สายตาจับจ้องไปยังกลุ่มคนตรงหน้า แทบไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มสาวชาวปาริเซียงเนี้ยบกริบตั้งแต่ผมทรงอันเดอร์คัตเรียบแปล้ ไปจนถึงรองเท้า Dr.Martens เงาวับ ที่เรากำลังแฮงเอาต์ด้วยในบาร์เบียร์ใจกลางกรุงปารีสท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ จะเป็นคนกลุ่มเดียวกับฝรั่งปอนๆ สวมเสื้อกล้ามเบียร์สิงห์ คีบรองเท้าแตะช้างดาว แบกเป้ตะลอนๆ เดินทอดน่อง สั่งผัดไทยไม่ใส่พริกสำเนียงแปร่งที่เราพบเมื่อเดือนก่อน ณ ดินแดนอีกซีกโลกหนึ่งซึ่งไอร้อนระอุแผดเผาตลอดทั้งปี
มหานครปารีสเองก็มีเรื่องราวให้เราแปลกใจได้เสมอ ไม่น้อยหน้าเพื่อนชาวปาริเซียงกลุ่มนี้เลย เพราะนอกจากจะเป็นเมืองที่มีการอนุรักษ์สักขีพยานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมร่วมสมัยแล้ว ฝรั่งเศสยังเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
“
เกิดขบถขึ้นหรือ
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีพระราชดำรัสถาม
”
“หามิได้พระเจ้าค่ะ มันคือการปฏิวัติ” มหาดเล็กตอบ
ถ้อยความจากบันทึกประจำวันของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 จุดเริ่มต้นแรกๆ ของเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เมื่อกาลเวลาผันผ่าน คำขวัญปลุกปลอบใจค่อยๆ ซึมลึกและหล่อหลอมชาวฝรั่งเศสให้เป็นชาวฝรั่งเศสเฉกเช่นทุกวันนี้ เป็นอย่างไรน่ะหรือ ก็ช่างวิพากษ์วิจารณ์น่ะสิ!
“มันเป็นความอัปยศของปารีส มันข่มปารีสประหนึ่งปล่องโรงงานสีดำขนาดยักษ์ ซึ่งบดเบียดวิหารน็อทร์ดาม ลูฟวร์ และประตูชัย ด้วยความเทอะทะน่าเกลียดของมัน” ข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของปัญญาชนชั้นนำชาวฝรั่งเศส 50 คน เมื่อปี ค.ศ. 1887 กล่าวถึงหอไอเฟล ซึ่งพระไพศาล วิสาโล เจ้าของนามปากกา ภาวัน บอกเล่าผ่านบทความ ‘มาก่อนกาล’ ในนิตยสาร Image ฉบับเดือนสิงหาคม 2557 ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งซึ่งได้รับการยกย่องและชื่นชมนั้นใช่ว่ามหาชนจะให้การต้อนรับแต่เริ่มแรกก็หาไม่ อาจได้รับผลตรงกันข้าม ทั้งนี้ก็เพราะมันมาก่อนกาลเวลานั่นเอง”
หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ โดยเฉพาะโครงการปลูกปั้นสิ่งก่อสร้างหน้าตาประหลาดที่ทยอยออกมาเผยโฉมให้ประชาชนได้รับทราบอย่างไร้ที่มาที่ไปนั้น จะเป็นสิ่งที่ ‘มาก่อนกาล’ กันหนอ หากเราอยากก้าวสู่การพัฒนาเมืองอย่างไร้รอยต่อของประวัติศาสตร์และอนาคต เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบปารีส เราจำต้องเพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กล้าเอ่ยความในใจออกไปดังๆ อย่างนั้นน่ะหรือ
เสียงโหวกเหวกเฮฮาดังลั่นคับบาร์เล็กๆ แห่งนั้นทันทีที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้น เรื่องราวสัพเพเหระถูกหยิบยกขึ้นมาในวงสนทนา นึกแล้วก็อดขำไม่ได้ ภาพหนุ่มสาวผมบลอนด์ตาฟ้า ในมือถือแก้วเบียร์ตรงหน้า ทำให้เรานึกถึงตอนที่สอนให้เขาลิ้มชิมรสยาดองของไทย ใช่! ลืมบอกไปว่าเราเข้าร่วมเวิร์กช็อปออกแบบระหว่างสถาปนิกฝึกหัดสองสัญชาติ คือฝรั่งเศสและไทย ซึ่งต้องดีไซน์ผลงาน ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะบินลัดฟ้ามาดีไซน์ต่อ ณ ริมแม่น้ำแซน ต่างฝ่ายต่างเคยเป็นเจ้าบ้าน ผู้รู้ภูมิหลัง บริบททางกายภาพ สังคมและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ออกแบบ และต่างฝ่ายต่างก็เคยเป็นคนนอกผู้ต้องเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิต และโอนอ่อนผ่อนปรนไม่ให้ผลงานดีไซน์ประดักประเดิด
อ๋อ! ฉันใดก็ฉันนั้น หากไม่เงี่ยหูฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ศึกษาทำความเข้าใจที่มาที่ไป ผลงานดีๆ ที่ควรค่าจะออกมาสู่สายตาประชาชนได้อย่างไร
ปารีสและกรุงเทพฯ มีความคล้ายคลึงกันอย่างประหลาด โดยเฉพาะร่องรอยความบอบช้ำซ้ำซากในแต่ละยุคสมัยตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรือชาวไทย เราต่างวิพากษ์วิจารณ์ด้วยสิทธิ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครมารับฟังเสียงจากประชาชนเล็กๆ บ้างหรือเปล่า… ก็เท่านั้นเอง