เราเรียนรู้อะไรจากเหตุวินาศกรรมในงาน ‘Boston Marathon’ เมื่อ 4 ปีก่อน

          “เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหมือนฝันร้ายที่จะตามหลอกหลอนคุณไปตลอดชีวิต คุณจะหวาดกลัวการไปสนามบิน หวาดระแวงว่าจะมีระเบิดซ่อนอยู่ไหมทุกครั้งที่มองเห็นกระเป๋า หวาดผวากับแทบทุกสิ่งรอบตัว แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันก็ตาม ฉันยังจำทุกสิ่งได้ดี เสียงผู้คนกรีดร้องด้วยความตื่นตระหนก กลิ่นคาวเลือดคละคลุ้งและควันระเบิดที่พวยพุ่งไปทั่วบริเวณ”

ถ้อยคำแฝงความเจ็บปวดของ รีเบกกา เกรเกอรี หนึ่งในนักวิ่งผู้รอดชีวิตแต่ต้องสูญเสียขาไปหนึ่งข้างจากเหตุวินาศกรรม ณ การแข่งขันวิ่งมาราธอนที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลก ‘Boston Marathon’ ไม่ใช่แค่เธอเท่านั้น

ฉันอยู่ที่นั่น… และจดจำทุกสิ่งได้ดีเช่นกัน แม้เวลาจะผ่านมากว่า 4 ปีแล้วก็ตาม

มันเป็นวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิที่สว่างไสว นับเป็น Patriots Day หรือวันรำลึกถึงสมรภูมิของเล็กซิงตันและคอนคอร์ด ซึ่งถือเป็นสมรภูมิแรกของสงครามปฏิวัติอเมริกา ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนเมษายนของทุกปี และในวันนี้จะมีการจัดงาน ‘Boston Marathon’ ที่เหล่านักวิ่งจากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมเส้นทางวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ผ่านเมืองบอสตันรอบนอก เพื่อเข้าเส้นชัยบริเวณจัตุรัสโคพลีย์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองตลอด 117 ปีที่ผ่านมา

เส้นทางวิ่งอันยาวไกลที่พวกเขาต้องพิชิต
เพื่อเข้าสู่เส้นชัยที่แลกมาด้วยพละกำลังจากการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง
และความแข็งแกร่งของจิตใจ ที่ได้มาพร้อมหยาดน้ำตา

ฉันอยู่ที่นั่น… ส่งเสียงเชียร์และให้กำลังใจเหล่านักวิ่ง ณ จุดหนึ่งบนเส้นทางวิ่งอันยาวไกลที่พวกเขาต้องพิชิต เพื่อเข้าสู่เส้นชัยที่แลกมาด้วยพละกำลังจากการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง และความแข็งแกร่งของจิตใจที่ได้มาพร้อมหยาดน้ำตา แต่ทว่าในครั้งนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อเส้นชัยถูกทำลายด้วยอนุภาพของระเบิดที่ถูกจุดชนวนขึ้นถึง 2 ครั้ง

แรกเริ่มฝูงชนและนักวิ่งที่อยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุยังคงไม่รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ต่างโห่ร้องส่งเสียงเชียร์กันอย่างสนุกสนานตามปกติ ทันใดนั้นแว่วเสียงไซเรนรถตำรวจหวีดร้องขึ้นอย่างแผ่วเบา และค่อยๆ ดังขึ้นๆ พร้อมกับข่าวลือที่แพร่สะพัดอย่างรวดเร็วราวกับไฟลามทุ่ง ม่านหมอกแห่งความหวาดกลัวแผ่เข้าปกคลุมบอสตันทันที ทำให้บรรยากาศคึกคัก รอยยิ้มของผู้คน และความอบอุ่นที่กำลังฟุ้งกระจาย จางหายไปภายในเวลาไม่กี่อึดใจ

ฉันอยู่ที่นั่น… พร้อมกับผู้คนอีกนับล้านที่กำลังตื่นตระหนก และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันได้สัมผัสกับความทรงพลังในการสืบสวนสอบสวนของ FBI เมื่อภาพและคลิปวิดีโอบริเวณจุดเกิดเหตุ จากผู้อยู่ในเหตุการณ์หลากหลายมุมมอง ข้อมูลและคำให้การมากมายจากพยานบุคคล ถูกปะติดปะต่อเข้าหากัน ออกมาเป็นสมมติฐานเพื่อชี้ตัวสองมือวางระเบิด

การปะทะกันครั้งแรกของเจ้าหน้าที่และคนร้าย ทำให้ตำรวจหนึ่งนายต้องปฏิบัติหน้าที่จนถึงวาระสุดท้าย เขาเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุบริเวณสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเกิดการปะทะกันอีกครั้งจนหนึ่งในคนร้ายเสียชีวิต ส่วนอีกคนหลบหนีไปได้

ฉันอยู่ที่นั่น… นาทีที่ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ออกคำสั่งขอร้องให้ชาวเมืองเฝ้ารอเหตุการณ์สงบอยู่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย ถ้าจะกล่าวให้สมความยิ่งใหญ่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น คงต้องใช้คำว่าสั่ง ‘ปิดเมือง’ เพื่อตามจับคนร้ายอีกหนึ่งคนที่ยังหลบหนีอยู่ อาจจะฟังดูสมน้ำสมเนื้อกว่า

ทันทีที่คนร้ายถูกจับตัวได้ ผู้คนเดินออกมาทักทายกันบนถนน
ความอบอุ่นและสว่างไสวของฤดูใบไม้ผลิกลับมาอีกครั้ง

ถนนทุกสายในเมืองเงียบสงัด ลมหนาวระลอกสุดท้ายของปีพัดแผ่วเบา นานๆ ทีจึงจะมีรถตำรวจขับผ่านมาทำลายความเงียบงันชวนอึดอัดใจ ใบหน้าของผู้คนชะโงกผ่านบานกระจก ออกมาสังเกตความเคลื่อนไหวบนถนนเป็นระยะ เป็นบรรยากาศหดหู่ที่ดูราวกับไม่มีวันสิ้นสุดลง ทันทีที่คนร้ายถูกจับตัวได้ ผู้คนเดินออกมาทักทายกันบนถนน ความอบอุ่นและสว่างไสวของฤดูใบไม้ผลิกลับมาอีกครั้ง

คนร้ายถูกจับภายในเวลา 105 ชั่วโมงเท่านั้น นับจากวินาทีที่ชนวนระเบิดถูกจุดขึ้น เพราะความร่วมมือร่วมใจของชาวเมืองบอสตัน ไม่มีใครนิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จิ๊กซอว์เบาะแสนับร้อยนับพันถูกส่งมาร้อยเรียงเข้าหากัน เพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางเดียว นั่นคือความสงบสุขและรอยยิ้มของผู้คนที่จะกลับคืนมา

‘Boston Strong’ วลีสั้นๆ เปี่ยมไปด้วยความหมาย ปรากฏขึ้นทุกหนทุกแห่งนับจากนั้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อปลุกปลอบและมอบกำลังใจให้แก่กัน เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้เรามีความหวังบนความเข้มแข็งอยู่เสมอ แม้จะต้องพบเจอกับเรื่องราวใดๆ ก็ตาม เราจะก้าวผ่านมันไปได้ด้วยกัน

“ฉันรอดชีวิตมาได้ แต่คนที่ยืนข้างๆ กันในวันนั้นกลับไม่ ซึ่งมันส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของฉันมากกว่าการที่ฉันต้องเสียขาไปเสียอีก” รีเบกกา เกรเกอรี บอกเล่าความรู้สึกผิดบาปที่ตนเองกลายเป็นผู้รอดชีวิตผ่านหนังสือชีวประวัติของเธอเองที่ชื่อ ‘Taking My Life Back’ จิตแพทย์พบว่า เธอมีอาการ PTSD  (Post-Traumatic Stress Disorder หรือความผิดปกติฝังใจหลังพบความเศร้าสะเทือนใจ) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เธอค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพจิตใจและพลิกฟื้นร่างกายที่บอบช้ำจากแรงระเบิด เพื่อที่จะกลับมาวิ่งให้ได้อีกครั้งด้วยขาข้างขวาและขาเทียมข้างซ้ายของเธอ

ฉันอยู่ที่นั่น… ในเมืองที่สอนให้รู้ว่าเราไม่จำเป็นใช้โทสะและความเกลียดชังต่อกรกับผู้ไม่หวังดีเสมอไป คนที่มีความแข็งแกร่งของจิตใจต่างหากคือผู้ชนะที่แท้จริง