‘ล่ามภาษามือ’ สื่อกลางถ่ายทอดบทเพลงที่ทำให้ได้ยินไปถึงหัวใจ

        เพลงและดนตรีสำหรับใครหลายคนเป็นเพื่อนซี้ทั้งในยามสุขและทุกข์ เพลงบางเพลงทำให้คิดถึงคนรักเก่าที่ต้องจากลา เพลงบางเพลงก็อาจช่วยให้ชีวิตเข้มแข็งก้าวผ่านปัญหาหนักๆ ที่กำลังเผชิญไปได้โดยไม่โดดเดี่ยวนัก 

        คอนเสิร์ตสำหรับคนทั่วไปคือพื้นที่แห่งประสบการณ์ที่ทำให้แฟนเพลงที่รักในดนตรีและเนื้อหาที่ศิลปินสื่อสารได้มาใช้ช่วงเวลาพิเศษร่วมกัน แต่สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน การฟังเพลงและดื่มด่ำกับเสียงดนตรีดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลเหลือเกิน ทั้งที่จริงๆ แล้วคนในสังคมสามารถสร้างพื้นแห่งความสุขให้กับคนทุกกลุ่มนี้ได้อย่างเท่าเทียมผ่านการใช้ภาษามือและการเปิดใจกว้างโอบรับในความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้ แล้วเราอาจจะประหลาดใจว่าทั้งเราและเขาอาจมีจุดร่วมมากกว่าที่คิด

ตำแหน่งแห่งที่เพื่อความสุขที่เท่าเทียมในงานคอนเสิร์ต

        ในงานคอนเสิร์ต ล่ามทำการแปลมากกว่าเนื้อเพลง พวกเขากำลังสื่อสารบทเพลงด้วยร่างกายของพวกเขา ทั้งสีหน้า ท่าทาง และภาษามือ ซึ่งในต่างประเทศ ล่ามภาษามือที่มีความเฉพาะตัวที่หลากหลาย ฝึกฝนทักษะและเก็บประสบการณ์ในงานคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีแนวเพลงที่ถนัดแตกต่างกันซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมตัวจากเพลงของแต่ละวงดนตรีที่จะขึ้นแสดงโชว์ในงาน รวมทั้งการใส่ความสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดออกมาให้ผู้ที่มีความบกพร่องการได้ยินได้รับความสนุกสนานเช่นกัน

        หนึ่งในล่ามภาษามือ FLOW Cherish กล่าวว่า “การแร็ปเป็นหนึ่งในแนวเพลงที่ตีความออกมาเป็นภาษามือได้ยากที่สุด” อันเนื่องมาจากความลื่นไหลและมีการด้นสดในระหว่างการแสดงอยู่เป็นประจำ

        หลายๆ ครั้ง ล่ามภาษามือเองก็ถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้อย่างถึงใจ อินเนอร์มาเต็มที่จนแย่งความสนใจและดึงดูดทั้งผู้ชมรวมถึงนักดนตรีด้วยเช่นกัน อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในงานคอนเสิร์ต Red Rocks เมื่อปี 2019 John Bell จากวงร็อก Widespread Panic กล่าวว่า ครั้งแรกที่เขาเห็นล่ามภาษามือแปลบทเพลง ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเหมือนได้ย้อนความรู้สึกเมื่อได้ยินเพลงของพวกเขาเปิดทางวิทยุเป็นครั้งแรก เพราะมันคืองานศิลปะแบบหนึ่งที่ต้องหยุดดูเพื่อชื่นชมจนทำให้ในวันนั้นถึงกับเสียสมาธิในการเล่นไปพักหนึ่งเลยทีเดียว 

        และอีกครั้งที่งานคอนเสิร์ตของ Kendrick Lamar คลิปที่คนดูถ่ายไว้ได้กลายเป็นไวรัล ทำให้ชื่อเสียงของ Amber Galloway Gallego ล่ามภาษามือในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน จนได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินระดับโลกหลายๆ คนทั้ง Lady Gaga, The Black Keys, Cher และ Twista เธอได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าแม่ภาษามือในวงการฮิปฮอปเบอร์ต้นๆ เลยทีเดียว

คุณสมบัติของการเป็นล่ามภาษามือสื่อความหมายเพลง

        “รู้ไหมคะว่าคนหูหนวกก็เข้าผับเหมือนคนทั่วไปนะคะ”

        คุณมะปราง ล่ามภาษามือที่ทีม a day ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ แชร์ประสบการณ์บางส่วนที่ได้พูดคุยใกล้ชิดกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินผ่านการทำงานกับสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ในการเรียนเป็นล่ามภาษามือ ต้องเริ่มต้นด้วยการตอบจุดประสงค์ของการแปลให้ได้ก่อนว่า ตั้งเป้าหมายการแปลภาษาเพื่อให้เข้าใจความหมายของเนื้อเพลงหรือให้เข้าใจคำ” 

        คุณมะปรางบอกว่า ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะรับรู้บทเพลงผ่านการจับจังหวะและเบสที่กระตุ้นเร้าหัวใจให้เต้นแรง นี่เป็นเรื่องปกติของคนที่สูญเสียประสาทการรับรู้บางส่วน ซึ่งจะได้รับการชดเชยด้วยประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ที่เหลือที่ทำงานร่วมกันและส่งความรู้สึกได้ว่องไวขึ้นเป็นพิเศษ  

        งานของผู้ถ่ายทอดภาษามือให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในมุมมองคุณมะปรางยังมีประเด็นที่น่าคิดคือ ในประเทศไทยยังไม่มีการจัดพื้นที่เพื่อล่ามภาษามือในงานคอนเสิร์ต จะมีแต่การแปลเพลงที่เป็นกิจกรรมในโอกาสพิเศษตามงานต่างๆ ซึ่งหลักของการแปลภาษามือจากบทเพลงจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

  1. การแปลตามความหมาย
  2. การแปลตามคำตรงตัว

        ซึ่งในแบบที่ 1 จะต้องมีการตีความหมายและทำการบ้านมาก่อนล่วงหน้าเพื่อสื่อสารให้ได้ใกล้เคียงกับที่ผู้แต่งหรือนักร้องต้องการจะสื่อออกไปให้ได้มากที่สุด สำหรับภาษาไทยจะเป็นการแปลภาษามือที่เรียกว่า ภาษาภาพ ที่เหมาะกับการแปลตามความหมาย เพื่อเป็นการถ่ายทอดภาษามือให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้เข้าใจและตีความเป็นภาพให้ได้ ล่ามภาษามือแต่ละคนจึงมีมุมมองต่อบทเพลงต่างกัน เหมือนที่คนทั่วไปฟังเพลงเดียวกันแต่รู้สึกและรับรู้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ส่วนบุคคล การแปลภาษามือตามคำตรงตัวเหมาะกับเพลงที่ไม่มีความหมายลึกซึ้งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

ชวนฟัง Playlists: Music for the Deaf ใน Spotify

        แม้ยอดวิวจะไม่ได้ทะลุล้านเหมือนเพลงดังทั่วไป แต่หลังจากที่เราได้ลองฟังด้วยตัวเองก็ต้องบอกว่า เพลงในลิสต์นี้มีบีตและเบสเร้าใจมาก ช่วยปลุกหนังตาหนักๆ ให้เปิดกว้างขึ้นได้ดีเชียวแหละ เรียกว่าเหมาะกับการนั่งฟังเพลงระหว่างปั่นงานช่วงบ่ายของวัน

ทดลองฟังกันได้ที่ลิงก์ 

https://open.spotify.com/artist/0inShRUtpvRIpgCY1b0B4e 

การเดินทางของเสียงสู่ดนตรี

        ด้วยความที่ระดับการได้ยินจะมีระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นสูญเสียการได้ยินมากแค่ไหน ซึ่งก็มีตั้งแต่ได้ยินบางส่วนไปจนถึงไม่ได้ยินโดยสมบูรณ์ การรับรู้ทางเสียงจึงมีรายละเอียดเฉพาะบุคคล 

        ซึ่งตามปกติแล้ว ช่วงเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยินจะอยู่ระหว่าง 20 ถึง 20,000 เฮิรตซ์ (Hz) และจะมีลักษณะเป็นคลื่นที่สั่นสะเทือน ย่านเสียงต่ำจะมาจากคลื่นยาวและช้า ส่วนเสียงสูงจะเป็นคลื่นสั้นและเร็ว 

        ส่วนเสียงดนตรีจะมีการจัดเรียง ผสมผสานเสียงที่มีระดับเสียงหลากหลายทั้งเสียงสูงและต่ำอย่างลงตัว 

ข้อจำกัดและความท้าทายของล่ามภาษามือในคอนเสิร์ต

        สำหรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางงานแปลภาษามือในงานคอนเสิร์ตประกอบด้วย ตำแหน่งที่ตั้งสำหรับล่ามและผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่มักจัดให้อยู่ใกล้กับลำโพงเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถจับจังหวะผ่านการสั่นสะเทือนของเสียงเบส เพื่อช่วยให้การรับรู้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดแสงให้มีความเหมาะสมเพื่อให้มองเห็นสีหน้าท่าทางของล่ามได้อย่างชัดเจนและได้รับอรรถรสเต็มอิ่มที่สุด  

        สำหรับการถ่ายทอดสดนั้น กรอบพื้นที่ของการใช้ภาษามือก็ล้วนมีผลกับการถ่ายทอดเพื่อสื่อความหมาย เพราะจะเห็นได้ว่าถ้าตีกรอบไว้แคบเกินไปการขยับมือและร่างกายก็จะมีความจำกัด อาจทำให้แปลความหมายหรืออารมณ์เพลงได้ไม่เต็มที่ 

        นอกจากนั้น ในประเทศไทยก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องเพลงสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มมากๆ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีช่องทางสื่อสารให้เข้าถึงเพลงได้ ทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้หรือได้รับความสุนทรีย์จากบทเพลงเลย หรือกลุ่มวัยรุ่นบางคนที่ติดตามวง BNK48 ก็จะเป็นเรื่องของความชื่นชอบในตัวศิลปิน มากกว่าจะเป็นเรื่องของความหมายในบทเพลง

โอกาสที่ยังต้องรอการเปิดกว้าง

        ถ้าใครยังจำกันได้ ในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ในปีที่ผ่านมา หนึ่งในช่วงเวลาน่าประทับใจ คือ การประกาศรางวัลในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม Troy Kotsur ในบทคุณพ่อหูหนวกจากภาพยนตร์เรื่อง CODA ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีนักแสดงหลักเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ถือเป็นคนหูหนวกชายคนแรกที่ได้รับรางวัลในสาขานี้ โดยในภาพยนตร์มีซีนช่วงท้ายที่เรียกน้ำตานองหน้าให้กับผู้ชม และถือเป็นฉากสำคัญของเรื่องที่สื่อสารผ่านบทเพลงเพื่อเชื่อมต่อโลกของคนที่การได้ยินเป็นปกติกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ด้วยการใช้ภาษามือสื่อความหมาย และช่วยเป็นประตูใจให้กับคนในครอบครัว โดยในงานประกาศรางวัลในครั้งนั้นก็เป็นการยืนยันอย่างหนึ่งว่าเมื่อโอกาสเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มได้แสดงความสามารถในเส้นทางที่พวกเขาฝัน ก็จะเป็นการช่วยให้เกิดความเท่าเทียมและลดช่องว่างที่เราเคยขีดเส้นแบ่งระหว่างกันให้เหลือแต่ความเป็นไปได้ในการเข้าใจกัน

 

เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา


ที่มา

https://www.cpr.org/2019/07/23/sign-language-interpreter-concerts-red-rocks-colorado/ 

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertainment/1052918 

https://thisable.me/content/2018/10/477

https://en.wikipedia.org/wiki/CODA_(2021_film) 

https://www.fungjaizine.com/article/story/concert-asl-interpreter