‘สายใจ’ แห่ง SAISALANG นักปรุงกลิ่นที่เรียงร้อยประสบการณ์การเดินทางออกมาเป็นน้ำหอม

        ถ้าถามว่าเวลาไปท่องเที่ยวคุณจำภาพสถานที่นั้นเป็นอย่างไร? บันทึกเป็นรูปถ่ายหรือจดจำเป็นภาพในความทรงจำ แล้วเคยสังเกตกลิ่นของแต่ละสถานที่ต่างๆ นั้นไหมว่ามีส่วนประกอบของ ดิน หญ้า ดอกไม้ อากาศ อย่างไรบ้างถึงทำให้เกิดเป็นภาพตรงหน้าที่เราเห็น

        อีกหนึ่งประสาทสัมผัสที่สำคัญของมนุษย์ก็คือ ‘การดมกลิ่น’ เราหายใจเข้า-ออกเพื่อดำรงชีวิต ทันทีที่มีกลิ่นใหม่แปลกปลอมไม่คุ้นชินลอดจมูกเข้ามาร่างกายก็จะตรวจจับและต่อต้านเพื่อส่งสัญญาณเตือน

        แล้วเวลาที่คุณได้กลิ่นน้ำหอมคุณนึกถึงภาพอะไร? กลิ่นดอกมะลิในความทรงจำของคุณปรากฏภาพไหนขึ้นมา ระหว่างดอกมะลิขาวสะอาดตาเย็นฉ่ำที่นำไปไหว้ในวันแม่ หรือดอกมะลิที่เด็กน้อยในเสื้อผ้ามอมแมมเดินขายในระหว่างรถติดที่สี่แยกไฟแดงที่ดอกเริ่มเฉา และกลิ่นของมะลิปนไปกับควันและไอแดด เปื้อนไปด้วยเหงื่อของเด็กสาวที่ต้องเดินตากแดดขายมาทั้งวัน นั่นก็เป็นเพราะอำนาจของกลิ่นที่มีผลกับประสาทรับรู้ของมนุษย์

        พี่ใหญ่-สายใจ สายสล้าง เป็น Perfume Designer ผู้สร้างแบรนด์ SAISALANG ไกด์นำทางที่มีกลิ่นเป็นยานพาหนะ ยินดีต้อนรับขึ้นรถทัวร์ไปแวะยังสถานที่แห่งความทรงจำที่คุณและเราอาจมีร่วมกัน แต่จินตนาการของเราประกอบภาพตามแต่ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน นี่คือความพิเศษและงดงามที่ทำให้กลิ่นมีอิทธิพลกับการรับรู้ของมนุษย์

        “กลิ่นไม่ใช่เพียงแค่การได้กลิ่น แต่กลิ่นนั้นเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ชีวิต กลิ่นเป็นที่ที่ประสบการณ์ชีวิตเดินทางมาเจอกับจินตนาการ”

        เป็นแง่มุมของกลิ่นที่หลายๆ คนอาจยังไม่เคยนึกถึงมาก่อน แต่ ‘พี่ใหญ่’ ในฐานะ Perfume Designer ได้ให้คำอธิบายอย่างเห็นภาพในระหว่างบทสนทนาที่ขยายขอบเขตทั้งประสาทรับกลิ่นและภาพที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่มาประกบกันได้พอดี 

ประสบการณ์ของ สายใจ สายสล้าง

        “เมื่อก่อนไม่ค่อยพอใจกับชื่อนี้ เพราะมักโดนเพื่อนๆ บูลลี่ แต่เมื่อโตขึ้นเรารู้สึกได้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งล้ำค่าที่ทำให้ทุกคนจดจำเราได้และเป็นสิ่งที่พ่อมอบให้กับเรา ฉะนั้นจึงไม่คิดเปลี่ยนชื่อนี้โดยใช้เรื่อยมาจนอายุ 47 ปี” 

        ด้วยความที่เรียนศิลปะจาก วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง จึงทำให้มองรายละเอียดรอบตัวๆ ด้วยตาที่มีความสุนทรีย์ หลังจากเริ่มต้นสายงานในตำแหน่งพนักงานขายให้กับน้ำหอมแบรนด์ชื่อดังระดับโลก จนไต่ตำแหน่งขึ้นเป็นเมเนเจอร์และสิ้นสุดสายงานด้วยการเป็นเทรนนิงเมเนเจอร์ของภูมิภาค รวมแล้วกว่า 20 ปี จนแปรเปลี่ยนความชื่นชอบขยับมาเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง

        “เราได้เข้ามาอยู่ในส่วนของน้ำหอมเพราะด้วยแพสชันในเรื่องกลิ่น ดมกลิ่นจนติดเป็นนิสัยและเป็นพฤติกรรมเวลาที่ไปที่ต่างๆ จะมองหาน้ำหอมแปลกๆ กลิ่นแปลกๆ แม้จะไม่ได้จบมาสายตรงก็ตาม จากที่เริ่มขายน้ำหอมในสนามบิน ทำให้ได้รู้จักแบรนด์อีกมากมายที่อาจไม่ได้โด่งดัง สะสมทักษะการดมกลิ่นที่หลากหลายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาตระหนักว่าตัวเองเป็นคนชอบเรื่องกลิ่นอย่างจริงจัง” 

        จากจุดเริ่มต้นในตำแหน่งนักขายจนเมื่อหยดกลิ่นแรกของตัวเองเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ด้วยกลิ่นที่ชื่อ RAJADHANI ‘ราชธานี’ ที่เป็นการจำลองภาพผู้หญิงไทยยืนหน้าดอกไม้สีขาวเข้ากับกลิ่นแป้งร่ำที่บ่งบอกความเป็นไทย จากเสียงเรียกร้องทำให้เกิดเป็นแบรนด์ SAISALANG (สายสล้าง) ในวันนี้

        “พี่มีกลิ่นที่ชื่อ SAIJAI ‘สายใจ‘ ที่ตั้งชื่อตามตัวเราเอง เป็นภาพของพวงมาลัยดอกซ่อนกลิ่น กระดังงา ไม้จันทน์ ดอกบัว ดอกไม้สีขาว ดอกส้ม กุหลาบ ไวท์มัสก์ และไม้จันทน์หอม ที่ตั้งชื่อกลิ่น SAIJAI มาจาก ดอกไม้ที่ชอบคือดอกซ่อนกลิ่น ซึ่งมีกลิ่นพิเศษเฉพาะตัว จับคู่กับกระดังงาและไม้ เพื่อต้องการจะบอกว่า ในความเป็นดอกไม้ที่สวยงามนั้นมีไม้ซ่อนอยู่ และในความเป็นไม้ก็มีดอกไม้ซ่อนอยู่ ก็เหมือนชีวิตของเรามันมีทั้งสองด้าน ด้านที่สดชื่น สว่าง แล้วก็ด้านต้องการความแข็งแรง เพราะในทุกๆ วันคนเราต่างก็ใช้สองด้านนี้สลับกันไปมาอยู่เสมอ รวมถึงในบนสนทนาเช่นเดียวกัน” 

นักปรุงกลิ่นน้ำหอมคือนักสื่อสารที่เข้าใจสารและผู้รับ

        ถ้าใครที่เคยแวะมาร้านนี้จะรู้เลยว่า ต้องนั่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่ใช่เพราะการที่เจ้าของร้านพยายามขายของ หากแต่มันคือการใช้เวลาเพื่อจะเข้าใจคนที่เราคุยด้วย ยิ่งเราเข้าใจคนที่เราคุยด้วยมากเท่าไหร่ เราจะเจอกลิ่นที่เหมาะกับคนคนนั้นมากเท่านั้น

        “หลายคนใช้น้ำหอมเพื่อให้รู้ว่าใช้แบรนด์ดัง แต่ไม่ใช่ที่สายสล้าง เพราะที่นี่เราใช้กลิ่นเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดตัวเอง ด้วยการเปิดเผยตัวตนที่เราเป็น กลิ่นจึงไม่มีเพศ สีแดงไม่มีเพศ ฉะนั้นกลิ่นจึงเป็นหนึ่งในภาษาที่ทำการถ่ายทอดตัวตนของคนที่ใช้ซึ่งก็คือตัวเราเอง แต่ละคนจะมีประสบการณ์เรื่องกลิ่นไม่เหมือนกัน” 

        “ถ้าพูดถึงดอกมะลิ คุณและเรามีภาพและกลิ่นจำดอกมะลิไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราแต่ละคนมีภาพจำมะลิที่ไม่เหมือนกันอันเนื่องมาจากประสบการณ์ชีวิต แต่เมื่อเราได้กลิ่นมะลิเราทุกคนจะรู้ว่านี่คือกลิ่นดอกมะลิ ฉะนั้นกลิ่นทุกกลิ่นจะเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง คนทุกคนได้กลิ่นเหมือนกัน แต่แปรความหมายไม่เหมือนกัน เหมือนกับที่คนทุกคนเห็นสีแดงเหมือนกันแต่ตีความหมายไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับบริบทของสีแดงที่ไปวางอยู่” 

        “ถามว่าใครก็ทำน้ำหอมได้ไหม ก็ได้ เช่นเดียวกับการทำอาหารกับการซื้อแบบสำเร็จรูปมาก็กินอิ่มเหมือนกัน อิ่มท้องแต่ขาดความสุนทรีย์ ซึ่งถ้าจะมีใครอยากทำกลิ่นเชียงใหม่และหยดกลิ่นนั้นกลิ่นนี้แล้วบอกว่าเป็นเชียงใหม่ก็ได้ แต่ไม่ละเมียดไม่คราฟต์ ไม่ประณีต”

        “สำหรับน้ำหอม ต่อให้คุณมีส่วนผสมที่หายากที่สุดในโลกมันก็ไม่ได้การันตีว่ากลิ่นที่คุณทำจะหอมที่สุดในโลก เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจส่วนผสมมากพอ ต่อให้ใส่ส่วนผสมมากมายมันก็ไม่หอม เพลงบางเพลงเริ่มต้นด้วยคีย์โน้ตง่ายๆ แต่เป็นเพลงที่ไพเราะ น้ำหอมเช่นเดียวกัน บางกลิ่นที่เราทำเริ่มจากส่วนผสมที่ง่ายมาก แต่พอปรุงออกมาแล้วมันได้เป็นส่วนผสมที่ลงตัว มันเป๊ะ เหมือนการปรุงอาหารเมื่อเจอรสที่ลงตัวแล้วต้องหยุดปรุงเพราะยังปรุงไปเรื่อยๆ แล้วก็จะกลายเป็น overcooked น้ำหอมก็เช่นเดียวกัน” 

กลิ่นกับสถานที่ออกมาเป็นน้ำหอมได้อย่างไร

        “แต่ละที่มีกลิ่นเฉพาะของตัวเอง ทุกกลิ่นที่ออกมาเป็นน้ำหอมของที่ SAISALANG จะผ่านกระบวนการผสมกลิ่นที่สถานที่นั้นๆ ในบรรยากาศนั้นๆ ทุกครั้งเวลาเดินทางจะพกขวด vial (ขวดยาเล็กๆ) 10-15 มิล จำนวน 20-30 กลิ่น พกติดตัวไปด้วยเวลาออกเดินทาง เพื่อหยดส่วนผสมให้เป็นกลิ่นสถานที่นั้นๆ กลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็จะมานั่งปรับแต่งว่าจะมาทำอย่างไรต่อไป เพราะในการทำน้ำหอมแต่ละครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือนเพื่อที่จะให้ลงตัว เมื่อกลิ่นลงตัวแล้ว ก็จะกลับไปที่เดิมอีกครั้งเพื่อทดสอบ” 

กลิ่นความทรงจำวัยเด็ก 

        “โลกนี้ไม่มีกลิ่นเหม็น มีแค่กลิ่นที่เราไม่คุ้นชิน” เช่น การที่คนเอเชียกินบลูชีสไม่ไหวและหลายคนบอกว่าเป็นกลิ่นเน่า แต่ฝรั่งตะวันตกเลิฟ ยัมมี่ อร่อยมาก แต่สำหรับพี่เหมือนกลิ่นอ้วก แต่ในทางกลับกันเราคนไทยกินส้มตำไข่เยี่ยวม้าปูปลาร้า เจ้านายคนฝรั่งเศสก็จะงงว่านี่พวกเธอชอบกินกันไปได้ยังไง วัฒนธรรมไม่มีสิ่งถูกผิด มันขึ้นอยู่กับว่าเราเติบโตมาอย่างไร เราคุ้นชินเอนจอยกับกลิ่นทุเรียน กลับกันกับบลูชีส ถั่วเน่า แองโชวี่ พี่ก็ไม่โอเค ในโลกนี้จึงเป็นการเข้าใจสิ่งใดๆ ในมุมมองใด”  

        “พี่เกิดในยุคที่จตุจักรยังอยู่สนามหลวง จึงกลายมาเป็นกลิ่นที่ชื่อ SANAM LUANG ‘สนามหลวง’ กลิ่นของความวินเทจ สวมแจ็กเกตหนัง พ่อของพี่เคยพาไปเดินสนามหลวง คุ้ยแจ็กเกตหนังเก่าๆ รองเท้าหนังเก่าๆ จึงได้มาเป็นกลิ่นสาบจางๆ ของหนังกลับ มีความแบดบอย กลิ่นพวงมาลัยแห้งๆ ซึ่งร้านอาหารล้างแล้วสาดน้ำลงไปที่บริเวณคลองหลอดจะเป็นกลิ่นแบบนี้” 

วาดภาพเป็นกลิ่น

        ไม่ว่าน้ำหอมจะมีกลิ่นแบบไหน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และยากที่จะหาใครมาแทนได้คือศิลปะการนำเสนอที่ใช้กลิ่นเล่าประสบการณ์เรียงร้อยเป็นเรื่องราวแบบร้าน SAISALANG ที่มี พี่ใหญ่ เป็นผู้ถ่ายทอดด้วยตัวเอง

        “กลิ่น SUKUMVIT ‘สุขุมวิท’ มาจากการถ่ายทอดภาพรถติดที่ทองหล่อ กลิ่นควัน น้ำมันเครื่อง ให้ความเทาๆ ฟีลของออฟฟิศ ลูกค้าบางคนดมแล้วบอกว่าได้กลิ่นเหมือนนั่งในเบาะหนังของรถลัมโบร์กีนี” 

        “ส่วนกลิ่น PAKRIS ‘ปารีส’ จะเป็นกลิ่นกุหลาบ (la vie en rose) หลับตานึกถึงพระนางมารี อ็องตัวแน็ต นั่งเปลือยบนเบาะนั่งเก่าๆ ข้างหน้าเธอเป็นโต๊ะแต่งหน้าสไตล์หลุยส์ โดยมีกุหลาบและดอกโบตั๋นสีชมพู (Peony) ช่อใหญ่มากวางอยู่ ถ้ามองออกไปทางหน้าต่างจะเห็นสวนตุยเลอรี (Tuileries Garden) พระนางหันมามองพวกเราแล้วพูดว่า Je t’aime (ฉันรักคุณในภาษาฝรั่งเศส) จะเป็นกลิ่นสาบสาวที่บ่งบอกได้ถึงความเป็นผู้หญิงฝรั่งเศสที่อินโนเซนต์ แต่ไม่เวอร์จิน เป็นปารีสที่มีจริต” 

ออกเดินทางตามหาเรื่องราว

        “สำเนียงกลิ่น แปลเป็นไทยว่า ถ้าคุณเอามะลิพันธุ์เดียวกันไปปลูกที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อียิปต์ ฝรั่งเศส แต่สิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบแตกต่างกันจะสร้างสำเนียงกลิ่นที่ไม่ซ้ำกัน” 

        “ด้วยหน้าที่ทำให้ต้องออกเดินทางทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 20-30 ประเทศ การได้พบปะพูดคุยและร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก ได้ความรู้และไอเดียมาจากนักปรุงระดับโลกที่ปลุกแพสชันและขยายกรอบความเข้าใจเรื่องกลิ่น นักปรุงระดับโลกที่พี่เคยเจอ เขาสามารถจำแนกกลิ่นเป็นพันเป็นหมื่นกลิ่น บอกได้เลยทันทีหลังจากที่ดมว่าเป็นดอกมะลิจากประเทศใด เช่นเดียวกับคนที่กินอาหารเป็นประจำเราจะรู้ได้เลยว่า จานนี้คืออาหารไทยที่ทำโดยร้านนี้ ปรุงโดยเชฟชื่อนี้ เพราะเขาจะใส่ลายเซ็นไว้ในนั้นหมดเลย”

กลิ่นพิสูจน์สายสัมพันธ์

        “การเลือกของขวัญให้ใครสักคน เราไม่ได้กำลังเลือกสินค้าแต่เรากำลังถ่ายทอดความรู้สึกที่เรามีต่อคนๆ นั้น” 

        “สิ่งแรกเลยคือเราต้องรู้จักคนนี้เป็นอย่างดีก่อน ถ้าเราอยากได้น้ำหอมขวดแรกของตัวเอง เราก็ต้องรู้จักตัวเราให้ดี เช่นเดียวกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าสักชุด ก็ต้องเกิดภาพในใจแล้วว่าเราจะใส่ตัวนี้ยังไง ใส่ไปหาใครหรือทำไปอะไร จะหาเสื้อไปวัดก็ต้องสีขาว เรียบร้อย สงบจิตใจ ไม่ใช่สายเดียวโชว์หน้าอก ถ้าเราจะเลือกทำอะไรสักอย่างเราต้องมีจุดประสงค์ในใจไว้ก่อน เหมือนจะเลือกน้ำหอมให้เพื่อนหรือคนรัก ก็ต้องรู้แล้วว่าคนๆ นี้ คาแร็กเตอร์นี้ ชอบกลิ่นแบบนี้เพื่อฉีดทำงานทุกวัน ความถี่ในการใช้ ฉะนั้นลูกค้าที่มาที่นี่เราจะบอกเสมอว่าอย่าซื้อเพราะการรีวิว อย่าซื้อเพราะเป็นแบรนด์เนม เพราะแบรนด์ดังอาจไม่ดีกับเราก็ได้ หลายครั้งที่ใช้น้ำหอมขวดหลายพัน พอฉีดก็เกิดคำถามว่าเราฉีดไปทำไม” 

        “น้ำหอมที่ดีก็เหมือนอาหารที่ดี เสื้อผ้าที่ดี บางครั้งเราอาจเจอเสื้อผ้ามือสองที่ดีและเข้ากับเรามากๆ ฉะนั้นการเลือกน้ำหอมต้องรู้จักคนๆ นั้นก่อน ถ้าไม่รู้จักพี่จะไม่กล้าเลือกให้ เพราะเลือกไปแล้วเขาไม่ใช้หรือเลือกไปแล้วอาจสะท้อนได้ว่าคุณไม่รู้จักกับฉันนะ เช่นเดียวกับการไปกินข้าวด้วยกัน ถ้าสั่งเนื้อมาให้ทั้งที่เราเป็นคนไม่กินเนื้อ มันก็จะกลายเป็นการไม่ใส่ใจ ฉะนั้นต้องเข้าใจและรู้จักกันมากพอ พี่ไม่อยากใช้คำว่าเลือกไปแบบกลางๆ เพราะคำว่าตรงกลางก็แปลว่าไม่ใส่ใจ ซึ่งบ่งบอกความสัมพันธ์ได้ว่าเรานั้นใกล้ชิดกันแค่ไหนหรือแค่รู้จักกันแบบผิวเผินเพราะน้ำหอมถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่เรามีของเราต่อคนๆ นี้ออกไป”

กุหลาบ ความรักอันเป็นนิรันดร์

        “เป็นข้อความที่จะสื่อสารในเดือนกุมภาพันธ์ผ่านสองกลิ่นคือ VIENG PING ‘เวียงพิงค์’ จะมาจากกุหลาบจุฬาลงกรณ์ที่พระนางดารารัศมีเพาะดอกกุหลาบดอกนี้ให้กับพระสวามีซึ่งก็คือรัชกาลที่ 5 ความยากในการเพาะพันธุ์กุหลาบสายพันธุ์ใหม่นั้นคือกุหลาบส่วนใหญ่จะเป็นหมัน เมื่อผสมข้ามสายพันธุ์จะอยู่รอดเฉลี่ยแล้ว 100 ครั้งจะสำเร็จแค่ 1 ครั้ง แต่กุหลาบพันธุ์นี้สามารถมีลูกหลานต่อมาได้ ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก พระนางดารารัศมีจึงตั้งชื่อตามพระสวามีว่า สายพันธุ์จุฬาลงกรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อกลิ่นน้ำหอม VIENG PING ถือเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เพราะพระนางเองได้ชื่อว่าเป็นผู้เชื่อมสองแผ่นดินคือล้านนาและสยาม และกลิ่น NIRUND ‘นิรันดร์’ ใช้ไม้กฤษณาความรักจากสามเมือง จากไทย ลาว และกัมพูชา” 

        “การทำน้ำหอมไม่จำเป็นต้องใช้ส่วนผสมที่แพงที่สุดในโลก แต่เป็นการเข้าใจส่วนผสมแต่ละอย่างว่าคืออะไร เวลาที่เอาแต่ละส่วนผสมมาร้อยรวมกันเป็นกลิ่นเหมือนการร้อยมาลัยหนึ่งพวงมันต้องลงตัว คุณต้องควบคุมทั้งความหมายที่ต้องการจะสื่อสารและกลิ่นที่จะออกมา”

        สุดสัปดาห์นี้ชวนเพื่อนหรือจะจูงมือคนรักแวะเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทาง เปิดประสาทสัมผัสด้านการรับกลิ่นได้ที่ร้าน SAISALANG Scent Surrounding จตุจักร โครงการ 19 ซอย 7/4 ห้อง 255 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์


เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ