สายไหมต้องรอด

#สายไหมต้องรอด | กลุ่มคนเล็กๆ ที่เชื่อว่าช่วยคนได้แค่ 1% ให้รอด ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

        ‘สายไหม’ คือชื่อหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร ที่มีผลสำรวจว่าเป็นเขตที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ และการคมนาคม

        เมื่อเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีปัญหาในด้านต่างๆ เกิดขึ้นตามมา รวมถึงเรื่องของคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ด้วย

      ‘ปัญหาที่เกิดขึ้นเราจะช่วยแก้ไขเอง’ คือความมุ่งมั่นของผู้คนที่มารวมตัวทำงานจิตอาสาภายใต้ชื่อ #สายไหมต้องรอด ซึ่งพวกเขาอุทิศตัวเองช่วยเหลือคนมากมายโดยเริ่มต้นแค่อยากให้ผู้คนรอบ ‘บ้าน’ ของตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และตอนนี้ก็ขยายการช่วยเหลือไปถึงทุกคนที่เดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นคนในเขตสายไหมหรือไม่ก็ตาม

 

#รวมใจลงแรง

        ทีมสายไหมต้องรอด เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถ้ายังจำกันได้ ตอนนั้นผู้คนต่างตื่นตระหนกและหวาดกลัว เพราะนี่คือโรคอุบัติใหม่ที่แทบจะไม่มีใครรู้หรือเข้าใจวิธีดูแลจัดการที่ถูกต้อง ความโกลาหลจึงเกิดขึ้นไปทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเรา ก็โกลาหลไม่แพ้กัน เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ช่วย ส.ส.เขตสายไหม จึงชวนเพื่อนมาร่วมลงขันและก่อตั้งทีมสายไหมต้องรอดขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาดนี้
        “ตอนที่ข่าวเรื่องโควิด-19 เริ่มนำเสนอจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ผมก็ติดตามข่าวมาตลอด จนกระทั่งเชื้อได้แพร่กระจายเข้ามาสู่ประเทศไทย ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนั้นจะหาที่ตรวจร่างกายก็ไม่ได้ หลายคนก็กังวลกลัวว่าคนใกล้ตัวจะติดเชื้อหรือไม่ ไปที่โรงพยาบาลเขาก็ให้กลับบ้าน ไม่มีจุดตรวจที่แน่นอน ที่ตรวจเชื้อด้วยตัวเองก็หายากและมีราคาแพง”
ในระหว่างที่ทุกคนอยู่ในช่วงสับสนมึนงง เขาก็ยอมรับว่าตัวเองก็มีความกลัวด้วยเช่นกัน เพราะเริ่มมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นในบ้านเราแล้ว เขาจึงคิดว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อบรรเทาความสูญเสียให้น้อยลงที่สุด
        “ผมชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่เขตสายไหม นั่งคุยกัน 6-7 คน ว่าถ้าเราทุกคนอยู่เฉยๆ วันหนึ่งการสูญเสียต้องมาถึงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือใครสักคนในครอบครัวเราแน่เลย ดังนั้นเรามาตั้งกลุ่มกันดีกว่าแล้วใช้ชื่อว่า ‘สายไหมต้องรอด’ โดยที่ตั้งใจว่าจะช่วยผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ ทำให้ละแวกบ้านเรามีความปลอดภัย เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน และวางแผนว่าจะเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารอย่างไร เพราะพวกผมพอจะมีสายสัมพันธ์ที่จะประสานโรงพยาบาลหรือกับทางสาธารณสุขได้ และพวกเราก็พอจะมีความรู้อยู่บ้าง อย่างน้อยก็อาจช่วยอธิบายชาวบ้านที่เขาไม่รู้ข้อมูลได้ โดยใช้แฟนเพจในเฟซบุ๊กสำหรับติดต่อประสานงาน จากนั้นก็มีสื่อต่างๆ ช่วยกันนำเสนอข้อมูลของกลุ่มเราทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และจากที่เราตั้งใจว่าจะช่วยเฉพาะคนในเขตสายไหม ก็เริ่มขยับไปทั่วกรุงเทพฯ และตอนนี้ก็ขยายพื้นที่ต่อไปเรื่อยๆ”

        ความช่วยเหลือของทีมสายไหมต้องรอดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความตั้งใจของทีมงานที่คิดว่าจะได้พักผ่อนหลังจากสถานการณ์ของโรคระบาดเบาบางลง แต่กลายเป็นว่าเขาได้รับการติดต่อให้ไปช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ในสังคมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเคสแรกที่ได้รับที่ไม่ใช่เรื่องของโควิด-19 คือ การช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์ที่ประเทศกัมพูชา
        “เรื่องคือทางแม่ของน้องที่ถูกเอาตัวไป เขาอาศัยอยู่ในเขตสายไหม แล้วลูกชายอายุ 17 ปีของเขานั้นถูกหลอกให้ไปทำงานที่ประเทศกัมพูชา ทางลูกชายก็พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือมาที่คุณแม่ เขาพยายามถ่ายคลิป ถ่ายข้อมูลต่างๆ ส่งมาให้ คุณแม่ก็พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แจ้งหน่วยงานต่างๆ แต่ผ่านไปเป็นเดือนก็ไม่มีใครติดต่อกลับมา จนล่าสุดลูกชายบอกว่าถ้าภายในหนึ่งสัปดาห์ยังไม่มีใครมาช่วย เขาจะถูกส่งตัวไปที่กำปงโสม ประเทศเขมร เพราะตอนนี้เขาถูกพามาที่บริเวณเมืองปอยเปตแล้ว และจากนั้นเขาจะไม่สามารถติดต่อใครได้อีกเลย คุณแม่จึงตัดสินใจติดต่อมาที่ทีมสายไหมต้องรอด เพื่อขอความช่วยเหลือซึ่งตอนนั้นพวกผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยเหลือได้ไหม จนกระทั่งคุณแม่ร้องไห้ออกมา พวกผมจึงตกลงกันว่าอย่างไรก็ตามต้องลองดูให้ได้”

        เอกภพกับทีมงานจึงช่วยกันสืบเสาะหาพิกัดที่น้องคนนั้นอยู่ และหาข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้สำหรับการลงพื้นที่พาผู้เคราะห์ร้ายออกมาจากบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยคิดว่าจะใช้การประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางประเทศไทยและกัมพูชาเพื่อให้มีความปลอดภัยที่มากขึ้น แต่เขากลับพบว่าอาจจะยิ่งทำให้แผนการนี้ไม่เป็นอย่างที่หวัง
        “น้องเขาบอกผมว่า “พี่ครับผมพูดตรงๆ ว่า ระหว่างที่ผมถูกพาตัวมา คนที่พาผมมามีการติดต่อพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ตลอดเส้นทาง ถ้าพี่ประสานงานไปผมกลัวว่าผมจะไม่ปลอดภัย” พวกเราจึงตัดสินใจเดินทางไปกันเอง ไปรอรับน้องเขาอยู่บริเวณชายแดน โดยตัวเขาจะเดินมาทางเส้นทางธรรมชาติทะลุป่าออกมา เราก็ต้องใช้วิธีการประเมินว่าน้องจะเดินมาทางไหน ซึ่งก็คลาดเคลื่อนจากจุดที่คาดการณ์ไว้ไม่มาก พอได้ตัวน้องมาก็รีบพากลับกรุงเทพฯ แล้วพาเข้าแจ้งความทันที ด้านสื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวนี้ จนทำให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ติดต่อเข้ามาหาเราเป็นจำนวนมาก”

“ปกติเราก็ทำงานอาสาช่วยเหลือผู้คนอยู่แล้ว แต่พอได้เข้ามาอยู่ในทีมสายไหมต้องรอด การทำงานของเราก็กว้างขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น ความเหนื่อยหรือท้อนั้นไม่มี แต่ก็มีบ้างที่เราต้องรับมือกับอารมณ์ของคน เพราะบางทีคนที่ติดต่อเข้ามาเขาก็อยู่ในภาวะของอารมณ์ที่ไม่ปกติหรือหงุดหงิดจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตั้งแต่ที่เราทำงานตรงนี้มาพบว่าสภาพสังคมเลวร้ายลงมาก เมื่อก่อนเรารู้ว่ามีเรื่องพวกนี้อยู่จริง แต่ไม่รู้ความถี่ว่ามีมากแค่ไหน ตอนนี้พบว่าในทุกๆ นาที มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา”
อารีรัตน์ ศรีรัตนะ
ฝ่ายประสานงานทีมสายไหมต้องรอด

 

#เอาชนะความกลัว
        เอกภพยอมรับตรงๆ ว่า การช่วยเหลือคนจากเคสอาชญากรต่างๆ เขาเองก็มีความกลัว แต่ถ้าไม่ช่วยผู้ที่เคราะห์ร้ายอาจจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตก็ได้ การวางแผนที่รัดกุมจึงสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
        “เราเอาแผนที่มากางกันเลยว่าถ้าน้องเขาเดินออกมาเส้นทางนี้ เขาน่าจะทะลุออกมาตรงช่วงไหน เพราะระหว่างที่เขาเดินอยู่ในป่าเราไม่สามารถติดต่อน้องได้เลย จนกระทั่งเขาเดินเลาะออกมาถึงบริเวณชายป่าที่เริ่มมีสัญญาณ เขาจึงส่งโลเคชั่นมาให้เรา และจากจุดที่เราอยู่ก็สามารถไปรับตัวเขาได้ในเวลาสิบนาที มีคนช่วยนำทางและดูลาดเลาให้ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ จากการช่วยเหลือน้องคนนี้ทำให้เราเรียนรู้ถึงเรื่องความปลอดภัย เรียนรู้ว่าเราต้องรักษาความไม่ประมาทเอาไว้เท่าชีวิต”

         อยากเลิกทำงานตรงนี้ไหม – เราถามเขาไปตรงๆ เอกภพนิ่งไปสักครู่แล้วพยักหน้าเล็กๆ
        “ก่อนหน้านี้ก็คิดอยู่ว่าจะเลิกทำ เพราะช่วงโควิด-19 ผมเหนื่อยมาก พวกเราทำงานกัน 24 ชั่วโมง บางคนติดต่อมาหาเราตอนตีห้า แล้ววันนั้นผมเหนื่อยเลยไม่ได้รับสายของเขา ผมหลับยาวไปจนถึงแปดโมงเช้า พอโทรกลับไปหาเขาบอกว่า “ขอโทษทีนะครับที่โทรไปรบกวน แต่ตอนนั้นพ่อของผมอาการไม่ดีหายใจไม่ออก แต่ตอนนี้พ่อของผมเสียแล้วครับ” และคุณพ่อของน้องคนนั้นเสียก่อนที่ผมจะโทรกลับไปหาเขาแค่นิดเดียว ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก คิดว่าถ้าตอนตีห้าผมรับสายของน้องเขาทัน เราอาจจะช่วยชีวิตของพ่อเขาได้ และตั้งใจว่าถ้าโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ก็จะเลิกทำเพราะมันเหนื่อยแล้ว”

        สุดท้ายเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เอกภพได้เจอเรื่องอื่นๆ ที่ในสังคมส่งเสียงมาที่ตัวเขา ทำให้ความคิดที่จะล้มเลิกเปลี่ยนเป็น ‘ขอทำเท่าที่ทำไหว’
        “เพราะถ้าเราเลิกไปเลยก็รู้สึกว่าเวลามีปัญหาคนในสังคมก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ถ้าเกิดเราทำเท่าที่ไหวอย่างน้อยช่วยเหลือได้สัก 1% ของปัญหาจากคนที่ติดต่อเข้ามา ก็ยังดีกว่าที่เราจะไม่ช่วยทำอะไรเลย ผมจึงคุยกับทีมว่า ต่อไปเราจะเดินไปข้างหน้าทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบที่เราทำไหว โดยที่เราจะไม่เบียดเบียนใคร ไม่เปิดรับบริจาคเงิน ดังนั้นทีมสายไหมต้องรอดจึงไม่มีบัญชีรับบริจาค”

         ทุกวันนี้ทีมสายไหมต้องรอดใช้วิธีลงขันกัน โดยนำเงินนั้นมาเป็นกองกลางในแต่ละเดือนเพื่อใช้เป็นค่าน้ำมัน ค่ารถพยาบาลที่คอยวิ่งไปช่วยรับคนที่เจ็บป่วยเป็นหลัก
        “พวกเราทุกคนมีงานประจำกันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ทุกวันศุกร์-เสาร์หลังเลิกงานก็จะไปกินดื่มเที่ยวตามปกติ เราก็มีตกลงกันว่าต่อไปนี้เราจะไปเที่ยวกันให้น้อยลง เราจะเอาเงินที่ใช้สำหรับไปเที่ยวมาเป็นค่าใช้จ่ายตรงนี้ซึ่งทุกคนก็ตกลง และเห็นด้วยว่าเราควรทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง วันแรกที่เราเปิดเพจสายไหมต้องรอดก็ลงเงินไปกันคนละหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย แต่จิตอาสาทุกคนในทีมจะไม่มีเงินเดือนให้ ปัจจุบันทีมมีกันอยู่ยี่สิบกว่าคนเราทำกันด้วยใจ”

        หลายคนอาจจะวิตกว่าหากตัวเองมีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นมา การติดต่อขอความช่วยเหลือทีมสายไหมต้องรอดอาจจะทำได้ยาก แต่เอกภพบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตอนนี้พวกเขาเริ่มจัดการชีวิตให้เป็นแบบแผนมากขึ้น โดยทีมจะสลับผลัดเปลี่ยนกันช่วยรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ยังสามารถติดต่อพวกเขาได้ตลอดเวลาทั้งทางอินบอกซ์ข้อความในเพจ และเบอร์โทรศัพท์ที่ทางระบบจะส่งให้ทราบ
        “ถ้าใครที่ติดตามข่าวหรือเพจสายไหมต้องรอดอยู่แล้ว อาจจะเห็นว่าช่วงนี้ทางทีมมีการช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาชญากรรมเป็นหลัก และคิดว่าทางทีมคงเลือกที่จะช่วยแต่เคสใหญ่ๆ ไว้ก่อน แต่ความจริงแล้ว เรื่องเล็กๆ ที่เป็นความเดือดร้อนของผู้คนทั่วไปพวกเขาก็ยังให้การช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ไม่ได้ถูกพูดถึงออกสื่อเท่านั้นเอง
        “เรายังคงช่วยประสานงานเรื่องต่างๆ เหมือนเดิม ผู้ป่วยไม่มีรถไปส่งโรงพยาบาลเราก็ยังพาไป สุนัขข้างถนนถูกรถชนเราก็ช่วยประสานกับทางหมอหมามาช่วยรักษา เราไม่ปฏิเสธเรื่องไหนเลยหากมีคนติดต่อเข้ามา เคยมีคนโทรมาโวยวายว่าเขารถเสียอยู่บนทางด่วนให้รีบมาช่วยเขาหน่อย ผมก็บอกว่าพี่ใจเย็นๆ นะ นี่ทีมสายไหมต้องรอด เขาก็บอกว่า “ก็ใช่ไง! ฉันก็อยากจะรอดเหมือนกัน” เราก็รีบประสานกับหน่วยงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปช่วย (หัวเราะ) เพราะการที่เขาโทรหาเราเพราะเขามองว่าเราเป็นที่พึ่งของเขา เราก็ต้องช่วยเขาให้ได้”

        ฟังแล้วรู้สึกย้อนแย้งมากว่าปณิธานของเขาคือทำงานเท่าที่ตัวเองไหว แต่ขอบข่ายการให้ความช่วยเหลือของทีมสายไหมต้องรอดนั้นแผ่ขยายออกไปจนเกือบจะทั่วประเทศไทยแล้ว
        “คนที่ต่างประเทศเขาก็ติดต่อเข้ามาด้วยนะ” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม
        “มีทั้งคนที่อยู่อินโดนีเซีย นอร์เวย์ หรือฟินแลนด์ ติดต่อเข้ามาว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงาน เราก็ติดต่อประสานงานกับทางสถานทูตให้ ดังนั้นถ้าถามว่าเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญไหม ใช่! แต่ถ้าเราเอาเงินมาเป็นเป้าหมายก่อน วันหนึ่งเมื่อผลตอบแทนไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวังกันไว้ เราอาจจะท้อใจและเลิกทำไปเลยจริงๆ ก็ได้ และการเปิดรับบริจาคจะเป็นการแบกความหวังของคนทุกคน ที่เราต้องรับผิดชอบเขา คนที่เขาบริจาคเงินเขาก็มุ่งหวังว่าคุณ ‘ต้องทำ’ แต่เมื่อเราไม่ได้เปิดรับการบริจาค เรามีความสุขที่ได้ทำ เราทำเพราะอยากช่วยจริงๆ มีเพื่อนๆ มาบอกว่าเขาอยากช่วยสนับสนุนเงิน อยากให้เงินสักก้อนไว้ใช้ ผมบอกเขาเลยว่าถ้าอยากช่วยจริงๆ ก็ซื้อบัตรเติมน้ำมันมาให้พวกเราก็แล้วกัน ผมจะเอาบัตรเติมน้ำมันนั้นไปให้กับรถพยาบาลเพราะพวกเขาต้องวิ่งช่วยเหลือคนตลอด 24 ชั่วโมง”

“ก่อนหน้านี้ผมให้บริการอยู่ที่ ‘กองทุนแม่ของแผ่นดิน’ พอช่วงโควิด-19 ผมก็มาเข้าร่วมกับ #สายไหมต้องรอด ทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนมากขึ้น เพราะทางกองทุนแม่ของแผ่นดิน จะดูแลผู้คนอยู่ประมาณ 20 ชุมชน แต่ตอนนี้ผมสามารถขยายความช่วยเหลือได้มากขึ้น นอกจากเรื่องของการช่วยเหลือแล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้เขาเข้าใจในบางกรณีด้วยว่า บางเรื่องที่คุณร้องเรียนมาถ้าพูดตามหลักการแล้วคุณต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด เพราะเขาไม่เข้าใจบริบทของเรื่องที่เกิดขึ้น เราต้องช่วยอธิบายให้เขาเข้าใจ และเรื่องความขัดแย้งนั้นก็จะจบลง ส่วนสถานการณ์ตอนนี้คนที่ติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามาจะเป็นคนนอกพื้นที่เสียเป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตของคนในเขตสายไหมกำลังดีขึ้น และมีหลายคนที่แสดงความประสงค์ที่จะช่วยบริจาคสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อนคนอื่นๆ ด้วย”

นาวาอากาศเอก ชัยณรงค์ ปุจฉาการ
ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน เขตสายไหม

 

#ปัญหาเชิงโครงสร้าง
        การที่มีคนลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคมและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ก็มีประเด็นที่เราสงสัยว่าสุดท้ายแล้วถ้าระบบของบ้านเมืองไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มันก็จะเหมือนกับการที่เราทำงานต่อไปโดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งเอกภพก็ยอมรับว่าตอนนี้สิ่งที่พวกเขาทำอยู่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจริงๆ
        “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะทำได้สัมฤทธิผลก็ต่อเมื่อ ระบบการบริหารราชการแผ่นดินหรือโครงสร้างของประเทศ เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร ต้องออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับคนยากจน เอื้อประโยชน์ให้กับคนที่เสียงเล็กๆ มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งวันนี้เรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องตรงนี้ ก็ไม่เป็นไร อย่างไรก็ตามเราต้องทำกันก่อน หากไม่ทำปัญหาจะไม่ถูกแก้ไขเลย ถ้าทำบ้างปัญหาบางส่วนก็จะถูกแก้ไขบ้าง
        “ทุกวันนี้พวกเราก็พยายามสะท้อนเรื่องนี้อยู่เสมอ ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านได้มีมุมมองในสิ่งที่เราเจอ เช่น ปัญหายาเสพติดที่เวลาท่านนายกตั้งคณะกรรมการ ท่านก็เอาแต่ข้าราชการมาทำงาน ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีมุมมองแบบเรา และเขาไม่อยากทำอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ พวกเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เขาจะทำงานตามที่เป็นกิจวัตรประจำวันของเขา วางแผนกันทีละไตรมาส ไตรมาสแรกจะทำเรื่องนี้ ไตรมาสที่สองสามสี่จะกำหนดเอาไว้หมดแล้ว ปัญหาคือ ทำงานหนักแค่ไหนอย่างไรก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากเหนื่อย นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหากอยากเกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องให้ภาคประชาสังคมหรือองค์กรเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมหรือว่าคณะกรรมการต่างๆ มากกว่านี้ เราจะได้นำเสนอข้อเท็จจริง
        “อย่างปัญหายาเสพติด เมื่อท่านนายกตั้งกรรมการแล้วไปถามหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ที่เป็นข้าราชการเขาก็บอกว่า ผู้เสพก็คือผู้ป่วย คนขายต้องถูกจับกุม เขาก็พูดตามแพทเทิร์นของเขา แต่ถ้ามาถามผมวิธีแก้ปัญหาแรกเลยคือ ท่านต้องตรวจสอบสถานบำบัดยาเสพติด ท่านเคยถามคนบำบัดไหมว่าที่นั่นใช่สถานบำบัดจริงๆ หรือไม่ ผมไปพูดคุยกับคนเสพยาที่เข้าไปสถานบำบัดมาแล้วสิบรอบ ว่าทำไมเขาถึงเลิกเสพยาเสพติดไม่ได้ เขาบอกว่าจะเลิกได้อย่างไร ในเมื่อสถานบำบัดนั้นไม่ได้มีหมอ มีพยาบาลหรือนักจิตวิทยาตามโครงสร้างที่กำหนดอยู่เลย เข้าไปก็ปล่อยให้เขานั่งมองกำแพง มองกระจก จนถึงกำหนดก็ปล่อยตัวออกมา ออกมาวันแรกเขาก็ไปซื้อยาเสพติดมาเสพต่อเลย เรื่องเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เอามาพูดกันที่โต๊ะประชุมเลย เพราะทุกคนเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน แต่ในเมื่อผมรับรู้ข้อมูลเหล่านี้มา ผมก็ต้องพูดไปตามความจริง พูดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พูดเพื่อให้เกิดการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น พูดเพื่อประเทศของเราเพื่อให้ได้รับการแก้ไข”

        ก่อนที่ทีมสายไหมต้องรอดจะขอตัวรีบไปช่วยเหลือเคสเร่งด่วนที่ติดต่อเข้ามา เรารีบถามทันทีว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้ในมุมมองของพวกเขากำลังดีขึ้นหรือหนักหน่วงกว่าเดิม
        “หนักขึ้นกว่าเดิมครับ” เอกภพพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง
        “ผมไม่ได้จะโทษใครแต่ภาพรวมในวันนี้ ปัญหาสังคมคือการเข้าถึงข้อมูลทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะปิดกั้นเด็กๆ ได้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะปิดกั้นใครก็ตามได้ เพราะฉะนั้นการเข้าถึงสื่อต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วและฉับไวมาก การแก้ไขเรื่องนี้ต้องแก้ด้วยการพูดความจริง เปิดมุมมองที่เป็นความจริง แต่ว่าทางรัฐบาลพยายามที่จะบอกว่าไม่มี ไม่พูดถึง เอาปัญหาซุกไว้ใต้พรม เช่น เรื่องบ่อนการพนัน ก็บอกว่าไม่มี ทั้งๆ ที่เรื่องบ่อนการพันเป็นปัญหาต่อสังคมมาก ครอบครัวแตกแยก ผัวเมียทะเลาะกัน ลูกหลานขาดความอบอุ่นเพราะพ่อแม่หรือคนในครอบครัวไปติดการพนันหมดเนื้อหมดตัว นี่คือปัญหาสังคมในรูปแบบหนึ่ง เราเองจึงต้องนำเสนอเรื่องนี้ให้รับรู้ว่ามันมีอยู่จริง
         “แต่ว่าผมไม่ได้โจมตีใคร ขอแค่เรื่องนี้ให้ได้รับการแก้ไขเถอะ คุณจะเอาอย่างไรก็ว่ามา จะทำให้มันถูกต้องก็ไป คุณก็ไปร่างระเบียบแผนการ ไปศึกษาผลกระทบให้ดี หรือถ้าเรื่องบ่อนการพนันคือเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็ต้องไม่มีเลยสักที่ ไม่ใช่มาแบบหมกเม็ดแล้วบอกว่าไม่มีแต่ก็เห็นว่ามันมีอยู่จริงๆ”       

        ปัญหาสังคมตอนนี้เกิดขึ้นเป็นปมใหญ่เล็กชุลมุนพันกันยุ่งเหยิงไปหมดแล้วจะจะค่อยๆ เริ่มแกะปัญหามากมายเหล่านี้ออกกันอย่างไร
        “เราต้องปักหลักให้ถูก เอาความจริงมาคุยกัน ล่าสุดมีคดีเด็กอายุ 13 ปี ถูกรุ่นพี่ถูกข่มขืนในห้องน้ำโรงเรียนเมื่อวันก่อน ซึ่งผู้กระทำเสพสื่อจากโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้วเห็นว่ามีการทำกันแบบนี้ การแก้ปัญหานี้เราต้องให้ความรู้ความเข้าใจ พูดในสิ่งที่เป็นความจริง ไม่ใช่เอาตำราไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาสอนเด็กปัจจุบัน มันใช้ไม่ได้ผลครับ”
ไม่กลัวว่าวันหนึ่งสิ่งที่ทำจะไปขัดผลประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลบ้างเหรอ – เราถามไปตรงๆ เป็นคำถามสุดท้าย
        “เรื่องนี้มีคนเป็นห่วงผมเรื่องนี้เยอะครับ” เขายอมรับ
        “แต่ผมยืนยันว่าผู้มีอิทธิพลนั้นรู้ว่าผมเป็นคนยังไง พวกเขารู้ว่าผมเป็นคนตรงไปตรงมา ผมไม่เคยกลั่นแกล้งใคร และสิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องจริง อย่างเรื่องบ่อนการพนันนั้นผมพูดไว้เลยว่าผมจะไม่ยุ่งกับใคร ถ้าคุณไม่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าไม่มีคนร้องเรียนเราก็จะไม่ยุ่งกัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาไม่อยู่ เกิดปัญหาการร้องเรียน การข่มขู่คุกคาม ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมก็จะนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาผมก็จะไม่ปกปิด เพราะพวกเราทั้งทีมสายไหมต้องรอดหรือประชาชนก็ตาม สำหรับเกมนี้เราเป็นผู้ดู ผู้เล่นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราก็ต้องให้ผู้เล่นเข้าเล่นไปตามหน้าที่ของเขา แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ได้ผู้เล่นเขาเอาไม่อยู่ จนเกิดปัญหาขึ้นมา ผู้ดูอย่างเราก็จะลงไปเล่นเอง”

“คนที่ติดต่อมาหาเรา มาจากการที่พวกเขาติดต่อขอความช่วยเหลือไปทางหน่วยงานต่างๆ แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือ เขามาหาเราเพราะไม่มีที่พึ่งไหนแล้ว หลายเคสที่ผมเจอแล้วก็รู้สึกหดหู่ เช่น พ่อที่ข่มขืนลูกสาวตัวเอง แล้วตัวพ่อกับแม่เองก็ติดยา ฝ่ายแม่ก็ปกป้องพ่อเพราะกลัวสามีตัวเองติดคุก คำถามคือนี่มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมประเทศไทย ไหนจะเจอเคสยาบ้าที่ขายกันเม็ดละ 25 บาท ซื้อ 5 เม็ด แถม 1 เม็ด กลายเป็นยาเสพติดราคาถูกกว่าข้าวหนึ่งมื้อไปแล้ว การมาทำงานอาสาตรงนี้ทำให้ผมต้องฝึกควบคุมอารมณ์ตัวเองมากขึ้น ใจเย็นให้ได้มากที่สุด แม้จะโกรธมากก็ตามทุกครั้งที่เห็นคนโดนหลอกจากแอปพลิเคชันที่หลอกให้โอนเงิน ทั้งๆ ที่มีข่าวออกมาทุกวัน แต่ทำไมถึงยังมีคนโดนหลอกอยู่ แล้วแต่ละคนที่โดนก็ไม่ใช่จำนวนเงินน้อยๆ เป็นหลักแสนบาทขึ้นไป”

‘กำนันอาร์มวัดเกาะ’ – คณาธิป แก้วสระแสน
ทีมงานสายไหมต้องรอด

        ทิศทางต่อไปของทีมสายไหมต้องรอดในปี 2023 คือ การวางระบบให้ความช่วยเหลือที่ครบวงจรมากขึ้น ช่วยเหลือประชาชนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคงต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกกันอีกสักพัก แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะไม่ล้มเลิกการเป็นหน่วยเสริมเพื่อช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้หมดเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจได้ดีขึ้น


เรื่อง : ทรรศน หาญเรืองเกียรติ | ภาพ : สันติพงษ์ จูเจริญ