‘วิศวกรรมพื้นพิภพ’ | ทางเลือกเปลี่ยนโลก – ทางรอดของมนุษยชาติ?

        เรากำลังเผชิญหน้าสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โลกใบที่เราอยู่ในปัจจุบันร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความหวังจากข้อตกลงปารีสนับว่าริบหรี่โดยรายงานล่าสุดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่าเราแทบไม่เหลือโอกาสที่จะจำกัดอุณภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และหากแต่ละประเทศทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ภายในสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2.4 ถึง 2.6 องศาเซลเซียส

        หากแปลงตัวเลขชวนปวดหัวให้เป็นภาษาไทยคือเรากำลังจะเผชิญกับ ‘หายนะ’ ในอีกไม่กี่ชั่วอายุคน ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนประเทศหมู่เกาะหายไปจากแผนที่โลก ปัญหาในการปลูกพืชอาหาร ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งยิ่งขึ้น หายนะต่อระบบนิเวศทั่วโลก รวมถึงปัญหาผู้อพยพเพราะถิ่นอาศัยเดิมไม่เหมาะกับมนุษย์อีกต่อไป

        ในเมื่อการมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย ‘ปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์’ ไม่ได้ง่ายดังที่หวัง รัฐบาลและเหล่านักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ที่จะ ‘ชะลอ’ หายนะที่กำลังคืบคลานมา เพื่อยืดลมหายใจให้ทั่วโลกมีเวลาเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทางเลือกนั้นคือ ‘วิศวกรรมพื้นพิภพ’ (Geoengineering) หรืออีกชื่อหนึ่งที่หลายคนอาจคุ้นหูคือ ‘วิศวกรรมพื้นพิภพเชิงสุริยะ’ (Solar Geoengineering)

        วิศวกรรมพื้นพิภพหมายถึงการที่มนุษย์ ‘แทรกแซง’ (intervention) ธรรมชาติในระดับที่ใหญ่มโหฬารจนส่งผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศของโลก โดยมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือก็คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้อุณหภูมิโลกลดลงหรือลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ แม้ว่าบางทางเลือกอาจฟังดูหลุดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ก็ตาม
ที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างมองว่าวิศวกรรมพื้นพิภพมีความเสี่ยงสูงและไร้จริยธรรม เนื่องจากพวกเขาคาดว่าหากเครือข่ายมหาเศรษฐีและบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทราบว่ามีทางเลือกดังกล่าวก็อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติแผนลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แล้วมาหวังพึ่งวิศวกรรมพื้นพิภพซึ่งเป็นทางออกที่ไม่ยั่งยืน และอาจสร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึงอีกด้วย

สายธาร ‘วิศวกรรมพื้นพิภพ’

        แนวคิดเรื่องวิศวกรรมพื้นพิภพไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แทบจะเกิดขึ้นพร้อมกับการที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1965 ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสันแห่งสหรัฐอเมริกาเคยเสนอว่าอาจต้องเพิ่ม ‘ความสามารถในการสะท้อนแสง’ ของพื้นผิวโลกด้วยการโยนวัตถุสีขาวจำนวนมาก (เช่น ลูกกอล์ฟ) ลงสู่มหาสมุทรเพื่อหักกลบลบกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

        แต่แนวคิดซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางคือการพ่นอนุภาคเข้าสู่ชั้นสตราโทสเฟียร์ซึ่งมีระดับความสูงที่ 10 ถึง 50 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลกเพื่อลดอุณหภูมิ แนวคิดดังกล่าวเป็นไปได้เพราะเรามีตัวอย่างการทดลองทางธรรมชาตินั่นคือการระเบิดของภูเขาไฟปีนาตูโบ ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 1991 ซึ่งพ่นแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์กว่า 20 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ อนุภาคดังกล่าวที่ปกคลุมน่านฟ้าช่วยลดอุณหภูมิลงถึง 0.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาร่วมสองปี แต่แลกมากับท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยฝุ่นควันตลอดเวลา

        อีกหนึ่งแนวคิดที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองภาคสนามจริงๆ คือการโปรยธาตุเหล็กลงสู่มหาสมุทรเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของสาหร่ายเพื่อทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนก่อนจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทร ผลการทดลองดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยการเปลี่ยน ‘มหาสมุทรสีฟ้าที่ไร้ชีวิต ให้กลายเป็นป่าดงดิบสีเขียว’ ภายในระยะเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้มหาศาล แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ผืนน้ำ

        ที่ผ่านมา คนจำนวนไม่น้อยมองว่านี่คือทางออกของเหล่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ต้องการแก้ไขทุกปัญหาด้วยวิศวกรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันมุมมองต่อวิศวกรรมพื้นพิภพเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจนทำให้ ‘เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา’ เฉกเช่นในอดีต

        กระทั่งเดวิด คิง (David King) อดีตหัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันข้อตกลงปารีสก็เริ่มมองว่าวิศวกรรมพื้นพิภพคือทางเลือกเพื่อบรรเทาหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขาเป็นผู้ร่วมผลักดันการก่อตั้งศูนย์ซ่อมแซมภูมิอากาศ (Center for Climate Repair) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การป้องกันไม่ให้รังสีทะลุผ่านมาถึงชั้นบรรยากาศ หรือการเพิ่มปริมาณน้ำแข็งที่ขั้วโลก

        ล่าสุดประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐฯ ก็เซ็นคำสั่งให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อวิจัยความเป็นไปได้ของทางเลือกนี้ โดยเป็นการประสานระหว่างองค์การนาซ่า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) และกระทรวงพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกรอบการทำงานที่เหมาะสมและโปร่งใส พร้อมทั้งตั้งเป้าหมาย 5 ปีสำหรับงานวิจัยในสาขาดังกล่าว

แก้ปัญหาเดิม แต่เพิ่มเติมคือปัญหาใหม่

        แม้วิศวกรรมพื้นพิภพจะได้เริ่มได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่นี่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นเพียงมาตรการชะลอที่ใช้ได้ชั่วคราวเท่านั้นอีกทั้งยังส่งผลกระทบมหาศาล เช่น วิศวกรรมพื้นพิภพเชิงสุริยะซึ่งมีเป้าหมายที่จะสะท้อนแสงจาก ดวงอาทิตย์ไม่ให้ตกลงสู่พื้นผิวสู่จะกระทบต่อวัฏจักรน้ำโดยทำให้ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลง เป็นต้น ยังไม่นับว่าทางเลือกดังกล่าวช่วยลดอุณหภูมิได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นได้ อาทิปัญหาน้ำทะเลเป็นกรดที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร
ความแตกต่างหนึ่งเดียวที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ‘ต้นทุน’ ในการลดอุณหภูมิ วิศวกรรมพื้นพิภพใช้เงินจำนวนไม่มากหากเทียบกับการกระเสือกกระสนเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แถมยังใช้เวลาดำเนินการไม่นานโดยเปรียบเทียบ แต่อาจทิ้งผลกระทบมหาศาลไว้ให้เราต้องแบกรับ

        ปัญหาหนึ่งที่น่ากังวลคือการที่ประเทศร่ำรวยเริ่มให้ความสนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในแง่วิศวกรรมพื้นพิภพ เพราะกลายเป็นว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยจะกุมชะตากรรมของโลกทั้งใบเพราะสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวอย่างไรก็ได้ จึงยากที่จะตอบว่าพวกเขาจะเลือกดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวม

        มาร์ติน ไวทซ์แมน (Martin Weitzman) นักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอธิบายว่า การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผชิญปัญหาฟรีไรเดอร์ (free-rider) เพราะการทุ่มงบประมาณแก้ไขปัญหาของบางประเทศจะทำให้ทุกคนบนโลกได้ประโยชน์ แม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้ลงมือทำอะไรเลยก็ตาม

        ขณะที่วิศวกรรมพื้นพิภพเผชิญกับปัญหาฟรีไดรเวอร์ (free-driver) โดยกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยอาจทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวในการเอาตัวรอดเพียงลำพังโดยไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศข้างเคียง และมองข้ามการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่จะทำให้ทุกคนบนโลกรอดจากหายนะ

        การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกถือเป็นทางเลือกความเสี่ยงต่ำ แต่เรากลับไม่มีความกระตือรือร้นมากพอที่จะบรรลุเป้าหมายภายในกรอบเวลาที่จำกัด เมื่อโอกาสดังกล่าวได้หลุดลอยไปแล้ว เราจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่ที่ความเสี่ยงสูงกว่าคือวิศวกรรมพื้นพิภพ

เอกสารประกอบการเขียน

  • What is geoengineering—and why should you care?
  • The US government is developing a solar geoengineering research plan
  • Governing the atmosphere
  • Developing countries must lead on solar geoengineering research

เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ: Generated by Midjourney