“ข้าพเจ้ารักปารีส”
ประโยคขึ้นต้นในหนังสือ ความรักของวัลยา1 ที่ผู้เขียน เสนีย์ เสาวพงศ์ มาเฉลยเอาในบรรทัดต่อไปว่า “ไม่ใช่เพราะปารีสมีไวน์และแชมเปญรสอร่อย ไม่ใช่เพราะปารีสมีระบำคาบาเรต์… มีเสน่ห์ด้วยผู้หญิงที่ชองป์เซลิเซ, ปิกาล, มาดแลน และกลีชี” อย่างที่ใครเข้าใจหรอก หากแต่เป็นเพราะ “ปารีสเป็นเมืองชีวิต ปารีสเป็นเมืองเก่าแก่ที่ได้เห็นเลือด น้ำตา ความทารุณ การต่อสู้ ความเสียสละ ความทรยศ การปฏิวัติ” ต่างหาก
ปารีสเป็นเมืองที่ค้างคามานาน เป็นเมืองศูนย์กลางยุโรปที่ใครๆ ก็ต้องผ่าน แต่การได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความคลิเช่ของปารีส ร่ายไปจนถึง ‘Paris Syndrome’ อาการประสาทที่ปารีสไม่เป็นดั่งฝัน ไม่โรแมนติกตามที่นักท่องเที่ยวผู้หลีกหนีความจริงแสวงหา รวมไปถึงประสบการณ์จากเหล่าผู้มาเยือนที่แปะป้ายว่าปารีสควรได้ฉายาว่าเป็นเมืองอันตรายเสียมากกว่า เจ็บแสบไปถึงขั้นว่า หนูที่ออกมาตามท่อน้ำอาจเห็นได้ง่ายกว่าน้ำใจผู้คน ก็ทำให้แผนการเดินทางไม่เคยจอดลงที่ปารีสเสียที
แต่ความค้างคาใจมันต้องไปเห็นกับตา… จะคนหรือจะเมือง สุดท้ายความยุติธรรมมันควรจะเกิดด้วยการไม่ตัดสิน หากต้องไปเห็นและเข้าใจด้วยตัวเอง
“ข้าพเจ้ารักปารีส”
เปล่า, ครั้งนี้ไม่ใช่ประโยคขึ้นต้นในหนังสือใดๆ หากแต่เป็นประโยคที่จรดลงสมุดในร้านหนังสือเล็กๆ ที่เปิดให้คนนั่งอ่านเขียนกันได้ตามสบาย ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า ร้านหนังสือเป็นกระจกสะท้อนความสนใจของคนในสังคมนั้น – กวาดตาดูก็เริ่มไม่แปลกใจที่นักคิดนักปรัชญาหลายคนจะมาจากดินแดนแถบนี้ หนังสือแนวคิดวิเคราะห์เหตุบ้านการเมืองมีให้เห็นกระจาย จะผ่อนคลายลงมาหน่อยก็เห็นจะเป็นหนังสือแนวรักๆ ใคร่ๆ ที่ดูจะมีปารีสเป็นฉากหลังไม่น้อย ถ้าจะบอกว่าคนปารีสนั้นเต็มไปด้วย ‘pride’ – ความภาคภูมิใจหนึ่งในนั้นก็ดูท่าจะเป็นเรื่องฉากม่านความโรแมนติกของตนเองนั่นแหละ
“
เมืองโรแมนติกคนเลยชอบแสดงออกซึ่งความรัก
หรือคนชอบแสดงออกซึ่งความรัก
เลยทำให้เมืองนั้นโรแมนติก ก็ไม่แน่ใจ
”
รู้แต่ว่า ในคำปรามาสว่าคนปารีสมีความกระด้าง แท้จริงนั้นมีอารมณ์ละเมียดซ่อนอยู่ ความละเมียดที่แสดงออกในรสชาติของขนมอบยามเช้า กลิ่นของดอกกุหลาบและราสป์เบอรีที่ไม่จัดเกินไปจนกลบรสชาติวัตถุดิบอื่นๆ ของขนมหวานยามบ่าย ชายหนุ่มผูกไทที่ขี่จักรยานและมีบาแก็ตโผล่ออกมาจากถุงผ้า ริมแม่น้ำแซนและบรรยากาศตึกรามบ้านช่องที่ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างโชกโชนเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมานั่งกันริมสะพาน ริมน้ำแห่งนั้นดูจะไม่เลือกปฏิบัติกับใครไม่ว่าจะเกิดหรือโตที่ไหน มีสถานะอะไรก็ตาม ณ ริมน้ำแห่งนั้น ทุกคนดูจะมีสิทธิละเลียดกับส่วนผสมของเมืองที่เกิดขึ้น กลายเป็นฉากปัจจุบันตรงหน้า โดยไม่ต้องจับจอง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ด้วยตัวเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของมันนั่นเอง
ข้าพเจ้ารักปารีส…
“ปารีสเป็นเมืองเก่าแก่ที่ได้เห็นเลือด น้ำตา ความทารุณ การต่อสู้ ความเสียสละ ความทรยศ การปฏิวัติ ปารีสอาจไม่ทันสมัยด้วยไม่มีตึกรามบ้านเรือนแบบใหม่ และสะอาดสะอ้านเช่นเมืองหลวงของหลายประเทศ แต่ความสง่างามอย่างโบราณ และเหตุการณ์ในอดีตที่จารึกลงด้วยตัวอักษรที่มองไม่เห็นในกำแพงอิฐ บนแผ่นหินที่ปูอยู่ในปลัสเดอลากงกอร์ด ในแผ่นหินของคุกบาสตีย์ที่ถูกทำลายจนไม่เหลือซากให้เห็นอีกต่อไป… เลือดและน้ำตาที่ยังไหลวนอยู่ในแม่น้ำแชน กระดูกมนุษย์และเศษอาวุธเก่าๆ ที่กระแสน้ำกัดจนกร่อนและตะไคร่น้ำจับ ยังคงจมอยู่ในท้องน้ำ เหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจปารีสอย่างไม่มีเมืองใดมีและไม่มีเมืองใดเหมือน…”
หากร่องรอยการต่อสู้ของปารีสในซอกมุมต่างๆ ของเมืองไม่เคยถูกลบเลือนไป หากการสืบทอดทางความคิดเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ไม่จำกัดอยู่แค่ในคำขวัญประจำชาติ หากความโรแมนติกที่แท้จริงของปารีสหาใช่ความรักระหว่างชายหญิงสองคน แต่หมายถึงความรักที่ขยายสู่วงกว้างไปสู่ประชาชนและเพื่อนมนุษย์ทั่วไป
ก็อาจกล่าวได้ว่า,
ปารีสกำลังสอนให้ข้าพเจ้า… มีความรัก
1ความรักของวัลยา เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน ฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง : ตุลาคม 2548