โลกสมัยใหม่กำลังเผชิญความผันผวนในทุกๆ ด้าน และส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่เรามิอาจควบคุม คาดเดายาก ทั้งจากน้ำมือมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเมือง ปัญหาภัยแล้ง หรือน้ำท่วมใหญ่ ไล่ไปจนถึงความระส่ำระสายจากการเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและการเมือง ไปจนถึงการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ และการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป ฯลฯ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการสำรวจจุดยืนและสภาพแวดล้อมที่ตนเองดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญอยู่ ว่ามันคืออะไรบ้าง เพื่อออกแบบชีวิตอย่างชาญฉลาดพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับ ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารประเทศไทยคนปัจจุบัน ถึงภาพรวมของสถานการณ์ในโลกว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตลอดทั้งปีนี้และในปีหน้าอย่างไร รวมทั้งความเสี่ยงที่เราคนไทยกำลังเผชิญหน้า เพื่อช่วยให้เรารู้เท่าทัน พร้อมปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด
ในการจับตาของธนาคารแห่งประเทสไทย ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางสังคมโดยรวมเป็นอย่างไร
ปี 2560-2561 ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ วิกฤตการณ์การเงินโลกเมื่อ 8 ปีก่อนทำให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ หดตัวอย่างรุนแรง และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ปีนี้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น สะท้อนได้จากหลายๆ เรื่อง
เรื่องแรกคือ การจ้างงานในประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น มีการขยายการจ้างงานในภาคธุรกิจทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศจีน ที่เราเคยกังวลกันว่าการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง หรืออาจมีปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความกังวลเหล่านี้ก็เบาลงบ้าง เงินที่เคยไหลออกก็เริ่มไหลกลับไปในจีน จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา
เรื่องที่สองคือการค้าโลก ปีนี้การค้าโลกเริ่มกลับมาเติบโตชัดเจน และมีการฟื้นตัวที่กระจายในหลายภูมิภาค สำหรับเศรษฐกิจไทยซึ่งมีการส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญได้รับอานิสงส์ค่อนข้างมากจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ต้นปีการส่งออกขยายตัวคิดเป็นประมาณ 9% ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการส่งออกที่กระจายในหลายตลาด ไม่กระจุกตัวในตลาดใดตลาดหนึ่ง และกระจายตัวหลากหลายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปถึงสินค้าเกษตร
อานิสงส์ที่ประเทศไทยได้รับอีกด้านหนึ่งคือการท่องเที่ยว ซึ่งขยายตัวดีต่อเนื่องมาตลอด ประเทศไทยได้รับการยกย่องเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก การขยายตัวของการท่องเที่ยวมีลักษณะการกระจายตัวมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวจากหลากหลายภูมิภาค สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้น้ำดี ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น แต่เศรษฐกิจต่างจังหวัดอาจยังไม่ถึงกับดีเท่าไหร่นัก ผลผลิตที่ออกมาเยอะทำให้ราคาลดลงแรง รายได้เกษตรกรโดยรวมจึงไม่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับปีที่แล้วมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ทำให้รายได้บางส่วนหายไป มีการก่อหนี้กู้ยืมเงินสูงขึ้น ภาพเศรษฐกิจในต่างจังหวัดจึงอาจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเรื่องการบริโภคของภาคเอกชน การจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการส่งออก
คุณคิดว่ารัฐบาลปัจจุบันมีบทบาทในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีหรือไม่
ภาครัฐต้องมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้โครงการต่างๆ ดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขณะนี้โครงการที่เคยชะลอมานานเริ่มมีการเบิกจ่าย เริ่มมีการก่อสร้างจริง เช่น การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ มอเตอร์เวย์สายใหม่ แม้กระทั่งรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การกระจายอินเทอร์เน็ตไปทุกหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกิดโอกาสใหม่ๆ
นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้การทำธุรกิจสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น ก็จะส่งผลดีในระยะยาว สอดคล้องกับที่ธนาคารโลกได้จัดลำดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ ล่าสุดประเทศไทยได้อันดับที่ 26 จากเดิมที่ 46 ซึ่งพิจารณาจากหลายเรื่องไม่ว่ากฎหมาย กฎเกณฑ์ วิธีการขอสินเชื่อ การขอใบอนุญาตต่างๆ และความรวดเร็วในการเริ่มธุรกิจ อย่างไรก็ดี แม้ความสามารถในการแข่งขันจะดีขึ้น แต่ต้องระมัดระวัง จะชะล่าใจไม่ได้เพราะว่าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นก็มีความเสี่ยงอยู่หลายเรื่อง
ข้อที่หนึ่ง ความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจจะคาดไม่ถึง เช่น ปัญหาเรื่องปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในตะวันออกกลาง แม้กระทั่งมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ที่อาจส่งผลกระทบ ซึ่งยังบอกไม่ได้ชัดเจนในตอนนี้ เพราะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละเรื่อง ส่วนนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่หลายฝ่ายกังวล จริงๆ ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายกีดกันทางการค้าที่กระทบกับเราจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาส เพราะเรื่องการค้าระหว่างประเทศต้องดูรายละเอียด ซึ่งแต่ละประเด็นก็มีรายละเอียดค่อนข้างมาก
ความเสี่ยงข้อที่สองคือ ความเสี่ยงในตลาดการเงินโลก จากอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน คนก็มุ่งหาผลตอบแทน (Search for Yield) อยากได้ดอกเบี้ยสูงๆ ผลตอบแทนสูงๆ โดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เราจะเห็นว่ามีตราสารการเงินที่มีความเสี่ยงสูงออกมาขายแต่คนก็แย่งกันซื้อ หรือเห็นเงินที่ไหลไปลงทุนในตราสารหรือประเทศที่มีความเสี่ยงสูง การประเมินความเสี่ยงต่ำเกินจริง (Underpricing of Risk) อาจทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลายแห่งอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลก และต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่กู้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นไม่มากนักภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน กลุ่มผู้ลงทุนมองประเทศไทยอย่างไร
ผมว่าภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนทั่วโลกมีการฟื้นตัวค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในอดีต ซึ่งมาจากหลายเหตุผล
เหตุผลที่หนึ่ง มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ ปกติเมื่อเกิดวิกฤตรุนแรง เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว ในประเทศจีนซึ่งมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็เห็นการลดกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่
เหตุผลที่สอง เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ราคาถูกลงมาก ส่งผลต่อการลงทุน ทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนมูลค่าสูงมากเท่าในอดีต
เหตุผลที่สาม Sharing Economy หรือเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน เริ่มมีบทบาทในหลายอุตสาหกรรมมากกว่าที่เราคาดคิด ที่เห็นได้ชัดคือสมาร์ตโฟนกลายเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ ทำให้ปีนี้มีการปิดสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่า 200 สาขา ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังโตแต่กลับไม่มีความจำเป็นต้องมีหน้าร้านเป็นสาขาแบบเดิม อีคอมเมิร์ซก็คล้ายกัน เราสามารถซื้อขายของผ่านสังคมออนไลน์แทนการมีหน้าร้าน หรือแต่เดิมทุกบริษัทต้องมีเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ปัจจุบันไม่จำเป็นแล้ว เก็บข้อมูลไว้บน Cloud Computing แทนได้ และใช้ประโยชน์ง่าย สะดวกขึ้น มีคุณลักษณะป้องกันภัยไซเบอร์ที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นำไปสู่การลงทุนรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม
อีกโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยคือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในด้านการเงินจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการออม การเตรียมตัวเกษียณ มีอะไรที่น่าเป็นห่วงบ้างเรื่องนี้
คนไทยโดยรวมออมไม่พอที่จะเตรียมรับมือกับการเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญ กลับมาที่เรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของการออม บวกกับการขาดทักษะการบริหารจัดการเงิน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องดูแลเรื่องการออมของคนในประเทศให้เพียงพอ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมานานทำให้แรงจูงใจในการออมลดลง ซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพระยะยาวของประเทศ ปัญหาทั้งหมดนี้ถือเป็นภารกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงาน เราต้องทำงานหนักขึ้น ผลักดันให้เกิดการออมอย่างเป็นระบบมากขึ้น
เคยได้ยินคำว่า Slow Death ที่อธิบายสภาพเศรษฐกิจของประเทศทุกวันนี้ว่ามันแตกต่างจากตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ตอนนั้นทุกอย่างพังครืนลงมาทีเดียว แล้วพวกเราก็มาสร้างกันใหม่ แต่ตอนนี้ดูเหมือนสภาพเศรษฐกิจจะค่อยๆ แย่ลงแบบซึมลึก การจับจ่ายของประชาชนก็ลดลงตลอดทั้งปี เรากำลังเจอกับอะไรอยู่
วิกฤตปี 2540 เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดในไม่กี่ประเทศ มีแค่เราและประเทศเพื่อนบ้าน แต่เศรษฐกิจโลกยังดีอยู่ ตอนปี 40 ภาคการส่งออกยังดี ส่วนหนึ่งเพราะได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาก จาก 25 บาท ไปอยู่ที่ 50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกันก็มีคนล้มละลายเยอะ เพราะภาระหนี้ต่างประเทศที่เคยกู้มา ที่อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท กลายเป็น 50 บาท จึงเกิดการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่
แต่ในรอบนี้ปัญหาเกิดมาจากนอกประเทศ วิกฤตการณ์การเงินโลกปี ค.ศ. 2008-2009 มีขนาดใหญ่มาก และกระทบกับเศรษฐกิจทั้งโลก ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผนวกกับสถานการณ์ของประเทศเราเองที่ต้องยอมรับว่าช่วง 3-6 ปีที่แล้วเราเจอปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาคเอกชนไม่มีใครกล้าลงทุนใหม่ เพราะไม่แน่ใจว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร เอาง่ายๆ อย่างเราช่วงนั้นที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ยังไม่แน่ใจว่าพรุ่งนี้จะมาทำงานได้หรือเปล่า ปัญหาการเมืองต่อเนื่องหลายปี นอกจากนี้ก็เจอน้ำท่วมใหญ่อีก เลยทำให้ภาพรวมการลงทุนทั้งของภาคเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ชะงักไป ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซียก็ดึงธุรกิจจำนวนไม่น้อยให้ไปลงทุนกับเขา เรื่องนี้สะท้อนว่าเราต้องทำงานหนักขึ้น เร็วขึ้น เก่งขึ้น ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วแบบนี้
ที่ผ่านมาเราพูดถึงเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันตลอด อยากทราบว่าเราควรมองแนวคิดนี้ของในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างไร และในวันที่พระองค์ท่านไม่อยู่กับเราแล้ว ปรัชญานี้จะยังอยู่ไหม
ขอบคุณที่ถามคำถามนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงกลั่นจากประสบการณ์การทรงงานจริง และเป็นปรัชญาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะแค่เรื่องการเงินเท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ได้กับการดำเนินชีวิตแทบทุกเรื่อง ในโลกที่มีความผันผวนสูง โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ ไม่ว่าเรื่องการมีเหตุมีผล การพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นหลักสำคัญในการบริหารความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ทั้งสิ้น มีเหตุมีผลในสิ่งที่เราทำ ทำอะไรที่ไม่สุดโต่งจนเกินไป
ตัวอย่างปัญหาหนี้ครัวเรือน การใช้เงิน การใช้ชีวิตของเรามีเหตุมีผลไหม มันเป็นความจำเป็นหรือเป็นความโลภ ถ้าเราตัดสินใจซื้อของแบบสุรุ่ยสุร่ายด้วยความอยาก สุดท้ายจะเป็นการเบียดเบียนตัวเอง แบบนี้เรียกว่าไม่มีเหตุมีผล เราต้องมีความพอประมาณ ทำอย่างไรไม่ให้การใช้ชีวิตสุดโต่ง บางคนมีบัตรเครดิตห้าใบ และก็ใช้เต็มวงเงินทั้งห้าใบเลย อย่างนั้นก็ไม่ควร
มองในภาพใหญ่ ที่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดขึ้นก็เพราะว่าเรามีการลงทุน การกู้ยืมเงิน การแข่งขันกันในลักษณะที่สุดโต่ง กู้เงินต่างประเทศมาลงทุนในธุรกิจสนามกอล์ฟ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถจะสร้างรายได้ได้อย่างเพียงพอ หลักการพอประมาณและการสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจึงเป็นหลักสำคัญในทุกยุคสมัยที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง มองไปข้างหน้าเราจะเจอกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ภาวะโลกร้อน และ Cyber Security นำไปสู่คำถามว่าภูมิคุ้มกันที่เราต้องมีคืออะไร
ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของคุณธรรมและความรู้ ในโลกยุคใหม่ ความรู้และคุณธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นหลักที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นและอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดองยั่งยืน จะเห็นได้ว่า 3 เสาหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือความสมเหตุสมผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นหลักสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าระดับบุคคล ระดับสังคมธุรกิจ
อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยเอง เราก็มีภารกิจที่จะต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องเสถียรภาพเป็นเรื่องที่เราต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำอย่างไรที่ไม่ให้ธุรกรรมภาคการเงินของประเทศไทยสุดโต่ง ทำอย่างไรให้มีกันชนรองรับแรงปะทะที่มาจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผันผวนจากนอกประเทศ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยโคลงเคลงหรือล้มได้ง่าย ทำอย่างไรที่เราจะมีเหตุมีผลในการทำนโยบายเศรษฐกิจ หลักที่สำคัญเหล่านี้สามารถใช้ได้กับทุกๆ ระดับ จึงเรียกว่าเป็นปรัชญา เพราะเป็นหลักที่สามารถไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน และในทุกมิติ
ภาพ : ภาสกร ธวัชชาตรี