คุณทราบไหมครับว่ามนุษย์ทุกคนคือบ้าน. . .
นี่ไม่ใช่บทความโฆษณาหรือจะมาเปรียบเปรยเชิงปรัชญาอะไรนะครับ ความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนต่างก็เป็น ‘บ้าน’ ของเจ้าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย จุลินทรีย์ เห็ดรา และอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาไม่ได้เป็นอันตรายอะไร ในทางกลับกันเจ้าตัวจิ๋วเหล่านี้อยู่กับเราแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดกันและกันไม่ได้
ภายในของเราจึงเป็นระบบนิเวศของเหล่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนับพันชนิดรวมประชากรกว่าล้านล้านตัวที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าไมโครไบโอม ถิ่นอาศัยหลักของพวกมันคือลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก เจ้าตัวจิ๋วทำหน้าที่สำคัญคือช่วยให้ร่างกายของเราทำงานได้ปกติ
คุณอาจแปลกใจถ้าได้รู้ว่ามนุษย์แต่ละคนจะมีระบบนิเวศไมโครไบโอมที่หน้าตาแตกต่างกัน ตัวแปรแรกที่กำหนดคือดีเอ็นเอ ทารกจะสัมผัสกับเหล่าสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วเป็นครั้งแรกเมื่อเดินทางผ่านช่องคลอดและได้ดื่มนมแม่ ดังนั้นสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางไปตั้งรกรากในร่างกายของเด็กน้อยก็คือสายพันธุ์เดียวกับที่พบเจอในคุณแม่นั่นเอง เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ได้พบเจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และทานอาหารที่นอกเหนือจากน้ำนม ไมโครไบโอมก็จะพัฒนาจนมีเอกลักษณ์ตามแต่ละบุคคล
ถ้าเรามีสุขภาพดีเจ้าตัวจิ๋วเหล่านี้ก็จะเริงร่าและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่เมื่อใดก็ตามที่ความสมดุลถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ การรับประทานอาหารบางอย่าง หรือการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานาน จะเกิดภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Dysbiosis) ส่งผลให้ร่างกายของเราอ่อนแอเจ็บป่วยได้ง่าย
บทบาทของไมโครไบโอม
ไมโครไบโอมช่วยดูแลพวกเราอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ในร่างกาย พวกมันช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จัดการแบคทีเรียอันตรายที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารที่เราดื่มกิน พร้อมทั้งสกัดเอาวิตามินและกรดอะมิโนบางชนิด ตัวอย่างเช่นวิตามินบี 12 ซึ่งมีเพียงแบคทีเรียเท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ได้
ร่างกายของเราจะสามารถดูดซึมสารอาหารอย่างน้ำตาลได้อย่างรวดเร็วในลำไส้เล็ก แต่คาร์โบไฮเดรตที่มีความซับซ้อนสูงอย่างเช่นกลุ่มแป้งและใยอาหารเป็นสิ่งที่ย่อยยาก พวกมันจะเดินทางมายังลำไส้ใหญ่ซึ่งเหล่าไมโครไบโอมจะทำการที่ย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตเหล่านั้น กระบวนการดังกล่าวจะสร้างกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acids หรือ SCFA) ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและช่วยป้องกันโรคเรื้อรังทั้งมะเร็งและโรคเกี่ยวกับลำไส้
การแพทย์ยุคใหม่เริ่มพุ่งความสนใจมายังไมโครไบโอม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยาและอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ที่จะช่วยสร้างความแข็งแรงของระบบนิเวศแบคทีเรียในร่างกาย แม้หลายคนอาจจะคาใจต่อประสิทธิผลของอาหารเสริมเหล่านั้น แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลหลายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับงานวิจัยในแขนงดังกล่าว
ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ที่กระตุกความสนใจของคนทั่วคือการค้นพบว่าไมโครไบโอมจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัยของมนุษย์ และอาจกลายเป็นกุญแจสำคัญของการแก่ชราอย่างมีสุขภาพดี
ชะลอวัยชราด้วยการรักษาไมโครไบโอม
นักวิทยาศาสตร์สังเกตรูปแบบพัฒนาการของไมโครไบโอมตามแต่ละช่วงวัย เริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทารกจนถึงอายุสามขวบค่อนข้างคงที่จนถึงวัยกลางคน และเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่ายิ่งอายุของเรามากขึ้นเท่าไหร่ ไมโครไบโอมจะมี ‘ลักษณะเฉพาะตัว’ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปนะครับ เนื่องจากความเฉพาะตัวอาจเชื่อมโยงกับโรคภัยไข้เจ็บและกลุ่มอาการที่มาพร้อมกับอายุ อาทิ ภาวะสมองเสื่อม ร่างกายอ่อนแรก และอาการอักเสบต่างๆ
นักวิทยาศาสตร์เปรียบเปรยสภาวะดังกล่าวอย่างเห็นภาพโดยดัดแปลงวาทะอันโด่งดังจากนวนิยายคลาสสิคแอนนา คาเรนนินา ให้เป็นหลักการของไมโครไมโอมว่า “ไมโครไบโอมที่มีความสุขนั้นหน้าตาละม้ายคล้ายกัน แต่ไมโครไมโอมที่ทุกข์ใจต่างก็ไม่มีความสุขในแบบของตัวเอง”
มีการศึกษาและหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันว่าการรับประทานผักผลไม้และไฟเบอร์นั้นดีต่อเหล่าแบคทีเรียในลำไส้ งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าหลังจากที่ผู้สูงอายุรับประทานอาหารแบบเมดิเตอเรเนียนซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันมะกอก ถั่ว ผักผลไม้ และเนื้อปลา ไมโครไบโอมของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพโดยช่วยลดความเสี่ยงด้านภาวะสมองเสื่อมและร่างกายอ่อนแรง
แต่เราแทบไม่มีทางทราบได้เลยว่าสารพัดอาหารและผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่เราทานเข้าไปจะส่งผลอย่างไรต่อไมโครไบโอมในร่างกาย เพราะระบบนิเวศของเหล่าสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกันไป
ลองนึกภาพตามนะครับว่าการเติมสารอาหารเข้าไปในร่างกายก็เหมือนกับการปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำ ถ้าปลาดังกล่าวเป็นปลาท้องถิ่นที่เหมาะสมกับระบบนิเวศก็ย่อมช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและไม่ทำลายความสมดุล แต่ถ้าเราปล่อยปลาน้ำจืดลงในระบบนิเวศน้ำเค็มปลาตัวนั้นก็คงไม่มีทางอยู่รอดได้ หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการปล่อยปลาชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่นเข้าไปซึ่งอาจกลายเป็นการทำลายสมดุลเดิมจนพังทลาย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาในแขนงไมโครไบโอมยังถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ และผลลัพธ์ของงานวิจัยหลายชิ้นก็ยังขัดแย้งกันเอง แต่ถ้าเทคโนโลยีการสำรวจสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วในร่างกายของเราล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเหล่านักวิทยาศาสตร์อาจค้นพบ ‘สูตรสำเร็จ’ ที่จะช่วยปรับระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วในร่างกายเพื่อช่วยชะลอวัยชรา
เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
เอกสารประกอบการเขียน
Unique gut microbiome patterns linked to healthy aging, increased longevity