‘แผลเก่า’ การทำความเข้าใจโลกใบเก่าเพื่อสร้างงานศิลปะร่วมสมัยของ ประทีป สุธาทองไทย

        ครั้งสุดท้ายที่คุณได้เห็นงาน Painting ที่ใช้ทักษะอันละเอียดอ่อน เก็บความสมจริงสมจังทุกกระเบียดนิ้วไว้บนผืนผ้าใบราวกับภาพนั้นเป็นรูปถ่ายหรืองานพิมพ์ที่คมกริบ คือเมื่อไหร่? การได้ยืนเพ่งดูความสุนทรียะนั้นนานอยู่หลายนาที และทึ่งไปกับเรื่องราวที่เราอาจจะลืมไปแล้วว่ามันเคยมีเรื่องเล่านี้อยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์ของเมืองไทย คือความรู้สึกจริงที่เกิดขึ้นกับเรา

        เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทันทีที่เราเดินเข้ามาในนิทรรศการ ‘แผลเก่า / Old Wound’ โดย ประทีป สุธาทองไทย ซึ่งเขาพูดถึงคอนเซ็ปต์ในการกลับมาทำงานจิตรกรรมครั้งนี้ว่า การทำงานศิลปะควรที่จะสามารถข้ามไปมาระหว่างโลกเก่า (งานจิตรกรรม) กับโลกใหม่ (ความร่วมสมัย) ได้เป็นอย่างดี
        ซึ่งงาน Painting ของเขานั่นเองที่เป็นเครื่องมือที่พาเขาไปทำความรู้จักกับการทำงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบใดแบบหนึ่ง และมองเห็นบาดแผลเก่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้อย่างเข้าใจ
        นิทรรศการนี้เขียนแนะนำตัวไว้ว่าเป็นการนำเรื่องเก่ามาทำให้เห็นใหม่ เพื่อสร้างบทสนทนากับเวลา ณ ปัจจุบัน ให้ต่างไปจากเดิม ด้วยการให้คนดูนำความทรงจำหรือประสบการณ์ในอดีตที่เป็นเหมือน ‘แผลเก่า’ ของแต่ละคนมาลองตีความ และหาความหมายผ่านปกหนังสือแต่ละเล่มที่เขาหยิบมานำเสนอ รวมถึงพูดคุยกับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ทั้งเรื่องของความงาม ความทรงจำ และเรื่องราวในสังคมที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในบ้านเรา


ความทรงจำสร้างสรรค์ความงดงาม

        งานจิตรกรรมครั้งนี้ประทีบนำข้อมูลต่างๆ มาจากหน้าปกของสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตทั้งหนังสือเรียน นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และนวนิยาย นำกลับมาทำให้ชัดเจนอีกครั้งผ่านการวาดรูปเหมือนลงไปใบผ้าใบ เหมือนเป็นการปลุกความทรงจำที่กำลังเลือนหายไปของผู้คนให้ชัดเจนและจับต้องได้อีกครั้ง โดยเป็นการต่อยอดจากงานชุดก่อนที่เขาแสดงไว้ในนิทรรศการ ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ เมื่อปี 2561
        “งานชุดก่อนผมวาดหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดที่มีริ้วรอย ร่องรอย ความเลือนราง สภาพที่ผุพัง ขาดวิ่น เป็นวัตถุที่ผ่านกาลเวลาจนเหมือนกับว่ามันเองก็มีชีวิตของมัน การทำงานในครั้งนั้นห่างจากงานชุดนี้ค่อนข้างนาน ริ้วรอยต่างๆ จากหนังสือชุดนั้นทำให้ผมอยากทำงาน Painting อีกครั้ง ในฐานะวัตถุทางประวัติศาสตร์ ซึ่งการทำงานจิตรกรรมสำหรับผมครั้งนี้คือการสะท้อนคุณค่าของงานฝีมือบางอย่างออกมา ด้วยการจำลองและสร้างออกมาให้เหมือนของจริงที่สุด สิ่งที่ได้คือ ตัวผลงานสามารถสร้างความรู้สึกทึ่งหรือประหลาดใจกับสิ่งที่เขาเห็นได้”

        สิ่งที่เขาพูดไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากเราที่ถูกดึงดูดให้ยืนมองรูปวาดนั้นเป็นนานสองนานแล้ว จากการสังเกตคนรอบข้างที่มาดูงานนี้ต่างก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน และบางคนถึงกับต้องขยี้ตาตัวเองเพื่อมองให้เห็นชัดๆ ด้วยซ้ำ
        “เมื่อคนดูเข้าใจว่างานทั้งหมดเป็นภาพวาด เขาก็จะยอมรับในคุณค่าของผลงานแขนงนี้ และจะมีการคิดต่อว่าแล้วงานชิ้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ศิลปินเขาใช้กระบวนการทำงานแบบไหน และคำถามที่ว่าทำไมถึงหยิบปกหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้มาจำลองเป็นผลงาน”

        เราพยักหน้าตามและอดทึ่งไม่ได้กับเสน่ห์ที่คาดไม่ถึงของงานจิตรกรรมของเขา แต่คำถามต่อมาก็คือทำไมถึงเลือกหยิบปกสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตมานำเสนอ
        “ผมคิดว่าภาพที่อยู่บนปกสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ มันมีอายุในการใช้งานไม่เท่ากัน” เขาอธิบาย
        “ปกหนังสือบางปกเราอาจจะพอคุ้นๆ ตาอยู่บ้าง แต่หนังสือบางเล่มเรากลับไม่เคยรู้จักมันเลย ซึ่งอายุของสิ่งพิมพ์ที่มีไม่เท่ากัน ปกหนังสือบางเล่มมันอาจจะหมดอายุไปแล้ว ดังนั้นสายตาของคนรุ่นต่อมาคือ เขาไม่เคยรู้จักหนังสือเล่มนี้มาก่อน หรือบางคนก็สงสัยว่ารูปที่ปรากฏอยู่บนปกนั้นคือรูปอะไร การที่ผมหยิบเอาปกสิ่งพิมพ์ที่ตายไปแล้วขึ้นมาวาดใหม่ ทำให้เกิดการตีความใหม่ๆ จากคนรุ่นปัจจุบันอีกครั้ง และเป็นการเจอกันแบบพอดีกับงานศิลปะแบบจิตรกรรมที่สามารถดูได้ทั้งแบบที่เป็นงานภาพวาด และการแปลความหมายจากตัวงานได้ด้วยเช่นกัน”

        งานของประทีปท้าทายความคิดและสายตาของคนยุคปัจจุบันได้อย่างชาญฉลาด ยกตัวอย่างเช่นผลงานที่เขาหยิบเอาหน้าปกนิตยสาร ‘คู่สร้าง คู่สม’ ในอดีตฉบับหนึ่งขึ้นมา ซึ่งงานด้านภาพนั้นก็สะกดสายตาคนดูได้ตั้งแต่เห็นครั้งแรกแล้ว และคำพาดหัวที่อยู่บนปกนิตยสารก็ทำให้เกิดความประหลาดใจ
        “ผมเชื่อว่าข้อความที่ปรากฏอยู่หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เลือกมา สามารถทำให้คนดูเชื่อมโยงกับบริบทต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในสังคมบ้านเราได้ และเป็นความตั้งใจที่อยากให้ผลงานมันทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นการเอาของที่อยู่คนละยุคสมัยสามารถพูดกับเหตุการณ์ในวันนี้ได้ อย่างผลงานในเซตนี้ทั้งนิตยสารคู่สร้าง คู่สม นวนิยายเรื่อง ‘แผลเก่า’ หรือสี่แผ่นดิน และบ้านทรายทองก็ตาม มันเป็นสื่อที่มีผลต่อคนไทยมาอย่างยาวนาน นิยายบางเรื่องถูกนำมาผลิตซ้ำๆ จนเกิดความสงสัยว่าเรื่องราวนั้นทำไมถึงสามารถอยู่มานานแบบข้ามยุคข้ามสมัยมาได้ถึง 50-60 ปี นั่นแสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างกับสังคมไทยแน่นอน มันอาจถูกนำมาใช้เพื่อประคับประคองอุดมการณ์ทางความฝันหรือสิ่งที่ยังหล่อเลี้ยงอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจของคนไทยได้ ดังนั้นนิตยสารหรือนวนิยายเหล่านี้สำหรับผมจึงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้เช่นเดียวกับสื่อที่นำเสนอข่าวหรือเนื้อหาที่จริงจัง”

        เขาเล่าว่ามายาคติของนิยายที่พูดถึงก็เป็นเรื่องราวที่เรารู้จักกันดีอย่างเรื่อง ‘แผลเก่า’ นวนิยายสุดคลาสิกของ ‘ไม้เมืองเดิม’ ที่ถูกส่งต่อไปในรูปแบบของหนังหรือละครที่ถูกสร้างขึ้นมาหลากหลายเวอร์ชัน และยังได้รับความนิยมอยู่เสมอ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อของนิทรรศการนี้ โดยเชื่อว่ามีบางสิ่งบางอย่างของนวนิยายเรื่องนี้ทั้งความงดงามในโศกนาฎกรรมของตัวละครที่ที่เชื่อมโยงชีวิตของผู้คนเอาไว้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการพูดถึงภาพฝันที่คนดูอยากให้ตัวเองมีชีวิตที่สวยงามเหมือนตัวละครเอกในนิยายดังเช่น พจมาน ในบ้านทรายทอง
         “อดีตที่เกิดขึ้นอาจเป็นคำตอบให้กับคนในปัจจุบันถึงเรื่องของเนื้อหาละครในตอนนี้ ที่ยังคงมีกลิ่นอายแบบเดิมๆ แม้พล็อตเรื่องอาจจะเปลี่ยนไปก็ตาม ดังนั้นละครที่ฉายในแต่ละช่องก็จะมีหน้าที่ในการตอบรับกลุ่มคนดูของช่องนั้นๆ ละครของช่องหนึ่งก็จะมีเหตุการณ์หรือประเด็นในสังคมที่ต่างจากกลุ่มคนที่ดูละครของอีกช่อง ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือถ้าละครเรื่องนั้นไม่สามารถเข้าไปจับหรือแตะความรู้สึกอะไรบางอย่างของคนดูได้เรตติ้งก็จะไม่ดีนั่นเอง”

        เราเล่าให้เขาฟังว่าฟังก์ชันของนิทรรศการนี้ส่งผลมาที่ความรู้สึกของเราคือ เหมือนการได้ย้อนอดีตให้หวนไปนึกถึงป้ายบิลลอร์ดโฆษณาหน้าโรงหนังที่ต่างจังหวัด ที่นักวาดภาพแต่ละคนต้องใช้ฝีมือและความชำนาญอย่างสูง เพื่อให้ได้ภาพที่เหมือนกับถอดแบบออกมาจากโปสเตอร์หนังแต่มีขนาดที่ใหญ่เท่าตึกสองชั้น
        “ผมยังเห็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังสนใจและเข้ามาสานต่องานจิตรกรรมแบบนี้กันอยู่” เขายิ้มให้
        “คนที่ทำงานภาพเหมือนในวงการศิลปะยังมีอยู่เยอะมากๆ เพียงแต่อาจจะติดอยู่ตรงที่ทุกคนนั้นมีฝีมือ แต่เขาจะเอาฝีมือไปใช้สื่อสารอะไรอย่างอื่นที่ไม่ได้ร่วมสมัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหมือนกับเส้นคั่นที่ศิลปินจะสามารถข้ามได้หรือไม่ได้เลยทีเดียว หลายคนชื่นชอบในการวาดรูปแต่ไม่ได้พูดถึงประเด็นในฐานะของงานศิลปะร่วมสมัยที่จะช่วยคัดกรองเขาให้โดดเด่นออกมาจากศิลปินที่มีอยู่จำนวนมากมายได้”

นักเรียนศิลปะรุ่นใหม่

        นอกจากการเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะในหลายๆ แขนงแล้ว อีกอาชีพของเขาคือการเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังนั้นเราจึงถามเขาเรื่องความเป็นไปของนักเรียนศิลปะในตอนนี้ว่ามีการปรับตัวอย่างไร ในช่วงก่อนหน้านี้ที่โลกของเราเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ด้วยโรคระบาด
        “ตอนนี้เขามีสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายและเยอะมากกว่าตอนที่คนรุ่นผมเรียนศิลปะ แต่ข้อเสียคือทำให้เขาไม่ตระหนักถึงความสำคัญบางอย่างหรือละเลยอะไรบางอย่างไปเยอะมากๆ เขาสามารถเสพข้อมูลทุกอย่างได้จากโทรศัพท์มือถือได้แบบไม่มีวันสิ้นสุด แต่เขาก็พลาดการได้ไปดูผลงานจริงๆ ซึ่งการดูงานนั้นช่วยเรื่องการปรับใช้สายตา และการฝึกฝนอะไรบางอย่างกับชิ้นงานจริง ดังนั้นถ้าให้มองในฐานะคนทำงานศิลปะภาพเหมือน กลายเป็นว่าเขามีฝีมือในการเขียนรูปแต่มัน ‘แบน’ เพราะเขาไม่รู้ว่าของจริงเป็นอย่างไร เขาสามารถดูเทคนิคการวาดรูปได้จากในยูทูบก็จริง แต่สุดท้ายก็เป็นการดูจากจอ แต่ประสบการณ์จากการดูผลงานจริงกับดูผ่านจอคอมพิวเตอร์นั้นคนละโลกกันเลย แต่เขาก็มีสิ่งที่ได้กลับมาเยอะกว่าคนรุ่นก่อนเยอะกว่าด้วยเหมือนกัน”

        ปัญหานี้น่าจะแก้ไขได้ เราเชื่อ และเอ่ยถามเขาว่าหากนักศีกษาศิลปะตอนนี้มีฝีไม้ลายมือในการวาดรูปที่ดีระดับหนึ่งแล้ว เขาควรจะพัฒนาทักษะอะไรต่อไปเพื่อเลเวลอัพตัวเองให้สามารถเป็นศิลปินที่ดีได้อย่างเต็มตัว
        “ถ้าเป็นตัวผมเอง งานของผมจะตั้งต้นมาจากการค้นคว้า ความสนใจ การตามหาจนกว่าจะเจอประเด็นที่สามารถเอามาสร้างเป็นผลงานได้ จากนั้นจึงค่อยเลือกว่าเราจะสื่อสารออกมาเป็นงานศิลปะรูปแบบไหน เพราะก่อนที่ผมจะกลับมาเขียนรูปผมก็ทำงานศิลปะภาพถ่ายมาเป็นสิบปี เพราะงานบางชุดหรือบางไอเดียเราไม่จำเป็นต้องสื่อสารด้วยการเขียนรูปก็ได้ งานนิทรรศการครั้งที่แล้วกับครั้งนี้มีบางคนเข้าใจว่าผมเอางานภาพถ่ายมาจัดแสดงก็มี (หัวเราะ) ผมคิดว่าความสนุกส่วนหนึ่งในการทำงานศิลปะคือการได้ค้นคว้าแล้วเลือกภาษาหรือวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมเอามาใช้ด้วยเช่นกัน”

        การตามหาข้อมูลที่เขาว่า ก็ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการค้นไปแบบสะเปะสะปะ แต่เริ่มต้นด้วยการปล่อยหัวปล่อยใจให้หยุดนิ่งสักครู่เสียก่อน
        “การตามหาข้อมูลที่เราพอใจกับมันนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงที่ผมมีเวลาว่างให้กับมันก่อน เวลาว่างนี้รวมถึงว่างสำหรับการคิดด้วย เพราะถ้าเรายังยุ่งวุ่นวายอยู่ทำอย่างไรก็คงคิดไม่ออก เราต้องมีเวลาให้เราสามารถค้นข้อมูลได้เรื่อยๆ ให้สิ่งที่พบเจอค่อยๆ พาเราไป ไปจนกว่าจะเจอจุดหมายที่รู้สึกว่าจะหยุดอยู่ตรงนี้สักพัก แล้วดูว่าสามารถไปต่อได้อย่างไร หรือเราสามารถลงลึกกับเรื่องตรงนี้ได้มากขึ้นเพื่อหาไอเดียในการทำงานได้ ถ้ายังไม่ว่างก็ไม่ต้องฝืนทำธุระอย่างอื่นให้เสร็จเสียก่อนจะดีกว่า”

        นอกจากการหาข้อมูลที่เขาบอกว่า การเอาใจใส่ต่อรายละเอียดของผลงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเขาก็สนุกกับการได้ทำงานที่มีความซับซ้อนในกระบวนการไม่ว่าจะเป็นงานภาพถ่ายหรือการวาดรูปก็ตาม
        “ผมใช้เวลากับผลงานมากพอๆ กัน อย่างงานภาพถ่ายผมก็นำเอาฟิล์มสไลด์มาจัดแสดง ดังนั้นการจะได้รูปมาแต่ละรูปก็จะมีความซับซ้อนในการถ่าย มีหลายคนทักผมเสมอว่าผมทำงานภาพถ่ายด้วยสายตาของคนเขียนรูปอยู่เสมอๆ เพียงแค่เราเปลี่ยนเครื่องมือเท่านั้นเอง”       

        การมองสิ่งรอบตัวด้วยสายตาของคนทำงานศิลปะจึงเป็นโจทย์ที่ยากมากเวลาที่เขาสอนคนรุ่นใหม่ๆ ในวันนี้
        “สมัยที่ผมเริ่มสอนศิลปะตัวผมกับนักเรียนนั้นจะมีอายุที่ห่างกันไม่มาก เรายังคุยภาษาเดียวกันได้ แต่ตอนนี้ช่องว่างของอายุเราห่างกันมากขึ้น วิธีการพูดคุยจึงต้องคิดมากขึ้น เราจะกระตุ้นนักเรียนอย่างไร และต้องรู้ตัวอยู่เสมอ ผมจะไม่พูดว่า “เด็กสมัยนี้นั้นอย่างนั้นอย่างนี้” ซึ่งการใช้คำพูดแบบนี้กำลังบอกถึงทัศนคติของเราบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง และตอนนี้ผมกับนักศึกษากำลังเหมือนอยู่ในโลกคนละใบกัน ผมกับเขาเติบโตกันมาคนละแบบ แต่ผมจะไม่ทำตัวแก่เพื่อให้เด็กๆ เขาแอนตี้ผมนะ (หัวเราะ)”

        ก่อนหน้านี้ในวงการวาดรูปมีกระแส NFT ที่เกิดขึ้นมา คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับงานศิลปะบนบล็อกเชนนี้มากมาย ในฐานะอาจารย์สอนศิลปะเขาก็ได้พูดคุยกับนักเรียนของเขาเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
       “มีเด็กๆ กลุ่มหนึ่งสนใจ แต่ตอนนี้ก็เงียบไปแล้ว เหมือนเขาสนใจตามกระแสช่วงสั้นๆ แต่สุดท้ายแล้วถ้าเขาสนใจเรื่อง NFT จริงๆ เขาต้องลงไปศึกษางานด้านนี้อย่างจริงจัง เพราะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย ยังไม่นับว่าหากมีกระแสใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก แล้วจะเป็นอย่างไร แต่ผมมองว่า NFT กว่าจะลงหลักปักฐานจนมั่นคงได้ ต้องใช้เวลาอีกนานมาก และต้องอาศัยองค์ความรู้อีกมากมายที่จะทำให้มันแข็งแรงได้จริงๆ ไม่เคว้งไปเคว้งมาแบบตอนนี้”

        แม้ว่างานศิลปะดิจิตัลจะยังไม่เข้าที่เข้าทางก็ตาม แต่สำหรับตลาดงานศิลปะทั่วไป เขาก็มองว่ากำลังกลับมาคึกคักและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับศิลปินทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าได้ถึงเวลาปล่อยของออกมาสำแดง
        “ยิ่งถ้าเทียบกับสมัยที่ผมเรียนจบใหม่ๆ ตลาดงานศิลปะบ้านเรานี่แทบไม่มีให้เห็น” เขาเล่าและหัวเราะไปด้วย
        “ตอนนี้คนที่เก่งๆ ถ้าเรียนจบแล้ว มีผลงานแสดงเขาก็มีคนซื้อผลงานของเขาแล้วนะ เพราะตอนนี้บ้านเราเริ่มมีนักลงทุนทางด้านงานศิลปะเกิดขึ้นเยอะมากๆ คนรุ่นใหม่หลายคนมองงานศิลปะในด้านของการลงทุนมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศเขามีการทำธุรกิจแบบนี้อยู่แล้ว ตลาดขายงานศิลปะจึงกว้างและเติบโตขึ้น แต่ถ้านักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และอยากอาศัยตลาดแห่งนี้เพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง คุณก็ต้องทำผลงานที่อิงกับความต้องการของตลาด งานแบบไหนที่คนซื้อต้องการ งานแบบไหนที่ขายดี มันก็จะมีข้อดีตรงที่เขาจะขายผลงานได้ แต่ในระยะยาวคุณก็ต้องคำนึงถึงความคิดหรือตัวตนของคุณในงานศิลปะด้วย”

        ฟังแล้วดูเหมือนเขาเป็นคนที่เข้าใจศิลปะทั้งสองโลกที่เหมือนอยู่กันตนละด้าน แต่ครั้งหนึ่งเราก็ยอมรับว่าแรกๆ ตัวเองก็ไม่ค่อยยอมรับดิจิตัลสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะงานภาพถ่าย
        “แต่ผมไม่ได้แอนตี้รุนแรงอะไรนะ” เขาหัวเราะ
        “สุดท้ายงานในชีวิตประจำวันอย่างไรเราก็ต้องใช้กล้องดิจิตัล และถึงแม้จะใช้เพื่อทำงานศิลปะก็ตามผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะสูญเสียจุดยืนอะไรมากนักในการที่จะใช้งานกล้องดิจิตัล เพราะตัวมันเองก็มีความสะดวกสบายให้เราหลายอย่าง เพียงแต่ผมสนุกกับการได้ถ่ายรูป เอาฟิล์มไปล้าง เอาไปอัดภาพ ทำนั่นทำนี่ แต่ถ้าต้องทำแบบนี้กับงานอื่นๆ ทุกครั้งก็ไม่ไหวนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นงาน Painting ผมเองก็ยังคิดหาทางที่จะทำให้มันเปลี่ยนถ่ายไปเป็นอย่างอื่นเหมือนกัน เพราะข้อมูลที่ผมค้นหาในการทำงานชุดนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เราสามารถนำมาใช้สร้างเป็นงานศิลปะได้อีกมากมาย”

ศิลปะนั้นมีไว้เพื่อรับใช้อะไร

        หน้าที่ของศิลปินอาจจะสิ้นสุดตรงที่ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาจนเสร็จสมบูรณ์ แต่การเดินทางของตัวงานนั้นก็ต้องดำเนินต่อไป ซึ่งงานนิทรรศการครั้งนี้ของเขาก็คือการเปิดบทสนทนากับผู้คนในสังคม
        “ผมเชื่อว่าคนที่เห็นงานของผม จะเกิดความรู้สึกอยากพูดคุยต่อยอดจากสิ่งที่ผมคิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคมหรือการเมืองอะไรบางอย่าง สิ่งนี้แสดงว่างานของเราได้เกิดฟังก์ชันในการทำงานแล้ว แต่ถ้าเราทำงานออกมาชุดหนึ่งแล้วคนมาดูไม่มีความสนใจจะพูดคุยหรือเปิดประเด็นต่ออีกเลย แสดงว่าเรื่องหรือประเด็นที่ผมหยิบขึ้นมาเล่าไม่ได้กระตุ้นให้เกิดบทสนทนาระหว่างคนดูกับงานศิลปะเลย”

        นับจากระยะเวลาที่ผลงานถูกจัดแสดงจนถึงวันที่เรามานั่งคุยกับตัวศิลปิน เขามีการจดบันทึกสิ่งที่ได้สังเกตจากคนมากมายที่เข้ามาดูนิทรรศการครั้งนี้ โดยหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจนั้นคือ การตีความของงานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
        “ส่วนใหญ่จะมีคนดูและตีความผลงานเป็นชิ้นๆ ไป แต่ก็มีบางคนที่เขามองเป็นภาพรวมของงานมากกว่ามองเป็นงานชิ้นเดี่ยวๆ ซึ่งปกติเวลาที่ผมติดตั้งผลงานผมจะหาความสมบูรณ์ของตัวงานทั้งหมดไว้ด้วยกัน แต่มีคนตั้งข้อสังเกตถึงชิ้นงานที่เป็นรูปพระยันตระของผมไว้ว่า มันมีลักษณะของการเลือกมุมติดตั้งที่ไม่เข้าพวกกับผลงานชิ้นอื่นๆ เลย แปลว่าเขามองไปที่เรื่องของการต่อต้านความสมบูรณ์แบบในการสื่อสาร หรือแอนตี้ความเป็นนิทรรศการในมิวเซียม ซึ่งเป็นวิธีการมองงานศิลปะที่น่าทึ่งมาก แสดงให้เห็นว่าการมางานนิทรรศการนั้น เราสามารถอ่านงานได้หลากหลายประเด็นมากๆ ซึ่งปกติเราจะคุ้นชินกับการติดตั้งผลงานให้ออกมาลงตัวที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วงานชิ้นนี้ก็ค่อนข้างมีความไม่เข้าพวกกับงานชิ้นอื่นๆ อยู่จริงๆ แต่เมื่อผมตั้งใจแล้วว่าจะแสดงงานชิ้นนี้ด้วย มันจึงเกิดฟังก์ชันในการกวนงานชิ้นอื่นๆ สอดแทรกเอาไว้ด้วย เพียงแค่เราไม่ได้มองมันในเรื่องของการตีความด้านนั้น ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ผมได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน”

        หากพูดถึงเรื่องการสื่อสาร ผลงานหลายชิ้นที่เขาเลือกหยิบมานำเสนอก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยผ่านคำโปรยบนปกนิตยสารหรือแม้แต่หนังสือที่ตั้งชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า ‘หนังสือต้องห้าม 204 รายการ’
        “สมัยก่อนยังไม่มีเคสที่มีความซับซ้อนมากๆ เกิดขึ้น ต่อมาเมื่อมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ต้องมีการควบคุมตามมา นั่นหมายความว่าสังคมเราเกิดความซับซ้อนมากขึ้น จึงเกิดคดีประหลาดๆ ขึ้นมา การควบคุมก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ในยุคหนึ่งนิตยสารที่ลงข่าวอาชญากรรม สามารถลงภาพแบบไม่ต้องมีการทำเซนเซอร์อะไรได้เลย ดาราดังคนไหนเสียชีวิตก็จะนำภาพศพของคนคนนั้นขึ้นปกเลย แต่ถ้าเป็นตอนนี้คือไม่ได้แล้ว ซึ่งก็สะท้อนไปที่เรื่องของคนอ่านด้วย เพราะถ้าไม่เอาขึ้นแบบให้เห็นชัดๆ คนก็จะไม่เชื่อว่าดาราคนนั้นเสียชีวิตแล้วจริงๆ
        “ผมเคยคุยกับสำนักข่าวแห่งหนึ่งเขาก็บอกผมว่ากลุ่มคนอ่านของเขาสนใจและอยากดูภาพทำนองนี้มากๆ คนเรามีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจอยู่แล้ว บางคนก็มีความยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ดูหรือส่งต่อ แต่บางคนไม่มี พอตอนนี้เราสามารถใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นที่กระจายข้อมูลให้กันด้วยแล้ว จากการที่แค่ในอดีตที่อาจจะมีแค่ไทยมุงอย่างเดียวก็กลายเป็นการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปหรือคลิปแล้วส่งต่อๆ กัน ซึ่งทั้งหมดก็เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นในตัวมนุษย์ที่มีทุกยุค”

        แต่ความอยากรู้อยากเห็นนี้ หากนำมาใช้ในทางสร้างสรรค์มันก็เป็นแรงผลักดันที่ดี เหมือนที่เขาสามารถสร้างงานศิลปะออกมา
       “ถ้าเราสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงๆ เราอยากรู้อยากเห็นมากๆ คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเรื่องนั้นมีมุมไหนที่เราสนใจใคร่รู้จริงๆ แล้วเอามาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราออกไปตามหาคำตอบ ผลักดันให้เราอยากค้นคว้าหาข้อมูล เราจะวิ่งไปตามจุดต่างๆ เพื่อทำความรู้จักกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าชีวิตเราไม่ได้มีตัวกรองหรือกระชอนสำเร็จรูปไว้สามารถกลั่นกรองเรื่องต่างๆ ให้ แต่ถ้าคุณทำงานออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นก็พอที่จะบ่งบอกนิสัยหรือสะท้อนความสนใจบางอย่างของคุณให้ออกมาได้ไม่มากก็น้อย”

       การพูดคุยครั้งนี้นอกจากทำให้เรารู้จักแง่มุมของศิลปินคนนี้แล้ว ทางด้านของอาจารย์ประทีปเองก็ได้สิ่งใหม่ๆ กลับมา ทั้งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในอดีตของประเทศไทย ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขาค้นคว้า การพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ และการได้เห็นมุมมองที่หลากหลายจากคนดูงานศิลปะ ที่ช่วยให้เขาสามารถผสมผสานโลกในอดีตกับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน และสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยออกมาให้เราได้รู้สึกทึ่งจนต้องกลับไปดูซ้ำ

เรื่อง : ทรรศน หาญเรืองเกียรติ ภาพ : สันติพงษ์ จูเจริญ


นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound โดย ประทีป สุธาทองไทย
จัดแสดงที่ SAC Gallery ถึงวันที่ 21 มกราคม 2566
รายละเอียดเพิ่มเติม https://sac.gallery/