โลกดิจิตอลและเทคโนโลยีนอกจากจะเปลี่ยนหน้าจอใสๆ ของสมาร์ตโฟนให้กลายเป็นหน้าต่างที่เปิดกว้างให้เราได้พบกับใครต่อใครมากมายแล้ว ยังย่นย่อระยะความห่างไกลของกันและกันให้เหลือเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรถ้าคนสองคนจะเริ่มต้นรู้จักจากการกดไลก์เพจ ‘แม่สื่อแม่ชัก’ และลองเริ่มคบหากัน ซึ่งนอกจากจะเป็นสังคมสำหรับคนโสดที่ต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคนแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่รอให้กามเทพออนไลน์แผลงศรเข้าไปที่หัวใจของใครต่อใคร ซึ่งการพูดคุยกับ ‘เอ๋อ’ – อาธิดา โตสุวรรณ และ ‘โอห์ม’ – กษมา โสภาภัณฑ์ สองตัวแทนจากเพจนี้ ก็ยืนยันได้อย่างดีว่า แม้คนเราจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไฮเทคแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ต้องการใครสักคนมาทำให้หัวใจอบอุ่น และพองโตขึ้นอยู่ดี
จุดเริ่มต้นของเพจแม่สื่อแม่ชัก เป็นมาอย่างไร
อาธิดา: เราเป็นคนชอบแนะนำคนให้รู้จักกัน เคยแนะนำให้เพื่อนรู้จักกันจนแต่งงานกันไปแล้ว 2 คู่ เพื่อนจึงรู้สึกว่าเรามีความสามารถในการหาแฟนให้ได้ (หัวเราะ) แล้วเพื่อนก็จะมาบอกว่าหาแฟนให้หน่อย เราเลยเขียนโปรโมตให้เลย ถ้าสนใจก็ไปติดต่อกันเอง ตอนแรกเขียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ปรากฏว่าเพื่อนให้ความสนใจเยอะมาก ทั้งแชร์ ทั้งไลก์ เราเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่หนึ่งปีจนเพื่อนบอกว่าให้ทำเพจ แล้วก็ได้ พี่เป้ วงมายด์ คิดชื่อเพจให้ จึงชวนน้องชาย ‘อู๋’ – สิทธิเทพ โตสุวรรณ และเพื่อนๆ อย่าง ‘โอห์ม’ – กษมา โสภาภัณฑ์, ‘บี’ – มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์ และ ‘ขวัญ’ – ศิริขวัญ ชินโชติ มาช่วยกันทำ
เข้าใจว่าการจีบออนไลน์เป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ แต่อยากรู้ว่าวัยผู้ใหญ่เขาให้ความสนใจเพจของคุณบ้างไหม
อาธิดา: คนอายุมากที่สุดที่เคยลงในเพจคือประมาณ 40 ต้นๆ เราว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวกรองได้ในระดับหนึ่ง อย่างรุ่นพ่อแม่เราก็จะไม่ได้สนใจอะไรแบบนี้ แต่ถ้ามีวัยผู้ใหญ่ที่สนใจอยากลง ก็ลงได้
กษมา: เราจำกัดว่าคนที่มาลงต้องมีอายุ 20 ขึ้นไปด้วย แต่จริงๆ อายุลูกเพจไม่ค่อยกว้าง ถ้าดูจากอินไซด์ก็ประมาณ 25-30 ปี
ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากโลกออนไลน์ ถูกมองว่ารวดเร็ว ฉาบฉวย คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
อาธิดา: ความฉาบฉวยรวดเร็วเป็นที่ตัวบุคคลมากกว่า ถ้าฉาบฉวยในแง่ที่ว่าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เรามองว่าไม่ได้ผิดหรือแย่
กษมา: เรามองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ เพราะปกติถ้าคนเราไปเจอกันข้างนอก มีคนมาจีบ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขาเอง จริงๆ แล้วเฟซบุ๊กเป็นตัวกรองค่อนข้างดี เพราะเราได้เห็นสังคมของเขาคร่าวๆ ถ้าคุณโกหกจะมีคนเข้ามาตอบโต้เอง
อาธิดา: บางคนถามว่า ‘จะไม่มีคนมาหลอกกันหรอ?’ เราห้ามคนอื่นโกหกไม่ได้ แต่ถ้าเขาพูดไม่จริงหรืออวดอ้าง สุดท้ายจะมีคนมาบอกว่าจริงๆ เขาเป็นคนแบบไหน อาจเป็นแฟนเก่า เพื่อน หรือคนที่รู้จักเขา แล้วคอมเมนต์เหล่านี้เราจะไม่ลบทิ้งด้วย แต่ถ้าเป็นคอมเมนต์หยาบคาย สองแง่สองง่าม สร้างความเกลียดชัง หรือแสดงถึงการเหยียด เราจะลบและแบนทันที
ความรักที่เกิดบนโลกออนไลน์ คิดว่าไปด้วยกันได้ไหม
กษมา: ปัจจุบันทุกอย่างไปในโลกออนไลน์หมด มันก็โอเคนะ ที่ความรักจะเข้ามาทางออนไลน์ เป็นการเปิดโอกาสให้คนเจอสังคมที่กว้างขึ้น
อาธิดา: เป็นไปตามยุคสมัย อย่างยุคพ่อแม่เราเวลาจีบกันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง โทร.นัดกันกว่าจะมาเจอ ยุคเราอาจจะมีเพจเจอร์ มีมือถือ ยุคนี้มันก็มีช่องทางเพิ่มเข้ามา คือออนไลน์
กษมา: ถ้าจะพูดถึงเรื่องข้อควรระวัง โลกออนไลน์สร้างความกล้าให้คนเรามากขึ้น บางคนเปิดเผยตัวตน บางคนปิดกั้นข้อมูล เราคิดว่าผู้ใช้ต้องมีวิจารณญาณ มีสติรู้เท่าทันเทคโนโลยี และผู้ใช้ด้วยกันเอง ยังไงก็ต้องศึกษากันดีๆ
แล้วความหมายของคำว่า ‘แม่สื่อแม่ชัก’ สำหรับพวกคุณคืออะไร
อาธิดา: เป็นพื้นที่สำหรับคนโสดได้ประกาศตัวเองว่าโสด เหมือนเป็นบิลบอร์ด เป็นจุดที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาทำความรู้จักกัน
กษมา: ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับสมุดหน้าเหลือง แต่แทนที่จะรวมข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ เราก็รวมรายชื่อคนโสดแทน
อาธิดา: เรามองว่า แม่สื่อแม่ชักเป็นสังคมออนไลน์ของคนโสด เพราะกิจกรรมที่เราเล่นกันในเพจไม่ได้เน้นว่าจะต้องได้แฟนจากที่นี่อย่างเดียว แต่เป็นเหมือนมีที่ให้คนโสดได้ใช้เวลามากกว่า แล้วลูกเพจก็จะมาเล่นกันเอง คุยกันเอง
กษมา: แล้วเขาจะจีบกันเองด้วยนะ
อาธิดา: มีลูกเพจมาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า สาเหตุที่ทำให้เขาได้เป็นแฟนกัน ไม่ได้มาจากการได้ลงโพสต์ว่าโสด แต่เพราะเริ่มต้นคุยกันในคอมเมนต์
มีเหตุการณ์อะไรไหมที่รู้สึกประทับใจที่สุดตั้งแต่ทำเพจแม่สื่อแม่ชักมา เล่าให้ฟังหน่อย
กษมา: เรื่องประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ คือมีผู้หญิงที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่ง ที่เลิกรากับสามีไปแล้วไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย พอผู้หญิงได้มาลงเพจ ผู้ชายเห็นก็ติดต่อกลับมาแล้วคบกันใหม่อีกครั้ง (ยิ้ม)
อาธิดา: ตอนแรกเราไม่รู้เรื่องเลย แต่เขามาขอบคุณและเล่าให้ฟังว่าอดีตสามีเห็นโพสต์จากเพจก็ตกหลุมรักอีกครั้ง และกลับมารักกันใหม่ เราเป็นคนชอบเห็นคนรักกัน เป็นแฟนกัน พอมีลูกเพจมาบอกว่าเขาได้เป็นแฟนกัน ก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเกิดขึ้นได้จริง
ถ้าพูดถึงประสบการณ์ความรักส่วนตัวบ้าง เคยแอบส่องคนที่ชอบหรือแฟนเก่าบ้างไหม
กษมา: เรียกว่าเป็นความบังเอิญมากกว่า เราไม่ได้ตั้งใจ แต่พอเลื่อนฟีดแล้วเจอ ก็หยุดดูสักหน่อย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว เพราะความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เป็นเรื่องปกติ
อาธิดา: ส่วนมากจะส่องเมื่อขึ้นฟีดเหมือนกัน หรือมีเพื่อนมาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะลองเข้าไปดู (หัวเราะ)
คิดอย่างไรกับประเด็นน่าปวดหัวอย่าง ‘อ่านแล้วไม่ตอบ’
กษมา: โดยนิสัยส่วนตัวถ้าเขาไม่ตอบเรา เราก็รู้ตัวแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป เป็นคนไม่ตื๊อ แล้วก็รู้สึกว่าบางทีการที่เขาไม่ตอบ เพราะเขาอาจจะคิดว่ามันเป็นมารยาทที่ดีที่สุดสำหรับเขา เราก็ไม่ได้ไปตัดสินเขาว่าการไม่ตอบคือไม่มีมารยาท บางทีเขาอาจจะทำตัวไม่ถูก หรือว่าบางทีเราอาจจะทำอะไรเยอะเกินไป จนเขาไม่รู้ว่าจะตอบมาแบบไหน เราก็แค่แยกย้าย
อาธิดา: ส่วนตัวนะเราเป็นคน ‘ช่างแม่ง’ ไม่ตอบก็ไม่ต้องตอบ คือถ้าเขาไม่อยากคุยกับเรา สมมติว่าไม่ตอบเลยในเรื่องที่เราทำอะไรผิดแล้วโกรธ เราก็คงจะง้อ แต่ถ้าอยู่ๆ ก็ไม่ตอบ ก็ไม่เป็นไร เทกันไป รู้สึกว่าไม่มีมารยาทในการอ่านแล้วไม่ตอบ
คำถามสุดท้าย ถึงตอนนี้ถ้าจะให้พวกคุณนิยามคำว่า ‘ความรัก’ คุณจะนิยามคำนี้ว่าอะไร
อาธิดา: เหมือนกับพ่อแม่พี่น้อง เราอยู่กับพ่อแม่เราก็สบายใจ เราอยู่กับพี่น้องเราก็สบายใจ เพราะฉะนั้น กับคนรักก็ควรเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
กษมา: ความรักคือการเป็นตัวของตัวเอง อยู่ด้วยกันแล้วเป็นตัวของตัวเองได้ และหวังดีต่อกัน แค่นี้โอเคที่สุดแล้ว เพราะสุดท้ายเมื่อมีปัญหาอะไรเข้ามา ถ้าเราหวังดีต่อกันก็จะไม่ทิ้งกันไปไหนอยู่แล้ว (ยิ้ม)