ศิลปะเริ่มสาดสีสันเข้ามาอยู่ในชีวิตของ ครูปาน สมนึก คลังนอก ตอนอายุ 7 ขวบ โดยเริ่มจากการเขียนจดหมายหาพี่สาวแล้ววาดการ์ตูนส่งไปด้วย
คำชมจากพี่สาวว่าวาดสวย คือแรงบันดาลใจชั้นดีให้เด็กชายคนหนึ่ง ตั้งอกตั้งใจวาดรูปอย่างจริงจัง เขาจึงตะลุยวาดภาพเท่าที่จะวาดได้ เท่าที่พื้นที่และอุปกรณ์จะอำนวย
“เรียกว่าวาดไปเรื่อยนั่นแหละ วาดโอ่ง วาดฝาผนัง เห็นอะไรก็วาด เห็นพื้นว่างๆ เนี่ยไม่ได้เลย เวลาไปทุ่งนา เวลาไปถนน ฝนตกใหม่ๆ เห็นพื้นมันเรียบๆ เนี่ย ตาย คันไม้คันมือ ต้องไปหยิบกิ่งไม้เอามาเขียน”
เพราะการเกิดมาในครอบครัวชาวนาในจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ได้อนุญาตให้สามารถหมดเปลืองเงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก ไปกับการสร้างงานศิลปะที่ในยุคสมัยนั้นไม่มีใครในครอบครัวนึกออกว่าจะทำมาหากิน สร้างงานสร้างอาชีพ หรือรายได้อะไรให้กับครอบครัวได้มากไปกว่าการทำนาและการรับจ้างทั่วไป
“ตอนเด็กๆ บ้านเราไม่ได้เป็นคนมีสตางค์อะไรเลย จำได้ว่า พ่อไปทำงานซาอุฯ ช่วงหนึ่ง กลับมามีเงินก็ซื้อทีวี แล้วคนทั้งหมู่บ้านก็มานั่งดูกัน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีเงินเป็นกอบเป็นกำอะไรอีก กินข้าวก็ต้องไปหาข้าวกินเองตามประสา ทำกับข้าวเอง ตื่นแต่เช้าตี 4 ตี 5 เพื่อเอาควายไปปล่อยไว้ที่ทุ่งนา ไปช่วยพ่อแม่ กลับมาก็ต้องทำกับข้าวกินเอง ทุกวันเราจะต้องคิดแล้ว เฮ้ย วันนี้ฉันจะกินอะไร ตื่นเช้ามามาไปทุ่งนา ไปหาปลา ไปหากุ้ง มาทำกับข้าวกินเอง นึ่งข้าวเองอะไรเอง ก็ต้องก็เรียกว่าจนนะ รองเท้าไปโรงเรียนยังแทบจะหาไม่ได้เลย”
ช่วงเวลานั้น ครูปานไม่ได้มองว่านี่คือชีวิตที่ลำบากลำบน รู้แค่มันเป็น ‘สีสัน’ ของชีวิต เพราะการไปใช้ชีวิตกลางทุ่งนาแบบนั้นเอง ที่ทำให้เขาได้ชื่นชมสีสันของธรรมชาติด้วยสายตาของเด็กคนหนึ่ง ที่ประทับใจไปหมดกับสีสันของพระอาทิตย์ตกดิน ต้นไม้ใบหญ้า ต้นข้าว แม้กระทั่งภาพควายที่เอาหน้าจุ่มลงไปกินน้ำที่ท่วมในคันนา
แม้ความรักในศิลปะ จะได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ช่วงเวลาที่มันเริ่มผลิบาน เห็นดอกเห็นผล กลับเป็นช่วงที่เขาบวชเรียนเป็นสามเณรอยู่ 8 ปี และบวชเป็นพระอยู่อีก 4 ปี รวมเป็น 12 ปี ในร่มกาสาวพัสตร์ ที่ทำให้สีสันของความสุขเปลี่ยนเฉดไป และได้เรียนรู้อีกด้านของชีวิต
แต่ทั้งหมดนี้และอีกหลายๆ รายละเอียดในชีวิต หนักบ้าง เบาบ้าง ครูปานมองว่ามันคือความสุขในชีวิตและหลายๆ คนก็เคยครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาก่อน เพียงแต่วันหนึ่งเราอาจทำหายไป และหนทางเดียวที่เราจะได้กลับมาครอบครองมันอีกครั้งก็คือการค้นหา ผ่านการทำความรู้จักกับตัวเอง ถามไถ่ตัวเองบ้างว่าเราคือใคร และเราต้องการอะไรกันแน่ในชีวิต
นิทรรศการที่ชื่อ ‘Cocoon: lost and Found’ ที่คล้ายกับเป็นนิทรรศการชีวิตครั้งใหญ่ที่สุดของครูปาน ทำให้เราฉุกคิดเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ยาก
การพูดคุยกับครูปานในวันนี้ จึงเหมือนการเข้าไปเยี่ยมชมนิทรรศการชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่เราเชื่อว่าในนั้นจะมีภาพสักภาพที่คุณชอบที่ตรงกับชีวิตที่คุณตามหา
ที่คุณตอบคำถามตัวเองได้ว่า แล้วความสุขที่หายไปของคุณคืออะไร?
ครูปานเชื่อว่าศิลปะมันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไหม
เชื่อนะครับ ครูปานว่ามันเกิดที่อุปนิสัยของเรา ตอนเด็กๆ สมัยที่อยู่บุรีรัมย์ จำได้ว่า เฮ้ย ทำไมเวลาไปนั่งไปนอนที่เถียงนา มันมีความสุขจัง ตอนฝนตกแล้วพ่อแม่ดำนาอยู่ เราก็คิดว่าทำไมน้ำที่หยดลงจากหลังคาหญ้าคามันสวยอย่างนี้ นั่งมองได้เป็นชั่วโมง เวลาหน้านา น้ำท่วมคันนาเราก็ขี่หลังควายไปในนา แล้วเวลาควายมันเอาหน้ามุดน้ำในคันนาลงไปกินหญ้าใต้นั้น เรารู้สึกเลยว่าเป็นภาพที่สวยมาก หรือเวลาเข้าป่าไปเก็บเห็ด เด็กคนอื่นๆ เขาก็หาเห็ดกันไปตามปกติ แต่เรากลับชอบมองความสวยงามของเห็ด (หัวเราะ) เช่น เห็ดอันนี้สีเขียวสวยจังเลย หรือเห็ดเหลืองๆ ที่บ้านเราเรียกเห็ดเหลืองโมก ก็สวยมากๆ มันมีกระเปาะขาวๆ อยู่ข้างล่างแล้วเป็นแท่งขึ้นมา เรารู้สึก appreciate กับความสวยงามรอบตัวมากๆ เช่น ฝนแรกของปีจะทำให้ดินหอม เราก็ชอบไปเดินเล่น เหมือนเราเห็นมากกว่าคนอื่น สังเกตมากกว่าคนอื่น และรู้สึกมากกว่าคนอื่น
คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนเป็นศิลปินเหมือนกันนะ ครูปานว่าไหม?
ครูปานว่ามีส่วนสำคัญมาก ศิลปินจะต้องมองเห็นอะไรมากกว่าคนอื่น รู้สึกมากกว่าคนอื่น สามารถมองเห็นความงามในสิ่งต่างๆ เพราะว่ามุมมองคนเราไม่เหมือนกัน บางคนขับรถไปถนนเดียวกัน ต้นไม้ ดอกไม้ออกดอกเต็มถนน ยังมองไม่เห็นเลย เพราะว่าไม่ได้สนใจ แต่เรานะ เห็นต้นไม้ออกดอกสีชมพูทั้งต้นก็รู้สึกดีแล้ว
เห็นความงามนี่พอเข้าใจนะ แต่เห็นความไม่งามได้ด้วยไหม
เห็นความไม่งามได้ด้วยไหม? ก็ต้องเห็นได้ด้วยสิ ความงามกับความไม่งามมันอยู่คู่กัน เออ มันต้องเห็นว่าไม่งาม แล้วจะทำยังไงให้มันงาม เหมือนเวลาเราทำงานเลยครับ สมมติรูปเราวาดภาพ เราจะคิดว่า เฮ้ย ตรงนี้ยังไม่สวย เติมอะไรเข้าไปอีกดี ใส่สีอะไรเข้าไปอีกดี แล้วจริงๆ ความไม่งามก็เป็นความงามได้ มันแล้วแต่เราคิด มันขึ้นอยู่กับมุมมองเรา บางทีเราเห็นว่าตรงนั้นไม่งาม แต่บางคนกลับเห็นว่างามด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นความไม่งามก็อาจจะเป็นความงามได้
แล้วครูปานว่า ความทุกข์เป็นความงามหรือไม่งาม
สำหรับครูปาน ความทุกข์เป็นความไม่งาม แต่เราก็เติมความงามให้มันได้ แล้วมันก็จะกลายเป็นความสุขไงครับ เพราะถ้าเราแยกสุข ทุกข์ เป็นขาวกับดำ คุณจะแยกความทุกข์เป็นขาวหรอ ก็ไม่นะ เพราะว่ามันคือความดาร์ก มันคือความทุกข์ เพราะฉะนั้น ความทุกข์ไม่มีทางที่จะเป็นความงามได้ แต่อย่าลืมว่าสุขและทุกข์มันคือนามธรรม มันขึ้นอยู่กับใจเราคิด ตาเรามอง เราเห็นแล้วเราคิดยังไงกับมัน เพราะฉะนั้นคุณต้องคิดให้ดีนะ ไม่อย่างนั้นคุณก็ทุกข์เปล่าๆ คิดให้ทุกข์ก็ทุกข์ คิดให้สุขก็สุข มันง่ายอย่างนั้นเลย
สำหรับคนอื่น มันอาจจะไม่ง่าย
ก็อาจจะไม่ง่าย แต่จริงๆ แล้วง่ายนะ (หัวเราะ) คุณคิดไปเอง เหมือนคนบอกว่า ทำไมครูปานมีแต่ความสุข เฮ้ย ฉันก็มีความทุกข์เหมือนกัน แต่มันอยู่ที่มุมมอง ถ้าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ของคน และความตายคือความทุกข์ที่สุด เราจะเห็นว่ามีคนมองมุมใหม่เยอะแยะไป เพราะในเมื่อความตายมันเป็นทุกข์ที่หนีไม่พ้น เขาก็พร้อมที่จะตายนะ แต่ระหว่างทางมันต้องมีความสุขในชีวิตด้วย ถึงเวลาทุกคนก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นเราจะไปเพ่งเล็งกับไอ้ความทุกข์นี้ทำไม เราก็ต้องหาทางหลุดพ้น ต้องหาทางกำจัดความทุกข์นี้ โดยการทำใจของเราให้เป็นสุขในความทุกข์ที่เราต้องเจอ ถ้าเรามัวแต่ไปทุกข์กับมันมากๆ มันก็ยิ่งทุกข์ซ้ำเข้าไปอีก
พูดเรื่องนี้ ทราบว่าครูปานบวชมาก่อน?
ใช่ครับ บวชทั้งหมด 12 ปี เป็นเณร 8 ปี เป็นพระอยู่อีก 4 ปี ตอนที่บวช เพราะบ้านไม่มีสตางค์ แล้วคนต่างจังหวัดก็คิดว่าไปบวชเรียนนี่แหละ ยังไงก็ไม่อด ได้เรียนด้วย แต่จะว่าไป ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้นะว่าทำไมเราต้องมาบวช เหมือนโดนตาหลอก (หัวเราะ) ตาบอกว่าให้มาอยู่วัง พื้นเป็นไม้สักขัดเงาอย่างดีเลย นี่ก็นึกในใจว่าตัวเองเป็นโสนน้อยเรือนงาม จะได้ไปอยู่ในวังด้วย แต่ก่อนเข้าไปต้องสอบด้วยนะ เราก็คิดๆ นะว่า แล้ววังเขาต้องมีพระด้วยเหรอ? (หัวเราะ) แต่เราเป็นคนว่าง่าย เป็นคนเรียบร้อย แม่ให้ทำอะไร ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรเราก็ทำ พอมาถึงวัง โอ้โห อยู่กลางทุ่งเชียว อยู่อำเภอวังน้อย ที่อยุธยานี่แหละ (หัวเราะ) ที่นั่นคือ มหามกุฏราชวิทยาลัย แล้วทีนี้ช่วงอยู่ ม.2 อายุประมาณ 14 มีการประกวดวาดรูปในวัด แล้วเราก็แบบ เฮ้ย ฉันอยากลองวาดดูเพราะฉันชอบวาดตั้งแต่เด็ก แต่ปรากฏว่า เอ้า วาดออกมาสวยเลย ประกวดได้ที่ 1 ด้วย แล้ววาดแข่งกับใครก็ชนะมาตลอดทุกชั้นปี ไล่ไปจนถึง ปี 4 ทุกคนสู้เราไม่ได้เลย
ทำไมถึงวาดได้นะ?
ก็ไม่รู้ มันวาดได้เองเลย ตาเราเห็นแล้วก็วาดออกมาเอง ตอนนั้นยังวาดภาพเหมือนอยู่ วาดจากภาพถ่าย พอวาดได้ก็เลยฮึกเหิม ทีนี้ก็เลยเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือพวก กายวิภาคอะไรทั้งหลายทั้งปวง เพื่อวาดให้มันเหมือน แล้วห้องสมุดที่วัดนั้นคือดีมาก มีหนังสือทุกประเภท และหนังสือศิลปะทุกเล่มครูปานอ่านหมด หนังสือศิลปินเอกของโลก ศิลปินเอกของไทย ศิลปะไทย ศิลปะล้านนาอะไรก็อ่านหมด เพราะว่าสนุก เรายอมสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเพื่อจะได้ตัดหนังสือพิมพ์มติชนเก็บไว้ ตอนนั้นจำได้เลย มันมีหน้าเยาวชน เป็นหน้าสี มีรูป painting ของเมืองนอก แล้วเขียนอธิบายว่าคนนี้เป็นใครวาดรูปนี้ปีไหน เราตัดเก็บไว้เป็นเล่มๆ เลย แต่การเรียนของเราก็ยังต้องเรียนต่อไป พออายุ 15 เราก็สอบได้มหา แต่จุดเปลี่ยนคือตอนอายุ 16 มีโยมคนหนึ่งชื่อหม่อมราชวงศ์ทัศนีย์ สุทัศนีย์ โยมคนนี้ไปทำบุญที่วัด เป็นกรรมการวัด มาช่วยพัฒนาวัด ทำโรงครัว ทำหอฉัน ทำตึกให้เณร แล้วทีนี้อาจารย์ที่วัดเขาบอกว่าเณรคนนี้วาดรูปได้ เดี๋ยวให้เณรวาดรูปให้คุณหญิงรูปหนึ่งเป็นการตอบแทน เราก็วาดรูปให้ แล้วคุณหญิงก็นิมนต์มาคุยด้วยก็เลยรู้ว่าเรารู้เรื่องศิลปะ ศิลปินระดับโลกเยอะมาก รู้จักปิกัสโซ โมเนต์ ทั้งที่มาจากต่างจังหวัด เคยทำนา เลี้ยงควาย แต่ทำไมมีความรู้เรื่องพวกนี้ จากนั้นเราก็ได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิง ทั้งเรื่องหาคนมาสอนและอุปกรณ์การเรียน ตอนนั้นเราก็พัฒนาฝีมือตัวเองมาเรื่อยๆ จนมีความคิดว่า พอจบ ม.6 เราจะลาออกไปสอบเข้าศิลปากรแล้ว เพราะชอบวาดรูป อยากเรียน fine arts แต่พอถึงเวลาจริงๆ พ่อเรามาเสียตอนปีที่เรียนจบ คือตอนเราอายุ 18 พอดี
ตอนนั้นเลยคิดว่า ถ้าเรียนศิลปากรต้องใช้เงินเยอะแน่ๆ แล้วบ้านเรามีพี่สาว 3 คน มีแม่ มีหลานอีก 6 คน ถ้าสึกออกมาต้องไม่รอดแน่ๆ ความที่ไม่อยากเป็นภาระที่บ้าน ก็เลยคิดว่าจะไม่สึก จะอยู่วัดบวชเรียนจนจบปริญญาตรี ทีนี้ก็ไปบอกคุณหญิง ที่เป็นเหมือนโยมอุปัฏฐายิกาไปแล้วว่า อาตมาไม่สึกแล้วนะ คงเรียนไปจนจบปริญญาตรี แต่อาตมายังชอบวาดรูปอยู่ แค่คิดว่า อนาคตทางศิลปะคงไม่มีแล้ว ต้องพักไว้ก่อน คุณหญิงเลยบอกว่า ให้เรียนไปก่อน เรื่องศิลปะเดี๋ยวไปขอหลวงพ่อให้มาเรียนที่ กรุงเทพฯ ก็เลยได้มาเรียนกับ ครูโต หม่อมหลวง จิราธร จิระประวัติ เรียนที่ เดอะ พรอมานาด ปาร์ค นายเลิศ สมัยนั้น ต้องนั่งรถเมล์จากอยุธยามาเรียนทุกวันอาทิตย์ พอมาเรียนแล้วรู้สึกเปิดโลกมาก เพราะก่อนหน้านั้นเราเรียนแบบไม่มีทิศทาง พอไปเรียนกับครูโตที่สอนให้ผสมสี ก็ต้องหัดมองสีให้ละเอียดขึ้น ครูโตก็บอก ท่านมองไปที่ใบไม้ว่ามีกี่สี เขียวมีกี่เฉด เขียวนี้ผสมสีนี้จะได้สีแบบไหน ตอนนั้นมองอะไรสายตาเราก็จะแยกสีไปหมดเลย สนุกมาก เห็นรายละเอียดของสีสันได้เยอะขึ้น แต่เราก็ทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรก ไม่ได้คิดว่าจะทำมาหากินเป็นอาชีพ เรียนจบปริญญาตรี เราก็ไปทำงานด้าน passenger service ที่การบินไทย ตอนทำงานก็มาอาศัยบ้านคุณหญิงอยู่ แล้วค่อยๆ ขยับขยายไปหาบ้านอยู่เองตอนที่เราพอมีกำลัง
ตอนนั้นทำไมคิดว่าจะทำงานศิลปะเป็นแค่งานอดิเรก?
มันนึกไม่ออกว่าจะเป็นรายได้ยังไง รู้แค่มันเป็นความรักความชอบ แต่ด้วยปัจจัยทั้งหลายแหล่ในชีวิตมันคิดไม่ออกน่ะ คือเราเป็นชาวนา รอบตัวเราไม่เคยมีใครมาเสียตังค์ซื้อรูป
นึกไม่ออกว่าฉันจะทำมาหากินยังไง?
ใช่ๆ นึกไม่ออกว่าจะขายรูปได้มากเท่าไหร่ ถึงจะอยู่ได้ เมื่อก่อนอ่านนิตยสารแฟชั่นทั้งหลาย เราไม่อยากจะเชื่อว่ากระเป๋าใบนึงมันจะราคา 25,000 ได้ยังไง หรือกระเป๋าใบละเป็นแสนนี่คือไม่เชื่อสายตาตัวเอง ยังคิดเลยว่า พิมพ์ผิดเปล่าวะ (หัวเราะ) ในชีวิตเราไม่เคยมีอะไรแบบนั้นเลย เราไม่เคยได้สัมผัส คิดจะซื้อกระเป๋าใบละ 500 ยังคิดว่าแพง ซื้อรองเท้าราคาหนึ่งพันยังเหงื่อแตก เอาเป็นว่า เงินร้อยบาทแรกที่พี่สาวให้สมัยเด็กๆ นี่ยังจำได้จนทุกวันนี้ คิดว่าทำไมพี่ให้เงินเยอะขนาดนี้ เพราะสมัยนั้นตอนอยู่ ป.1 ไปดำนาทั้งวันได้ 50 บาท ปวดหลัง โดนปลิงเกาะขาเพียบ แต่ได้แค่ 50 บาทเองนะ เพราะฉะนั้นการได้เงินมา 100 จากพี่สาวคือเรื่องยิ่งใหญ่แล้ว ชีวิตมันไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น อาหารการกินเราก็หากินเอง อยากกินปลาก็ไปหาเอง เราไม่คิดว่ามันลำบาก แต่การซื้อปลากระป๋องกินนี่ถือเป็นเรื่องหรูสำหรับเด็กอย่างเรา เพราะต้องเสียเงินซื้อ แล้วชีวิตแบบนั้นจะไปคิดเรื่องการทำงานศิลปะเพื่อหาเงินได้ยังไง เรานึกไม่ออกเลย
แล้วไปๆ มาๆ มาเป็นศิลปินเต็มตัวตอนไหน ยังไง?
ก็ทำงานการบินไทยอยู่สักพัก ก็เริ่มคิดถึงการวาดรูป วันดีคืนดีก็โทรหาครูโต บอกว่าคิดถึงการวาดรูป แล้วประเด็นคือเราไม่ได้สนุกกับงานแล้ว ก็เลยได้กลับไปคุยกับครูโต ไปเป็นผู้ช่วยสอนเด็กๆ ที่มาเรียนศิลปะ เราชอบสอนอยู่แล้ว ก็เลยตอบตกลง งานนั้นเป็นงานที่เราสนุกมาก ทำอยู่อย่างนั้น 5 ปี ทั้งสอนและวาดเอง พอเริ่มมีคนเห็นงานเรา เขาก็เลยติดต่อไปวาดภาพประกอบในนิตยสาร เล่มแรกที่เอาไปลงคือนิตยสาร Mars จากนั้นก็ไปวาดให้พลอยแกมเพชร ก็เหมือนได้แจ้งเกิดที่นี่เลย เพราะคนเห็นงานเราเยอะ บางเดือนวาด 3 คอลัมน์ เราวาดรูปให้ที่นี่นานเป็นสิบปี จนเขาปิดนิตยสารเลย ตอนนั้นยังไม่ได้โด่งดังมาก เงินทองได้มาก็ค่อยๆ เก็บไป เคยออกไปเช่าบ้านอยู่ห้องเล็กๆ แถวจรัญสนิทวงศ์ ห้องเล็กๆ แค่ 20 ตารางเมตรเอง เราก็อยู่ได้ สนุกดี แล้วที่สำคัญ ตอนนั้นมีงานใหญ่งานหนึ่ง จ้างมาจากนิวยอร์ก ให้วาดรูปขนาด 7 เมตร กับ 2 เมตรครึ่ง ให้วาดทั้งหมด 3 รูป แต่เป็นสไตล์จีนๆ เขาก็เอาแบบมาให้ดู เราตื่นเต้นมาก โควตราคาไป 3 แสน แล้วก็ลุ้นว่าเขาจะจ้างไหม ปรากฏว่าเขาจ้าง เราดีใจมาก แต่เนื่องจากห้องเช่าไม่มีที่วาด เลยต้องไปวาดบ้านครูโต ไปขอใช้ตรงซอกๆ บ้านเขา เพราะมันพอมีพื้นที่ให้ทำงาน วาดเสร็จส่งไปติดตั้งที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ทุกวันนี้ยังมีอยู่เลย
มาเจอจุดเปลี่ยนของชีวิตที่คนเริ่มรู้จักมากๆ หรือมี exhibition อะไรบ้างไหม
มีแสดงที่ Affordable Art Fair ที่สิงคโปร์ เอาภาพสีน้ำ สีอะคริลิก ไปโชว์ ตอนนั้นคือปี 2012 ซึ่งช่วงนั้นครูปานวาดภาพคนไว้เยอะ เป็นคอลเลกชันเลย เพราะเวลาไปเที่ยวฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็จะสแนปภาพคนเอาไว้ เพราะเราชอบแฟชั่นเขา ถ่ายภาพมาแล้วก็เอามาวาด โดยไม่ได้คิดเลยว่าจะเอาไปโชว์ที่ไหน วันดีคืนดี เพื่อนที่สิงคโปร์บอกว่าอยากเปิดแกลเลอรี แล้วมีงาน Affordable Art Fair มาที่สิงคโปร์ครั้งแรก เลยอยากได้งานจากอาร์ทิสต์ เขามาขอดูรูปเรา แล้วบินมาดูที่เมืองไทยเลย ดูแล้วเขาชอบมาก เลยขอเอางานไปโชว์ ปรากฎว่า งานมี 5 วัน ผ่านไป 3 วันรูปเราขายเกลี้ยงแล้ว หายไปทั้ง wall คือคนก็ตกใจว่า อ้าว…ฉันมาดูแล้วรูปไม่มี (หัวเราะ) งานนั้นทำให้เรามีกำลังใจมาก พอกลับมาเราก็เลยสนใจวาดรูปคนต่อ ก่อนหน้านั้นเราวาดรูปผู้หญิงมาเยอะ ก็เลยคิดว่าอยากวาดอะไรใหม่ๆ แล้วมาเจอลูกศิษย์คนหนึ่งที่ใส่ฮู้ดมาเรียน เราก็เอ็นดู เลยค่อยๆ พัฒนาคาแรคเตอร์ กลายเป็นโคคูน ซึ่งเรามองว่าโคคูน เป็นตัวแทนของเด็กที่อยู่ในตัวเราทุกคน พอวาดโคคูนได้สักพัก ก็ไปแสดงงานที่ฮ่องกง สิงคโปร์ อัมสเตอร์ดัม นั่นคือการสร้างคาแรคเตอร์โคคูนครั้งแรก แต่คอลเลกชัน Lost and Found ที่ริเวอร์ ซิตี้ เป็นรูปที่ครูปานวาดใหม่หมดเลย เพราะเราคิดคอนเซ็ปต์ใหม่ขึ้นมา ซึ่ง Lost and Found ในที่นี้ ครูปานหมายถึงความสุขที่หายไป เพราะเคยสงสัยไหมว่า พอเราโตขึ้น ความสุขของเรามันหายไปไหนหมด ทุกคนชอบมาคุย ชอบมาปรึกษากันเรื่องนี้ เราก็คิดว่า เออ ตอนเด็กๆ ทำไมเรามีความสุขมากกว่านี้ เด็กทุกคนดูมีความสุขเท่ากันหมด แล้วอีกอย่างเราอยู่กับหลานๆ เราก็เห็นว่า เขามีความสุขกันจัง ร้องไห้แป๊บเดียว เดี๋ยวก็หายแล้ว ลืมง่ายมาก เราก็แอบคิดเหมือนกันว่า เออ สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้ง่ายๆ ก็เพราะเราเองก็ลืมง่ายเหมือนกัน ลืมไปแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น มันก็เลยเกิดความคิดว่า อย่างนั้นเรามาหาความสุขให้เจอกันเถอะ ความสุขมันอาจจะอยู่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวที่เราอาจจะลืมไปแล้ว อย่างการได้นั่งชิงช้าในสวน ความสุขมันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรามีเงื่อนไขในชีวิตน้อยๆ เรื่องนี้ครูปานได้มาจากการบวชเรียนหรือธรรมะเหมือนกันนะ
ถ้าอย่างนั้นคิดว่า ธรรมะกับศิลปะ มีอะไรที่เหมือนกัน หรือ in common บ้าง
มันคือเรื่องนี้แหละครับ ศิลปะทำให้เรามองเห็นความงามได้ง่าย มีความสุขกับความสวยงามเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว ส่วนธรรมะก็ทำให้ชีวิตเรามีความสุขได้แบบง่ายๆ เหมือนกัน ตอนบวชเป็นพระนี่ยิ่งเห็นชัด เพราะพระเป็นคนที่ต้องอาศัยคนอื่นในการอยู่ เพราะฉะนั้นจะมาเลือกเยอะ หรือ picky ไม่ได้นะ จะมาบอกว่าอาตมาฉันแต่มันฝรั่งที่ไม่มีกลูเตน ที่ไม่ทอด และต้องเป็นมันฝรั่งนึ่งเท่านั้น มันไม่ได้ โยมถวายอะไรมาก็ต้องฉัน พระพุทธเจ้าบัญญัติเรื่องนี้ไว้ชัดเจน เราต้องอยู่แบบไหนก็ได้ ดังนั้น ต่อให้ครูปานจนแค่ไหนสมัยเด็กๆ หรือแม้กระทั่งตอนไปบวช ครูปานก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจน ไม่เคยคิดว่าเป็นทุกข์ แล้วเราก็ไม่เคยดูถูกตัวเองด้วยว่าเรา อุ๊ย…เราจน ไม่กล้าเข้าสังคม หรือรู้สึกต่ำต้อย เพราะเราคิดว่า ถ้าคนนั้นเป็นคนดีจริงๆ เขาจะไม่ดูถูกคนจน เขาจะไม่ดูถูกคน เราเองก็ไม่เคยดูถูกตัวเอง แล้วเราก็ไม่เคยดูถูกใคร เพราะฉะนั้นเราจะไปกลัวอะไร ทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน คนดีเขาไม่ดูถูกคน เราก็ไม่ต้องไปเกร็ง ไม่ต้องไปกลัวอะไรทั้งนั้น จำไว้เลย มนุษย์เราเท่ากัน ทุกคนล้วนแต่เกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันหมด แต่สิ่งที่คนไม่เท่ากัน คือสูง-ต่ำ ดำ-ขาว รวย-จน ดี-ชั่ว นั่นแหละที่ทำให้คนเราต่างกัน จะว่าไป การบวชเรียนมา ทำให้ครูปานนิ่งและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้ดีเลยนะ มองเห็นชีวิตเป็นเรื่อง…มันจะเป็นยังไงก็ได้ แล้วเราจะไม่ยึดติดกับมัน พอเราไม่ยึดติดเราก็จะทำงานศิลปะได้ดีขึ้น เพราะศิลปะมันคือการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่รอบตัว ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิต ถ้าไปดูงานโคคูน แล้วพิจารณาดีๆ มันจะเป็นธรรมะทั้งนั้นเลย แค่ไม่ได้พูดเป็นภาษาบาลี แต่ธรรมะหรือความจริงเหล่านี้มันจะไหลเข้าไปในงาน ซึมเข้าไปในงาน ไม่อย่างนั้น คนจะรู้สึกว่า กูมาดูงานในวัดหรือเปล่า แต่ความจริง นี่คือสิ่งที่ชีวิตสอนเราและทำให้เราเป็นแบบนี้ มันอยู่ในตัวเรา เพราะเราเองก็เป็นคนแบบนี้แหละ สุขกับอะไรง่ายๆ เงื่อนไขในชีวิตน้อย ไม่ใช่คนเรื่องเยอะ คนส่วนใหญ่ที่ทุกข์เยอะ ก็อาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขเยอะ เรื่องเยอะนี่แหละ
ครูปานเองก็ผ่านการทำงานมาหลายแบบ ทั้ง commercial และสามารถเลือกทำในสิ่งที่อยากทำได้ ทุกวันนี้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานที่ผ่านมา
เราต้องคิดเสมอว่าเราเป็นมือสมัครเล่น ทุกวันนี้ยังคิดอยู่เลยว่าเราต้องฝึกตัวเอง เราต้องทำตัวให้เหมือนนักเรียนคนหนึ่ง อย่าไปคิดว่าตัวเองเป็นมืออาชีพที่แบบฉันเป็นคนยิ่งใหญ่ เป็นอาร์ทิสต์ที่โด่งดังอะไรขนาดนั้น เราทำงานไปในแต่ละวัน มองชีวิตเป็นวันๆ ที่เราจะทำให้ดีที่สุด เพราะทุกวันคือการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ครูปานคิดเสมอว่าไม่มีอะไรหรือไม่มีใครในโลกที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ตัวเราเองก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ ลูกค้ามาหาครูปานกี่คนๆ ครูปานไม่เคยสนใจเลยว่าใครจะตำแหน่งใหญ่โตมาจากไหน เพราะเราปฏิบัติกับทุกคนเท่ากันหมด แล้วเราก็คาดหวังให้คนมองเราเป็นคนธรรมดา ไม่ได้เก่งมากมายอะไร แค่เป็นคนที่โชคดีได้รับโอกาสให้ทำงานดีๆ
ครูปานคิดว่า ศิลปะที่ดีคืออะไร
ศิลปะคือเรื่องเหลือเชื่อตรงที่ ไม่มีผิดไม่มีถูก เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ครูปานไม่ค่อยเห็นด้วยเรื่องการให้คะแนนวิชาศิลปะ คือเราให้คะแนนทักษะหรือสกิลน่ะได้ แต่เราไม่สามารถให้คะแนนความงามได้ ความงามมันเป็นเรื่องของความเห็นพ้อง แต่ไม่ใช่เรื่องถูกผิด เช่น คนนี้สวยหล่อมากระดับ ณเดชน์ ญาญ่า แบบนี้ทุกคนมองเห็นเหมือนกันหมดว่าหล่อสวย มันเป็นความสมมาตรของหน้าตา หรืองานแวนโก๊ะห์ ที่สมัยหนึ่งคนมองว่าไม่เห็นมีคุณค่าอะไร แต่ตอนนี้ราคาพุ่งไปเท่าไหร่แล้ว เพราะคนเห็นว่ามันมีค่า เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องถูกผิด แต่อย่างไรก็ตาม ศิลปะมันต้องจรรโลงใจ แต่ความสวย ไม่สวย มันอยู่ที่ใครจะมอง สิ่งที่สำคัญคือ งานศิลปะมันต้องกระทบใจคน ต้องทำให้เกิดความรู้สึกกระเพื่อมหรือสะท้อนสิ่งต่างๆ ให้คนฉุกคิดได้ แล้วหันมองตัวเอง หันไปมองสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ เหมือนงานศิลปะมันไปปลุกให้เขาตื่น ให้เขาคิดได้
มองชีวิตทุกวันนี้ แล้วเคยคิดไหมว่าจะเดินมาถึงขนาดนี้
ไม่เคยคิดเลย เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ถ้ามองจากวันที่เป็นสามเณร เราก็ว่ามันเหลือเชื่อที่ ในบรรดาเณรกว่า 1,200 รูปที่บวชด้วยกัน คุณหญิงจะมาสนับสนุนเรา มาเจอเราได้ยังไง แล้วเมื่อเขามาเจอ ตอนนั้นเราพร้อมแค่ไหน ถ้าตอนนั้นเราไม่พร้อมก็คงไม่มีใครได้เห็นฝีมือ ครูปานเลยเชื่อเรื่องจังหวะเวลามาก จะบอกว่าเป็นพรหมลิขิตก็ไม่ผิด เหมือนมันขีดมาแล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งเราได้รับเชิญไปแสดงงานที่สิงคโปร์ ที่อีเวนต์หนึ่ง จัดอยู่บนชั้น 60 ของตึกหรูๆ แห่งหนึ่งในมารีนาเบย์ ทุกคนที่มางานใส่สูทผูกไท แต่งตัวดีๆ เป็นเศรษฐีของสิงคโปร์ บางคนเป็นเจ้าของโรงแรมเป็นร้อยๆ แห่งทั่วโลก แต่เขาเชิญเราไปอธิบายรูป ซึ่งเราเกิดมาแบบเด็กบ้านนอก ภาษาบ้านเกิดคือภาษาอีสาน อยู่มาวันหนึ่งได้ใส่สูทผูกไทอย่างหล่อ พาคนเดินชมงาน แล้วเล่าแรงบันดาลใจในแต่ละภาพ เสร็จแล้วก็มานั่งกินข้าวโต๊ะยาวแบบ long table แล้วก็หั่นสเต็ก แบบเนื้อนุ่มที่สุดในโลก กินเข้าไปละลายในปาก โอ๊ย กำซาบ รู้สึกชีวิตหรูหราไฮโซ แต่วันรุ่งขึ้นต้องบินกลับไปหาแม่ที่บ้าน คิดดูว่า จากชั้น 60 ที่มารีนาเบย์ วันต่อมา ไปนั่งริมคันนา นั่งดูพระอาทิตย์กำลังตกกับแม่ ตบยุง กินส้มตำจกปลาร้ากัน ถามว่ามันประหลาดไหมล่ะ แค่วันเดียวเลยนะ ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ถามว่ามีความสุขไหม มีความสุขมากนะ แต่ถามว่าอะไรคือชีวิตจริงๆ เราว่าชีวิตจริงๆ ของเราคือที่ๆ เราเกิดมา ชีวิตของจริงๆ ของเราอยู่ตรงนั้น รากของเรานี่คือสำคัญที่สุด ความสำเร็จที่เราเคยผ่านมา มันเหมือนเราปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ แต่ที่นั่นไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคน เราอยู่บนนั้นตลอดไปไม่ได้ เราต้องลงมาอยู่บนพื้นดิน กลับไปที่รากที่เราเกิดมา ลงมาแล้วเราต้องหาว่าเราอยู่ตรงไหนถึงจะมีความสุข แล้วบังเอิญเราเป็นคนที่อยู่ตรงไหนก็ได้ เรามีความสุขง่ายและมีเงื่อนไขในชีวิตน้อย เพราะเราดูแลตัวเองเป็นวันๆไป
ถ้าอย่างนั้น ฝากถึงคนที่กำลังปีนเขาตอนนี้หน่อย
อยากบอกแค่ว่า ไปให้ถึง ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง แต่ถ้าไปไม่ถึงก็ไม่เป็นไร เพราะคุณได้พยายามแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังอยากไปต่อ ก็อย่าท้อ เหนื่อยก็พัก แต่อย่าหยุด เพราะเส้นทางมันไม่มีอะไรง่าย ครูปานมาจนถึงวันนี้ก็ไม่มีอะไรง่าย มันต้องผ่านเวลา ต้องใช้โชคชะตาด้วยส่วนหนึ่ง บางอย่างมันยังไม่สำเร็จเพราะมันยังไม่ถึงเวลาของเรา
มันจะไม่เรียกว่าดันทุรังใช่ไหม
ไม่นะ ถ้าสิ่งนั้นคือความชอบ เป็นความฝันของเรา เป็นแพสชันของเราก็ไม่ใช่การดันทุรัง แต่เป็นการพยายามไปให้ถึงฝัน ดันทุรัง มันคือการที่ไม่ได้ชอบสิ่งนั้นจริงๆ แต่ยังฝืนทำ แต่ถ้าเรามีแพสชัน มันจะพาเราไปเอง อย่างตอนเด็กๆ ด้วยความไม่มีเงิน ด้วยความที่มีข้อจำกัด ครูปานก็ใช้วิธีดูงานศิลปะให้มากที่สุดเท่าที่เราจะมีความสามารถ เท่าที่เราจะพยายามได้ แพสชันมันจะดึงดูดให้เราไปเอง สมัยเด็กๆ ครูปานก็ดูงานศิลปะได้แต่ในหอศิลป์เจ้าฟ้า ไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปดูได้แต่งานฟรีๆ ตอนนั้นโลกมันยังแคบ แต่ทุกวันนี้ชีวิตแทบจะไม่มีข้อจำกัดแล้ว กูเกิลดูเองได้ฟรีๆ ถ้าเราสนใจอะไรจริงๆ ชีวิตมันจะพาไปเอง ไม่ต้องมีใครบังคับ วิธีเช็กว่าตัวเองชอบอะไร หรือมีแพสชันอะไร เราต้องดูเลยว่ามีอะไรที่เราชอบทำโดยไม่มีใครต้องมาบังคับ แล้วเราสนุกที่ได้ทำด้วย ไม่ต้องฝืนตัวเอง ไม่ต้องดันทุรัง เห็นไหม อะไรที่เราชอบเราจะทำได้เองแหละ เราจะพยายามเอง ชีวิตมันจะไหลไปเหมือนน้ำเลย มันจะหาทางไปของมันเอง
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ