พระอาจารย์ปสันโน

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ | เมื่อความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และธรรมะคือทางออก

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจและพำนักอยู่ในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสอันดีที่ a day BULLETIN ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายธรรมของท่านที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และท่านมีเมตตาสละเวลาให้กับเราเพื่อพูดคุยถึงข้อธรรมะที่น่าสนใจสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่

     ท่านเป็นชาวแคนาดา นามเดิมคือ รีด แพรี ท่านเล่าถึงชีวิตสมัยที่ยังหนุ่มๆ เพิ่งเรียนจบและออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก หาประสบการณ์ชีวิตในหลากหลายวัฒนธรรม เรียนรู้ปรัชญา ศาสนา และจิตวิทยา แสวงหาความสุขและสัจธรรมของชีวิตมาหลายเส้นทาง จนกระทั่งมาบวชเป็นพระในเมืองไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2517 แล้วปักหลักฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ แล้วจึงเปิดวัดป่าอภัยคีรี ถือเป็นหนึ่งในสาขาวัดหนองป่าพง เพื่อเผยแผ่ธรรมะออกไปโลกตะวันตก

     เราจึงเริ่มต้นการสนทนากับท่าน ด้วยความสนใจในข้อธรรมที่สำคัญที่สุดของหลวงปู่ชา ซึ่งท่านได้เรียนรู้มาในระหว่างการฝึกฝนเมื่อวัยหนุ่ม และคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับยุคสมัยของเรา สำหรับคนหนุ่มสาวอย่างเรา และท่านก็ตอบว่า “To Know, and Let Go”

มันอยู่ในจิตใจเรา เราไปที่ไหนเราก็แบกความทุกข์ไปด้วยตลอด ตราบใดที่เรายังไม่ได้แก้ไข เราก็ยังทุกข์

พระอาจารย์ปสันโน

ธรรมะข้อสำคัญที่สุดที่พระอาจารย์เรียนมาจากหลวงปู่ชา และคิดว่าทุกๆ คนควรจะได้เรียนรู้เหมือนกัน คือเรื่องใด

     อาตมาได้เรียนกับหลวงปู่ชาตั้งแต่ช่วงที่ท่านยังมีสุขภาพดี น่าจะประมาณ 8 ปี ถึงช่วงที่ท่านเริ่มไม่สบาย จนถึงช่วงที่ท่านนอนป่วยก่อนที่จะสิ้นไปก็อีกประมาณ 9-10 ปี นับรวมเวลาแล้วก็นานอยู่ ดังนั้น ถ้าจะถามในลักษณะนั้นมันก็สำคัญทุกเรื่อง แล้วแต่ว่าอารมณ์และความจำจะระลึกเรื่องไหนออกมา ถ้าให้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่คิดว่ามันสำคัญจริงๆ มันค่อนข้างจะว่างเปล่าไม่น้อย เรายังนึกไม่ค่อยออกในเวลานี้

     แต่พอคุณพูดถึงเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ระลึกถึงเพราะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ประทับใจที่สุด และน่าจะเป็นสิ่งที่โลกเราต้องการ คือความเป็นบุคคลที่ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะมีคนสรรเสริญท่านก็ดี ไม่ว่าจะมีคนนินทาท่านก็ดี หรือจะเป็นหมู่ลูกศิษย์ที่พอใจท่านก็ดี ที่ไม่พอใจท่านก็ดี หลวงปู่ชาท่านจะมีความมั่นคงอยู่เสมอ ไม่หวั่นไหว นี่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและประทับใจอาตมา เป็นสิ่งแรกที่ทำให้ระลึกถึง จึงหาทางทำวิธีไหนนะ ที่จะทำให้สามารถฝึกตัวเองให้เป็นได้แบบนั้น

     ตั้งแต่นั้นมาอาตมาเลยสนใจ อยากฝึกปฏิบัติธรรมกับท่าน แต่การฝึกนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องนั่งสมาธิเก่งๆ เห็นนิมิตเห็นอะไร คือมันเป็นผลของมรรคที่มีองค์ 8 หรือเป็นผลของการปูพื้นฐานของหนทางดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ไม่ใช่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง ข้อที่หลวงพ่อชาให้ความสำคัญที่ปฏิบัติอยู่ คือมีความสม่ำเสมอในการฝึกหัด ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างสำหรับโลกเรา เช่นเดียวกันว่าโลกเราต้องการความสม่ำเสมอ ความขยัน การยอมฝึกฝนตัวเองในวาระโอกาสต่างๆ ไม่ว่ามีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมจะฝึกตัวเองได้ เพื่อที่ได้มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหว นี่เป็นคุณธรรมที่น่ามีไว้
 

เวลาเจอปัญหาเข้ามากระทบกับชีวิต มันเป็นธรรมชาติที่เราจะต้องหวั่นไหว ไม่มั่นคง ถ้าเราฝึกตนให้ไม่หวั่นไหวแบบนี้เราจะฝึกอย่างไร และจะส่งผลดีอย่างไรต่อเรา

     อาตมาแนะนำได้ว่าควรมีการปูพื้นฐานของศีล สมาธิ ปัญญา ปูพื้นฐานของการมีที่พึ่ง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้เป็นคำสวดมนต์ที่เราได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งควรทำให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราจริงๆ ถ้าเรามั่นคง สิ่งนี้มันก็จะเกิดขึ้นเอง เราได้เอาธรรมะมาใช้ในชีวิตของเรา คือเราไม่แบ่งแยกว่าเวลานี้เป็นเวลาเข้าวัด เวลานี้ไม่เข้าวัด เวลานี้ปฏิบัติ เวลานี้ไม่ปฏิบัติ คือเราก็ต้องมีความสม่ำเสมอ น้อมรับธรรมะเข้ามาสู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา

     เวลาที่เราสวดเราจะระลึกถึงคุณของพระธรรม ข้อที่เรียกว่าโอปนยิโก (คุณของพระธรรมประการหนึ่งในธรรมคุณ 6 หมายถึง ควรน้อมเข้ามา ผู้ปฏิบัติควรน้อมเข้ามาไว้ในใจของตนหรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ) ก็น้อมเข้ามาใส่ตัวเรา การน้อมเข้ามาไม่ใช่แค่รับรู้เป็นข้อมูล มันเป็นสิ่งที่เราต้องคอยฝึก คอยปฏิบัติในชีวิต ทดลองว่าธรรมะมีคุณอย่างไรบ้าง มีโทษอย่างไรบ้าง การปฏิบัติไปแล้วทำให้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรมเกิดขึ้นอย่างไร เพราะว่ามันสลับซับซ้อนกัน เราต้องอาศัยประสบการณ์และอาศัยการพิจารณาสังเกตดูด้วยตัวเอง ต้องแยกแยะว่าอะไรดี อะไรไม่ดี
 

ข้อธรรมะเรื่องใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ที่ท่านบอกว่าทำให้ท่านเริ่มสนใจปฏิบัติธรรม แสดงว่าสมัยหนุ่มๆ นั้นท่านมีความหวั่นไหวข้างในมากเลยใช่ไหม

     แน่นอนว่ามีความหวั่นไหวและมีความทุกข์ คิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมโลกเราถึงเป็นแบบนี้ ทำไมชีวิตแสนจะทุกข์ ทั้งๆ ที่ดูชีวิตข้างนอกตามปกติของเราแล้วไม่น่าจะทุกข์เลยนะ

     มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดตอนเรายังหนุ่ม ประมาณยี่สิบกว่าๆ เราเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เริ่มออกไปทำงาน ขอเพียงแค่จะได้มีตังค์ไปเที่ยว สนุกสนานตามประสาวัยรุ่น อาตมาเคยไปเที่ยวทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง ไปไกลจนถึงอินเดีย ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งอยู่บนภูเขาหิมาลัยที่อยู่สูงจากน้ำทะเลสองพันเมตร อากาศเย็นสบาย วิวสวยงาม อุดมสมบูรณ์มาก การใช้ชีวิตของชาวบ้านที่นั่นก็ไม่ได้เดือดร้อน สะดวกสบายดี คนทุกคนก็เป็นคนดี แต่แล้วทำไมในใจยังทุกข์อยู่ มันอยู่ในจิตใจเรา เราไปที่ไหนเราก็แบกความทุกข์ไปด้วยตลอด ตราบใดที่เรายังไม่ได้แก้ไข เราก็ยังทุกข์

     ตอนนั้นความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาก็ยังมีน้อย เคยอ่านหนังสือในห้องสมุดบ้าง แต่ไม่เคยได้ปฏิบัติ มันจึงเป็นเหตุให้หลังจากนั้นเราต้องออกเดินทางแสวงหาต่อ จนกระทั่งได้มาเมืองไทย ตอนแรกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เพียงแค่จะเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ (หัวเราะ) ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เป็นบุญเก่าหรืออย่างไรไม่รู้ เราถูกคอกับคนไทยจึงตั้งใจที่จะศึกษาและปฏิบัติที่นี่ เราชอบวัด ชอบบรรยากาศ ชอบสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ก็เป็นสิ่งพิเศษที่รู้สึกว่าโดนใจ เลยอยากศึกษาให้ละเอียดขึ้นและปฏิบัติให้ได้

พระอาจารย์ปสันโน

เมื่อปีที่แล้วเราได้ไปสัมภาษณ์พระอาจารย์อมโร ภิกขุ ท่านได้เล่าประวัติให้ฟัง ทำไมคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ในเวลานั้นถึงมีความคิดความสนใจเรื่องแบบนี้มาก

     สมัยนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก จึงเป็นยุคแห่งการแสวงหา ถ้าพูดถึงในแง่ประวัติศาสตร์โลก คือมีสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช่ไหม พอหลังจากนั้นบ้านเมืองสงบและเป็นระเบียบนานประมาณยี่สิบกว่าปี ผู้คนก็เริ่มกลับมารู้สึกอึดอัดกันอีกครั้ง จึงหาทางออกที่เป็นอิสระจากกรอบที่เป็นระเบียบ

     อีกอย่างหนึ่ง คุณต้องคิดถึงลักษณะบ้านเมืองของประเทศแคนาดา อาตมาเป็นชาวแคนาดา เรามีสำนวนหนึ่งบอกว่า แค่อเมริกาจาม แคนาดาก็เป็นหวัด (หัวเราะ) มันคือความกระทบกระเทือน แล้วก็มีหลายปฏิกิริยาหลายอย่างที่กระทบถึงกัน สมัยนั้นอเมริกามีปัญหาสงครามเวียดนามและมีการขัดแย้งกันภายในสังคม มีการถกเถียงลามมาถึงแคนาดาด้วย สิ่งที่เรามองเห็นว่าเป็นคุณค่าของชีวิต คือได้มีการแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ มากกว่าการเชื่อฟังผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอำนาจ เพราะพวกนั้นพาเราไปในสิ่งที่ไม่น่ายอมรับได้ จึงมีปฏิกิริยาต่อต้านจากคนรุ่นเรา

     ส่วนใหญ่เราสนใจศาสนาในตะวันออก แต่สำหรับอาตมาเอง ได้อ่านหนังสือตอนเป็นนักศึกษา ก็รู้สึกว่าเล่มที่มีคำตอบสำหรับเราคือหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ได้พบใครที่ทำให้เราได้ปฏิบัติจริงๆ ตอนนั้นไปศึกษาจิตวิทยา ศึกษาวิทยาศาสตร์ แล้วได้สังเกตดูอาจารย์ที่สอน เขาดูวุ่นวายพอๆ กับเรานี่แหละ เลยคิดว่าไม่รู้จะไปเรียนทำไม (หัวเราะ) ได้ใบประกาศนียบัตร แต่ไม่ได้วิธีละหรือขัดเกลากิเลส จึงหาทางที่ทำให้สงบจริงๆ หลวงปู่เคยสอนพระฝรั่งที่เรียนหนังสือจบชั้นสูงๆ ท่านบอกว่า ตัวเราจบปริญญาตรี กิเลสก็จบปริญญาตรีด้วย เราจบปริญญาโท กิเลสก็จบปริญญาโทด้วย เราจบปริญญาเอก กิเลสก็จบปริญญาเอกเหมือนกัน
 

ปัจจุบันเราไม่ได้มีสงครามอะไรใหญ่โตอีกแล้ว คนรุ่น Millennials หรือ Generation Y เหล่านี้ ควรจะสนใจเรื่องทางด้านจิตใจเหมือนกับคนรุ่นของท่านไหม

     สมควรอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ทุกวันนี้ไม่มีสงคราม แต่ความทุกข์ก็ยังเป็นเรื่องเก่า เรื่องว่าด้วยความหลง เช่น ค่านิยม หวังได้มีเงินมีทอง มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาในชีวิตจริงๆ มีเงินเยอะ มีบ้านสวย ไม่เห็นแก้ปัญหาของทุกคนได้ มีสิ่งของเยอะ แต่ไม่ได้ช่วยให้เรามีจิตใจที่สงบ แจ่มใส ในด้านหนึ่งมันก็ยิ่งชัดเจน บางทีคนรุ่นอาตมายังโทษสงครามได้ โทษรัฐบาลได้ แต่ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องของมนุษย์เรา ของจิตใจของเราเอง อย่างที่วัดอภัยคีรี มีชาวอเมริกันจำนวนมากมาแสวงหาความรู้ในการปฏิบัติ มีความประสงค์จะบวช พวกเขามากันไม่ขาด ประสงค์จะมาขอพักเพื่อปฏิบัติ ได้ความรู้
 

ชาวตะวันตกที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าอภัยคีรี พวกเขามีปัญหาอะไร แล้วเวลาที่ฝึกปฏิบัติพวกเขาทำได้หรือทำไม่ได้อย่างไร

     ส่วนมากเท่าที่ดูพบปัญหาเหมือนๆ กัน คือสังคมภายนอกไม่มีคำตอบที่ลึกซึ้งให้เขา เลยอยากหาอะไรที่มีความลึกซึ้ง มีความละเอียด เป็นความต้องการตามธรรมชาติของคนเราอยู่แล้ว สมัยนี้คนเขาค้นคว้ากันเองได้ง่าย เพราะว่าอินเทอร์เน็ตมันง่าย ข้อมูลเยอะ การฟังธรรมะ ศึกษาธรรมะ พระอาจารย์เก่งๆ ทุกคนก็ไปอยู่ในอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว (หัวเราะ)

     ดังนั้น คนส่วนมากเขาจะมีความรู้ความเข้าใจกันมาบ้างแล้ว บางคนเคยศึกษามาแบบอื่น พระอาจารย์ท่านอื่น ดีไม่ดีก็อาจจะเคยฟังธรรมะของอาตมาจากอินเทอร์เน็ตได้เยอะแล้ว เขายังเล่าให้ฟังว่าเราเคยสอนยังไงไว้บ้าง อาตมาก็งงๆ เหมือนกัน (หัวเราะ) เหรอ เคยสอนเรื่องนี้ไว้แล้วเหรอ แต่ดีนะ คือเขาตั้งใจ ถ้าจะพูดเปรียบเทียบถึงรุ่นของอาตมาที่เริ่มปฏิบัติกัน มีประสบการณ์น้อย ความรู้น้อยมาก แต่ว่าสมัยนี้คนมีพื้นฐานที่ลึกซึ้งกว่าหรือมีประสบการณ์ที่มากกว่า พอมาที่วัดก็อยากปฏิบัติอย่างนี้จริงๆ ทำให้สอนง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรามีข้อมูล เรามีความรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ตเยอะ แต่เวลาฝึกจริง ๆ มันก็ยาก
 

อยากทราบว่า จนถึงวันนี้ ภายในใจของท่านมั่นคงหรือว่ายังคงหวั่นไหวกับเรื่องอะไรอยู่บ้าง

     หวั่นไหวเมื่อไหร่มันก็ทุกข์เมื่อนั้น ดังนั้น ก็เลยไม่เอาแล้ว เบื่อทุกข์ (หัวเราะ) คนอื่นเขาพร้อมใจเอาของอะไรเข้าไปเพิ่มเติม แต่อาตมาไม่เอาแล้วล่ะ (หัวเราะ)

พระอาจารย์ปสันโน

ตัวเราจบปริญญาตรี กิเลสก็จบปริญญาตรีด้วย เราจบปริญญาโท กิเลสก็จบปริญญาโทด้วย เราจบปริญญาเอก กิเลสก็จบปริญญาเอกเหมือนกัน

พระอาจารย์ปสันโน

แต่ละครั้งที่กลับมาเยี่ยมเมืองไทย พบความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และรู้สึกว่ามันดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรบ้าง

     ทั้งสองอย่าง เพราะว่าอาตมาอยู่ในเมืองไทยมาหลายสิบปี อยู่แบบในสังคมจริงๆ จนบวช และไปเป็นเจ้าอาวาสในวัดที่อุบลฯ เมื่อได้กลับมาแต่ละครั้ง ก็เห็นคนเพิ่มขึ้น เห็นค่านิยมแบบวัตถุนิยมเพิ่มขึ้น เห็นความวุ่นวายเพิ่มขึ้น แต่ว่าตรงกันข้าม คนกลับสนใจในธรรมะเพิ่มขึ้นในรูปแบบของการแสวงหาครูบาอาจารย์ ที่วัดป่าก็ดี หรืออย่างพวกเราเดินเข้ามาในสถานที่นี้ เห็นครูบาอาจารย์ที่จะมาเทศน์ก็สายวัดป่าทั้งนั้น มีการนิมนต์ท่านมาสอนในเมือง นอกจากนั้นก็มีญาติโยมที่รวบรวมกันทำสถานที่เพื่อให้มีที่ที่เป็นกำลังใจของคนในสังคม เขาจะได้มีแนวคิด จะได้มีความเมตตา เป็นกำลังใจในการนำการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน

     นอกจากนั้นก็มีกลุ่มปฏิบัติธรรมทุกมุมของสังคม เขาจัดเป็นกลุ่มกันเล็กๆ ประชุมกันเอง แล้วทำกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นับเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ไม่ต้องรอไปวัดถึงจะได้ศึกษาหรือปฏิบัติ เรียกได้ว่าได้นิมนต์พระมาช่วยสอนบ้าง อาศัยญาติโยมที่ให้ความสนใจ เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกันด้วย และคนรุ่นเราเขาก็สนใจ นึกในใจว่า อย่างสมัยก่อน คนถามว่าพระอาจารย์ยังไม่แก่เลย ทำไมสนใจธรรมะ ก็ตอบว่า ต้องรอจนแก่จนเฒ่าหรือ แย่นะ (หัวเราะ)
 

พระอาจารย์มีความเชื่อว่า ในอนาคตพระพุทธศาสนาจะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นหรือตกต่ำลง สังคมโลกเราจะพัฒนาขึ้นหรือตกต่ำลง

     ก็ขึ้นอยู่กับเราในวันนี้ เช่น เมืองไทยเราจะรักษาและให้คุณค่ากับพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน มันก็จะค่อยเจริญ ค่อยสูง ขึ้นอยู่กับเรา เมืองนอกก็เช่นเดียวกัน แต่ที่อาตมาสังเกต ทั้งๆ กำลังมีคนสนใจเยอะ แล้วก็กำลังแพร่กระจายมาก อาตมาคิดว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับของการปูพื้นฐาน ยังอยู่ในระดับของการเริ่มต้น

     และนอกจากรูปแบบของพระพุทธศาสนาที่เป็นวัฒนธรรม พวกการฝึกสมาธิ กรรมฐาน ที่เมืองนอกกำลังนิยมกันทั้งบ้านทั้งเมือง เขามีกันหลายรูปแบบ และแพร่กระจายในทุกด้านของสังคม คือจะเห็นคุณค่าของการฝึกให้มีสติเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา แต่เขาไม่อ้างอิงพุทธศาสนา เขาจะเรียกสิ่งนี้ว่า mindfulness ใช้ในหลายๆ ที่ ในโรงเรียนก็ดี ในโรงพยาบาลก็ดี หรือแม้แต่ทางการทหารก็ดี เป็นเรื่องธรรมดา พอมีความคุ้นเคยกับ mindfulness หรือคุ้นเคยกับการนั่งสมาธิ คนส่วนหนึ่งก็จะเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ มันมาจากไหน สุดท้ายก็เชื่อว่าจะวนกลับมาที่พุทธศาสนา
 

คิดว่า mindfulness หรือการมีสติ มันจะทำให้สังคมโลกในอนาคตมีเมตตา มีความรัก มีสันติมากขึ้นไหม

     ถ้าหากว่าเขาใช้จริงๆ ก็จะได้ แต่มันขึ้นอยู่สัมมาทิฐิอีก เช่น ทหารเขาฝึกทหารให้มีสติ โดยเฉพาะพวกยิงปืนสไนเปอร์ เพราะว่าใจเขาต้องเย็น ก็แล้วแต่จะใช้ (หัวเราะ) คือมันเป็นดาบสองคม ถ้าไม่ได้ค้นคว้าว่ารับสติมาแบบไหน แล้วอยู่ในกระบวนการฝึกในชีวิตไปอย่างไร หลวงพ่อชาท่านก็เคยสอนเรื่องนี้เหมือนกัน ว่าถึงแม้คุณเป็นขโมย เป็นโจร ก็ต้องมีสติ ไม่งั้นก็โดนตำรวจจับ (หัวเราะ) ก็เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งของจิตใจแล้วแต่เราจะใช้
 

ถ้าเรายังไม่ทันได้ฝึกฝนจิตใจให้สูงส่งในระดับของท่าน เราจะทำใจให้เป็นกลางกับเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร

     คุณแค่เห็นทุกข์ นั่นคือแรงผลักดันสำคัญในการเริ่มต้นของการฝึกฝน เช่น เมื่ออาตมาตามมันทัน โอ้ ฉันไม่มีความสุข ฉันไม่พึงพอใจ แล้วผลที่ตามมาคือเราจะค่อยๆ ขัดเกลาจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งเดียวกับที่พระพุทธเจ้าสอนเกี่ยวกับทุกข์ ความทนทุกข์ ความไม่พอใจ หรือแม้กระทั่งความพึงพอใจ ความสุข ความคิดต่างๆ เมื่อเราลงไปถึงระดับรากฐานของความคิดเหล่านี้ และปฏิบัติตนไปเรื่อยๆ ก็เป็นการขัดเกลาให้ลงลึกไป ความทุกข์คือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ เหตุแห่งทุกข์คือสิ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยงหรือปล่อยวางก็ได้ ความรู้สึกทุกข์คือสิ่งที่เราต้องรู้เนื้อรู้ตัว การฝึกฝนแบบนี้เป็นรากฐาน จะทำให้เราลงลึกและขัดเกลาต่อไป

พระอาจารย์ปสันโน


FYI

วัดป่าอภัยคีรี เป็นวัดสาขาวัดหนองป่าพง ในสายหลวงพ่อชา สุภทฺโท แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซานฟรานซิสโก ‘อภัยคีรี’ มีความหมายว่า ‘ขุนเขาแห่งความปลอดภัย’ เป็นชื่อวัดโบราณในศรีลังกา ที่ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ต่างนิกายมาปฏิบัติธรรมร่วมกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี ด้วยความเชื่อว่า “ทุกชีวิตมีสิทธิ์ในการทำทุกข์ให้สิ้นได้เท่าๆ กัน” ปัจจุบันวัดป่าอภัยคีรีในอเมริกาก็ไม่แตกต่างกัน นั่นคือได้เปิดโอกาสให้ผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ รักในสติ รักในปัญญา ได้เข้าถึงความสงบ สัปปายะ เป็นธรรมชาติตามแนววัดป่าฝ่ายเถรวาท ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด นิกายไหน มีสีผิวอย่างไร ไม่เลือกเชื้อชาติ เพศ อายุ

ขอขอบคุณ: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (BIA) และวัดป่าอภัยคีรี