Ask บรรยง พงษ์พานิช | ‘ประเทศไทย’ กับ ‘คอร์รัปชัน’ ในวันที่ประชาชนไว้วางใจใครไม่ได้อีกต่อไป

คุณคงสงสัยว่า ทำไมเมื่อมีประเด็นเรื่องคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสังคมไทย และสังคมต้องการองค์ความรู้ เรามักเป็นต้องได้ยินชื่อของ ‘คุณเตา’ – บรรยง พงษ์พานิช อยู่ในสื่อเสมอ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ เขากระโดดลงไปคลุกคลีและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาด้านการคอร์รัปชันจนสามารถวิเคราะห์ได้เป็นฉากๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เขียนในหนังสือที่โด่งดังมากที่สุดของเขาเล่มหนึ่งที่ชื่อ หางกระดิกหมา ซึ่งเขียนร่วมกับ ธนกร จ๋วงพานิช

คุณบรรยงเขียนไว้ในหนังสือ หางกระดิกหมา ตอนหนึ่งว่า ‘เรามักเข้าใจคอร์รัปชันกันในแง่ของศีลธรรม หรือความดี-ความชั่ว เป็นหลัก แต่ส่วนความเข้าใจในแง่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่นว่า คอร์รัปชันนั้นคืออะไร เกิดจากปัจจัยใด และจะแก้ไขกันอย่างไรในแบบที่ไม่ต้องอ้างอิงคุณธรรมนามธรรมทั้งหลายนั้น ดูเหมือนจะขาดอยู่ จนคนจำนวนไม่น้อยถือกันอยู่แค่ว่า คอร์รัปชันนั้นต้องแก้ด้วยการปลูกฝังให้คน เป็นคนดี มีจริยธรรม’

ช่วงนี้ข่าวสารบ้านเมืองของเรามีประเด็นเรื่องคอร์รัปชันเป็นที่ถกเถียงกันหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา เราจึงคิดถึงบทสนทนาครั้งก่อนกับคุณบรรยง ขึ้นมา และอยากจะแบ่งปันบทสนทนาระหว่างเรากับเขา ที่ดูเหมือนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ เรื่องของคอร์รัปชันก็ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดเวลา

คอร์รัปชัน

มันต้องเปลี่ยนจากการปลูกฝังไม่ให้โกง เป็นไม่ยอมให้ใครโกง

อยากถามว่า ในเมื่อเรามีองค์การต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว องค์การนี้ได้ทำงานหรือทำหน้าที่อะไรในขณะที่ประเทศมีข่าวคอร์รัปชันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

องค์การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นภาคเอกชน เป็นมูลนิธิที่ตั้งขึ้นมาโดยระบบอาสาสมัครของผู้ต้องการมีส่วนร่วม บ้างก็บริจาคทรัพย์ บ้างก็บริจาคความคิดหรือแรงงาน ก็ว่ากันไป เขาทำงาน 3 ด้าน คือ ปลูกฝัง ป้องกัน และปราบปราม ซึ่งเรื่องการปราบปรามเขาไม่ได้มีอำนาจ เขาก็ต้องคอยตั้งโครงการเฝ้าระวัง คอยร้องเรียนเรื่องต่างๆ ให้ผู้ที่มีหน้าที่ทำงาน เวลาร้องเรียนก็ร้องเรียนได้ 2 ฝั่ง คือ ผู้มีหน้าที่ และสังคม แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะองค์การนี้ไม่ได้มีหน้าที่ลุกขึ้นไปใช้อำนาจได้ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ของเขาตามสมควร

แต่คุณต้องเข้าใจว่าคอร์รัปชันมันกว้างมากเลยนะ ปีหนึ่งมีมูลค่าเป็นแสนล้านตามที่เขาว่ากัน องค์การนี้ก็มีกำลังของเขาเท่านี้แหละ เพราะฉะนั้น จึงต้องทำงานเพื่อปลุกให้สังคมทั้งสังคมมีระบบ และปลุกความตื่นตัว ซึ่งเขาก็ทำเยอะนะ จะว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็คงไม่ได้ แต่มันต้องเปลี่ยนจากการปลูกฝังไม่ให้โกง เป็นไม่ยอมให้ใครโกง ฟังดูต่างกันนิดเดียว แต่จริงๆ แล้วต่างกันเยอะ ถ้าคุณบอกว่าตัวคุณไม่โกง ก็ถือว่าดี แต่สังคมจะดีได้เพราะไม่ยอมให้ใครโกงต่างหาก

ในชีวิตจริง เราจะไม่ยอมให้ใครโกงได้อย่างไร

ก็ต้องเฝ้าสอดส่อง อย่าไปยกย่องคนที่โกง ซึ่งมันตอบยากนะ เวลาที่จะไปตราหน้าใครว่าคนไหนโกงไม่โกง คงทำไม่ได้ แต่เวลามองคอร์รัปชัน ทั้งตัวคอร์รัปชันเอง ทั้งวิธีการ มันมองได้หลายมุม เพราะฉะนั้น คุณต้องเข้าใจมันให้ดีก่อน เวลาแยกประเภทคอร์รัปชันก็มี 3 ประเภท

ประเภทแรก คือ เอกชนโกงเอกชน พนักงานโกงบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่โกงผู้ถือหุ้นเล็ก ซึ่งในภาคเอกชนมี state holder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ติดตามอยู่ คนโกงก็ไปขึ้นศาล ดำเนินคดีกันไป

ประเภทที่ 2 เป็นการโกงที่ผู้มีอำนาจรัฐไปโกงเอาทรัพยากรของรัฐมาเป็นของส่วนตัว เช่น ที่ดินสาธารณะ เบิกจ่ายของที่ไม่ได้จ่าย หรือโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม 4 พันกว่าล้าน โดยคนแค่ 20 คน ซึ่งคุณไม่ค่อยรู้สึก จำยังจำไม่ได้เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาพูดว่าทรัพย์สมบัติหายไป 4 พันล้าน มันเป็นของคน 65 ล้านคน หารเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 80 บาท เราเลยไม่รู้สึก ที่ยังเห็นกันอยู่ ก็เช่น โกงภาษี โกงโฉนด โกงเบิกงบ

ส่วนประเภทที่ 3 ซึ่งอันนี้เยอะ โกงประเภทนี้ก็คือการโกงที่มีคนจ่าย มีคนรับ ทีนี้ถามว่าถ้ามีคนมาจ่ายแล้วรัฐจะเสียหายอะไร เพราะรัฐไม่ได้จ่ายนี่หว่า แต่จริงๆ แล้วเสียหาย เพราะเป็นการจ่ายเพื่อให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1.) จ่ายเพื่อซื้อความสะดวก ยกตัวอย่างเช่น ปกติในการขออนุญาตก็จะมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้ไม่สะดวก ถ้าเคยไปขออนุญาตหรือไปใช้บริการภาครัฐแล้วต้องจ่ายใต้โต๊ะ ที่เรียกว่าน้ำมันหล่อลื่น อย่างศุลกากร ที่ดิน มันต้องจ่าย ถ้าไม่จ่ายก็ช้า หรือไม่เสร็จสักที ซึ่งเรื่องพวกนี้คือการซื้อความสะดวก เพราะรัฐไปออกกฎเกณฑ์ให้มันมากมายเต็มไปหมด ทำให้ไม่สะดวก ใครอยากได้ความสะดวกก็ต้องจ่าย ความเสียหายเรื่องนี้ก็คือต้นทุนของภาคเอกชน ต้นทุนของประชาชนในการดำเนินชีวิตที่สูงขึ้น เพราะต้องไปจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย

ความเสียหายอีกอย่างคือความล่าช้า ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหา เพราะกิจกรรมไม่เกิด กว่าจะได้ลงทุนอะไรบางอย่างก็ยากเย็น ซึ่งการมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ควรจะมี แต่มากน้อยขนาดไหน และอำนวยความสะดวกขนาดไหนคงต้องมาคิดกันใหม่ แต่เรื่องจำพวกนี้ต้องถือว่าเยอะมาก เพราะเกิดขึ้นกับทุกหน่วยงานที่ต้องให้การบริการภาครัฐ และควบคุมกฎระเบียบ

2.) จ่ายเพื่อซื้อหาความผิด คือผิดแล้วซื้อให้ไม่ผิดในทุกกระบวนการ หรือกรณีขออนุญาตก็มี สมมติอยากสร้างอะไรสักอย่างในแบบที่ผิด ก็จ่ายเงินเพื่อให้ไม่ผิด แต่ระยะหลังกลไกมันเลวเสียจนไม่ผิดก็ต้องจ่ายนะ (หัวเราะ) สมมติว่าคุณไม่ผิด แต่คุณโดนกล่าวหา ก็ต้องจ่ายอีก

3.) จ่ายซื้อหาการแข่งขัน ประเภทนี้มีเยอะที่สุด เป็นตัวที่เม็ดเงินเยอะ และทำความเสียหายให้กับระบบเยอะ แต่คนไม่ค่อยรู้สึก คือปกติระบบเศรษฐกิจจะดีได้ ต้องมาจากการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การซื้อการแข่งขันก็คือการทำให้ตัวเองไม่ต้องแข่ง พอไม่ต้องแข่งกำไรก็เพิ่มขึ้นมหาศาล อย่างเช่น การล็อกสเปก ได้สัมปทานพิเศษ ได้ใบอนุญาตพิเศษ ตัวเองทำได้คนอื่นทำไม่ได้ ตัวนี้เป็นคอร์รัปชันที่เยอะที่สุด ทำให้เกิดความเสียหายมาก และเป็นวงเงินที่เยอะ

ทั้งสามอย่างนี้ ถ้าดูเผินๆ อาจจะเหมือนไม่มีใครเสียหายเลย แต่จริงๆ แล้วเสียหายไง เพราะทรัพยากรถูกใช้แบบผิดๆ ทั้งหมด พอไม่มีการแข่งขันเขาจะทำอะไรก็ได้ งบประมาณก็เลยถูกใช้อย่างเกินเลย ซึ่งงบประมาณก็เงินพวกเราประชาชนทั้งนั้น ซึ่งที่ประชาชนตื่นตัวน้อยในอดีตก็เป็นเพราะเขามีลูกเล่นมากมาย ลักษณะการคอร์รัปชันที่ดี ในแง่ของผู้โกงนะ ไม่ได้ดีกับประเทศหรอก แต่ในแง่ของผู้โกง ผู้โกงที่เก่งจะใช้แท็กติกอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือ ได้กระจุก-เสียกระจาย คือตัวเองได้ แต่ความเสียหายต้องกระจายให้กว้างที่สุด แล้วประชาชนจะไม่รู้สึก

อีกอย่างคือต้องรู้จักแจกกระจุก คือแจกพวกเดียวกัน แจกพวกที่ทำให้ตัวเองได้อำนาจมา ซื้อเสียงก็เป็นการแจกกระจุก ถามว่าเงินซื้อเสียงเอามาจากไหนล่ะ ลำพังเงินเดือนนักการเมืองเอาไปซื้อเสียงไม่ได้หรอก กินยังไม่พอเลย ใส่ซองกฐินก็หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องโกงมาเพื่อเอาไปซื้อเสียง การซื้อเสียงก็เป็นการแจกกระจุก

คอร์รัปชัน

ทีนี้ก็จะมีนักวิชาการที่เขียนหรือสื่อสารอีกทางหนึ่งว่าคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมที่ต่างตอบแทนให้กับประชาชน เป็นวัฒนธรรมของชาวบ้านที่แข็งแรงจนไม่สามารถไปทำลายมันได้ จริงๆ แล้วคุณคิดอย่างไร

เขาพูดถูก มันสอดคล้องกับที่ผมเล่าทั้งหมด มันเป็นวัฒนธรรมต่างตอบแทน แต่เราต้องทำลายมัน จะตอบแทนก็ต้องตอบแทนให้หมดสิ เล่นยักไว้ตั้งเยอะ แต่เราต้องลดปริมาณการคอร์รัปชันให้ได้ด้วย เวลาคนพูดว่าที่ไหนก็ยังมีการโกง ก็คงจริงของเขาแหละนะ คือทั้งโลก ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดในโลกเรื่องการลดคอร์รัปชันก็คือเดนมาร์ก ได้ 92 คะแนน ทำไมถึงไม่ได้ 100 คะแนนล่ะ เพราะยังมีโกงบ้าง ก็จริง แต่เป็นเพราะเขารักษาให้โกงแค่ 8% เหรอ เปล่าหรอก เป็นเพราะเขาไม่ยอมให้โกงเลยต่างหาก

ผมจะเบื่อคนที่บอกว่าต้องยอมรับความจริง ยังไงก็มีการโกง เพียงแต่เมืองไทยมันโกงจนเกินสมควร ผมก็ถามกลับว่าแล้วไอ้คำว่าสมควรมันอยู่ตรงไหนล่ะ ดุลยภาพของการคอร์รัปชันจะสร้างกันยังไง เพราะประเทศที่เขามีการคอร์รัปชันน้อยเขาไม่ยอม เขาต้องการทำให้มันเป็นศูนย์ แต่ข้อเท็จจริงคือมันยังไม่เป็นศูนย์

ไม่ใช่มาบอกว่าต้องเข้าใจ ขอโทษนะนักวิชาการที่คุณพูดถึง ผมไม่เห็นด้วยหรอก ผมรู้ว่าคอร์รัปชันมันมีหน้าที่ของมัน แต่หน้าที่ของเราคือต้องพยายามทำให้มันไปสู่จำนวนศูนย์ แล้วมันจะไม่ศูนย์หรอก แต่ถ้าเราบอกว่ายอมรับมันซะเถอะ แบบนั้นมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ คือเวลาเขาบอกว่าให้ยอมรับ ผมไม่เห็นด้วย

มีผู้ใหญ่หลายคนก็พูดในมุมนั้น แต่มันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ ยอมรับกันได้เหรอ ถ้ายอมรับมันก็จะตีวงกว้างไปเรื่อยๆ จะบอกว่าให้มีอย่างสมควรมันเป็นไปไม่ได้ เพราะตราบใดที่คุณยอมให้มีมันจะเกินสมควรเสมอ อย่างความเหลื่อมล้ำในสังคมก็มาจากคอร์รัปชัน ศักยภาพการแข่งขันของประเทศที่ทำให้เราเตี้ย เวลาเราเตี้ยคุณอย่าลืมว่าคนโกงยิ่งได้ดีใหญ่เลย เพราะคนโกงไม่เคยสนหรอกว่าภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวหรือไม่ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเขาเท่าไหร่เลย ภาวะเศรษฐกิจยิ่งแย่ รัฐยิ่งใช้งบประมาณเยอะ ก็ยิ่งมีช่องทางให้โกงเยอะ

คุณคิดว่า ตอนนี้ประเทศเรามีความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างชาติมากน้อยอย่างไร

ผมว่าผมเห็นการเคลื่อนไหวนะ ตอนนี้เรามีโครงการ pilot project ที่เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยมุ่งสร้างความโปร่งใสด้วยการวางระบบให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสู่สาธารณชนในทุกๆ ระยะสำคัญของการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการมองคอร์รัปชันด้วยมิติสมัยใหม่ ซึ่งมันประกอบไปด้วย 4 คำ คือ

หนึ่ง โปร่งใส หรือ transparency คำนี้แปลง่ายมาก มันหมายถึงการนำทุกอย่างที่อยู่ในที่มืดมาอยู่ในที่แจ้ง เปิดเผยให้สังคมรู้ อย่างโครงการอุทยานฯ ที่เคยมีปัญหา ก็ต้องเปิดเผยออกมาให้หมดว่ามีเงินเข้ามาเท่าไหร่ ใช้เงินทำอะไรไปบ้าง ไม่ใช่บอกให้เชื่ออย่างเดียว อ้าว ก็คนเขาไม่เชื่อ (เสียงสูง) ในที่สุดก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเปิดเผย เพราะสังคมไม่รับอะไรแบบนี้อีกแล้ว

มาถึงคำที่สอง ความเชี่ยวชาญ หรือ expertise โปร่งใสอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้วย ยกตัวอย่าง ต่อให้เขาเปิดเผยรายละเอียดตัวเลขออกมา คุณก็ดูไม่รู้เรื่องหรอก มันต้องมีผู้เชี่ยวชาญไปทำหน้าที่ติดตามด้วย จะบอกให้สื่อมวลชนไปดู โธ่ สื่อก็ไม่รู้เรื่องหรอก ใครจะไปรู้หมดทุกเรื่อง มันก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในแขนงนั้นมาตรวจสอบด้วย

มาถึงเรื่องที่สามคือ การมีส่วนร่วม หรือ participation ความหมายคือต้องมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมในการตรวจสอบ รวมทั้งภาคประชาสังคมด้วย คือการมี civil society เข้าไปร่วมติดตามตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้วย จะไปหวังผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเดี๋ยวก็มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญจอมปลอมได้เหมือนกัน

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ สังคม หีือ public ซึ่งสื่อจะมีบทบาทสำคัญในการสื่อเรื่องราวต่างๆ ไปให้สังคมรู้ ผมมองว่า นอกจากสื่อจะให้ข้อมูลข่าวสารแล้ว สื่อยังต้องให้การศึกษากับสังคมด้วย เพราะประชาชนเรียนหนังสือเต็มที่ก็แค่ 20 กว่าปี แต่สื่อจะสอนคุณได้ตลอดชีวิต เพราะเวลาเรามีปัญหาเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากล เราก็ให้อำนาจและทรัพยากรกับหน่วยงานของรัฐในการติดตามควบคุม แต่ปรากฏว่าอำนาจและทรัพยากรที่เราให้ไป เขากลับเอาไปหากินกันโดยส่วนใหญ่ ดังนั้น สื่อจึงเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน

คอร์รัปชัน

สังคมเรามันเป็นสังคมที่ระแวงกัน คนมันสามารถด่ากันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีมูลอะไรด้วย

เมื่อมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น แปลว่าสังคมเราไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างที่เราเคยบอกไว้หรือเปล่า?

เรื่องแบบนี้มันก็จะพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลทหารนะ ผมพูดได้แค่นี้ แต่ทางที่ถูก ผมว่ามันต้องมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงออกมาให้หมด ในเมื่อคุณยืนยันได้ว่าไม่มีอะไรผิดปกติ ก็เปิดออกมา ทำไมไม่เปิด วิธีก็คือบอกมาว่าเงินที่ได้มาจากทางไหนบ้าง รวมเบ็ดเสร็จแล้วใช้อะไรไปบ้าง แล้วเหลือเท่าไหร่ เท่านี้แหละที่ต้องทำ simple like that

พอมันมีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสมากๆ เข้า มันจะทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่มากระแวง แล้วคุณไม่สังเกตเหรอว่าสังคมที่มากระแวงเนี่ย ต้นทุนมันสูงมาก เพราะมันทำให้เราทำอะไรก็ไม่ได้ ถามว่าคนไทยก็ขี้ระแวง สื่อก็ขี้ระแวง มีอะไรก็สงสัยไว้ก่อนหรือโจมตีไว้ก่อนจริงไหม? คุณมานั่งคุยกับผม คุณก็อาจจะระแวงผมก็ได้ว่าตกลงผมเป็นคนเลวหรือคนดีวะ เพราะสังคมเรามันเป็นสังคมที่ระแวงกัน คนมันสามารถด่ากันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีมูลอะไรด้วย ถามว่าสังคมมากระแวงแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะมันก็มีเรื่องควรระแวงจริงๆ นั่นแหละ มันปฏิเสธไม่ได้ ก็ชีวิตคนเรามันอยู่แต่ท่ามกลางเรื่องเลวร้ายจะๆ เต็มไปหมด แต่เมื่อสังคมมากระแวงปุ๊บ กลไกทุกอย่างหยุดหมด

ผมจะบอกให้ว่า สังคมที่เขาพัฒนาแล้วต้องมี level of  trust หรือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในระดับสูงมาก เชื่อใจคนที่รับผิดชอบ เชื่อใจคนที่มีหน้าที่นั้นว่าเขามีความสามารถ เชื่อว่าเขาทุ่มเท เชื่อว่าเขาไม่โกง แต่ของเรามันกลายเป็นว่า พอเราไม่เชื่อใจในอะไรสักข้อหนึ่งปั๊บ เราก็เลยไม่เชื่อใจอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าที่เราไม่เชื่อใจกัน เพราะมันก็ไม่ควรเชื่อใจจริงๆ นั่นแหละ (หัวเราะ) มันก็เลยวนกันอยู่แบบนี้

ผมบอกได้เลยว่า without trust we cannot develop ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น หลายคนน่าจะเคยไป คุณเคยสงสัยไหมว่าประเทศเขามีประสิทธิภาพตรงไหน ดูเผินๆ ก็มีอะไรพอๆ กับเรา แต่ทำไมเขาเติบโตมากกว่าเราตั้ง 8 เท่าล่ะ เพราะระดับความไว้วางใจกันของเขามันสูงมาก คนญี่ปุ่นเขาจะเชื่อใจคนที่รับผิดชอบในหน้าที่นั้นๆ คุณขึ้นแท็กซี่ คุณสามารถเชื่อใจคนขับแท็กซี่ได้ คุณเข้าร้านอาหาร คุณเชื่อใจพนักงานทุกคนได้ ทุกคนเชื่อใจกันในการทำหน้าที่ของเขาว่าเขาจะรับผิดชอบได้ดี

แต่เมืองไทยนี่ไม่มีใครเชื่อใจอะไรใครเลย มันมีแต่กลไกคอยตรวจสอบ คอยระแวงกัน มันก็เลยเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ถ้าจะระแวงก็ต้องระแวงแบบให้มันมีกลไกตรวจสอบด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าระแวง หรือระแวงแล้วด่าๆ กัน มันต้องมีระบบอย่างที่ผมบอกคือ ความโปร่งใส เชี่ยวชาญ มีส่วนร่วมต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่ด่าแบบมโนขึ้นเอง อย่างผมนี่ไม่จำเป็นต้องออกมาทำงานตรวจสอบอะไรก็ได้ อยู่เฉยๆ ดีกว่า แต่พอคนเห็นผมทำงานหนัก ก็ต้องคิดแล้วว่า ไอ้นี่แม่งต้องมีอะไรแอบแฝงแน่ๆ เลยว่ะ ซึ่งผมก็ไม่โทษใครนะที่เขาต้องมาระแวง เพราะสังคมมันน่าระแวงไปซะหมด

ผมถามคุณเลย คุณ trust ใครบ้างในประเทศนี้ บางคนบอกให้เลือกคนดีมาทำงาน ต่อให้ไปเชิญคนที่เราว่าดีและมีประวัติสะอาดที่สุด ผมว่าก็ยังโดนนินทา เพราะอะไร เพราะเมืองไทยแม่งด่าคนแล้วสนุกไง ผมไม่เคยเรียกร้องให้ใครมา trust ผมนะ เพราะผมเปิดเผยได้ทุกอย่างในสิ่งที่ทำ แต่ผมอยากให้มีการสร้างระบบการตรวจสอบที่มีมาตรฐานสำหรับทุกคนด้วย

 


เรื่อง : วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, เอกพล บันลือ