Just Read เพจที่สร้างกลุ่มคนรักหนังสือให้มากกว่าการอ่าน ผ่านการทัวร์ย่านตามรอยหนังสือ

   หากมีคนถามว่า สิ่งที่ควรรู้ตั้งแต่อายุ 20 ปีคืออะไร?

   สำหรับ เวฟ-สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเพจหนังสือ ‘Just Read’ จะตอบว่า

   “การหาโอกาสให้กับชีวิต”

        ประโยคดังกล่าว เวฟค้นพบจากการเปิดอ่านหนังสือ ‘น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20’ หนังสือเล่มแรกที่เปลี่ยนชีวิตของเขา ด้วยการลองตั้งบุ๊กคลับกันเล่นๆ กับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนกระทั่งตั้งเพจเฟซบุ๊ก ‘KU จะอ่านหนังสือ’ เพราะอยากสร้างคอมมูนิตี้สำหรับคนอ่านหนังสือ แม้ว่าตอนแรกจะเป็นช่วงเริ่มต้น มีล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง แต่เขาก็ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะสานต่อ 

        เมื่อมีโอกาสได้ลองจัดกิจกรรมหนังสือในสเกลใหญ่ขึ้น อย่างจัดอีเวนต์บุ๊กคลับกับร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง หรือจัด ‘งานหนังสือในสวน’ ที่สวนลุมพินีเรียกผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าร้อยคน และช่วยขับเคลื่อนสังคมการอ่านหนังสือให้เข้าถึงง่ายมากขึ้นด้วยการจัด ‘กิจกรรม’

        แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรที่แน่นอน บวกกับการเจอกับสถานการณ์อย่างไวรัสระบาดหนัก จึงทำให้การดำเนินชีวิตทุกอย่างถูกบังคับให้เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ เวลาที่ผ่านมาตอนนั้นได้เปลี่ยนผ่านสถานะวัยเรียนหนังสือเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัว ก็ถึงเวลาที่เพจ KU จะอ่านหนังสือ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

        เวฟเปลี่ยนชื่อเพจใหม่ว่า ‘Just Read’ ที่ยังเป็นคอมมูนิตี้สำหรับคนรักหนังสือรวมตัวกว่าหนึ่งแสนคน และยังคงทำคอนเทนต์เล่าเรื่องเกี่ยวกับหนังสือเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือจัดกิจกรรมมากขึ้น อย่างทัวร์เดินตามหนังสือในย่านพระนคร สร้างประสบการณ์ให้คนอ่านชมเมือง แถมยังทำให้หนังสือเล่มนั้นได้รับความนิยมจนขายขาดตลาดด้วยเช่นกัน (ล่าสุดตั้งใจจะจัดกิจกรรมบุ๊กคลับใน Clubhouse แล้วด้วย) ซึ่งทุกอย่างที่เวฟทำ เขาเริ่มต้นทำด้วยตัวคนเดียว (ปัจจุบันก็ทำด้วยตัวคนเดียวอยู่ด้วยนะ) ที่มีจุดตั้งต้นมาจากการหา ‘โอกาส’ ให้กับตนเองเหมือนประโยคในหนังสือเล่มแรกที่เตือนใจเขาไว้

ลองจัดทัวร์

        เวฟเล่าว่า แต่ก่อนเขาชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับเชิงพัฒนาตัวเอง และใช้ชีวิตเดินเที่ยวอยู่แถวสยาม ไม่ก็ลาดพร้าวเป็นหลัก แต่ความสนใจนั้นก็แปรเปลี่ยนไป เมื่อได้ไปเจอกับพี่เจ้าของร้านหนังสือสวนเงินมีมา นั่นคือประตูบานแรกที่ทำให้เขาได้รู้จักโลกหนังสือในเขตพระนคร

        “ผมโชคดีที่ได้เจอกับเจ้าของร้านหนังสือสวนเงินมีมา เป็นคาเฟ่หนังสือเล็กๆ บนถนนเฟื่องนคร เขาบอกให้ลองมาเดินเล่นในย่านเก่าดู ซึ่งปกติผมไม่ค่อยมาแถวนี้ ถือว่าเปิดโลกผมมากและร้านหนังสือเยอะมาก แล้วผมก็คุยกันต่อว่า เราจะทำโปรเจกต์อะไรร่วมกันได้บ้างเพื่อสนับสนุนร้านหนังสือในย่านนี้ด้วย”

        “หลังไปลองเดินสำรวจก็ลงเอยที่ว่า เราลองจัดทริปเที่ยวร้านหนังสือ 9 ร้านที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์เลยดีไหม ซึ่งก่อนหน้าจะไปทริปหนังสือไม่กี่วัน ผมไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งปกสีขาวๆ มีรูปตึกเก่า แล้วก็งงว่า ไอ้เล่มเนี้ย มันคืออะไรวะ ก็เลยเปิดเข้าไปดูชื่อหนังสือเขียนว่า ‘Bangkok Shophouses ตึกแถวกรุงเทพฯ และชีวิตชาวย่าน’ ของ ‘Louis Sketcher’ เราก็ เฮ้ย! มันเหมือนมีอะไรบางสิ่งที่เราจะไปเดินเลยว่ะ เปิดมาปุ๊บก็เจอแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์ รู้สึกว่าหนังสือนี้มันโดนอะ เราต้องซื้อมันนะ แล้ววันรุ่งขึ้นก็ลองเอาหนังสือเล่มนั้นเดินไปด้วยในวันจัดทริป 9 ร้านที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์เลย”

        “ตอนนั้นเราสนุกมากกับการเห็นของเก่าๆ ที่อยู่ในหนังสือ แล้วเราก็เดินสำรวจตามมันไปด้วย

        คือแทนที่เราจะอินกับการเดินร้านหนังสือ แต่ปรากฏว่าเราอินกับการเดินดูตึกเก่าไปด้วย เช่น ตึกนี้เหมือนในหนังสือเลย เอ๊ะ ตึกหน้าตาแบบนี้ๆ เป็นสถาปัตยกรรมยุคไหน จากนั้นผมก็หาอ่านข้อมูลไปเรื่อยๆ และเริ่มจัดทริปเดินตามหนังสือ Bangkok Shophouses ขึ้นมา เดินชมตึกเก่าในย่านเยาวราช ตลาดน้อย ไปจนถึงถนนไมตรีจิตต์เลยครับ”

        ไม่เพียงอินเรื่องความงามของสถาปัตยกรรมจนเกิดความประทับใจ เวฟเล่าว่าในย่านเมืองเก่า เขาได้ค้นพบร้านหนังสือเล็กๆ มากมายซุกซ่อนในระหว่างทาง แล้วมีร้านไหนที่เขาอยากแนะนำเป็นพิเศษบ้างไหมนะ

        “จริงๆ มีหลายร้าน ถ้าให้เลือกร้านแรกเลยก็คือ ‘สวนเงินมีมา’ มันเป็นร้านที่เปิดประสบการณ์ในการเดินเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ มันคือความเก่าที่ต่างจากความทันสมัยในเมืองที่เรามักจะมีภาพจำเวลาเข้ากรุงเทพฯ มันต้องหรูเวอร์วังไปเลยเหมือนสยามพารากอน แต่จริงๆ ในกรุงเทพฯ มันมีหลากหลายสไตล์ ร้านบรรยากาศดี น่านั่งอ่านหนังสือมากๆ”

        “ร้านที่สองอาจจะไม่ได้เป็นร้านหนังสือเต็มตัว มันเหมาะเป็นจุดเช็กพอยต์เวลาคนมาย่านนี้เลยนะ นั่นคือ ‘ร้านบูรพาสาส์น’ ปัจจุบันชื่อว่า ‘บูรพาคอฟฟี่’ เป็นร้านหนังสือเก่าในสมัยก่อน ปัจจุบันปรับตัวเป็นแนวคาเฟ่มากกว่า รวมทั้งมันเดินทางง่าย เพียงแค่ลงสถานีสามยอดปุ๊บคุณก็จะเจอเลย ร้านนี้ซิกเนเจอร์หลักของเขาคือนิยาย โดยเฉพาะนิยายรักเยอะมาก”

        “ร้านที่สามเป็นร้านลึกลับตรงย่านเสาชิงช้าชื่อว่า ‘World at the corner’ เปิดเฉพาะแค่วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ร้านนี้ขายหนังสือต่างประเทศอย่างเดียว 100% นะครับ เพราะว่าพี่เจ้าของร้านไปเที่ยวต่างประเทศมา แล้วเวลาไปเที่ยวเสร็จเขาจะหยิบหนังสือติดไม้ติดมือเอามาขายด้วย ผมชอบบรรยากาศของร้านนี้ เป็นบ้านไม้สมัยรัชกาลที่ 6 ให้ความรู้สึกเหมือนไปบ้านญาติ เข้าไปนั่งอ่านหนังสือเฉยๆ ยังได้เลย เจ้าของร้านเฟรนด์ลี่”

ลองคิดเห็น

        หลังจากทำทัวร์เดินตามหนังสือ ไปจนถึงทัวร์เที่ยวร้านหนังสือในเขตพระนครมาสักพักหนึ่ง สิ่งที่เขาค้นพบคือ การจัดกิจกรรมหรือการท่องเที่ยวดังกล่าว เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้นและรู้สึกอินกับเรื่องราวในหนังสือจนต้องเก็บสะสม มิหนำซ้ำผลพลอยได้จากการจัดทริปยังทำให้คนรู้จักร้านหนังสือเล็กๆ มากกว่าแต่ก่อน เราชวนคุยต่อว่า จากการสร้างคอมมูนิตี้ดังกล่าว คิดว่าปัจจัยอะไรทำให้คนอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น

        เวฟนั่งคิดสักพักก่อนตอบว่า “ตอบยากมากเลย ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับตอนนี้ คือเรื่องของ ‘คุณภาพชีวิต’ ถ้าเรามองให้ลึกอีกสักนิด ส่วนใหญ่คนอ่านหนังสือหรือคนเข้าห้องสมุด คือคนที่มีคุณภาพชีวิตดีอยู่ในระดับปานกลาง อยู่ในระดับที่แบบเราไม่ต้องหาเช้ากินค่ำอะ มันเลยมีเวลาที่จะมาอ่านหนังสือได้”

        “ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลย ทำไมคนส่วนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการอ่านหนังสือ ผมเคยคุยกับคนทำร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ผมรู้สึกเห็นด้วยว่า บางทีการอยู่ดีๆ เราไปบริจาคหนังสือหรือทำห้องสมุดให้ที่ที่หนึ่ง โดยที่ไม่ได้ถามชุมชนเลยว่าเขาต้องการหรือเปล่า มันอาจจะไม่ตอบโจทย์พวกเขาก็ได้นะ”

        “ถ้าสร้างมาก็คงมีแต่คำถามในหัวเต็มไปหมดว่าจะสร้างทำไม ซึ่งเขาอาจไม่ได้ใช้ในชีวิตจริงเลย ผมคิดว่า หากอยากสร้างห้องสมุดหรือบริจาคหนังสือ เราต้องเข้าใจวิถีชีวิตของคนใช้งานก่อนว่า เขาต้องการไหม เพราะว่าสิ่งที่เร่งด่วนหรือจำเป็นสำหรับบางคนมันอาจจะไม่ใช่การหาความรู้ มันอาจจะเป็นการเอาชีวิตรอดก็ได้นะ เพราะฉะนั้นคนเราจะรู้สึกอยากอ่านหนังสือมากขึ้น ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนเลยเป็นอันดับแรก ส่วนใหญ่คนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีถึงจะมีโอกาสได้เข้าถึงหนังสือดีๆ มีเงินซื้อหนังสือและมีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น”

        ปัจจุบันหนังสือก็เป็นสื่อรูปแบบหนึ่งในโลกสมัยนี้ที่มีสื่อหลากหลายในการเข้าถึงความบันเทิงหรือความรู้มากมาย บางคนมองว่า หนังสือเป็นสิ่งที่ไม่เท่าทันต่อยุคสมัย เนื่องจากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงเทรนด์ในสังคมเปลี่ยนไปทุกวันทุกเดือนจนหนังสือตามไม่ทัน ในมุมคนชอบอ่านหนังสือคิดเห็นอย่างไร

        “ประเด็นนี้มันน่าสนใจตรงที่ว่า ทุกวันนี้มีสื่อมากมาย และเราสามารถเลือกเสพสื่อได้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน สมมุติว่าคุณต้องการอะไรที่มันใหม่มากๆ เสพหนังสือมันไม่ทันอยู่แล้ว หนังสือเดี๋ยวนี้มันไม่มีทางทันโลกได้เร็วเท่ากับการดูข่าวบนโซเชียลมีเดีย ดูบนทวิตเตอร์ หรือดูบนเว็บไซต์ อันนั้นมันเร็วกว่าเยอะ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องเลือกไง ถ้าหนังสือมันไม่ทัน ก็แค่ย้ายไปดูแพลตฟอร์มที่มันสามารถผลิตสื่อที่คุณต้องการได้เร็วแทน” 

        “แต่ถ้าคุณต้องการเสพอะไรที่มันเป็นความรู้ เช่น ประวัติศาสตร์หรือเป็นความรู้ที่ค่อนข้างตายตัวหน่อย อันนี้หนังสือยังให้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะว่าความถูกต้องในหนังสือมันสูงกว่านะครับ สรุปก็คือเราแค่ใช้สื่อให้ตรงกับความต้องการของเรา มันไม่จำเป็นว่า คุณจะต้องอ่านหนังสือที่เป็นตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว เดี๋ยวนี้สื่อมันมีหลากหลายรูปแบบ หนังสือก็คือสื่อในรูปแบบหนึ่ง ก็แค่เลือกให้มันถูกต้องในจังหวะที่จำเป็นต้องใช้ ยิ่งคุณสามารถทำอย่างนี้ได้ คุณจะไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นหนังสือเท่านั้นที่ให้ข้อมูลกับคุณ”

ลองลงมือ

        หากพูดถึงหนังสือกับคนที่ชื่นชอบการอ่านอย่างเวฟ เขาบอกว่าหนังสือคือเพื่อนในอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ทั้งความรู้ ความสนุก และความสบายใจแก่เขา ปัจจุบันเขายังคงมีเป้าหมายที่ชัดเจนเหมือนตอนตั้งเพจครั้งแรกว่า อยากสร้างคอมมูนิตี้ให้คนเข้าถึงหนังสือมากยิ่งขึ้น จากการลองหาโอกาสใหม่ๆ ทำในสิ่งที่อยากทำ จนเกิดการต่อยอดการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือมากมายที่ทำมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้

        ถ้าให้นิยามตนเองเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง เวฟคิดว่าเป็นเล่มไหนกัน

        เขาตอบอย่างมั่นใจว่า ‘เจ้าชายน้อย’ “ผมรู้สึกว่าชีวิตเราเหมือนเจ้าชายน้อยเลย เหมือนตรงที่ว่าบางทีเราก็ไม่เข้าใจเลยว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันคืออะไร เหมือนเจ้าชายน้อย บางทีเราก็ไม่เข้าใจตนเองว่า เราทำแบบนั้นไปทำไม พอเรากลับมาอ่านอีกที กลับมาสังเกตอีกที ก็เพิ่งมาเข้าใจว่า อ๋อ ที่เราทำไปแบบนั้นเพราะอะไร ผมรู้สึกว่าชีวิตเราดำเนินเหมือนเจ้าชายน้อย บางทีเรามีโอกาสก็ทำไปก่อน ผมก็เป็นอย่างนั้นเลย ผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมทำไปเพราะอะไร”

        “ผมชอบประโยคหนึ่ง เจ้าชายน้อยคุยกับชายคนหนึ่งที่อยู่ในทะเลทรายด้วยกัน แล้วพูดประมาณว่า รู้ไหม เวลาเรานั่งดูพระอาทิตย์ตกดินน่ะ มันหมายถึงว่าคนนั้นกำลังเศร้าอยู่ แล้วชายคนนั้นที่เคยได้ยินเรื่องราวของเจ้าชายน้อยมาก่อนก็พูดว่า เธออยู่บนดาวที่สามารถดูพระอาทิตย์ตกดินได้หลายครั้งมากๆ ประมาณ 40 กว่าครั้ง แล้วเขาก็ถามว่า ที่เธอดูพระอาทิตย์ตกดินได้มากกว่า 40 ครั้ง เพราะเธอโคตรเศร้าเลยใช่ไหม แล้วเจ้าชายน้อยก็เงียบใส่”

        “ตรงนี้แหละ ใช่เลย ผมรู้สึกว่าผมเป็นอย่างนั้นเลย บางทีผมก็ไม่รู้ว่าตนเองทำไปเพราะอะไร แต่พึ่งมารู้ตัวอีกทีที่มีคนทักขึ้นมา ความรู้สึกนั้นเลย จริงๆ เรามีโอกาสก็ทำขึ้นมาเลย อย่างจัดกิจกรรมต่างๆ ก็ทำขึ้นมาเลย แล้วก็มานั่งคิด เออ แล้วผมทำแบบนี้ไปทำไม สุดท้ายก็ได้ลองทำไง ก็ทำไปเรื่อยๆ ไปในทางที่ชอบที่พอจะเป็นไปได้”

เรื่อง: จารุจรรย์ ลาภพานิช ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ


ขอขอบคุณ ร้านหนังสือสวนเงินมีมา