ทำความรู้จัก 5 โปรเจกต์ จาก 5 เมืองใหญ่ของโลก ที่พัฒนาเมืองไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตผู้คน

เพราะเราเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดี จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งต้องมาจากแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเหล่านั้นให้เกิดขึ้น เราจึงอยากชวนคุณไปทำความรู้จัก 5 โปรเจกต์ดีๆ จาก 5 เมืองใหญ่ของโลก ที่ไม่ได้มุ่งพัฒนาแค่ลักษณะทางกายภาพ แต่พัฒนาไปถึงสภพาจิตใจของผู้อยู่อาศัยในเมือง

1. New York City, United States Of America

หนึ่งใน ‘การฟื้นฟูเมือง’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ ‘The High Line’ สวนลอยฟ้าท่ามกลางป่าคอนกรีตที่ทอดตัวยาวใจกลางมหานครนิวยอร์ก ซึ่งใช้โครงสร้างเดิมของทางรถไฟยกระดับสำหรับขนส่งสินค้าที่ปิดให้บริการและถูกทิ้งรกร้างมานานนับทศวรรษ มาสร้างสรรค์การใช้สอยรูปแบบใหม่ โดยยังรักษาคุณค่าและเอกลักษณ์เดิมไว้อย่างสมบูรณ์ ผ่านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผู้คน บนความเคารพต่อประวัติศาสตร์และบริบทโดยรอบ

ที่มา : www.thehighline.org

2. Singapore City, Singapore

ประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ขึ้นแท่นประเทศพัฒนาแล้ว โดยแรกเริ่มนั้นสิงคโปร์เป็นประเทศที่แยกตัวจากมาเลเซียเมื่อปี 2508 โดยมีนายลีกวนยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก เขาตั้งใจพัฒนาสิงคโปร์ให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก มีสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ต้องดูแลพัฒนาที่ดินเป็นหลัก ก็คือ Urban Redevelopment Authority (URA) มีอำนาจหน้าที่วางแผนการใช้ที่ดินของประเทศ เช่น การพัฒนาผังเมือง การดูแลสภาพ-แวดล้อมทางธรรมชาติ การอนุรักษ์เขตชุมชน ส่วนงานอื่นๆ ซึ่งประเทศสิงคโปร์นั้นที่ดินจะเป็นของรัฐแต่ให้เอกชนเช่ากรรมสิทธิ์ การจะก่อสร้างหรือพัฒนาที่ดินทุกอย่างจะต้องผ่าน URA และเป็นไปตามแผนของประเทศที่กำหนดไว้ โดยวิสัยทัศน์แรกของประเทศที่ผู้นำได้กำหนดไว้คือ City Garden ซึ่งการบริหารราชการต่างๆ ก็เพื่อรองรับวิสัยทัศน์นี้ทั้งหมด ต่อมาจึงมีการปรับวิสัยทัศน์เป็น A City in a Garden

ที่มา : http://eresources.nlb.gov.sg

3. Seoul, South Korea

อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด งั้นมาดู ‘การฟื้นฟูเมือง’ ที่อยู่ไม่ไกล เชื่อว่าคนไทยไม่น้อยเคยไปเหยียบมาแล้ว ‘Cheonggyecheon’ คลองประวัติศาสตร์ชองกเยชอน ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปิดทับเป็นทางด่วนยกระดับ อุดมไปด้วยมลภาวะ ทั้งน้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ จนในที่สุดการฟื้นฟูคลองแห่งนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยการรื้อทางด่วนเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะริมน้ำกลางเมือง นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนยอดฮิต คลองแห่งนี้ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ผ่านการกระตุ้นการพัฒนาที่ดินตลอดแนวคลองอีกด้วย

ที่มา : www.inhabitat.com, www.creativemove.com

4. Amsterdam, Netherland

เมืองอัมสเตอร์ดัมวางแผนจะ re-built ตัวเองให้เป็น ‘สมาร์ตซิตี’ ซึ่งนอกจากจะใส่ใจเรื่องพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังเลยไปถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทันสมัย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร สิ่งที่สมาร์ตซิตีให้ความสำคัญ ได้แก่ ความทันสมัยด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การบูรณาการด้านพลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ลดอาชญากรรม ส่งเสริมวัฒนธรรม ไปจนถึงสนับสนุนให้คนที่อยู่ในเมืองมีความรู้และเอื้ออาทรต่อกัน ฯลฯ โครงการพัฒนาโดยสังเขปประกอบไปด้วย การออกแผนพัฒนาผังเมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจให้กลายเป็นย่านอยู่อาศัย เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง สร้างกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานสะอาด ผนวกนวัตกรรมไฮเทคเข้ามาใช้ เช่น โครงการ ‘iBeacon and IoT (Internet of Things) Living Lab’ ติดตั้งดวงไฟที่ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์ไว้รอบเมือง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดมีกำหนดจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2040 เหตุที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น เนื่องจากเป็นโครงการขนาดมหึมาที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน

ที่มา : http://futurecities.skift.com

5. Bogota, Colombo

โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างการฟื้นฟูเมืองที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เพราะโบโกตาเคยถูกจัดว่าเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด แต่ภาพจำที่เคยมีค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปหลังการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เอ็นริเก เพนาโลซา ปี ค.ศ.1998 ซึ่งเขาได้เริ่มกลับไปแก้ไขปัญหาโดยใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมือง สร้างเลนจักรยาน เปลี่ยนที่จอดรถให้เป็นทางเท้าและพื้นที่สาธารณะกว่า 1,200 แห่ง จนทำให้มีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า ลดการใช้น้ำมันได้ปีละ 1,230 ล้านบาท เกือบเทียบเท่าเงินที่ลงทุนไป รวมทั้งปัญหารถติดที่น้อยลงถึง 40% และอัตราการฆาตกรรมลดลง 4 เท่า

ที่มา : www.sarakadee.com