ชีวิตแบบ 24/7 เพื่อดูแลสัตว์เจ็บของหมอแหวว เพราะ “สัตว์ทุกตัวต้องมีสิทธิได้รับการรักษาเท่าเทียมกัน”

        เพิ่งเมื่อต้นปีนี้เอง ที่ CCMU หรือวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเผยผลสำรวจตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ว่าคนไทย 49 เปอร์เซ็นต์ ให้การดูแลสัตว์เลี้ยงประหนึ่งลูก หรือที่เรียกว่า ‘Pet Parents’ แน่นอนว่าสัตว์ยอดนิยมที่อยู่ในสถานะนี้มากที่สุด คือสัตว์ที่คลุกคลีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์มายาวนานอย่างสุนัข 40.4 เปอร์เซ็นต์ และแมว 37.1 เปอร์เซ็นต์ และผลสำรวจนี้ยังบอกอีกว่า เจ้าลูกสี่ขาแต่ละตัวจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลอยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัวต่อปี

        ตัวเลขเปิดออกมาแบบนี้ เชื่อว่าเจ้าของสุนัขและแมวหลายคนคงเห็นแย้ง เพราะหากว่าคำนวณเฉพาะค่าอาหาร ตัวเลขนี้มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่น้องหมาน้องแมวเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาแล้วละก็ ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นทบทวีคูณ ส่วนจะทบไปกี่เท่านั้นก็ขึ้นกับว่าเจ็บป่วยด้วยอาการอะไรอีกที

        แล้วถ้าเจ้าของไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายค่ารักษา ปลายทางของสัตว์เจ็บนั้นก็น่าจะเหลืออยู่ไม่กี่หนทาง…

        “คนเลี้ยงหมาแมวเป็นลูกเยอะขึ้นจริง ก็น่าจะตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ในทางกลับกัน ช่วงโควิดคนก็ทิ้งหมาทิ้งแมวเยอะมาก” หมอแหวว-สพ.ญ.ภัทรพร อำพรรณ แห่ง ‘พระโขนงสัตวแพทย์’ บอกกับเราถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงที่เพิ่งผ่านมาจนถึงตอนนี้ โดยประเมินจากหมาแมวที่มีคนนำมารักษาแล้วถูกทิ้งไว้ที่คลินิก และหมาแมวจรเจ็บป่วยที่เธอรับเอาไว้ดูแลเมื่อมีคนนำมาส่งและไม่มีกำลังที่จะรับกลับไปดูแลต่อ นั่นเป็นจำนวนหนึ่งในร้อยของสัตว์จรที่มีปลายทางที่โชคดี ในขณะที่ไม่รู้ว่ามีอีกกี่ชีวิตที่ไม่ได้รับการโอบอุ้มแบบนั้น

        อย่างซีอิ๊ว เขาถูกทารุณกรรมมาหมอแหววเล่าให้ฟังถึงหมาสีดำร่างผอมที่เธอรับดูแลเอาไว้ที่บ้านหมาแมว ซึ่งเป็นบ้านพักของหมอด้วย เราจำวันที่เขามาได้ ตอนนั้นเป็นหน้าฝน ฝนตก มีคนโทรมาบอกว่ามีหมาถูกทารุณกรรม เขาส่งมาหาเราตอนตีห้า พอมาถึงเด็กในบ้านกลัวกันหมด เพราะเขาไม่มีหน้า กระดูกเขาหายไปหมดเลย นอกจากผิวหนังที่คลุมเอาไว้ตั้งแต่ช่วงดั้งจมูกลงมาถึงปากล่าง ด้านหนึ่งของใบหน้าซีอิ๊วคือโพรงกว้างที่มองเขาไปเราจะเห็นปากและลิ้นของเขาได้ชัดเจนยามที่ตวัดรับน้ำนมที่หมอแหววกำลังป้อนให้

        เขาสอนให้เราสู้ชีวิตนะ ซีอิ๊วเป็นหมาที่อดทนมาก ตอนมาถึงเราเอาน้ำหยอดใส่ปาก เขากิน เอาข้าวมาให้ เขาเอาจมูกดันพยายามจะกิน เขาอยากมีชีวิต เมื่อเขาอยากอยู่ เราก็ดูแลเขาไป ช่วงแรกเราดูแลใกล้ชิดมาก ทั้งให้น้ำให้อาหารเพราะตอนแรกไม่มีใครกล้าจับเลย จนเดี๋ยวนี้เด็กๆ ที่ดูแลเขาก็ไม่กลัวแล้ว

        ซีอิ๊วเป็นเคสที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เขาเหมือนให้พลังใจในการสู้ชีวิตกับเรา อยู่กับเรามาเกินปีแล้ว แก่แล้ว ยังกินได้ แต่ก็ได้ไม่เยอะเพราะลิ้นจะตวัดน้ำออกมาตรงโพรงแก้มหมด เราต้องให้น้ำเกลืออยู่เรื่อยๆ เพราะร่างกายได้รับน้ำไม่พอ แต่เลือดเขาไม่มีปัญหาเลย

        ส่วนอีกตัวที่เดินอยู่ใกล้กันเป็นหมาไทยพันทางรูปร่างผอมที่เพิ่งลุกเดินเองได้ไม่นาน แม้จะยังทรงตัวเดินไม่มั่นคงพอ แต่ นอนตอง ก็คอยระแวดระวังบ้าน เหมือนเป็นหน้าที่ตอบแทนเท่าที่หมาตัวหนึ่งจะทำได้

        “เขาหวงบ้านมาก เหมือนเขาคิดว่าบ้านนี้ให้ชีวิตเขา เขาต้องดูแลบ้านชื่อนอนตองนั้นมีที่มา หมอแหววเล่าว่าเจ้าตัวนี้ต้องนอนบนใบตองอยู่นานระหว่างรักษาแผลกดทับและยังลุกไม่ได้

        คนที่เอามาส่งบอกว่าน่าจะคลอดลูกแล้วลูกตาย นอนอยู่ข้างถนน ถูกทำร้ายมาเหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมาจากระยอง มาถึงเราตอนกลางคืน ตัวแห้งหมด ผอมหนังหุ้มกระดูก เหี่ยวมาก เหมือนไม่ได้อาหารไม่ได้น้ำเลย แล้วมีแผลกดทับ เดินไม่ได้ แต่เอาน้ำเอาอาหารให้กินเขากินได้ แสดงว่าเขาน่าจะอดมานาน อาจจะนอนจนไม่ไหวอยู่ข้างถนน แผลตามตัวก็เยอะ รักษาอยู่ครึ่งปีได้ ต้องคอยจับพลิกทุกสองชั่วโมง ล้างแผล ใส่ยา เปลี่ยนใบตอง เพราะตอนแรกเอาผ้าปู ผ้าก็ติดตัวเขา เราก็นึกถึงโบราณว่าถ้าเป็นแผลให้นอนใบตอง เลยให้เด็กไปตัดใบตองมารองให้เขานอน (หัวเราะ) ใช้ขมิ้นโรยแผลช่วย จากที่ไม่มีใครคิดว่าเขาจะเดินได้ เราดูแลจนเขาเดินได้ แล้วเปิดประตูบ้านเขาก็ไม่เคยเดินออกเลย เพราะกลัวจะโดนทิ้ง

        เราอยากให้คนที่ทำร้ายเขาได้มาเห็นจังเลยว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันคือการสร้างภาระให้กับคนอื่นขนาดไหน หมาที่เขาทำร้ายต้องมีชีวิตลำบากยังไง ช่างภาพของเราเอ่ยความรู้สึกที่เอ่อท้นกับภาพที่เห็น ขณะที่นอนตองกำลังกินไข่ต้มของโปรดจากมือหมอแหวว

        นอกจากหมาสองตัวที่เป็นนักสู้ หมอแหววมีหมาจรอีกราวสองร้อยกว่าตัวที่ตอนนี้ย้ายออกไปต่างจังหวัดเพื่อจะได้อยู่ในสถานที่เหมาะกับการใช้ชีวิตมากกว่า ส่วนแมวอีกราวเจ็ดร้อยตัวใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้

        ใช่ คุณไม่ได้อ่านผิด และเราไม่ได้พิมพ์ผิด หมอแหววมีแมวจรที่ดูแลอีกราวเจ็ดร้อยตัว จนไม่สามารถตั้งชื่อได้หมด ตัวที่มีชื่อก็จะได้มาจากวีรกรรมหรือจากรูปลักษณ์เด่นๆ เช่น โอโม่ แมวสีขาวสว่างทั้งตัวที่ชอบโผให้คนกอด ห้าพัน แมวสลิดที่เคยหลุดออกจากบ้านจนต้องมีค่าหัวห้าพันบาทให้คนช่วยตามหา ทองแท้ แมวส้มขาวที่เป็นดาราของเพจ พระโขนง สัตวแพทย์ เพราะรับบทบาทนักแสดงเป็นคุณหมอแมวในคลิปของคลินิกอยู่บ่อยๆ

        “เราไม่เคยตั้งชื่อให้บ้านหลังนี้เลย เรียกว่าบ้านหมาแมวละกัน หมอแหววสรุปง่ายๆ เพราะไม่อยากคิดอะไรให้ซับซ้อน เราก็เห็นดีอย่างที่หมอว่า เพราะลำพังแค่การออกไปรักษาที่คลินิกก็กินเวลาหมอไปทั้งวัน ไม่นับว่าก่อนออกจากบ้านหมอต้องดูแลแมวป่วยที่ถูกส่งเข้ามารับการรักษาอีกหลายสิบชีวิต ทั้งฉีดยา ป้อนยา ให้น้ำเกลือ และทำแบบนั้นอีกครั้งเมื่อกลับจากคลินิก บางตัวที่ต้องดูแลใกล้ชิดก็จะได้สิทธิพิเศษนอนห้องเดียวกับหมอ เพื่อที่หากเกิดอะไรฉุกเฉินจะได้แก้ไขทัน

        เป็นกิจวัตร 24 ชั่วโมงที่เราแอบถามคนที่บ้านว่าหมอแหววนอนตอนไหน?

        กว่าหมอจะนอนก็ตีสอง เป็นแบบนี้ทุกวัน

        อะไรทำให้หมอคนหนึ่งต้องยกเวลาทั้งชีวิตให้กับหมาแมวขนาดนี้ หมอจัดการกับรายจ่ายที่ไม่สร้างรายได้นี้อย่างไร ไหนจะการให้การรักษาที่คิดค่าใช้จ่ายในราคาแสนเบาเพราะต้องการให้สัตว์ทุกตัวเข้าถึงการรักษาตามปณิธานนั่นอีก เรานั่งคุยกับหมอในคืนหนึ่งหลังคลินิกปิดทำการ ก่อนที่หมอจะกลับไปดูแลเคสที่รอการรักษาอยู่ในค่ำคืนนั้นต่อ

ชีวิตที่ถูกกำหนด

        โชคชะตาคงกำหนดไว้แล้ว ว่าเราต้องเป็นสัตวแพทย์ หมอแหววเล่าปนหัวเราะเมื่อเราชวนเท้าความถึงวันที่ชีวิตถูกขีดเส้นมา เราเป็นเด็กบ้านโป่ง ราชบุรี ครอบครัวไม่ได้มีฐานะอะไร พ่อแม่ก็จะสอนเราว่าเขาไม่มีทรัพย์สินเงินทองให้เราหรอก เขาให้ได้แค่ความรู้ บ้านเราก็เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว แล้วก็เลี้ยงวัว แต่ก็เลี้ยงกันแบบชาวบ้าน เขาจะบอกกับเราว่าพูดกับวัวดีๆ นะ ถ้าพูดกับเขาดีๆ เขาก็จะให้น้ำนมเยอะ คิดว่าความรักสัตว์ของเราน่าจะมาตั้งแต่ตอนนั้น

        เราค่อนข้างเป็นเด็กเรียนดี ความฝันตอนนั้นมีแค่เรียนจบอะไรก็ได้ ขอแค่มีอาชีพที่ดี ตอนจะเข้ามหาวิทยาลัยเราสอบติดโครงการแพทย์ชนบท แต่สอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน ก็เลยคิดว่าเราคงไม่เหมาะสมละมั้ง (หัวเราะ) โชคชะตาคงกำหนดมา แล้วเราสอบติดพยาบาลกับสัตวแพทย์ พ่อก็อยากให้เป็นพยาบาล แต่เราอยากเป็นคนรักษามากกว่า

        ปี 2526 หมอแหววมีชื่อเป็นนิสิตสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยที่การพาสัตว์ไปหาหมอของคนทั่วไปยังเป็นเรื่องห่างไกลความเข้าใจ สัตวแพทย์ยังมีน้อย คนก็คิดว่าสิ้นเปลือง ทั้งคณะมีห้าสิบคน ผู้หญิงแปดคน ผู้หญิงยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับเท่าไรเพราะถูกมองว่าอ่อนแอกว่าผู้ชาย จะไปดูแลสัตว์ใหญ่ยังไง แต่เราก็เป็นเด็กเฮ้วๆ คิดว่าเป็นสัตวแพทย์ก็จะต้องเป็นหมอสัตว์ใหญ่สิ มันเท่ พวกสัตว์เศรษฐกิจอย่างหมูเป็ดไก่วัวควายจะมีสัตวแพทย์เข้าไปดูแล แต่สัตวแพทย์สัตว์เล็กอย่างหมาแมวยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก แล้วสมัยนั้นสัตว์เศรษฐกิจจะมองเห็นโอกาสทางการทำงานมากกว่า เราก็คิดอย่างนั้นเพราะอยากเป็นหมอวัว ก็บ้านเราเลี้ยงวัว

        แต่ฝันที่จะกลับไปดูแลวัวที่เห็นมาแต่ยังเล็กก็ดับลงเพียงแค่ยังเป็นนิสิตปีหนึ่ง เมื่อวัวที่บ้านติดโรคระบาด FMD (โรคปากและเท้าเปื่อย) วัวเราล้ม ตายยกคอกเลย เราเพิ่งตั้งใจว่าจะมาเรียนเพื่อจะได้กลับไปดูแล ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ที่บ้านก็เฟล ไม่ยอมเลี้ยงใหม่ แต่เราก็ชอบอาชีพสัตวแพทย์แล้วแหละ อยากทำ

        ความชอบดูแลสัตว์ซึมซับอยู่ในเนื้อตัวจนเป็นนิสัย เมื่อคณะมีกิจกรรมเช่นงานอาสา ค่ายอาสา หมอแหววจะเข้าร่วมด้วยตลอด เราก็เป็นสัตวแพทย์ชนบท ไปฉีดวัคซีน ไปทำหมัน ไปให้ความรู้ หมาแมวมีคนเอามาให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าบ้างแต่ยังไม่มาก เวลากทม.มีรณรงค์เรื่องพิษสุนัขบ้าเราก็ไปทำตลอด ทำทุกปี ทุกเทอม จนกระทั่งเรียนจบ

หมอมวลชน ขวัญใจคนรายได้ไม่สูง

        ก่อนจะมาเป็นเจ้าของคลินิก และดูแลเคสที่เข้ามาถึงมือด้วยตัวเอง หมอแหววเคยผ่านงานอื่นมาบ้าง เมื่อเรียนจบใหม่ๆ เธอเคยเป็นสัตวแพทย์ประจำบริษัทอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปรายใหญ่ของไทย ผู้บุกเบิกโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบ Evap เป็นที่แรกในไทย เคยทำงานเป็นนักวิชาการบริษัทยา แต่ไม่ว่าจะทำงานสายไหนก็ตาม หมอแหววไม่เคยละทิ้งงานรักษา

        “เราทำสัตวแพทย์พาร์ตไทม์มาตลอด เสาร์อาทิตย์หรือตอนเย็นจะไปรักษาในคลินิกกับโรงพยาบาล แต่การได้ทำงานด้านอื่นก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่ดี ทั้งเรื่องอาหารสำหรับสัตว์ เรื่องยา แต่เรารักงานรักษามากกว่าอย่างอื่น จนสุดท้ายเราก็กลับมาเข้าระบบ เป็นสัตวแพทย์เต็มตัว”

        พระโขนงสัตวแพทย์ เป็นคลินิกที่หมอแหววทำงานมาตั้งแต่ยังเป็นหมอเด็กแบบพาร์ตไทม์ แต่เดิมนั้นเป็นคลินิกของหมออาวุโสท่านหนึ่งที่เป็นหมอมวลชน ตั้งอยู่เชิงสะพานพระโขนง เมื่อวันหนึ่งหมอผู้ก่อตั้งไม่ทำต่อ หมอแหววจึงสานเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง

        “คำว่าหมอมวลชนคือหมอที่มีความเสียสละ เขารักษาสัตว์ในราคาสิบบาทยี่สิบบาท ไม่มีเงินก็รักษาให้ฟรี คลินิกพระโขนงเป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรก ช่วงนั้นหมอเขาอายุมากแล้ว คงเหนื่อย และสุขภาพไม่ค่อยดีด้วยเลยอยากเลิก เข้าใจว่าเขาก็คงเลือกเหมือนกันว่าหมอคนไหนควรจะมาทำต่อ ตอนนั้นเราอายุประมาณยี่สิบแปดยี่สิบเก้า พอเราเข้ามาทำ คลินิกก็ยังคงสไตล์ที่ฝังรากมาจากตรงนั้น เพราะลูกค้าเดิมที่มารักษาเป็นลูกค้าระดับปานกลางจนถึงไม่ค่อยมีเงิน คนมีฐานะก็มีบ้าง แต่เป้าหมายการก่อตั้งตั้งแต่แรกก็เพื่อให้เป็นที่รักษาสำหรับเจ้าของที่รายได้ไม่สูง”

        การทำคลินิกของหมอแหวว จึงไม่ใช่การทำเพื่อหวังผลทางธุรกิจสูงส่ง แต่เป็นการให้โอกาสในการมีชีวิตของสัตว์ที่ไม่ได้มีต้นทุนทางโชคชะตา

        “สัตว์พูดไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เรามีหน้าที่ดูแลเขา บางคนพามาก็บอกว่าไม่ใช่หมาไม่ใช่แมวเขา แต่เขาก็พามารักษา เวลาแอดมิตเราก็คิดค่าฝากห้าสิบบาท แต่ฝากแล้วเขาก็หายไป (หัวเราะ) แบบนี้มีอยู่เรื่อยๆ บางทีมีแม่ค้าเอามาวางไว้หน้าคลินิกแล้วโทรมาบอกว่าฝากหมอไว้เลยนะ

        “มองคลินิกให้เป็นธุรกิจมันก็เป็นแหละ แต่เราไม่คิดว่ามันจะต้องเป็นธุรกิจใหญ่โตอะไร เราช่วยให้เขาได้รักษาแล้วไม่คิดแพง เพราะถ้าคิดแพงเรากลัวเขาจะปล่อยให้ตาย ไม่พามารักษา บางคนมาแล้วขอค่ารถเรากลับก็มี แต่ที่คลินิกอยู่ได้เพราะ เราใช้แรงงานตัวเองเป็นหลัก ใช้คนเท่าที่จำเป็น ไม่ได้ลงทุนไปกับการตกแต่งคลินิกให้หรูหรามากมาย ไม่ต้องไปลงกับค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือเกินจำเป็น

        และเราคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ความหรูหราจะทำให้คนไม่กล้าเข้า เพราะคิดไปก่อนแล้วว่าแพง กลายเป็นว่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงป่วยหรือทิ้งไว้แบบนั้นเลย แต่ถ้ามันไม่ดูหรูหรา เขาจะกล้ามาเคาะประตู สังเกตว่ากริ่งประตูบ้านเราจะพังอยู่เรื่อยๆ เพราะดึกดื่นเขามาเคาะ มากด แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเรื่องของการบริการเราไม่ได้พร้อมเหมือนกับที่อื่นๆ บุคลากรเราไม่ได้มีมากพอ ก็อาจจะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง

        คลินิกของหมอแหววจึงไม่มีพนักงานต้อนรับหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงมาถึง จะรู้กันเป็นธรรมเนียมที่บอกต่อกันว่าให้ไปเขียนคิวลงในสมุดที่วางอยู่ด้านหน้า ทุกคนจดจำคิวของตัวเองจากลำดับที่ซักถามกันเองว่าต้องต่อคิวคนไหน ตู้เย็นใบเล็กๆ เขียนป้ายแปะเอาไว้ว่ามีน้ำดื่มให้หยิบฟรี มีขนมห่อให้รองท้องถ้าใครเกิดหิวระหว่างรอ เพราะต้องยอมรับว่าใช้เวลาต่อคิวยาวในแต่ละวัน นี่เป็นการดูแลเล็กๆ น้อยๆ ที่คลินิกมีไว้เป็นไมตรี

        เราไม่ได้นอนที่คลินิก แต่อยู่ที่นั่นจนดึก บางทีเที่ยงคืนตีหนึ่ง แต่ก็มีหมอพาร์ตไทม์มาช่วย คนที่รักษาหลักจะเป็นเรา อาจจะฮึกเหิมคิดว่าตัวเองอายุยังน้อย ลงทุนด้วยแรง จนมาถึงตอนนี้ หนึ่งมีนาคมนี้ก็สามสิบปีพอดีที่เราทำคลินิกมา

ช่วยสัตว์เลี้ยงแล้ว ก็ต้องช่วยเจ้าของด้วย

        ไม่ว่าสัตว์จะมีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ เราอยากให้เขามีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาได้เสมอกัน เท่าเทียมกัน ไม่มีแบ่งระดับยาหรือการรักษา ไม่ว่าตัวไหนที่เข้ามาหาเรา เราตั้งธงว่าเขาต้องหาย ไม่มีธงอื่น ถ้าไม่หายบางทีเราก็บ่นหน่อย บ่นเจ้าของ จนโดนว่าเหมือนกันว่าหมอขี้บ่น (หัวเราะ)

        ในการรักษาทั้งเจ้าของและหมอต้องช่วยกัน บางทีเขารัก แต่ไม่ทำ หรือเอาเขามารักษา แต่เขาไม่ดูแลตามที่เราแนะนำ การรักษาก็ไม่เกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น มันไม่ใช่ว่าเอาทรัพย์มาให้แล้วจากนั้นคือหน้าที่หมอที่จะต้องทำให้หาย ทำแบบนี้ไม่ถูก เพราะสัตว์เหล่านี้เขาต้องการความรักความเอาใจใส่จากเจ้าของนะ มองตาเขาก็รู้

        หากเคยชินกับการบริการที่สะดวกสบาย คลินิกของหมอแหววจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ใช่นักสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง แต่สำหรับการรักษาที่ต้องดูแลกันระยะยาวและรายการใช้จ่ายก็ยาวตามไปด้วยแล้ว ที่นี่อาจเป็นทางเลือก และหมอแหววก็คิดทางเลือกให้เพื่อช่วยดูแลเจ้าของ ด้วยการคิดแพ็กเกจแบบเหมาจ่าย เช่น รักษาตลอดปี 5,000 บาท ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคเรื้อรังอะไรก็ตาม แพ็กเกจทำหมันพร้อมตรวจเลือดและดูแลจนแผลหาย 2,000 บาท แพ็กเกจแม่และเด็กสำหรับคลอดและฝากคลอด 3,000 บาท แพ็กเกจปันสุขเพื่อน 4 ขา 2,000 บาทสำหรับสัตว์จร เพื่อให้คนที่ช่วยเหลือหมาแมวจรไม่ต้องแบกภาระเกินกำลัง และบางวันสัตว์จรก็เป็นเต่าหรือสัตว์อื่นๆ มาหาหมอด้วย

        สิ่งที่เราเคยเจอคือบางโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาและติดตามอาการ เจ้าของมาแค่สองวันแล้วไม่พามารักษาต่อ คิดไปแล้วว่าวันแรกจ่ายไปเท่านี้ พรุ่งนี้จะเท่าไร มะรืนจะเท่าไร เห็นค่ารักษาสูงก็หยุดการรักษา เราเลยคิดวิธีที่จะให้เขามีกำลังในการรักษาโดยที่เราอยู่ได้ เขาก็ได้รักษาได้

        เราคิดว่าแพ็กเกจพวกนี้จะช่วยผ่อนภาระอะไรได้เยอะ แต่ถ้ามาทำวัคซีน หรือการรักษาไม่นาน ไม่ต้องต่อเนื่อง เราก็ไม่ได้แนะนำให้เขาซื้อแพ็กเกจ แต่บางโรคต้องใช้เวลาในการรักษา อย่างโรคไต โรคหัวใจ ยาแพงทั้งนั้น บางคนรักษากันจนหมดตัว การมีแพ็กเกจนี้ทำให้สัตว์ได้รับการรักษาได้ต่อเนื่อง เจ้าของจะได้ไม่ต้องเครียดกังวลว่าไปทุกครั้งมีค่าใช้จ่ายทุกครั้ง แล้วมีแต่จะพอกพูนไปเรื่อยๆ ถ้าอาการหนักแล้วเจ้าของบอกไม่รักษา รักษาไปก็ตาย เราจะคุยกับเขาว่ารักษาเถอะ เราไปกันจนสุดทาง ถ้าตายเราไม่คิดตังค์หรือคืนตังค์ เพราะถ้าเกินสิบวันเราก็ต้องขอคิดค่าใช้จ่ายตามจริงซึ่งไม่เกินจากแพ็กเกจ เพราะบางทีอาการโคม่ามาก็สุดวิสัย

        สามสิบปีที่อยู่กับสัตว์เล็กเหล่านี้ทุกวัน หมอแหววบอกว่าทำให้ตัวเองได้เห็นชีวิต

        เห็นสัจธรรม เห็นวัฏจักรของการเกิดการตายของสัตว์ ย้อนกลับมาถึงตัวเรา ไม่ว่าหมา แมว หรือสัตว์อื่นๆ เขารักชีวิตเหมือนกัน ความรู้สึกในเวลาที่เขาหายป่วย คุณภาพชีวิตเขากลับมาดี มันทำให้เราไม่เคยเหนื่อย

บ้านหมาแมว ชีวิตที่เหมือนเกิดใหม่ของสัตว์จร

        อย่างที่เล่าไปตอนต้น ว่าหลายต่อหลายเคสที่สัตว์ซึ่งเคยมารับการรักษาแล้วไม่มีคนมารับกลับ หรือบางเคสเป็นสัตว์จรที่มารักษาแล้วไม่มีที่ให้ไปต่อ บ้านพักของหมอแหววจึงกลายเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ไปด้วย

        เราทำบ้านแมวมาเจ็ดปีได้ เดิมใช้พื้นที่บ้านตัวเอง จนขยับขยายมาตรงนี้ แล้วมาสร้างห้องเพิ่มให้เขา พอเพิ่มจำนวนเราก็ต่อเติมไปเรื่อยๆ ของแมวเราซอยเป็นห้องๆ มีห้องรักษา ห้องพักฟื้น แบ่งเฉพาะโรค ตัวไหนหายร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วก็ได้ไปอยู่ห้องปกติ แต่แยกเพศผู้เพศเมียเพราะบางตัวยังไม่ได้ทำหมัน เราทำไม่ทันเพราะมีเยอะ ที่อยู่ในกรงจะเป็นแมวที่ต้องดูแล ต้องฉีดยา หรือเป็นโรคที่ติดต่อผ่านกันได้ แล้วมีบางตัวชอบอยู่กรงนะ พอให้ไปอยู่รวมกันกับตัวอื่นเขาไม่ชอบ ต้องดูนิสัยด้วย

        ส่วนใหญ่เราก็อยากให้อิสระเขา แม้ว่าจะมีพื้นที่ไม่เยอะ เราก็ทำห้องให้เขามีที่วิ่ง มีชั้นไม้ไว้ให้ได้กระโดดเพื่อเพิ่มพื้นที่ มีห้องน้ำแยกไว้ข้างหลัง หมอแหววเล่าถึงการจัดการพื้นที่ให้แมวหลายร้อยตัว แต่นอกเหนือจากเรื่องพื้นที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นคือค่าใช้จ่าย ที่มีทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่าคนดูแลที่มีกว่าสิบคน ซึ่งช่วยงานทั้งที่บ้านแมวและที่คลินิก มีเว้นก็แต่ค่าหมอที่ใช้แรงงานตัวเอง

        คิดไม่ออกเธอหัวเราะเมื่อเราถามถึงค่าใช้จ่าย แต่ก็ยกตัวอย่างคร่าวๆ มาให้เราลองคำนวณดู ค่าอาหารประมาณหกเจ็ดพันต่อวัน ซึ่งอาหารก็มีหลายแบบ บางตัวเขาต้องกินอาหารเฉพาะ ราคาก็จะสูงตาม มีค่ายาที่มากน้อยต่างกันตามเคสของแต่ละตัว ยังไงทุกตัวจะต้องได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ อยากรู้ว่าเท่าไรต้องไปคูณเอา เราไม่รู้ตัวเลข มีน้องอีกคนดูแลอยู่ ส่วนเราไม่คิดละ ปวดหัว (หัวเราะ)

        และค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาจากรายรับของคลินิกล้วนๆ ส่วนเรื่องเปิดรับบริจาคนั้น หมอแหววปฏิเสธทันควัน

        เราไม่คิดที่จะรับบริจาคตั้งแต่แรก เราทำตามกำลังของเรา แล้วการทำแบบนี้ไม่สุ่มเสี่ยงกับการเปิดช่องให้มิจฉาชีพ หรือคนที่อยากแสวงหาประโยชน์ ที่เราอาจจะกลายเป็นเครื่องมือตรงนั้นด้วย เขาอาจจะเอาเราไปอ้าง ซึ่งเราก็ตรวจสอบไม่ได้ การใช้ทุนตัวเองมันสบายใจกว่า เป็นความบริสุทธิ์ใจ

        ช่วงโควิดสามปีคนทิ้งหมาทิ้งแมวหนักหน่อย ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น ค่ายาก็สูงขึ้น แต่เราก็หยุดรับไม่ได้ เพราะมีคนขอเอามาให้รักษาอยู่ เราก็ได้แต่คิดว่าจะทำยังไงถึงจะช่วยได้มากขึ้น และทำยังไงให้มันยืนยาว ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือ ปูพื้นให้เจ้าของมีกำลังรักษา เราถึงเก็บค่ารักษาจนหายแค่สองพัน เขาจะได้ไม่ทิ้งให้จร รักษาเสร็จจะได้ไปอยู่กับเจ้าของ ไม่ต้องอยู่กับเรา อาจกลับไปอยู่วัดตามเดิม หรือไปหาบ้านก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยการที่เขาไม่หายไปเลย รักษาหายมารับกลับไป ก็ทำให้แมวไม่กลายเป็นแมวจร

        24 ชั่วโมงในทุกวันของหมอ คือการใช้ชีวิตอยู่กับรักษาและเยียวยาความเจ็บป่วยของสัตว์จนเคยชิน แต่จะมีสักวันหนึ่งไหมที่หมอได้วางทุกอย่างลงเพื่อมีชีวิตเป็นของตัวเองบ้าง?

        ถ้าจะมีเวลาส่วนตัวก็แค่ไปตัดผมหน่อย แต่พอจะไป บางทีก็ตัวนี้ต้องให้น้ำเกลือ ตัวนี้ต้องฉีดยา สามปีเต็มได้แล้วที่ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย แต่คำว่าเที่ยวของเราก็คือไปกินข้าวกับเพื่อนนะ ไปเช้าเย็นกลับ (หัวเราะ) นั่นคือเที่ยวแล้ว แบบที่ไปเที่ยวค้างคืนนี่ไม่มีเลย

        มีแต่คนถามว่าเราทำขนาดนี้ทำไม เราว่าบางครั้งการทุ่มเทกับเขามันมีช่วงเวลาของมัน อนาคตเรายังไม่รู้ว่าจะยังไง เรามองแค่ปัจจุบัน ถามว่ามีคนเป็นห่วงไหม ก็มี ตอนนี้เราอายุห้าสิบเจ็ด อีกสามปีเป็นอายุเกษียณ แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะเกษียณ เราก็ทำไปจนกว่าเราจะไม่ไหว หรือถ้าถึงตอนนั้นเรารักษาไม่ไหวแล้ว เราก็ทำอย่างอื่นที่ยังเป็นเรื่องของการดูแลเขาอยู่ ดูแลด้วยกำลัง ด้วยวิชาชีพที่เรามี ส่วนจะมีน้องๆ คนไหนที่อยากทำต่อแบบที่เราเคยทำมา ก็ให้เป็นเรื่องอนาคต

        หมอแหววทิ้งท้ายไว้ด้วยปัจจุบัน ที่ไม่ว่าอย่างไร สัตว์เจ็บและสัตว์จรจำนวนหนึ่งยังมีหมอแหววคอยดูแลอยู่ตรงนี้ ในวันที่บ้านเรายังรอจะเห็นการเข้ามาจัดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ทำที ว่าจะเกิด แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเสียที


เรื่อง: ศิริวรรณ สิทธิกา  ภาพ: สันติพงษ์​ จูเจริญ