอนนี้่โลกกำลังเปลี่ยนความคิดเรื่องกัญชา มีหลายสิ่งหลายอย่างของบ้านเราที่ถูกนำออกไปใช้

รัฐพล: อย่างคำว่าบ้อง มันกลายเป็นคำศัพท์ที่ใช้กันทั่วโลกแล้ว ทั้งที่เป็นคำไทย เป็นอิทธิพลเต็มๆ จากบ้านเราเอง เมื่อก่อนตะวันตกเรียกว่า Water Pipe แต่เดี๋ยวนี้ใช้คำว่า บ้อง กันเต็มๆ นี่เป็นรากฐานจากบ้านเราเอง ต้นกัญชาหลายสายพันธุ์ที่ปลูกกันและนำไปใช้งานกันทั่วโลก ก็มีถิ่นกำเนิดจากบ้านเราทั้งนั้น คือเรามีรากฐานทางวัฒนธรรมที่แข็งแรงมากในอดีต ไม่นานมานี้ด้วย เพียงแค่ห้าสิบหกสิบปี กระทั่งมีคำที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เราก็เพียงแค่นำมาศึกษาและพัฒนาต่อ เมื่อไม่กี่่สิบปีก่อน มันเคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหาร การใช้ชีวิตประจำวันของบ้านเรา ไม่ใช่ว่าเราไปหยิบมาจากเมืองนอก จากไหนก็ไม่รู้ มันมีประวัติศาสตร์ในบ้านเรา

 

adB: ในยุคกลาง ถ้าเราออกมาประกาศว่าโลกแบนและไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล เขาอาจจะเอาเราไปประหารชีวิตเลย แต่ละยุคจะมีคนลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ที่แตกต่างจากความเชื่อของคนส่วนใหญ่

อรัญ: ความจริงครับ ทุกยุคสมัยจะต้องมีใครสักคนออกมาพูดความจริง ยุคนี้เป็นยุคที่กฎหมายบอกไว้ว่ากัญชาผิด คนส่วนใหญ่เชื่อว่ากัญชาอันตราย แต่เรามีข้อมูลความจริงอีกชุด ว่ากัญชาสามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมกระดาษ พืชชนิดเดียวสามารถนำมาทำเป็นปัจจัยสี่ได้ครบถ้วน

ช่อขวัญ: กัญชามี stigma ในยุคของเรา เพราะเขาสร้างโฆษณาชวนเชื่อมาล้างสมองกัน ยุคยายของเราเขาก็นำมาใช้กันปกติ กินเป็นอาหาร ยำกับน้ำผึ้ง เป็นต้นไม้ปลูกริมรั้วปกติของทุกบ้านเรือน เชือดไก่ทีหนึ่งก็เด็ดมาต้มใส่

รัฐพล: การสร้างโฆษณาชวนเชื่อเรื่องกัญชาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของการสร้างความจริง สร้างประวัติศาสตร์เทียมๆ เพราะมันเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานมานี้เอง มีการโฆษณาเพื่อบอกว่ามันเลวร้ายอันตราย ก่อนที่จะทำให้มันผิดกฎหมาย ทำกันอย่างเป็นกระบวนการ พูดกรอกหูทุกวันๆ เช่นตั้งแต่ยุคของการเหยียดสีผิว มีการลงข้อความในหนังสือพิมพ์ ว่าการเสพกัญชาจะทำให้ผู้หญิงผิวขาวยอมมีเซ็กส์กับผู้ชายผิวดำ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้มากๆ ในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังเหยียดสีผิวกันอยู่ มีการทำให้กัญชากลายเป็นเมกซิกัน เปลี่ยนชื่อเรียกจาก Cannabis ไปเป็น Marijuana ซึ่งเป็นภาษาเมกซิกัน ทำให้มันกลายเป็นต่างชาติ หรือสิ่งแปลกปลอม เพื่อดาวน์เกรดมัน เขาต้องการทำให้ผิดกฎหมาย นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่า ตั้งแต่ยุคที่มีการค้าทาสและมีการปลูกฝ้ายเป็นอุตสาหกรรม มาจนถึงยุคสงครามโลก มีการใช้เส้นใยกันชงมาทำเสื้อผ้า เชือกเส้นใหญ่ๆ เขากลัวว่าเส้นใยกันชงจะมาทำลายตลาดเส้นใยฝ้าย ลักษณะมันเหมือนกับแอลกอฮอล์ ที่มีกฎหมายห้ามในยุค 1920-1930 แล้วก็เกิดปัญหารุนแรงขึ้นไปอีก พอหลังจาก 1930 เขาก็มาลงที่กัญชาแทน มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เพียงไม่ถึงร้อยปีนี้ด้วยซ้ำที่ทำให้กลายเป็นสิ่งผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย

ชัยวัฒน์: กฎหมายก็มีสองแนวทาง มาลาอินเซ คือกฎหมายที่ผิดเพราะมันผิดในตัวมันเอง เช่นการฆ่าคนหรือการลักทรัพย์ กับมาลาโปรฮิบิต้า คือกฎหมายที่มันไม่ใช่ความผิดในตัวมันเอง แต่มีคนร่างกฎหมายมากำหนดว่ามันผิด ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีก

 

 

adB: บางครั้งปัญหาไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎหมาย แต่มันเกิดจากคนทั่วไปนี่แหละที่ทำตัวเข้มงวดเสียยิ่งกว่ากฎหมาย

ชัยวัฒน์: คือถึงแม้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าโลกแบน แต่ในความจริงโลกก็ยังกลมอยู่ดี ต่อให้พวกคุณห้าม หรือพวกคุณจับเราไปประหาร แต่ความจริงนี้ก็ดำรงอยู่เหมือนเดิม ก็จะยังมีคนอื่นก็ทำงานเรื่องนี้ต่อไป

ช่อขวัญ: วันนี้มีคนติดต่อเข้ามา บอกว่าบางส่วนของการจัดงานมีคนเป็นห่วง เราก็เข้าไปชี้แจง ว่านี่คืองานให้การศึกษา ไม่ใช่การสนับสนุน ในขณะที่อีกด้าน มีคนติดต่อเข้ามาเยอะ ว่าจะพาคนแก่ที่บ้านมาดูงานของเรา อยากรู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร และมีโอกาสที่จะนำไปใช้ได้แค่ไหน ทางฝั่งเราก็ยินดี มาคุยกับทีมงานได้ตลอดเวลา เพราะตอนนี้เรา ณ ตอนนี้เราอยากบอกทุกคนที่อยากฟัง เพื่อให้ข้อมูลความรู้จากทางฝั่งนี้บ้าง เพื่อเป็นการให้การศึกษาคน ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่รู้อะไร เราก็จะไปค้นหามาให้ ทำตัวเป็นวิกิพีเดียให้เขา ชี้ช่องทางว่าความรู้มีอะไร อยู่ตรงไหน โดยที่เราไม่ได้ไปชักจูงให้เขามาใช้ เราพยายามแก้ไขทัศนคติ ชี้แจง มีข้อมูลอะไรก็บอกกัน

 

adB: สังคมไทยทุกวันนี้ลิเบอรัลมากขึ้น หรือคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้น

ช่อขวัญ: ก็ทั้งสองส่วนเลย บางทีเราอาจจะเลือกทำงานกับบางส่วนได้ เช่นเราจะไม่เปลี่ยน stigma ในกลุ่มเด็กเยาวชน แต่เราอยากเปลี่ยน stigma ในกลุ่มผู้ใหญ่ คนกลุ่มใหญ่อายุสัก 30 กว่าขึ้นไป เขาโดนโฆษณาชวนเชื่อมาตลอดชีวิตแล้ว เขามีความเชื่อ มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาไม่ดี ดูดแล้วติด ทำงานทำการไม่ได้ คนกลุ่มนี้อาจจะต้องได้รับข้อมูลความรู้ใหม่ ณ วันนี้เลย เพราะในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เขาอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้มันในฐานะที่เป็นยา เพื่อรักษาโรคหรือระงับความเจ็บปวด ถ้าเขายังปักอยู่กับความเชื่อเดิมในตอนนี้มันจะทำให้เขาลำบาก

อรัญ: ยาบางตัวก็มีผลข้างเคียงเยอะ ทำลายตับไตผู้ใช้ ในขณะที่กัญชาในขนาดที่เหมาะสมและใช้เป็นยาจริงๆ จะมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพน้อยกว่า ยาแผนปัจจุบันบางส่วนจะทำให้สุขภาพแย่ลง

ช่อขวัญ: อย่างกรณีคนป่วยเป็นไมเกรน ถ้าใช้ยาแผนปัจจุบันต้องใช้เยอะเป็นแผงๆ ไอบูโพรเฟนไม่ใช่กินกันเป็นเม็ดนะ ต้องกินกันต่อเนื่องเป็นแผง ซึ่งอันตรายกว่า มีผลกระทบต่อตับ

รัฐพล: ตอนผมอยู่เมืองนอกป่วยเป็นไมเกรน ไปพบหมอเรียบร้อย ก็ไปซื้อยา ที่ร้านถามว่าจะเอายาแก้ปวดหรือจะเอากัญชา ผมก็แปลกใจว่าขายกันแบบนี้ได้เหรอ ตอนนั้นยังไม่เข้าใจ เขาบอกว่าใช้แทนกันได้ และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า แล้วแต่ว่าคุณจะเลือกใช้

 

adB: ในบรรยากาศที่สังคมคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้นเรื่อยๆ การทำงานของพวกคุณจะยากขึ้นไหม

ชัยวัฒน์: เพราะเรารู้สึกว่าสังคมนี้มองไม่เห็นอนาคตใช่ไหม เราก็เลยพยายามย้อนกลับไปหาอะไรเก่าๆ กลับคืนมา ในสังคมที่เห็นอนาคต เขาก็ต้องพยายามหาความรู้ใหม่ๆ มองออกไปข้างนอกประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมไปสู่สิ่งใหม่เสมอๆ แต่เรากลับพยายามไปขุดหาวัฒนธรรมสมัยก่อนกลับมาพูดถึงกัน แล้วก็พยายามทำให้ทุกอย่างต้องเป็นเหมือนเดิม

ช่อขวัญ: ในขณะที่กัญชาก็เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมเหมือนกันนะ เราก็อาจจะใส่ชุดไทยเป็นออเจ้า แล้วก็เอากัญชามาบดทำยา หรือทำอาหารเหมือนเดิมได้ ปัญหาตอนนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องกัญชา แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำกันทางสังคม

ชัยวัฒน์: กฎหมายห้ามเด็ดขาดเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เหมือนกับราคายาเสพติดในอเมริกาใต้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนผลิตเท่าเดิม ในขณะที่ผู้เสพก็ไม่ได้ลดลง แต่คนผลิตคนขายมีกำไรมากขึ้น ก็ยิ่งจูงใจให้คนเข้ามาทำการค้า พอร่ำรวยก็ยิ่งเกิดเป็นองค์กรอาชญากรรม เป็นมาเฟียติดอาวุธทำสงครามกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือยิ่งจูงใจให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากขึ้น กลายเป็นพื้นที่สีเทาๆ ธุรกิจสีเทาๆ

รัฐพล: ในบ้านเรามีพื้นที่สีเทาๆ เยอะมาก ดูอย่างเรื่องอาบอบนวด การค้าประเวณี สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ถึงแม้เรากำหนดให้มันผิดกฎหมาย ถ้าเราทำให้ถูกกฎหมาย แล้วจะได้เอาเข้าระบบภาษีให้หมดมันจะดีกว่าไหม

 

adB: ยิ่งคอนเซอร์เวทีฟ ก็จะยิ่งนำเราไปสู่สภาวะปากว่าตาขยิบใช่ไหม

ช่อขวัญ: เราก็ชอบอ้างว่าเราเป็นเมืองพุทธไง ต่อหน้าเราทำตัวเป็นคนดีมากเลย แต่มือยังไขว่คว้าอะไรที่เราบอกว่าเลวๆ อยู่ข้างหลังตลอด

 

adB: อยากรู้ว่าในชีวิตจริงของพวกคุณ ในไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน พวกคุณคอนเซอร์เวทีฟหรือว่าลิเบอรัลแค่ไหน

ช่อขวัญ: เราชอบนุ่งผ้าถุง ใส่ผ้าไทย ในขณะเดียวกันก็มีรอยสักเต็มตัว ชอบอะไรที่เป็นไทยๆ และทำตัวเรียบร้อยถูกกาลเทศะด้วย สนใจเรื่องวัฒนธรรมไทยด้วย แต่เราว่าเป็นแบบญี่ปุ่นได้ไหม คือรักษาวัฒนธรรมเดิมไว้ แต่ก็มีอะไรที่ทันสมัยเข้ามาในสังคมได้เสมอๆ เราทำงานทางด้านการศึกษา เคยไปเป็นวิทยากรบรรยายให้กับคุณครู ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปบอกครูว่าเฮ้ย กัญชาดีนะ ให้ไปสอนเด็กๆ เรามีลูกเจ็ดขวบ ห้าขวบ เขาเดินมาดูตอนเรากำลังนั่งทำงาน เรารีเสิร์ชเรื่องกัญชาอยู่ก็ถาม ถามว่าอะไร เราบอกว่าสมุนไพรลูก บอกเล่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ให้เขา แต่ไม่ได้ไปปลูกฝังว่านี่มันเลวร้าย ข้อเท็จจริงแบบนี้ปิดบังเด็กไม่ได้ เหมือนกับพ่อแม่เราสูบบุหรี่กินเหล้า เขาปิดลูกไม่ได้อยู่แล้ว แต่เขาต้องอธิบายให้ลูกฟังว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร

รัฐพล: ผมเคยอยู่ที่ซานฟรานซิสโก และก็เข้าใจเลยว่าบรรยากาศแบบนั้นมันมีเสรีภาพสูงมาก ใครอยากทำอะไรก็ได้ มีร้านอาหารที่ให้ลูกค้าเข้าไปแล้วแก้ผ้าได้ ถ้าร้านแบบนี้อยู่ในสังคมที่คอนเซอร์เวทีฟก็จะถูกด่า

ช่อขวัญ: มันก็แค่นม สังคมที่ปิดกั้นมากๆ แค่ผู้หญิงให้นมลูกในที่สาธารณะยังกลายเป็นเรื่องผิด มึงควักนมออกมาทำไม อ้าวก็ลูกหิวอ่ะ แล้วจะให้กูทำยังไง จะให้มันร้องแหกปากจนทุกคนรำคาญเหรอ ก็ให้คุณเลือกเอา

 

adB: ถ้าโลกเรามีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ โลกจะดีกว่านี้จริงหรือ

ช่อขวัญ: ไม่ ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าคนเราน่ะนะ มันจะมีคำว่า Dont be a dick ใช่ไหม ทุกคนก็ dickhead เหมือนกันหมด คนก็คือคน ไม่ว่าโลกจะไปในทางลิเบอรัลหรือคอนเซอร์เวทีฟ คนก็คือคน มันย่อมมีคนเลวๆ อยู่เสมอ ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะไปทางไหน มันก็ไม่ใช่ว่าจะดีไปเสียทั้งหมด

รัฐพล: ผมว่าถ้าโลกมีเสรีภาพมากขึ้น ผู้คนจะมีความเครียดน้อยลง เพราะว่ามันจะไม่มีใครมาแคร์ว่าเราทำอะไร ไม่มีใครคอยมาตัดสินใคร คือง่ายๆ ว่าผมอยากทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครมาสนใจ เอาแค่ว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือส่งผลร้ายต่อใคร คนรุ่นลูกหลานของเราน่าจะมีความเครียดทางสังคมน้อยลง

 

adB: ลูกหลานของเราจะกลายเป็นคนเลวๆ แบบในภาพข่าววันสงกรานต์ที่เราเห็นหรือเปล่า

รัฐพล: นั่นไม่ใช่เสรีภาพหรอกนะ

ชัยวัฒน์: หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ เคยจ้างสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งทำวิจัย เพื่อดูเหตุผลที่ทำให้เยาวชนของเรามีพฤติกรรมไม่ดี ติดเกม หรือไปเป็นเด็กแวนซ์ คือในที่สุดแล้วเด็กเขาเพียงแค่อยากจะออกไปมีสังคม ออกไปได้รับการยอมรับ บางคนเล่นเกมเก่งก็ได้รับคำชมจากเพื่อน หรือขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปเพื่อจะได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนของเขา มันคือความบันเทิงราคาถูก สิ่งที่ผิดมันไม่ได้เกี่ยวกับเกมหรือมอเตอร์ไซค์ คือแทนที่เราจะห้าม เราต้องให้เขาเรียนรู้ ทุกอย่างมันเกี่ยวกับว่าเขาต้องการคนรับฟัง คนในครอบครัวของเขา รับฟัง คอยบอกคอยสอนเขา ให้เขาตั้งคำถามโดยที่เราไม่ต้องเป็นคอยบอกว่าเขาต้องทำอะไร อะไรดีอะไรชั่ว

ช่อขวัญ: มันไม่ใช่เราแค่ให้การศึกษาอย่างเดียว เราว่ามันต้องสอนให้เขาถาม สอนให้เขามีความอยากรู้อยากเห็น เราเองก็สอนให้ลูกถามทุกอย่าง และเราปฏิญาณกับตัวเองเลยว่าถ้าลูกถามอะไร เราจะต้องคอยตอบเขาไม่ว่าจะยังไงก็ตาม

รัฐพล: สำคัญคือให้เขาถาม และให้เขาคิดได้เอง ไม่ใช่เราต้องไปคอยบอกว่าเกมไม่ดี มอเตอร์ไซค์ไม่ดี กัญชาไม่ดี ไม่เช่นนั้น ต่อไปเราต้องคอยไปห้ามเขาทุกอย่าง เพราะสังคมมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นมา ถ้าวันหนึ่งมีคนดมจั๊กแร้แล้วติด หรือเอาขี้วัวมาดมแล้วติด เราก็ต้องคอยไปห้ามตลอดแบบนี้เหรอ

ช่อขวัญ: เราว่าเราทุกคนต้องหาวิธีเมาอยู่แล้ว เราจะคอยหาตลอด แล้วเขาก็จะเจอมัน และเราจะห้ามไม่ได้

ชัยวัฒน์: คนเราต้องการเมาอะไรบางอย่าง เพราะเราต้องการประสบการณ์ใหม่ กับสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา นอกจากเราจะทำมาหากินมีชีวิตรอดแล้ว เราจะหาความสุขจากประสบการณ์แปลกใหม่ แม้กระทั่งในโลมา นักวิทยาศาสตร์ก็ไปทำการศึกษา พบว่าโลมาต้องการเมาเหมือนกัน มันตั้งวงเสพปลาปักเป้า มาล้อมวงกัน แล้วกินปลาปักเป้าเพื่อเอาพิษบางอย่างเข้าไปทำให้เมา พอเมาแล้วก็เบลอๆ ว่ายน้ำแปลกๆ ด้วยกันในวงของมัน ช้างก็เมา ลิงก็เมา มันเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการประสบการณ์ทางจิตใจบางอย่าง บางคนเสพติดคนรัก บางคนเสพติดเฟซบุค บางคนเสพติดกาแฟหรือน้ำอัดลม ศาสนาก็สอนให้เรามีความสุขทางจิตใจด้วยวิธีหนึ่ง แต่มันก็มีเรื่องทางวิทยาศาสตร์บอกเราอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเอาเรื่องศีลธรรมหรือศาสนา มาเถียงกับเรื่องวิทยาศาสตร์หรือเรื่องการแพทย์ แบบนี้เถียงกันไม่จบ เหมือนกับเราดื่มไวน์ได้ไหม เราก็ดื่มกัน แต่ถ้าเราดื่มจนเมามายหัวราน้ำไปทำงานไม่ได้ นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง หรือถ้าดื่มเมาแล้วไปขับรถเกิดอุบัติเหตุ นั่นก็คือเรื่องหนึ่งแล้ว คือมันมีกฎที่เหมาะสมของมันอยู่แล้ว ถ้ามองว่าเป็นสิ่งเลวร้ายแล้วห้ามดื่มไวน์ นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา

 

adB: คนไทยเรามีความรับผิดชอบกันพอหรือยัง

รัฐพล: คนส่วนหนึ่งก็บอกว่ากูเป็นคนที่มีความคิดแล้ว แล้วก็ไปตัดสินคนอื่นว่ามึงยังมีความคิดไม่พอ นึกออกใช่ไหม แบบนี้คำถามนี้เราเจอยบ่อยมาก อ๋อ คุณพร้อม แต่คนอื่นนอกจากคุณยังไม่พร้อม คือเราไปตัดสินคนอื่น เหมือนกับเรื่องอื่้นๆ ทุกเรื่องในสังคม อย่างเรื่องการเมมือง ประชาธิปไตยที่คนมีอำนาจบอกว่าคนไทยไม่พร้อม

 

adB: ตอนนี้เหมือนกับเรามีความเชื่อว่ามนุษย์เลวร้าย เราจึงออกกฎระเบียบอะไรมาจัดการมากขึ้นเรื่อยๆ

อรัญ: มนุษย์เราก็มีดีมีเลว แต่เราต่างมีธรรมชาติที่สำคัญประการหนึ่ง คือเรามีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าเราไม่สอนไม่บอกกัน แต่เราออกกฎระเบียบอะไรต่างๆ มาบังคับ ผู้คนก็ไม่ได้เรียนรู้เอง ไม่ได้คิดด้วยตัวเอง ยิ่งทำให้สังคมบิดเบี้ยวไป

รัฐพล: คนเราถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสภาพแวดล้อม

ช่อขวัญ: เราสอนลูกแบบ play-based learning ให้เขาได้เล่นเยอะๆ และเราสอนแบบโนสกรีนเลยล่ะ ไม่ให้เล่นเกม ไม่ให้เล่นโทรศัพท์ ถ้าอยากเล่นอะไร ก็ให้มานั่งตัดกระดาษพับกระดาษเล่น

 

adB: นั่นแปลว่าคุณไม่เชื่อในตัวลูก

ช่อขวัญ: ไม่ใช่ ไม่ใช่แบบนั้น คนเราจะมีช่วงวัยที่จะต้องได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอน จนเมื่อเขาโตมากพอเขาก็ตัดสินใจเลือกได้เอง ซึ่งไม่ใช่ว่าเราจะต้องคอยสั่งสอนเขาไปตลอดชีวิต เราทำงานด้านการศึกษา เรารู้ในเชิงทฤษฎีว่าเด็กเล็กๆ เขายังมีข้อจำกัดทางด้านความคิด ในโลกของเขายังเรียนรู้ไม่ได้ขนาดนั้นว่าสิ่งนี้คืออะไร ด้วยข้อจำกัดของภาษาและอะไรต่างๆ เด็กหกขวบเพิ่งจะรู้ทิศทางและสถานที่ที่เขาอยู่ ก่อนหน้านั้นเขาไม่รู้มุมมองและไม่เข้าใจเรื่องสีด้วยซ้ำ ในวัยเด็กเราจึงต้องเข้าไปสั่งสอนและเป็นความรับผิดชอบของเรา จนกระทั่งเขาโตพอทั้งทางจิตใจและร่างกาย เขาก็เลือกเองได้

 

 

adB: พวกคุณยึดถือเสรีภาพอย่างสูงแบบนี้ เวลาไปพบเจอคนทั่วไปในสังคมที่เป็นอนุรักษ์นิยม คุณมีปัญหาไหม

ชัยวัฒน์: มันไม่ใช่ในแบบนั้นนะ สิ่งที่น่าสังเกต จากการที่ผมทำงานราชการ คือถึงแม้จะเป็นองค์กรใหญ่ที่เป็นอนุรักษ์นิยม แต่เขามีคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน คือจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง หมายความว่าเราจะทำงานอะไร จะมีนโยบาย หรือมาตรการอะไรออกไป เราจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน และต้องให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเท่าๆ กัน ไม่ใช่ว่าคนนี้ไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องไปทำงานให้เขา แบบนี้ไม่ได้ ด้วยแนวคิดแบบนี้ผมเลยคิดว่า จะเป็นอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมอะไรก็ตาม ถ้าเราเห็นถึงส่วนรวม และเห็นถึงผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้น มันก็ไปร่วมกันได้หมด เหมือนกับเรามีกฎหมายหรือมีมาตรการอะไรที่ยังไม่ดี มันจะส่งผลเสียต่อคนบางกลุ่ม เสร็จแล้วเราคิดว่าไม่เป็นไร เราไม่กระทบ เราไม่เกี่ยว แบบนี้มันไม่ได้ เพราะในที่สุดแล้วปัญหาก็จะย้อนกลับมาหาเราอยู่ดีในวันใดวันหนึ่ง เพราะเราอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน สักวันถ้าสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ หรือปัญหายาเสพติดไม่ได้ถูกแก้ไขไปในทางที่ถูกต้อง กฎหมายยังไม่ได้รับการแก้ไข มีการบังคับใช้ไปแล้วมีคนเดือดร้อน สักวันเราก็อาจจะโดนคนเหล่านั้นมาทำร้าย หรือถ้าไม่ใช่เรา ก็เป็นลูกเรา เป็นคนอื่นที่เรารู้จักอยู่ดี

รัฐพล: บ้านเราชอบมองว่ากฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่เป็นสิ่งที่เราร่วมกันเขียนถึง และมันอาจจะล้าสมัยเมื่อเวลาผ่านไป มันเก่า มันหมดอายุ และมันตาย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยน ถ้ากฎหมายเรื่องกัญชามีมาตั้งแต่ 2480 กว่า แล้วไม่ได้ยังไม่เคยเปลี่ยนเลย ถึงแม้ว่าโลกข้างนอกเขาเปลี่ยนไปมากมายแล้วก็ตาม

ชัยวัฒน์: คือเราไม่ได้มาบอกว่าต้องเสรีนะ ต้องเหมือนเมืองนอกนะ เราแค่มาพูดถึงปัญหาว่าตอนนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุม และเมืองนอกเขาทำยังไงกัน ซึ่งในที่สุดก็นำมาปรับใช้กับบ้านเราอยู่ดี เราไม่ได้บอกว่าอนุรักษ์นิยมไม่ดี หรือของเก่าแก่ไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไป เราก็มาจับเข่าคุยกัน นักวิชาการมา แพทย์มา เกษตรกรมา วัยรุ่นมา คนแก่มา

 

adB: เหมือนการประชาพิจารณ์เพื่อออกกฎหมายอื่นๆ เลย

ช่อขวัญ: ถูกต้อง เพราะเราต้องการจะอยู่ร่วมกันไง เราก็มาช่วยกันออกกฎหมาย มันก็เหมือนกับการเจรจาร่วมกันในเรื่องอื่นๆ กติกาต่างๆ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฟังแล้วเหมือนคนละเรื่องเลยนะ แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันหมด อย่างเราทำงานด้านการศึกษา เราก็เข้าใจว่าโลกเรายุคนี้สิ่งสำคัญคือการแพร่กระจายของความรู้ โลกยุค 4.0 มันคือการกระจายความรู้ ความรู้ไม่ได้กระจุกอยู่แหล่งเดียว มันต้องกระจายออก ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ขจัดความไม่รู้ออกไป เพื่อที่ทุกคนจะได้คิดเอง ตัดสินใจเลือกเอง จะได้นำมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมกัน การยอมรับกันและกัน ไม่ใช่อยู่ภายใต้การบังคับหรือความเชื่อผิดๆ แต่ละปีที่เราจัดงานมา เราหวังแค่ว่าจะทำให้คนไทยหกสิบกว่าล้านคนสนใจ และเริ่มตั้งคำถามกับกัญชา ว่าเอ๊ะ ทำไมมันผิดกฎหมาย ทำไมมันเป็นสิ่งผิดบาป การเคลื่อนไหวของ Highland ในต่างประเทศก็เป็นแบบเดียวกัน ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในเมืองไทย ทั่้วโลกเขาเคลื่อนไหว ทั้งในประเทศที่ถูกกฎหมายแล้ว และยังผิดกฎหมายแบบบ้านเรา ก็แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กัน เขาจะให้อินฟอร์เมชั่นมากับเราเพื่อเผยแพร่

 

adB: พวกคุณจะต่อสู้ไปถึงจุดไหน พวกคุณยอมสูญเสียอะไรบ้าง

รัฐพล: ไม่มีจุดจบที่จะให้หยุดสู้หรอก เพราะมันจะมีประเด็นใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เราก็ต้องค่อยๆ สู้ไป เมื่อเทรนด์โลกมันไปถึงจุดที่ยอมรับกันหมดแล้ว เราอาจจะย้ายไปสู้กันเรื่องการเคลม ว่าพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมาจากบ้านเรานะ อุปกรณ์นี้บ้านเราเป็นคนคิดค้นนะ อะไรแบบนั้นไปเลย หรืออาจจะเหมือนคราฟต์เบียร์ คือในที่สุดก็จะถูกกฎหมาย แต่อาจจะให้เพียงแค่ไม่กี่ครอบครัวในประเทศนี้ทำได้ เราก็ต้องสู้ต่อไปว่าไม่ได้ มันต้องเสรีภาพมากยิ่งไปกว่านั้น จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่ได้ต่อสู้แค่เรื่องกัญชา แต่มันคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ ในประเทศนี้ด้วย

FYI

 

 

2018 Highland 4.20

เนื้อหาในงานถูกจัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ส่วนอดีต จัดนิทรรศการเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักถึงตลอดศตวรรษที่ผ่านมา กัญชาถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างการเป็นสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจ กับยาเสพติดให้โทษ เผยให้เห็นว่าความเชื่อของเราถูกกำหนดโดยการโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าสิ่งที่เป็นจริง

ส่วนปัจจุบัน เปิดเวทีทอล์คของ 3 สปีกเกอร์จากหลากหลายวงการ เพื่อแชร์ประสบการณ์ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคในต่างประเทศ รวมไปถึงชาวบ้านในชนบทที่ในปัจจุบัน ชีวิตประจำวันของเขาเกี่ยวข้องกับกัญชาในฐานะเส้นใยเครื่องนุ่งห่ม งานหัตถกรรมที่งดงามวิจิตรมากมาย

ส่วนอนาคต จัดวงเสวนาพูดคุยแบบเปิดอก บอกเล่าปัญหาของผู้เกี่ยวข้อง มีนักวิทยาศาสตร์ที่นำงานวิจัยใหม่ๆ และนวัตกรรมไอเดียการผลิตสินค้าแปลกๆ มานำเสนอ เผื่อว่าใครจะนำไปพัฒนาต่อเป็นธุรกิจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

พร้อมตลาดนัด Lifestyle Market สินค้าออแกนิค, งานศิลปะ, งานคราฟท์, แฟชั่น พร้อมทั้งอาหารเครื่องดื่ม ปิดท้ายยามค่ำคืนด้วยดนตรีชิลล์ๆ จาก West Of East, เย็นสุข, สมัยไหนนิยม, Gold Red, Miraculous

นับเป็นสนามเด็กเล่นสำหรับคนที่ต้องการเปิดโลกทัศน์ ตั้งคำถามกับคติความเชื่อเดิมๆ ในหัวของตัวเอง เพื่อแสวงหาเสรีภาพทางความคิด และการดำเนินชีวิต แน่นอนว่างานนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เสพกัญชา และไม่มีการขายกัญชา มีแต่ให้ความรู้เพื่อนำสังคมให้รู้จักตั้งคำถาม และหาคำตอบที่ดีที่สุดร่วมกัน

***สงวนสิทธิ์ผู้เข้างานต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี