คุยกับ BIG Trees ในวันที่เรายังเหลือ ‘ต้นไม้ใหญ่ในเมือง’ ให้ดูแล

คุยกับ อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่มบิ๊กทรี (BIG Trees) องค์กรอาสาสมัครที่มีจุดประสงค์ในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ใหญ่ในเมือง ที่เริ่มจากการรวมตัวกันของคนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ นำไปสู่การหาทางรักษาต้นไม้ใหญ่ให้อยู่กับเมืองได้ และขยับไปสู่การทำงานอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการดูแล 60 สวนสาธารณะในเมืองไทย โรงเรียนต้นไม้เพื่อสร้างนักดูแลต้นไม้ใหญ่ โครงการรักบางกะเจ้าเพื่อปกป้องปอดของกรุงเทพฯ

ถ้ามีคนถามว่า ‘บิ๊กทรี’ คืออะไร คุณจะอธิบายว่าอย่างไร

เราเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มารวมตัวกันโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ว่าเราพยายามทำสิ่งที่เราทำได้ด้วยตัวเราเอง เพื่อทำให้เมือง โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม มันดีขึ้น อยู่ได้มากขึ้นสำหรับคนทั่วไป

ที่บอกว่าไม่รู้จักกันมาก่อน แล้วมารวมตัวกันได้อย่างไร

ก็รู้จักกันผ่านเฟซบุ๊กนี่แหละค่ะ เพราะตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน เราได้พยายามรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ซ.สุขุมวิท 35 มีแค่ไม่กี่คนที่รู้จักกันมาก่อน ก็มาเจอกันคุยกัน แล้วก็มีเหตุการณ์เรื่องต้นไม้ที่เป็นจุดเริ่มให้ทำกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เราก็เลยคิดกันว่าถ้าอย่างนั้นเราเอาเรื่องต้นไม้ใหญ่มาเป็นโพสิชันนิงของกลุ่มดีกว่า เพราะว่าต้นไม้ก็เป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องสิ่งแวดล้อม แทนภาพของเมืองที่ดี

ตอนแรกเริ่มที่ทางกลุ่มรวมตัวกันคัดค้านการตัดต้นไม้ ตอนนั้นตั้งเป้าหมายว่าอย่างไร และได้ผลตอบรับอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นที่เรารู้ว่าจะมีการตัดต้นไม้ใหญ่ ก็พยายามคิดกันว่าเรามีคอนเน็กชันที่จะไปถึงเจ้าของที่ดินนี้ไหมเพื่อที่จะเจรจากับเขา เพราะในกลุ่มเราตอนนั้นก็มีสถาปนิกหลายคน แล้วถ้าเราหาตัวเจ้าของที่ดินได้ เราก็จะหาสถาปนิกเก่งๆ มาช่วยเพื่อปรับแบบ จากตรงนั้นเราก็เลยได้จุดยืนของกลุ่มว่า เราไม่ได้ทำงานแบบ NGO ที่ไปประท้วง หรือไปขัดขวางความเจริญ แต่เราพยายามที่จะเป็นกลุ่มคนที่ช่วยหาทางออกให้กับปัญหาเพื่อให้ทุกคนได้สิ่งที่ต้องการ โดยที่ต่างคนก็ต่างถอยคนละนิด

อยากให้ลองยกตัวอย่างการทำงานที่ประสบผลสำเร็จในการรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองเอาไว้

ก็จะมีกรณีตัวอย่างเรื่องต้นไม้กับอาคารที่เห็นชัด ที่แรกคือตึกเมอคิวรี เรารู้ว่าจะมีการตัดต้นประดู่ตรงหน้าตึกกว่า 20 ต้น เพราะหมอดูฮวงจุ้ยบอกว่าต้นไม้จะบังเงิน เราก็เลยพยายามเข้าไปเจรจากับเจ้าของตึก อีกตึกก็คือโซน Groove ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ที่ทำทางเชื่อมสกายวอล์ก มีแฟนเพจมาแจ้งว่าไปช่วยที่นี่ด้วย น่าจะโดนตัดแน่ สุดท้ายก็สำเร็จ ก็มีการทำทางเบี่ยงต้นไม้

จากจุดเริ่มต้น ตอนนี้บิ๊กทรีขยายการทำงานไปอย่างไร

ตอนนี้เราก็ทำงานเพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไปที่อยากจะเข้าใจการดูแลต้นไม้ใหญ่ รวมถึงคนที่อยากจะมีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลต้นไม้ใหญ่จริงๆ สามารถตัดแต่ง ดูต้นไม้แล้วรู้ว่าจะดูแลยังไง ปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ยังไง ซึ่งทิศทางการทำงานนี้มันก็มาจากวัตถุประสงค์ในการทำงานของเราตั้งแต่แรกว่าเราอยากจะเป็นคนที่ช่วยหาทางออกให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คนที่ผ่านการอบรมกับเราก็จะทำงานทั้งในรูปแบบจิตอาสาและแบบที่หารายได้ได้ด้วย

สำหรับเรื่องต้นไม้ในเมือง จริงๆ แล้วบ้านเรามีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะไหม

ถ้าเป็นแต่ละเมืองก็จะมีหน่วยงานที่ดูแล อย่าง กทม. อบต. อบจ. เทศบาล ซึ่งเขามีหน้าที่ แต่อาจจะไม่มีความรู้พอที่จะดูแลต้นไม้เพื่อให้อยู่ได้ในระยะยาว แล้วก็มีองค์กรประเภทการไฟฟ้าฯ หรือการประปาฯ ที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ แล้วเขาก็คิดว่าอะไรที่อยู่ใกล้สายไฟหรือท่อน้ำจะต้องโดนกำจัด ทั้งที่จริงๆ แล้วทั้งสาธารณูปโภค เมือง ต้นไม้ สามารถอยู่ด้วยกันได้ ด้วยความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ เราจึงอยากมีบทบาทในการไปสื่อสารและร่วมทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้

ผลตอบรับที่ได้จากการไปทำงานกับหน่วยงานราชการเป็นอย่างไรบ้าง

คือเราก็มีโครงการเฉพาะเลย ชื่อว่า ‘60 สวน 60 พรรษาถวายสมเด็จพระเทพฯ’ ก็เลยทำให้เรารู้จักกับคนที่ทำงานราชการมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็อยากทำในสิ่งดีๆ แต่เขาไม่รู้ว่าจะหาความรู้ยังไง เราก็ทำหน้าที่พาผู้เชี่ยวชาญมาสอนเขาที่ไม่ใช่แค่การตัดแต่งต้นไม้ แต่มีทั้งการปรุงดิน จัดสวนให้สวยงาม โดยเครือข่ายอาสาสมัครเราจะมีอยู่เยอะมาก เพราะด้วยความที่เราสื่อสารในประเด็นต้นไม้ใหญ่ ทำให้คนเข้าใจง่ายและอยากมาช่วยเรา จากที่เราทำงานมา 6 ปี ก็เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดแล้วว่าเราไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ

บิ๊กทรีตั้งเป้าการทำงานในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง

ตอนนี้เราก็พยายามทำงานกับ กทม. และการไฟฟ้าฯ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ในกรุงเทพฯ มากที่สุด ความคืบหน้าก็คือตอนนี้หน่วยงานเหล่านี้จะไม่ค่อยกล้าตัดต้นไม้แบบเหี้ยนๆ เหมือนเมื่อก่อน เพราะมีคนคอยจับตาดู อย่างในแฟนเพจเราก็จะมีคนคอยส่งข่าวมาบอกเรื่อยๆ

มีเรื่องอะไรบ้างที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในเมือง

ก็มีเรื่องต้นไม้ล้ม ที่คนเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่จริงๆ แล้วเราป้องกันได้ ถ้าเรามีการวางแผนการปลูกที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ทั้งเรื่องชนิดของต้นไม้ ตำแหน่งที่ปลูก การเตรียมหลุมปลูก แล้วก็การดูแลที่ต่อเนื่อง แต่ว่าคนของ กทม. จะมองว่าต้นไม้เป็นอันตราย ทั้งรากที่ชอนไชท่อ กิ่งแห้งที่ตกลงพื้น พวกนี้แก้ปัญหาได้ด้วยการดูแลตัดแต่งอย่างถูกต้อง หรือที่เราเคยเห็นว่ารากต้นไม้มันโผล่มาจากดิน ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีดินข้างล่าง แต่เพราะกรุงเทพฯ มีน้ำใต้ดินเยอะ ต้นไม้ที่ไม่ชอบก็จะยกรากหนี พอคนไปตัดไปเทปูนทับต้นไม้ก็ยิ่งอ่อนแอลง

ทำความเข้าใจเรื่องต้นไม้ใหญ่อย่างเข้าใจมากขึ้นที่ https://www.facebook.com/BIGTreesProject