‘ดูแลพ่อแม่คนอื่น ให้เหมือนที่อยากให้คนอื่นดูแลพ่อแม่เรา’
หนึ่งในการสนทนาถึงสิ่งที่ ‘จอย’ – ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร หญิงสาวที่ลาออกจากงานประจำและทำสตาร์ทอัพเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาชื่อ Joy Ride โดยให้บริการพาคนสูงวัยของคุณไปโรงพยาบาล หรือทำธุรกรรมอื่นๆ ตามที่ต้องการ ได้เรียนรู้หลังจากที่เธอเริ่มต้นธุรกิจนี้ในเดือนสิงหาคม 2021
ผ่านมาหนึ่งปีกว่าๆ ทีมงานของเธอขยับขยายเพิ่มขึ้นพอๆ กับการได้ใจจากผู้รับบริการที่มากขึ้นแบบปากต่อปาก ซึ่งการตอบรับที่ได้กลับมานั้นก็ช่วยพิสูจน์แล้วว่าการเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขของเธอนั้น กำลังมาถูกที่และถูกทาง
ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้สีเขียวที่เรานั่งคุยกัน ช่างเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เธอเล่าว่าหากตัวเองตายไปเธออยากให้บนหลุมฝังศพของตัวเองนั้นเป็นต้นสาละลังกาไม้ยืนต้นที่อยู่กับโลกนี้ไปนานๆ และมีดอกที่เก๋ไก๋เหมือนกับตัวเธอเอง พร้อมกับแลกเปลี่ยนกับเราถึงต้นไม้ที่อยากให้อยู่บนหลุมศพของตัวเองอย่างอารมณ์ดี
หากใครที่ติดตาม Joy Ride หรืออาจจะเคยเห็นเธอมาบ้างจากการปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ ภาพที่คุ้นตาของจอยคือ หญิงสาวอารมณ์ดี ชอบมีมุกตลกให้คนฟังหัวเราะตาม และคิดว่าเธอนั้นคงเป็นคนที่มีความสุขในชีวิตเป็นปกติอยู่แล้ว แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เธอก็แทบเอาตัวเองไม่รอดจากความรู้สึกสับสน หดหู่ และไม่เชื่อมั่นในคุณค่าที่ตัวเองมีอย่างหนัก ถึงวันนี้จอยจะผ่านพ้นเรื่องแย่ๆ นั้นมาได้ บทเรียนชีวิตก็มักจะส่งบททดสอบใหม่ๆ เข้ามาท้าทายมนุษย์เสมอ
เพียงแต่ครั้งนี้สิ่งต่างๆ ที่กำลังเข้ามาหา Joy Ride กลับเป็นพลังที่ช่วยเปิดทางให้เธอได้ค้นพบหนทางใหม่ๆ เพื่อส่งมอบความสุขและคุณค่าให้กับคนอื่นๆ ต่อไป
แม้กระทั่งวันที่เธอจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม
+ Go for a Joy Ride ก่อนจะดูแลคนอื่นได้ เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน
จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปที่ก่อนหน้านี้เธอก็เป็นผู้หญิงทำงานที่ดูแล้วไปได้ดีกับงานที่ตัวเองทำ มีตำแหน่งระดับหัวหน้า มีเงินเดือนมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพที่คนภายนอกมองเห็น เพราะสิ่งที่อยู่ข้างในกลับเป็นความขมขื่นที่อัดแน่นจนเกือบทำให้เธอเลือกที่จะทำลายตัวเองให้พ้นจากความทรมานนี้ไป
“เป็นช่วงที่เราอยู่ดีๆ ก็อยากร้องไห้ ตอนขับรถกลับบ้านหลังเลิกงานอยู่ดีๆ น้ำตาก็ไหลนองหน้า” เสียงยิ้มแย้มจากตอนแรกที่เราทักทายกันเปลี่ยนเป็นน้ำเสียงที่จริงจังปนสั่นเครือ
“มีครั้งหนึ่งที่เราโทรไปหาแม่แล้วบอกว่า มาม๊าถ้าลูกจะขายทุกอย่างแล้วกลับไปอยู่ยะลา ม๊าจะโอเคหรือเปล่า ลูกจะเป็นคนที่ล้มเหลวหรือเปล่า เราทนกับอาการเบิร์นเอาท์ของตัวเองไม่ไหวแล้ว เวลาประชุมกับทีมมาร์เก็ตติ้งที่บริษัทหลายครั้งที่เรารู้สึกอยากอาเจียน เวลานอนก็สะดุ้งตื่นตลอดเวลา เราเครียดมากๆ มีความรู้สึกใจสั่นกระสับกระส่าย เราร้องไห้จนคิดถึงขั้นว่าถ้าประชุมเสร็จฉันจะกระโดดลงมาจากชั้นสี่ให้จบๆ ไปเลย แต่พอนึกภาพก็คิดว่าไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวจะลำบากคนอื่นเพราะตัวเราใหญ่” เธอหัวเราะออกมาทำให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น
“แต่ความคิดนี้ก็แวบขึ้นมาเป็นระยะ เหมือนไฟที่มันกะพริบติดๆ ดับๆ ตอนนั้นก็คิดว่าหรือว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า เราก็หาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้เรื่องงานเหรอหรือเพราะเคมีในสมอง เราจึงตัดสินใจไปปรึกษาคุณหมอ ซึ่งผลตรวจที่ได้ออกมาคือ เราเป็นโรคซึมเศร้าระยะเริ่มต้น”
การตัดสินใจไปพบผู้เชี่ยวชาญในครั้งนั้นนอกจากทำให้เธอคลายกังวลในเรื่องที่คิดว่าตัวเองนั้นไม่มีคุณค่าพอต่องานที่ทำแล้ว ยังเปลี่ยนชีวิตให้กับเธอไปด้วย
“วันที่เดินออกมาจากห้องตรวจเราเห็นคนเฒ่าคนแก่มานั่งรอตรวจกับหมอเยอะมาก ภาพที่เห็นคือ มีคนแก่ด้วยกันที่เขาพาคนแก่มาหาหมอ และก็มีคนแก่ที่มาคนเดียว เราจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นฉันจะลาออกจากงานแล้วมาลองทำอาชีพรับจ้างพาคนแก่มาหาหมอน่าจะดีกว่า ซึ่งเป็นทั้งการฮีลใจตัวเองได้ด้วย ถ้าเราสามารถดูแลคนอื่นได้เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน ดังนั้นการทำอาชีพนี้น่าจะทำให้ตัวเราดีขึ้นได้ด้วย”
อีกแรงสนับสนุนสำคัญของเธอคือ คำพูดของรุ่นพี่ที่ทำงานที่เคยบอกไว้ว่า ชื่อของเธอคือ ‘จอย’ ดังนั้นเธอก็ต้องทำตัวเองให้มีความสุขเหมือนกับชื่อที่พ่อแม่ของเธอตั้งให้ แล้วก็เผื่อแผ่ความสุขนั้นไปให้กับคนอื่นๆ เธอจึงตั้งใจแน่วแน่และไปลาออกจากงานประจำของตัวเองแล้วเริ่มทำอาชีพรับจ้างพาคนแก่ไปหาหมอโดยเปิดเพจบนเฟสบุ๊กว่า Joy Ride
การลาออกจากงานประจำที่รายได้ค่อนข้างดี สู่อาชีพใหม่ที่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะสามารถหล่อเลี้ยงตัวเองต่อไปได้จริงไหม เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่คิดว่าหลายคนคงรู้สึกสงสัยแบบเดียวกับเรา
“ตอนนั้นน่ะคิดแค่ว่าถ้าฉันไม่ออกจากงานแล้วเกิดตายขึ้นมาทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ เราก็ไม่มีโอกาสหาเงินอีกต่อไป เรายังพอมีเงินเก็บอยู่บ้างก็เลยคิดว่าออกมาก่อน ออกมาลองทำดู เราไม่รู้หรอกว่ามันจะดีหรือไม่ดี จะทำได้หรือเปล่า จะมีลูกค้าไหม แต่ถ้าเราไม่เลือกที่จะตัดสินใจตอนนั้น อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะมีลมหายใจอยู่อาจจะเป็นศูนย์เลยก็ได้ เราเลือกที่จะเซฟชีวิตตัวเองก่อนเพื่อไม่ให้พ่อแม่ต้องเสียใจ”
ดังนั้นความเสี่ยงที่เธอคิดถึงมากที่สุดคือเรื่องของชีวิต ไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง
“ถ้าเราล้มเหลวจริงๆ เรายังมีครอบครัวส่วนอะไรที่มันเป็นภาระที่ไม่จำเป็นก็แค่ตัดออก ขายบ้านขายรถแล้วไปอยู่ต่างจังหวัดกับแม่ก็ได้เรามองถึงอนาคตตรงนั้นไว้แล้วค่ะ”
หลายคนคงคิดว่างานของเธอคงเป็นเรื่องง่ายๆ แค่รับ-ส่งคนไปยังโรงพยาบาลและรอรับกลับเมื่อเขาตรวจเสร็จ แต่จริงๆ แล้วหน้าที่ของเธอมีรายละเอียดที่มากกว่านั้น
“ลองคิดดูนะคะว่าขนาดคุณพ่อหรือคุณแม่ของเรา ยังต้องไปหาหมอที่ไม่เหมือนกันเลย ยิ่งสำหรับคนสูงวัยด้วยแล้ว บางครั้งไปหาจักษุแพทย์ บางทีก็ไปหาหมอเข่า ไปหาหมออายุรกรรม ไปหาหมอโรคประจำตัว บางครั้งต้องงดน้ำงดอาหาร บางครั้งต้องสวนทวารล้างลำไส้ บางครั้งต้องทานยาบางตัวก่อนไปหาหมอ สองวัน งานของเราจึงไม่ใช่แค่ “สวัสดีค่ะ!มาแล้วค่ะ” แล้วรับเขาจากบ้านขึ้นรถไปส่ง Joy Ride ไม่ใช่แท็กซี่ แต่คือ Nanny for Adult เราคือ ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ เพราะว่าข้อมูลเกี่ยวกับคุณพ่อคุณแม่ ชื่อ อายุ วัน เดือน ปีเกิด แพ้ยาอะไร แพ้อาหารอะไร เลือดกรุ๊ปอะไร โรคประจำตัวอะไร และหนึ่งเดือนที่ผ่านมาที่เขาไปหาหมอเขามีอาการอะไรหรือเปล่า เราเป็นยิ่งกว่าผงซักฟอกค่ะ เราจะซักลูกหลานอย่างละเอียดเลย เพราะเมื่อไปถึงหน้างานเราคือตัวแทนของลูกหลาน เราต้องทำหน้าที่นั้นแทนเขา ก่อนวันที่จะไปหาหมอเราต้องดูแล้วว่าเขาต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเหมือนที่เราดูแลพ่อแม่ของเราเอง โดยเราต้องบอกให้เตรียมตัวทั้งลูกหลานและผู้สูงอายุ หลังจากพาเขาไปตรวจเสร็จก็ต้องพาเขาไปกินข้าว เพราะเขาอาจจะต้องงดอาหารตั้งแต่สามทุ่มตื่นตีสี่ เจาะเลือดแปดโมงเช้า จากนั้นก็พากลับมานั่งรอฟังผลตรวจ ระหว่างที่รอเราจะคุยอะไรแล้วจะสื่อสารกับคนป่วยอย่างไร
“การคุยกับเขาก็ต้องมีลูกล่อลูกชน คุณหมอให้งดเค็มงดหวานคุณพ่อแอบไปกินมาหรือเปล่าคะ ทำไมผลออกมาค่าตรงนี้สูงขึ้น แล้วเราก็ต้องเป็นตัวแทนไปถามคุณหมอด้วยว่ายาตัวนี้มีผลข้างเคียงอะไร กัดกระเพาะอาหารไหม ซึ่งเวลาที่เราไปอยู่ในห้องตรวจ เราคือคนสำคัญที่จะต้องถามคุณหมอว่า การที่คุณแม่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เราต้องคิดแทนลูกหลานเขา ดังนั้นเมื่อหมอพูดอะไรเราจะจดทุกอย่าง ถ่ายรูป บางครั้งหมอใช้ศัพท์เทคนิคเราต้องให้หมอช่วยอธิบายเพิ่มเติม ต้อนรับยาเราก็ต้องตอบเจ้าหน้าที่ได้ เวลาเภสัชกรอธิบายยาแต่ละชนิดก็ต้องจดให้ละเอียด ตัวไหนกินตามอาการตัวไหนกินต่อเนื่อง ยาตัวนี้ให้หยุดกินทันทีถ้ามีอาการแพ้แบบนี้ จากนั้นจึงพากลับไปส่งที่บ้าน และทุกขั้นตอนที่เราอยู่โรงพยาบาลลูกหลานของผู้สูงอายุจะรู้ขั้นตอนทั้งหมด ตอนนี้รับบัตรคิวแล้วเหลืออีกประมาณเจ็ดคิว หรือคุณแม่ไปเข้าห้องน้ำ กำลังทำการบำบัดอยู่เราจะถ่ายรูปส่งให้ดูตลอด ซึ่งเขาจะรู้ว่าเราไม่ได้ปล่อยให้พ่อแม่ของเขาอยู่นอกสายตาของเราเลย ซึ่งเราจะทำทุกอย่างให้การไปหาหมอของเขาได้รับประสิทธิภาพที่ดีที่สุด”
ไม่เพียงแต่การดูแลอย่างดีที่สุดเท่านั้น การทำงานของเธอยังครอบคลุมถึงการจัดการนัดหมายครั้งต่อไปให้กับผู้ป่วยด้วย ยิ่งถ้าหากผู้สูงอายุนั้นต้องหาหมอหลายแผนกหากเป็นไปได้เธอจะช่วยรวบการนัดหมายเพื่อทำการตรวจให้สามารถทำได้พร้อมกันในวันเดียว
“จริงๆ ถ้าเขาต้องมาสองรอบเราก็จะได้เงินสองครั้ง แต่ทีมงาน Joy Ride จะคิดเหมือนกันว่าถ้าเขาเป็นพ่อแม่ของเรา เราก็ไม่อยากให้เขาต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ถ้าสามารถรวบนัดหมายให้ได้ในวันเดียวได้เลยก็จะดีกว่า ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ลูกค้าของเราไว้ใจ และสิ่งที่นอกเหนือจากการที่เราพาเขาไปโรงพยาบาล หน้าที่ของเราคือการรับฟัง เพราะหลายครั้งเราจะพบว่าผู้สูงวัยมีอะไรไม่ยอมบอกลูกหลานตรงๆ เดี๋ยวลูกเป็นกังวล เดี๋ยวคุยแล้วทะเลาะกัน แต่ข้อมูลพวกนี้เราจะไปเล่าให้ลูกหลานฟังด้วยการสื่อสารทางบวก เช่น เห็นคุณแม่บอกว่าอยากได้รองเท้าแตะคู่นี้เพราะดอกยางมันยึดเกาะดี คุณลองซื้อเป็นของขวัญให้ท่านไหมคะ พอลูกสาวซื้อไปเซอร์ไพรส์คุณแม่ก็มีความสุข”
จากจุดตั้งต้นที่เธออยากให้ Joy Ride เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโรงพยาบาลกับบ้านของผู้ใช้บริการ แต่ตอนนี้พวกเธอกำลังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่เชื่อมโยงให้กับสมาชิกครอบครัวของผู้สูงอายุด้วย
“สำหรับผู้สูงวัยเราพูดตรงๆ ว่าเวลาของเขาเป็นเหมือนนาฬิกาทรายที่นับถอยหลัง แต่จะทำอย่างไรให้เวลาของเขาไม่ว่าจะหนึ่งปี สองปี ห้าปี หรือสิบปี นั้นมีความสุขที่สุด เพราะความชราภาพนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถช่วยให้เขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองได้ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ เหล่าผู้สูงวัยจะรู้สึกท้อแท้เพราะมีเพื่อนๆ เขาหลายคนจากไป ทำให้เขามีคำถามว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวของเขา มีทั้งเรื่องความกลัว ความน้อยใจ เราสามารถทำให้เขายิ้มได้หัวเราะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Joy Ride ทุกคนทำ”
เมื่อคิดแบบเดียวกัน กฎของแรงดึงดูดก็จะนำพาคนที่เหมือนๆ กันเข้ามาร่วมทีมของเธอได้เอง
“ถ้าคุณจะมาทำงานด้วยกันเพราะว่าเพียงแค่ว่าคุณตกงาน หรือคุณแค่มีรถราคาแพง คุณจะทำบริการนี้ไม่ได้ เพราะนี่เป็นบริการที่ต้องปรับแต่งให้ลูกค้าแต่ละคนแบบสุดๆ พ่อกับแม่เราแค่สองคนยังชอบไม่เหมือนกัน แล้วนี่เป็นร้อยครอบครัวเราจะดูแลแล้วเอาใจใส่อย่างไรให้เขารู้สึกว่าเหมือนเราเป็นลูกเป็นหลาน เราจะเจอกันแบบคนแปลกหน้าแต่จากกันแบบลูกหลานอย่างไร”
+ อาชีพที่ต้องรับมือกับการจากลา
แม้เธอจะบอกว่าการได้มาทำ Joy Ride ทำให้เธอเลิกโฟกัสกับความทุกข์ในหัวของตัวเอง และมีความสุขในงานใหม่ที่ทำ แต่เหรียญก็มีสองด้านสิ่งที่เรากังวลคือ ความเจ็บปวดจากการสูญเสียเมื่อเราผูกพันกับใครสักคน และมันจะยิ่งน่าเป็นห่วงหากเราต้องเผชิญกับการจากไปอย่างต่อเนื่องของคนที่เรารู้จักจนถึงขั้นสนิทสนม
“เราเจอประสบการณ์แบบนี้บ้างแล้ว” เธอตอบแล้วก็นิ่งเงียบไปสักพัก
“ลูกค้าเป็นผู้ป่วยมะเร็งก่อนที่เขาจะเสียเราก็ให้กำลังใจเขาตลอด จนวันที่หลานส่งข้อความมาบอกเราว่าอาโกวเสียแล้ว เราก็ร้องไห้หนักมากเพราะก่อนหน้าเราเพิ่งสัญญากับเขาว่าจะไปหาจะไปเยี่ยม แต่เราก็ไปส่งเขาครั้งสุดท้ายที่วัด ซึ่งแขกที่มาช่วยงานนั้นก็เป็นเพื่อนจากสถานปฏิบัติธรรมของเขาทั้งหมด ทำให้เรารู้ว่าเราเองก็ช่วยเขาด้วยเหมือนกัน ก่อนที่เขาจะเสียเราช่วยพาเขาไปทำธุรกรรม พาเขาไปกินอาหารที่ภัตตาคาร เราช่วยให้เขาได้ทำสิ่งสุดท้ายที่เขาอยากทำ ก่อนที่เขาจะพักผ่อนตลอดไป เขาไม่ต้องเจ็บอีกแล้ว สิ่งที่เราทำอยู่นี่ก็มีคุณค่าเหมือนกัน เราคิดแบบนี้”
สิ่งที่เธอได้เรียนรู้นี้นอกจากทำให้เธอตระหนักถึงการดูแลคนใกล้ชิดให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้เธอเข้าใจและพร้อมรับมือกับเรื่องความตายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองไว้ด้วย
“พอเราพูดกับลูกค้าดี เราก็เอาวิธีนี้มาพูดกับพ่อของตัวเองด้วย จากเดิมที่เคยพูดกันแบบห้วนๆ เพราะความเคยชิน เราก็ลองพูดกับพ่อใหม่โดยคิดว่าพ่อคือลูกค้าคนหนึ่งของเรา ปรากฏว่าพ่อเรามีความสุขมาก นั่งรถก็ร้องเพลงไปด้วยตลอดทาง และทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกสาวที่ดีขึ้นด้วย
“ตอนนี้เราอยากทำบริการที่เกี่ยวกับการบริหารดูแลเรื่องความตาย โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากตัวเราเองที่ตอนนี้ก็อายุสี่สิบปีแล้วและก็ไม่มีลูกหลาน ถ้าเราตายไปใครจะมาไหว้เราในเทศกาลเช็งเม้งกันนะ ฮวงซุ้ยเราก็คงอยู่แบบเหงาๆ ไม่มีคนมาปาร์ตี้ แล้ววันหนึ่งก็คงเป็นศพไร้ญาติที่รอวันเขามาล้างป่าช้า เรามีโอกาสได้ดูซีรีส์เรื่อง Move to Heaven ซึ่งมีฉากที่ตัวละครวิ่งมากอดต้นไม้ แล้วต้นไม้นั้นมีป้ายชื่อ ซึ่งไปตรงกับสิ่งที่เคยคิดว่าอยากทำนั่นคือ บริการที่ช่วยดูแลหลังจากที่เราจากโลกใบนี้ไปแล้ว โดยใช้ชื่อว่า Forest For Rest สวรรค์คนเป็นร่มเย็นคนไป นอกจากการบริจาคอวัยวะแล้ว เราก็อยากให้ร่างกายของตัวเองกลายเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ปลูกต้นไม้เพื่อเป็นป่าให้กับโลกใบนี้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังรวมคนที่คิดแบบเดียวกันนี้มาทำงานด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่ Joy Ride จะทำต่อไปในอนาคตคือเรื่องของ Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคอง การบริหารจัดการชีวิตหลังวาระสุดท้าย ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดและเตรียมตัวกันไว้ เพราะประเทศที่เจริญขึ้นมากๆ การตายอย่างโดดเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน โดยเราก็คิดรูปแบบของตัวเองไว้แล้วว่าอยากเป็นต้นสาละลังกา ส่วนคนอื่นที่มีลูกเวลาที่เขาคิดถึงพ่อแม่ก็จะมาที่ต้นไม้ของพ่อแม่เขาแล้วก็กอดต้นไม้นั้นได้”
อีกเรื่องที่เธอเสริมให้กับเราคือ ทุกบริการของ Joy Ride ที่เกิดขึ้นมา ก็มาจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้นนอกจากการพาไปโรงพยาบาลแล้ว ยังพาไปยังที่ต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้กับพวกเขาไม่ว่าจะพาไปงานแต่งงาน พาไปงานศพ พาไปลอยอังคาร หรือแม้แต่งานทางพิธีกรรมด้านศาสนาต่างๆ ดังนั้นบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
+ ความหมายของการมีชีวิตอยู่
จากหญิงสาวที่เต็มไปด้วยความสับสนของชีวิต สู่วันที่เธอสามารถค้นพบคุณค่าในตัวเอง และส่งต่อความสุขผ่านการดูแลด้วยใจให้กับผู้อื่น วันนี้เธอจึงสามารถตอบเราได้อย่างเต็มปากแล้วว่า เรานั้นเกิดมาทำไมและควาหมายของการมีชีวิตอยู่นั้นคืออะไร
“ถ้าไม่รู้ว่าเราเกิดมาทำไม เราก็จะมีชีวิตอยู่ไปวันๆ การที่เรามีชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นก็จะไม่มีคุณค่า แล้วจะกลายเป็นคำถามว่าเราเกิดมาทำไม แต่วันนี้ทุกวันที่เราตื่นขึ้นมา เราจะคิดว่าทำอะไรดีๆ ให้คนอื่นได้บ้าง มันคือการเติมเต็มคุณค่าในใจของเรา เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้รับประโยชน์จะไม่ใช่แค่เราแต่คือคนในสังคม คือคนแปลกหน้า คนที่เราไม่รู้จัก ทำให้เรากลายเป็นแรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ ได้ด้วย มีลูกค้าคนหนึ่งบอกเราว่า เพราะการที่เรามีใจเพื่อทำตรงนี้ทำให้เรามีแรงทำงานนี้ต่อไป ซึ่งคำพูดนี้สะกิดใจเรามาก เพราะเมื่อก่อนตื่นขึ้นมาก็แทบไม่มีแรงอยากไปทำงาน อยากนอนอยู่บนเตียงโง่ๆ แต่เมื่อเรามีใจ เราก็จะคิดถึงหน้าลูกค้า คิดถึงผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เราได้สร้างงานให้ผู้หญิงที่อายุห้าสิบกว่าหลายคนที่ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ เพราะอายุมากแล้วหรือเงินเดือนสูงยิ่งเราได้ลูกค้าที่ดีทีมงานที่ดี ก็ทำให้เรามีแรงลุกขึ้นมาต่อสู้กับอุปสรรค ปัญหา และความท้าทายไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม”
เธอบอกว่าประโยคหนึ่งที่พูดกับตัวเองเสมอคือ Living a Life of Celebration, Eating at the End of the World. นั่นคือการทำทุกอย่างให้เต็มที่แบบที่ตัวเองต้องการเหมือนจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว ซึ่งเธอมองเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งกว่าที่เราคิดไว้เยอะทีเดียว
“การได้เจอกันครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตของเราทั้งคู่หรืออาจจะมีโอกาสที่ได้เจอกันอีกครั้งก็ได้ แต่คุณจะจำเราได้ในฐานะคนที่ทำให้คุณหัวเราะได้ แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่อีกสิ่งที่ทำให้เราคิดแบบนี้คือ เราเกิดวันที่ 25 ธันวาคม เมื่อก่อนเราน้อยใจนะว่าทำไมตัวเองต้องเกิดวันนี้ เพราะคนอื่นจะไปให้ความสำคัญกับวันเทศกาลแล้วทุกคนก็ลืมวันเกิดของเรา เพื่อนๆ ก็ไปอยู่กับแฟนหรืออยู่กับครอบครัวซึ่งเราคือคนที่ถูกลืมทิ้งไว้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็พบว่าตัวเองสามารถ Joy to the world ได้ ด้วยการทำตัวเองให้มีความสุข แล้วเผื่อแผ่ความสุขนั้นให้คนอื่น”
นี่คือความหมายของการมีชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าของเธอ ซึ่งใครก็สามารถค้นพบความหมายของตัวเองได้ แค่เพียงดูแลตัวเองให้ดีแล้วส่งพลังบวกนั้นต่อไปให้กับคนรอบตัว ถึงแม้เขาจะไม่รับสิ่งนั้นจากเราไปก็ตามแต่สุดท้ายแล้วคนที่มีความสุขที่แท้จริงคือตัวเราเอง
Joy Ride
บริการรับ-ส่งพาคนที่คุณรักไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่มีนัดคุณหมอประจำเดือน ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือแม่หลังคลอดที่ต้องพาลูกไปตรวจสุขภาพ หรือจะพาไปวัดทำบุญ ทำธุระต่างๆ ก็ได้ ด้วยความปลอดภัยและมาตรฐานด้วยสุขอนามัยอย่างเข้มงวด โดยคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 500 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง รายละเอียดเพิ่มเติม https://joyridethailand.com/ และ https://www.facebook.com/JoyRideThailand/
เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ