แม้คนจำนวนไม่น้อยจะพูดติดตลกว่าเจ้าแมวเหมียวกำลังจะครองโลก แต่วลีดังกล่าวก็คงไม่เกินจริงนัก เพราะปัจจุบันเจ้าเหมียวกระจายพันธุ์ไปได้แทบทุกหนทุกแห่งที่มนุษย์เหยียบย่างเข้าไปตั้งรกราก แถมยังได้รับความรักแบบเต็มเปี่ยมจากเหล่า ‘ทาสเหมียว’ ที่พร้อมก้มหัวรับใช้
อย่างไรก็ตาม นอกจากมุมน่ารักในฐานะสัตว์เลี้ยง (!?) เจ้าเหมียวก็ยังคงสัญชาตญาณนักล่าไว้อย่างเต็มเปี่ยม
แรกเริ่มเดิมที เจ้าเหมียวมีหน้าที่หลักคือจับเหล่าหนูที่ซุกซ่อนอยู่ในเรือ พวกมันจึงมีโอกาสเดินทางท่องโลกร่วมกับเหล่านักล่าอาณานิคม และไปลงหลักปักฐานที่ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหลากชนิดซึ่งไม่เคยเผชิญหน้ากับนักล่าปราดเปรียวอย่างเจ้าเหมียวมาก่อน สัตว์ป่าโดยเฉพาะเหล่านกจึงสูญพันธุ์ไปจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่ามีสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น โลมาและนากทะเล เสียชีวิตจากโรคไข้ขี้แมวหรือท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) โรคที่เกิดจากปรสิตในระบบย่อยอาหารของแมวอีกด้วย
ระบบนิเวศปิดแบบหมู่เกาะ เช่น ฮาวายและออสเตรเลีย จะมีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อการมาถึงของเจ้าแมวเหมียว การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology พบว่าเจ้าเหมียวคือสาเหตุของการสูญพันธุ์ของนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลานบนหมู่เกาะถึง 14 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยตัวอย่างที่มักถูกหยิบยกมาก็เช่น นกกระจิบไลออล (Lyall’s wren) นกขนาดเล็กบินไม่ได้ซึ่งพบเฉพาะในหมู่เกาะสตีเฟนส์ ประเทศนิวซีแลนด์ พวกมันสูญพันธุ์ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีหลังจากที่มนุษย์พาเจ้าเหมียวมาเยือน
หลายประเทศจึงมองเจ้าเหมียวเป็นภัยคุกคามที่ต้องหาทางจัดการ เพราะเจ้าเหมียวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มเข้าใกล้ภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตามก็มีคนรักแมวจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าว โดยมองว่ามีปัจจัยมากมายที่ผลักดันให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์นอกเหนือจากการถูกล่าโดยเจ้าเหมียว
เมื่อเจ้าเหมียวถูก ‘กักบริเวณ’
คนรักแมวสามารถเลี้ยงดูเจ้าเหมียวได้ทั้งระบบปิดและระบบเปิด หากเลี้ยงในระบบปิด เจ้าเหมียวก็คงไม่มีโอกาสออกไปล่าสัตว์ป่าสักเท่าไหร่ เว้นแต่ว่าสัตว์ป่าจะเข้ามารุกรานในบริเวณบ้านจนเจ้าเหมียวทนไม่ไหว ปัญหาการล่าจึงเกิดจากเหล่าแมวเหมียวที่เลี้ยงในระบบเปิดเป็นส่วนใหญ่ เพราะเจ้าเหมียวสามารถออกไปท่องเที่ยวในละแวกบ้านจึงมีโอกาสกลายร่างเป็นผู้ล่าคาบซากสัตว์ป่ากลับมาให้เจ้านายเชยชม
รัฐบาลแห่งหนึ่งจึงหาออกแก้ปัญหาโดยออกคำสั่ง ‘กักบริเวณ’ เจ้าแมวเหมียว
อย่าคิดว่าผมพูดเล่นนะครับ เพราะเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นของเมืองวอลดอร์ฟ (Waldorf) ประเทศเยอรมันเพิ่งประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ เจ้าเหมียวไปสดๆ ร้อนๆ เพราะเป็นช่วงฤดูจับคู่ผสมพันธ์ของนกจาบฝนหงอน (Crested lark) ซึ่งเป็นนกหายากที่ทำรังวางไข่บนพื้นดิน โดยเหล่าทาสเหมียวอาจโดนค่าปรับร่วม 500 ดอลลาร์สหรัฐ หากทางการพบว่าปล่อยแมวออกมาเดินเพ่นพ่าน และอาจต้องจ่ายกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากพบว่าเจ้าเหมียวทำร้ายหรือฆ่านกจาบฝนหงอน
อย่างไรก็ตาม การกักบริเวณดังกล่าวกินเวลาเพียงไม่กี่เดือน โดยเจ้าของยังพาแมวเหมียวออกมาเดินชมโลกภายนอกได้ แต่มีเงื่อนไขเดียวคือต้องสวมสายจูง กระนั้น เหล่าองค์กรพิทักษ์สัตว์ก็มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เนื่องจากเจ้าแมวที่เคยชินกับการเดินท่องเที่ยวอย่างอิสระอาจรู้สึกกระวนกระวายหรือถึงขั้นเศร้าซึมเมื่อต้องถูกจำกัดบริเวณให้อยู่เฉพาะภายในบ้าน
ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านอยู่เนืองๆ แต่ความสำเร็จในการที่เหล่านกจาบฝนหงอนสามารถจับคู่ผสมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยในปีที่ผ่านมาก็ทำให้เมืองวอลดอร์ฟตัดสินใจคงมาตรการเดิมเอาไว้จนกว่าประชากรนกจะฟื้นฟูกลับมาสู่ระดับที่น่าพึงพอใจ
สำหรับเจ้าของแมวเหมียวคนไหนที่เลี้ยงแมวในระบบเปิดและต้องการไม่ให้เจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักกลายร่างเป็นนักล่า วิธีการเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดคือการติดกระพรวนไว้เพื่อเป็นสัญญาณเตือนอันตรายให้เหล่าสัตว์ป่าเมื่อเจ้าเหมียวย่องเข้าไปใกล้ๆ
แมวจร ปัญหาระดับชาติในออสเตรเลีย
นับตั้งแต่เจ้าเหมียวเดินทางมาถึงเกาะออสเตรเลียพร้อมกับผู้ตั้งรกรากชาวยุโรปเมื่อกว่า 200 ปีก่อน แมวบ้านก็ได้กลายร่างเป็นแมวป่านักล่าบนห่วงโซ่อาหารที่สามารถปรับตัวกับแทบทุกสภาพแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม คาดว่าปัจจุบันเจ้าแมวเหล่านี้อาศัยในพื้นที่ 99.9 เปอร์เซ็นต์ของออสเตรเลียโดยมีประชากรเฉลี่ยถึง 2.8 ล้านตัว ในบางปีที่สภาพอากาศเป็นใจ ประชากรของเจ้าเหมียวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 ล้านตัวเลยด้วยซ้ำ
เจ้าเหมียวคือนักล่าที่สัตว์ป่าออสเตรเลียไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายชนิดปรับตัวรับมือไม่ทันจนต้องสูญพันธุ์ไป รายงานโดยสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียระบุว่าแมวไร้เจ้าของเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 34 ชนิดต้องสูญพันธุ์ และอีก 74 ชนิดที่กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรง
ในแต่ละปี แมวจรหนึ่งตัวจะคร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 390 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 225 ตัว และนกอีก 130 ตัว เมื่อคูณด้วยจำนวนประชากรแมวทั้งหมดแล้วก็จะได้ตัวเลขที่น่าตกใจคือสัตว์ป่า 1.4 พันล้านชีวิตซึ่งใกล้เคียงกับวิกฤติไฟป่าครั้งใหญ่ของออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2562 – 2563 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 310,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10 เท่าตัวของพื้นที่ประเทศเบลเยียม
วิธีแก้ไขปัญหาแมวจรแบบมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือ ‘จับ-ทำหมัน-ปล่อย’ อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวอาจควบคุมจำนวนประชากรแมวได้ แต่ไม่มีประสิทธิผลมากนักในแง่การจำกัดการล่าเพราะแมวที่ทำหมันไปแล้วก็ยังสามารถล่าสัตว์ป่าได้เช่นเดิม
ทางเลือกใหม่ในประเทศออสเตรเลียคือการสร้างพื้นที่ล้อมรั้วขนาดใหญ่ที่ปลอดแมวจร เช่นในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่านิวฮาเวนทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ใจกลางพื้นที่อนุรักษ์จะมีการล้อมรั้วพื้นที่ขนาดราว 90 ตารางกิโลเมตรแล้วใช้เวลาร่วมหนึ่งปีเพื่อกำจัด ‘นักล่าที่ไม่พึงประสงค์’ หรือก็คือเหล่าแมวจร แล้วจึงปล่อย ‘มาลา’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหน้าตาละม้ายคล้ายจิงโจ้ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติหลายทศวรรษก่อนกลับสู่ถิ่นอาศัยอีกครั้ง
นอกจากการล้อมรั้วแล้ว รัฐบาลออสเตรเลียยังสนับสนุนการใช้เครื่องมือในการลดประชากรแมวจรอย่างรวดเร็วเช่นการสนับสนุนการล่าซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในออสเตรเลียล่าแมวจรเหล่านี้เป็นปกติอยู่แล้ว การใช้สุนัขที่ฝึกฝนมาเพื่อล่าแมวจรโดยเฉพาะ หรือกระทั่งการฝังยาพิษไว้ในเหยื่อของเหล่าแมวจร รัฐบาลดำเนินโครงการขจัดแมวจรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยทุ่มเงินหลายสิบล้านดอลลาร์และคาดว่าสามารถคร่าชีวิตแมวจรไปแล้วกว่า 2 ล้านตัว
อย่างไรก็ตาม โครงการขจัดแมวจรเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดอื่นก็ไม่ต่างจาก ‘เผือกร้อนทางการเมือง’ ในหลากหลายประเทศ โครงการลักษณะนี้มักจะถูกต่อต้านเพราะไม่ต่างจากการทารุณกรรมสัตว์ และถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม อีกทั้งความจริงแล้วปัญหาทั้งหมดทั้งมวลก็เริ่มต้นจากมนุษย์ที่พาเจ้าเหมียวไปปล่อยตามพื้นที่ต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนปัญหาแมวจรในปัจจุบันส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เจ้าของ ‘หมดรัก’ สัตว์เลี้ยง แล้วนำไปปล่อยอย่างไร้ความรับผิดชอบ
การรับมือปัญหาเจ้าเหมียวในฐานะชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจึงนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลที่ ‘ฟังขึ้น’ กันทั้งนั้น การดำเนินมาตรการจึงต้องตระหนักไว้เสมอว่าปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากมนุษย์ แต่เหล่าแมวเหมียวกลับต้องเป็นผู้รับกรรมของการกระทำ
เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ: Generated by Midjourney
เอกสารประกอบการเขียน