ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่านั้น แค่อยากทำ ก็ลงมือทำทันที และนี่คือจิตวิญญาณของคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่น่าทึ่ง และเราอยากรู้ว่าก่อนจะใจกล้าบ้าบิ่นได้ถึงเพียงนี้ ชีวิตของ กตัญญู สว่างศรี นักเขียน พิธีกร นักพูด และสแตนด์อัพคอเมเดียน คนล่าสุดของเมืองไทย ผ่านร้อนหนาว น้ำตา และเสียงหัวเราะอะไรมาบ้าง
“
ผมเรียนรู้วิธีกลบเกลื่อนความอายของตัวเอง ด้วยการแกล้งแซว ล้อเลียน ทำตัวตลกบ้าบอ เริ่มพูดต่อหน้าคนอื่น เพื่อให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของเพื่อนๆ
”
เพื่อนประถม
ตอนชั้นประถม ผมเป็นเด็กโนบอดี้ในห้องเรียน ตัวอ้วนๆ ขี้อาย มีเพื่อนน้อย มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อปราโมทย์ เขาเป็นคนตลกมาก ชอบแกล้งคนนั้นคนนี้ เขาสอนผมกวนตีนอาจารย์ ทำเรื่องตลกๆ สนุกๆ ทำให้ผมเรียนรู้วิธีกลบเกลื่อนความอายของตัวเอง ด้วยการแกล้งแซว ล้อเลียน ทำตัวตลกบ้าบอ เริ่มพูดต่อหน้าคนอื่น เพื่อให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของเพื่อนๆ เพื่อนอีกคนชื่อกฤษดา เราออกไปพรีเซนต์หน้าห้องวิชาประวัติศาสตร์ไทย โดยเล่าเรื่องมั่วๆ แต่งเรื่องกันขึ้นมาเอง เพื่อให้เพื่อนได้หัวเราะกัน ในวันนั้นทำให้ผมกล้าพูด กล้าแสดงออก
รองเท้าพูม่า
ตอนมัธยม ผมฉายแววการเป็นนักฟุตบอล ได้เป็นทีมโรงเรียน แล้วต่อมาก็ได้ไปคัดตัวเพื่อเรียนต่อที่โรงเรียนชั้นนำ ตอนนั้นขอเงินแม่ไปซื้อรองเท้าฟุตบอลจากหลังสนามศุภฯ มาสองคู่ สนามแถวบ้านแย่มาก ผมใช้รองเท้าพูม่ารุ่นถูกๆ มาเล่น อีกคู่คือไนกี้ซูมแอร์ รุ่นที่ หลุยส์ ฟิโก ใส่เล่นในยูโรปี 2000 เอาไว้ใช้เวลาแข่งคัดตัว ผมใส่พูม่าเตะฟุตบอลเล่นแถวบ้านช่วงปิดเทอม พวกพี่ๆ รุ่นใหญ่มาชวนผมไปเตะบอลเดินสายด้วย สนามเละเป็นโคลน ผมโดนเตะเข้าข้อเท้า เอ็นฉีก บาดเจ็บ ต้องพักไปครึ่งปีเพื่อรักษาอาการเอ็นข้อเท้าฉีก แล้วก็ไม่สามารถกลับมาเล่นฟุตบอลได้เหมือนเดิม กลายเป็นบาดแผลใหญ่ในชีวิตช่วงวัยรุ่น เพื่อนร่วมรุ่นได้เป็นนักฟุตบอล เป็นนักฟุตซอลระดับชาติกันหลายคน ผมฝันสลาย ก็เลยอยากจะหาอย่างอื่นมายึดเหนี่ยวในชีวิต
เด็กแนว
พอเลิกเล่นฟุตบอล ก็หันมาอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ผมเป็นแฟนรายการวิทยุแฟตเรดิโอ ไปขอฝึกงานที่นิตยสาร DDT และนิตยสาร a day ช่วงวัยรุ่นผมหมกมุ่นกับการอ่านหนังสือของ มูราคามิ ดูหนังของ ฌาค ตาติ, ฟรองซัวร์ ทรุฟโฟต์, จิม จาร์มุช ฯลฯ หาอะไรที่แปลกๆ ยากๆ มาเสพ ชอบไปเที่ยวงานคอนเสิร์ต ออกงานอีเวนต์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมบ่อยๆ เป็นการมองหาแวดวงผู้คนที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผมสนใจ ช่วงนั้นเป็นวัยที่ผมมีบทสนทนาในใจตลอดเวลาว่าถ้าเราเขียนนิยายสักเรื่องมันจะไปทางหนึ่ง และน่าจะจบอีกแบบหนึ่ง ผมพยายามมองหาว่าตัวเองจะไปทางไหนต่อ
อะทีม จูเนียร์
การได้เป็นอะทีม จูเนียร์ ทำให้ผมพบว่าตัวเองยังกลวงๆ ผมอยากเล่นดนตรีทั้งที่ยังดีดกีตาร์ไม่เป็น อยากเป็นนักเขียน แต่ก็เขียนหนังสือไม่เป็น การเป็นอะทีมทำให้ผมรู้ตัวเลยว่าสู้คนอื่นไม่ได้ พ่ายแพ้ เข้าไปแล้วคนอื่นเขียนหนังสือเก่งกันหมด วันท้ายๆ ของการฝึกงานผมไม่กล้ากลับไปออฟฟิศเลย เพราะเขียนงานส่งเขาไม่ได้ นั่งร้องไห้หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำไมกูกระจอกอย่างนี้วะ ผมอาจจะไม่ได้ชอบงานที่ต้องมานั่งเขียนแบบนี้ แต่อยากแสดงออกทางความคิดในรูปแบบอื่นๆ เพียงแต่ในวัยนั้นเรามาเจอช่องทางทำงานแบบนี้ก่อน
ความทรงจำ
ในที่สุดก็เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกออกมาได้สำเร็จ แล้วส่งไปนิตยสาร ช่อการะเกด เป็นช่วงชีวิตที่ดำดิ่งลงไปในโลกวรรณกรรม อยากมีอุดมการณ์ อยากเปลี่ยนแปลงโลก ผมดึงเอาความกล้า ความบ้า ความห้าวออกมาแสดง เพียงแต่มันยังไม่ได้ถูกปรับจูนให้ถูกทิศทาง พิมพ์หนังสือเอง รวมงานกับเพื่อนๆ อีกหลายเล่ม เป็นช่วงที่เข้มข้นที่สุดในชีวิตการทำงาน และก็ได้รวมเรื่องสั้น คำสาป ออกมา ใครอ่านแล้วก็จะบอกว่าแตกต่างจากตัวผมมาก เพราะตัวจริงเฮฮา ตลกตลอดเวลา วิธีการทำงานแบบ คำสาป คือวิธีที่ผมใช้ในการทำงานต่อมาหลังจากนั้น คือการที่ผมจะเล่าไอเดียให้เพื่อนฟัง ไปเจอเพื่อนคนไหนก็จะโม้บอกเขาว่าจะเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ แล้วจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่มด้วย โม้เรื่องนี้มานาน จนกระทั่งมันเกิดขึ้นเป็นความจริง ต่อจากนั้นมา ผมไปเจอใคร ผมก็จะบอกว่าผมกำลังจะทำอะไร มีไอเดียอะไร พูดไปเรื่อยๆ แล้วมันจะกลายเป็นความจริง ทุกครั้งที่เล่าความฝันออกมา ทำให้มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
“
ทุกครั้งที่เล่าความฝันออกมา ทำให้มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
”
สเวนเซนส์
ตอนที่ตกงานอยู่พักใหญ่ วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไปเดินห้างกับแม่ ไปช่วยแม่ถือของ ผมชวนแม่กินไอติมสเวนเซนส์ แม่บอกว่า อย่าเลย มันแพง ผมอึ้งไปเลย ทำไมแค่นี้แพงสำหรับเรา โกรธตัวเอง โมโหตัวเองว่าทำไมกระจอกแบบนี้ วันนั้นเองที่ผมรู้สึกว่า… ผมควรจะทำชีวิตตัวเองให้ดี ผมควรจะเลี้ยงไอติมแม่ได้แล้ว ควรซื้อข้าวซื้อของให้เขา ขับรถให้เขานั่ง เสาร์-อาทิตย์ควรจะพาเขาไปกินอะไรดีๆ ตั้งแต่เกิดมานี่เราเคยเลี้ยงข้าวเขาบ้างหรือยัง… ตรงนี้เหมือนเป็นจุดเล็กๆ ในชีวิต แต่มันคือจุดที่ผมสะเทือนใจที่สุด และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปมากที่สุด เราต้องทำงานทำการเหมือนเพื่อนคนอื่น เหมือนคนธรรมดาๆ ก็ได้ ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็ได้ ทำอะไรที่คนทั่วไปเขาทำกันนั่นแหละ และมีชีวิตที่ดี
บวช
ผมติดนิสัยขี้โม้มาจากย่า ตอนเด็กๆ ย่าเคยจะให้ผมบวช เขาไปโม้บอกคนแถวบ้านกันหมดเลยว่าผมจะบวชให้ แล้วผมก็ไม่ได้บวชเสียที เขาก็เสียหน้ามาก จนตอนนี้ผมจะบวชจริงๆ แล้ว เขามากระซิบถามแม่ว่ามันจะบวชจริงใช่ไหม ผมบวชคราวนี้ทำให้เข้าใจเลยว่าบางสิ่งบางอย่างเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อคนอื่นล้วนๆ ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดมาตลอดว่า ถ้าคนเราจะทำอะไร ต้องมีความเชื่อ ความศรัทธา แต่จริงๆ แล้วผมพบว่า สิ่งที่เราทำเพื่อคนอื่นนั้นสำคัญกว่า การทำให้คนอื่นจะเปลี่ยนชีวิตเราไป ชีวิตคือการเกิดมาทำเพื่อคนอื่น การดูแลแม่ การบวชให้ย่า เป็นจุดสำคัญที่เปลี่ยนความคิดของผมทั้งหมด
Get Talk
หลังจากนั้นมาก็ใช้ชีวิตทำงานปกติเหมือนคนอื่นๆ ทำโปรดักชันเฮาส์ที่พังพาบล้มเหลว แต่ก็ทำให้เรียนรู้การทำงานใหม่ๆ หลายด้าน จนกระทั่งมาทำงานนิตยสาร GM ผมรับหน้าที่สัมภาษณ์ใหญ่ และคนส่วนใหญ่ที่มาลงคอลัมน์นี้คือคนประสบความสำเร็จ ผมก็ได้รับแนวคิดดีๆ มาเยอะมาก การได้ไปพบเจอคนพวกนี้เกิดขึ้นพร้อมกับจิตใจที่เปลี่ยนไปแล้ว ผมเปิดใจรับฟัง ไม่เหมือนตอนเป็นเด็กหนุ่มที่ไปสัมภาษณ์ใครแล้วรู้สึกว่า กูก็แน่นะเว้ย ผมเอาทุกอย่างที่มีประโยชน์มาใส่ตัว ช่วงนั้นมันมาโดยไม่รู้ตัว ลองทำงานอดิเรกใหม่ๆ แปลกๆ โดยเอาแนวคิดที่ได้จากการสัมภาษณ์ไปลองทำ จนเกิดเป็นรายการ Get Talk และจัดอีเวนต์ทอล์กโชว์ของตัวเอง คนมาดู 40-50 คนก็แฮปปี้แล้ว
สามสิบปี ชีวิตห่วยสัส
สแตนด์อัพคอเมดี้ครั้งแรกจัดที่ร้านซอมบี้บุ๊กส์ ตอนนั้นนั่งอยู่ก็นึกๆ ขึ้นมาแล้วโพสต์ประกาศเลย เรื่องนี้วนอยู่ในใจมานานแล้ว ในสมุดบันทึกประจำปี 2015 ผมเขียนไว้หลายอย่าง มีสองอย่างในนั้นที่ผมขีดเส้นใต้เน้นเอาไว้คือ จัดสแตนด์อัพคอเมดี้ของตัวเองสักครั้ง และสร้างโปรเจ็กต์ในการทำสื่อแบบใหม่ ซึ่งผมทำสองเรื่องนี้พร้อมกันโดยบังเอิญ ผมทำ Get Talk ที่ถือว่าเป็นสื่อใหม่ และก็ทำทอล์กของตัวเอง ผมโทร.เรียกแซม (พลสัน นกน่วม) มาหาที่ร้านกาแฟ เฮ้ย กูจะจัดสแตนด์อัพคอเมดี้ มานั่งเขียนสคริปต์กันเถอะ แล้วคำว่า สามสิบปีชีวิตห่วยสัส มันก็แวบเข้ามาในหัวตอนนั้นเลย ไม่ได้เตรียมอะไรไว้ก่อน ผมอยากจัดมันในวันเกิดตอนครบรอบสามสิบปีนี่แหละ แล้วหลังจากนั้นทุกอย่างก็พรวดๆ เข้ามา โดยไม่เคยกะเกณฑ์เอาไว้
บิซิเนสโมเดล
ช่วงหลังๆ ผมหันไปอ่านหนังสือแนวอื่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่แนววรรณกรรมแล้ว ไปเจอหนังสือของซีอีโอสตาร์บัคส์ชาวญี่ปุ่น เขาบอกว่าชีวิตคนเราต้องมีเป้าหมาย วิธีสร้างเป้าหมายคือให้วาดวงกลมสามวง หนึ่ง สิ่งที่เรารักที่จะทำ ซึ่งผมชอบพูดตลก แซวคน อำเพื่อน สอง สิ่งที่เราทำได้ดี ผมชอบเป็นพิธีกร และสาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือการพูดเพื่อให้คนอื่นได้แง่คิดและเราก็ได้เงินกลับมา เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นและต่อตัวเอง ผมมานั่งคิดๆ ว่าสแตนด์อัพคอเมดี้ของผมคืออินเทอร์เซ็กของสามอย่างนี้เลย ในใจผมรู้เลยว่านี่แหละที่จะทำต่อไป ผมเคยนั่งคุยกับ พี่เอ๋ นิ้วกลม เขาสอนว่า เฮ้ย ถ้ายูจะทำอะไรที่รัก ยูต้องมีบิซิเนสโมเดลรองรับมันด้วยนะ ยูถึงจะอยู่กับมันได้นาน ผมก็จำไว้เลยว่า ถ้าจะทำอะไรที่เรารัก ต้องหาทางเป็นธุรกิจได้ด้วยถึงจะเป็นไปได้จริง
The Man Who Stand Up
ผมคิดไว้ตั้งแต่แรกว่าคงจะไม่ใหญ่โตอะไร แต่โมเมนต์ที่ไปดูสถานที่จัดงาน ผมไปดูห้องเล็กก่อน ห้องเล็กไม่ว่าง คนที่นั่นก็เลยพาไปดูที่ห้องเธียเตอร์ ผมนึกภาพจากตัวเองอยู่บนเวที และคิดว่าต้องทำได้ หาบิซิเนสโมเดลมารองรับ หาสปอนเซอร์ หาคนดู และขั้นสุดท้ายคือการแสดงให้ดีที่สุด ผมเป็นคนแบบนี้ คือ ‘เหยอๆ หน่อย’ หมายถึง ‘เผยอๆ’ ชอบทำอะไรเกินตัวเสมอ เป็นเรื่องของคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อตัวเอง และเพื่อคนอื่น
_
Life’s a Laugh
_
กตัญญู สว่างศรี สแตนด์อัพคอเมเดียนที่กำลังร้อนแรงสุดๆ ในวินาทีนี้ บอกกับเราว่า “พอไปยืนอยู่บนเวที บรรยากาศในวันนั้นมันใช่มากๆ มีเสียงบางอย่างกระซิบบอกว่า กูจะเล่นตรงนี้แหละ” เขาตระเวนหาที่จัดงานสแตนด์อัพคอเมดี้ครั้งใหม่ของตัวเอง ไล่จากสตูดิโอเล็กๆ ไปจนถึงเวทีใหญ่อย่างโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ แล้วรู้สึกมั่นใจมากว่าต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ