Agriac ธุรกิจที่ส่งเสริมชาวสวนยางให้ภูมิใจในตนเอง และตอบโจทย์ความยั่งยืนในเวลาเดียวกัน

        ธุรกิจ ‘ความยั่งยืน’ ทำได้จริงหรือขายฝัน ?

        นี่คือประโยคตั้งต้นของ ไหม – ไหมแพร โลเยน และ ออย – กัญญาวีณ์ ศิริสุวัฒน์ สองสาวผู้ก่อตั้ง ‘Agriac’ บริษัทที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนยางรายย่อยในภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อหาคำตอบข้างต้นว่า ถ้าทำธุรกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนจะทำให้ชีวิตยั่งยืนจริงๆ ใช่ไหม​

        ทุกวันนี้บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ มักจะพ่วงด้วยคำว่า ‘ความยั่งยืน’ จนเกลื่อนตา บริษัทใหญ่ๆ ลุกมาทำอาจไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเงินทุนและคนมากกว่า แต่หากมองอีกมุมหนึ่งถ้าเป็นบริษัทของคนตัวเล็กๆ ที่อยากลุกมาทำเรื่องความยั่งยืนบ้าง จะเป็นไปได้ไหมและจะทำอย่างไรให้แนวคิดนี้ยืนระยะได้จริงๆ ในระยะยาว  

        พวกเธอจึงอยากพิสูจน์คำถามดังกล่าว บวกกับประสบการณ์ของสองสาว ที่คลุกคลีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางมานานหลายสิบปี ทั้งฝั่งของชาวสวนและบริษัทแปรรูปจนชำนาญ และเกิดความพร้อมที่จะลงมือทำธุรกิจยางในช่วงกลางของชีวิต ด้วยเงินทุนของตนเองทั้งหมด

ยางไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก?

        ก่อนพูดถึงการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ขอชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ยาง’ สักนิดหนึ่ง อย่างแรกเลยที่เราต้องรู้ก็คือ ยางเป็นสินค้าที่เป็น ‘วัตถุดิบ’ เหมือนกับน้ำตาล ผัก หรือผลไม้ อธิบายง่ายๆ คือ เป็นสินค้าที่ไม่มีความแตกต่างในท้องตลาด คนซื้อไม่ได้สนใจว่าจะแบรนด์อะไร ขอแค่ดูราคากับคุณภาพเท่านั้นพอ

        อย่างที่สอง พื้นที่ทำสวนยางน้อยลงและชาวสวนมีอายุมากขึ้น เดิมชาวสวนมีพื้นที่ 40 ไร่/ครัวเรือน และอายุของหัวหน้าครัวเรือนเฉลี่ย 35 ปี เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี ทุกวันนี้ชาวสวนมีพื้นที่ 15 ไร่/ครัวเรือน และอายุของพวกเขาที่แก่ลงเรื่อยๆ เฉลี่ย 55 ปี เนื่องจากเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่แบ่งที่ดินให้ลูกหลานของตนเอง ซึ่งพวกเขาก็เลือกที่จะขายเอาเงินหรือปลูกเป็นที่อยู่อาศัย มากกว่าสานต่อทำอาชีพสวนยางจากรุ่นพ่อแม่

        อย่างที่สาม เรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษโดยตรง อย่างรถยนต์ ต้องหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งยางก็เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตรถยนต์ เฉพาะล้อรถยนต์ก็ทำจากยางกว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ดังนั้นการทำสวนยางจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน และต้องหาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด

        และอย่างสุดท้าย เมื่อพื้นที่สวนน้อยลงและคนทำงานอายุมากขึ้น ก็ทำให้การผลิตยางในไทยลดลงกว่าเคย รวมถึงการที่ราคายางพาราบ้านเราพุ่งถึงกิโลกรัมละ 60 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในต่างประเทศที่ให้ราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท เพราะบางประเทศมีรัฐบาลคอยสนับสนุนพื้นที่และแรงงานอย่างเต็มที่ ก็สรุปได้ว่า ยางไทยหากมองในแง่การผลิตก็เรียกว่า แพ้คู่แข่งทุกทางเลยทีเดียว

ข้อจำกัดหรือโอกาส?

        เมื่อมองดีเทลของการทำสวนยางไทย หากจะทำธุรกิจยางให้ยั่งยืนในระยะยาว ก็ควรต้องเริ่มจากการทำธุรกิจให้ตรงตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล ออยและไหมเลยเลือกพัฒนาธุรกิจยางให้ตรงกับเกณฑ์ขององค์กรนานาชาติที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนการดูแลป่าไม้ทั่วโลก (Forest Stewardship Council: FSC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนเองกำลังทำ

        โดยมีหลักเกณฑ์คร่าวๆ เช่น ต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ละเมิดสิทธิ ไม่มีการบังคับหรือกดขี่ใช้แรงงานทาส การใช้ผลประโยชน์จากป่าไม้อย่างเต็มที่ การดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การจ้างงานอย่างเป็นธรรม ทำงานถูกต้องตามกฎหมายและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

        หากย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เล่าเรื่องการทำสวนยางไทยก่อนหน้านี้ อ่านแล้วอาจจะคิดว่ายางมีข้อจำกัดมากมายที่ยากจะฟันฝ่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มันก็สามารถพลิกเป็นโอกาสที่จะทำให้ตรงกับเกณฑ์มาตรฐานของ FSC ได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทำสวนยางในภาคใต้เป็นหน่วยขนาดเล็ก ทำในที่ดินของตนเองและคนงานเป็นคนรุ่นพ่อแม่ จึงทำให้หลุดพ้นข้อกำหนดการไม่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงไม่มีการบังคับแรงงานทาสและเด็กอย่างแน่นอน เพราะพวกเขามักจะเน้นส่งลูกๆ ไปเรียนหนังสือนั่นเอง

        ในมุมของสิ่งแวดล้อม ด้วยไลฟ์สไตล์ของชาวบ้านที่ชอบปลูกพืชสวนครัวจุกจิก ในสวนยางก็มักจะมีพื้นที่ปลูกพริก กระเทียม มะละกอ มะม่วง หรือปลูกสวนดอกไม้ไว้ไหว้พระ รดน้ำทีหนึ่งก็ได้รดน้ำต้นไม้อื่นๆ ไปด้วย เหล่านี้เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เช่น พืชหรือสัตว์ที่เติบโตและอยู่อาศัยหลากหลายในระบบนิเวศเดียวกัน

        มากไปกว่านั้นการทำสวนในพื้นที่ของตนเอง ก็ไม่ค่อยมีการใช้ปุ๋ยสารเคมีอันตราย เพราะคงไม่มีใครอยากเอาสารพิษเข้าไปในบ้านของตนเอง รวมถึงลดต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายไปในตัว เพราะยาฆ่าแมลงก็ต้องใช้เงิน เหล่านี้จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบของชาวสวนยางไทยที่สามารถแข่งขันเรื่องความยั่งยืนได้ดีกว่าคู่แข่งต่างประเทศ ที่บางแห่งอาจต้องบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน หรือเกณฑ์แรงงานทำงานอย่างหนัก 

แก่นธุรกิจ เติบโตไปด้วยกัน

        ไหมและออยเห็นโอกาสในการทำธุรกิจสวนยางให้ตรงกับมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงอยากให้ Agriac เป็นตัวแทนที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนยางให้เติบโตไปพร้อมกับการทำธุรกิจ โดยทำหน้าที่เหมือนเป็นคนจัดการ (Co-Management) ทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรและส่งต่อวัตถุดิบให้กับบริษัท รวมถึงเชื่อมต่อกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ 

        เช่น จับมือกับมหาวิทยาลัยในการวิจัยพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งแนะนำหรือให้ความรู้กับชาวสวน อย่างการใส่หรือไม่ใส่กรดในดินจะเป็นอย่างไร ดินแบบนี้ควรปลูกอะไร หรือหากเกษตรกรปลูกพืชอื่นๆ ก็หาบริษัทที่รับซื้อวัตถุดิบดังกล่าวให้ด้วยเช่นกัน

        สำหรับคุณภาพของชีวิตชาวสวน ทางบริษัทสนับสนุนให้ทุกคนมีบัญชีของตนเอง เนื่องจากการสำรวจพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเงินและสวัสดิการต่างๆ จะนับจากหัวหน้าครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นคนที่ทำงานกับ Agriac ก็จะได้เงินเข้าบัญชีโดยตรง มากไปกว่านั้นยังสามารถนำสลิปเงินเดือนทำธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้น เช่น กู้ซื้อบ้านหรือเปิดบัตรเครดิต 

        แม้ว่าชาวสวนส่วนมากเป็นวัยสูงอายุ แต่ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงาน เนื่องด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีทั้งการทำธุรกรรมทางเงินผ่านสมาร์ตโฟน ก็ช่วยประหยัดเวลาในการใช้ชีวิตเพราะสมัยก่อนชาวสวนก็จะเดินทางไปธนาคารเป็นหลัก

        ชาวสวนในปัจจุบันเป็นวัยสูงอายุ แม้จะมีภาพจำว่าทำงานไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพ แต่ความเป็นจริงแล้ว พวกเขาความจำดีมาก สามารถบอกได้เลยว่า ในพื้นที่มีต้นยางทั้งหมดกี่ต้น กี่ไร่ หรือต้องรดน้ำเวลาไหน รวมถึงตื่นแต่เช้าทำงานอย่างเป็นระบบ เรียกได้ว่าเป็นพนักงานมากประสบการณ์คนหนึ่งเลยทีเดียว

        อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรภูมิใจในงานตนเองมากขึ้น คือการที่ทำให้เกษตรกรรู้ว่า วัตถุดิบที่ตนเองส่งไปขายนั้นเอาไปทำสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง รวมถึงบริษัทดังกล่าวให้คุณค่าแก่พวกเขา “แต่ก่อนชาวสวนไม่รู้หรอกว่า ตัดยางไปให้ใคร หรือยางกรีดเสร็จแล้วไปไหนต่อ พอเขารู้ว่า มันเอาไปทำสินค้านี้ๆ ที่อยู่ในห้างฯ ชั้นนำเลยนะ เขาก็ภูมิใจมากเลย” ออยเล่าความรู้สึกของชาวสวนที่คนมักไม่ค่อยรู้

3 ปีกับการค้นหาคำตอบ

        เมื่อมีการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการบริหารคนในเครือข่ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจนทุกอย่างเป็นระบบ หากย้อนกลับไปถามออยและไหมกับคำถามตั้งต้นแรกว่า การทำธุรกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนจะทำให้ชีวิตยั่งยืนจริงไหม หลังจากพวกเขาลงมือทำประมาณสามปีก็ได้พบคำตอบว่า

        “เราเห็นผลลัพธ์ทั้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ไร่เพาะปลูกยางมากขึ้น ทุกคนมีความสุขมากขึ้น คิดว่ามันทำให้ยั่งยืนได้จริงๆ แต่ตอนแรกๆ มันก็เหนื่อยนะ แต่ตอนนี้มันเห็นผลตอบแทนออกมา ตอนนี้รู้สึกสนุกละ (หัวเราะ)”

        “เราค้นพบว่า ผลลัพธ์ของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนไม่ได้มีแค่เงินเพียงอย่างเดียว สิ่งที่มันชุบชูชีวิตให้คนเดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยคือความหวังและความภาคภูมิใจ การทำให้คนทำงานเกษตรกรรมมีความภาคภูมิใจในงานของตนเองที่ฉันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนโลกนี้ได้ด้วยเหมือนกัน นั่นแหละคือความสุขที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน”


เรื่อง: จารุจรรย์ ลาภพานิช ภาพ: พิชญุตม์ คชารักษ์