อาจจะไม่ใช่คำว่า ‘ความรัก’ ในความหมายแบบเป๊ะๆ อย่างที่เราคุ้นเคย แต่ผมอยากจะพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึก แรงขับ สัญชาตญาณ อคติ ฉันทาคติ อุดมคติ หรือความเชื่ออะไรบางอย่างที่ฝังลึกอยู่ภายในใจ และทำให้เราทำอะไรๆ ไปโดยอัตโนมัติ ไม่ทันยั้งคิด ไม่ทันรู้ตัว
มันเป็นหลักการตลาดแบบเดิมๆ ที่เราเคยร่ำเรียนมาตั้งแต่สมัยก่อน ว่าในเบื้องต้นที่สุด ลูกค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยอารมณ์และความรู้สึก ที่สุดแล้วมนุษย์เราไม่ได้คิดและทำอะไรด้วยเหตุผลสักเท่าไหร่ ทั้งที่เรามักจะเคลมตัวเองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้คิดและรู้จักใช้เหตุผล
ในคลาสสอนการทำคอนเทนต์ออนไลน์ที่ผมเคยไปนั่งเรียน ครูก็สอนบทเรียนคล้ายกันนี้ ว่าในบรรดาคอนเทนต์มากมายมหาศาลที่ท่วมท้นอยู่ในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ คอนเทนต์ที่ทำงานกับออเดียนซ์ได้เร็วและมากที่สุดก็คือคอนเทนต์ที่เล่นกับอารมณ์และความรู้สึกคน จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกออนไลน์ทุกวันนี้กลายเป็นโรงมหรสพทางอารมณ์ของผู้ดู ผู้ชมนับล้านๆ
ความรักชอบและโกรธเกลียดน่าจะเป็นอารมณ์พื้นฐานที่สุดและผลักดันเราจากส่วนที่อยู่ลึกที่สุด จากสมองส่วนที่เก่าแก่ที่สุดในสายวิวัฒนาการ ทุกๆ วันเราบริหารสมองส่วนนี้ และอารมณ์เหล่านี้จนแข็งแกร่ง ด้วยการเปิดรับสิ่งต่างๆ รอบตัวเข้ามา
ถ้าจิตใจเรามีกล้ามเนื้อเปรียบเหมือนร่างกาย ป่านนี้มันก็คงเป็นนักเพาะกายตัวมันปลาบ กล้ามขึ้นเป็นมัดๆ หน้าจอสมาร์ตโฟนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด… รักชอบ… โกรธเกลียด… สลับวนเวียนกันไปตามการไถปลายนิ้วเพื่อสไลด์หน้าจอขึ้นลง เราจึงรักชอบได้ทันที และโกรธเกลียดได้ทันที เมื่อเห็นคอนเทนต์อะไรสักอย่างที่พุ่งเข้ามากระตุ้นอารมณ์ เหมือนพวกนักเพาะกายยกดัมเบลล์หนักร้อยกิโลได้เหมือนปุยนุ่น
ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารยิ่งมีปริมาณมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งหลั่งไหลเข้ามารวดเร็วขึ้นเท่าไหร่ ตัวตนของเราจะยิ่งแข็งแกร่ง จิตใจของเราจะยิ่งแข็งกร้าว จนถึงจุดที่จะลืมไปเลยว่าควรใช้เหตุและผล เราจะสามารถลงมือทำสิ่งที่เกินเลยไปอย่างที่ไม่คาดคิด รักมาก เกลียดมาก เพ้อเจ้อและพลุ่งพล่านตลอดเวลา
ในคลาสเรียนการเขียนบทความที่ผมเคยไปเป็นครูสอน ลูกศิษย์คนหนึ่งถามว่า การเขียนบทความแบบของผมจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ได้ไหม ผมตอบไปว่า ไม่แน่ใจ เพราะนักเขียนก็ต้องการถ่ายทอดอารมณ์ลงไปในงานเขียนเช่นกัน แต่ด้วยคนละจุดประสงค์กับการทำคอนเทนต์ออนไลน์
ลูกศิษย์ถามว่า การเขียนได้เปลี่ยนแปลงตัวผมไปอย่างไร ผมตอบว่า มันทำให้ผมกลายเป็นคนโอนอ่อนผ่อนตาม ยิ่งเขียนหนังสือ ยิ่งเป็นคนสบายๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ได้
วันก่อนผมเห็น วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร แฮพเพนนิ่ง เขียนสเตตัสหนึ่งน่าสนใจ เขาบอกว่าคนเป็นนักเขียน คนทำหนังสือกับคนทำคอนเทนต์นั้นแตกต่างกัน และผมก็คิดว่ามันจริงมากๆ
การเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ก หรือทวีตไม่กี่ตัวอักษรในทวิตเตอร์ ทำให้เราเหมือนพูดคนเดียว ยืนตะโกนแหกปากอยู่ท่ามกลางฝูงชน ฉันรักสิ่งนี้ ฉันเกลียดสิ่งนั้น ตะโกนออกไปในความว่างเปล่า เปิดให้ตัวเราเองได้กลายเป็นวัตถุดิบให้คนอื่นแสดงความรักชอบหรือความโกรธเกลียดต่อไปอีกทอดหนึ่ง ซึ่งสำหรับคนในยุคนี้ เชื่อว่านี่เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
สำหรับผม คิดว่ามันคือการที่พวกเรามานั่งเสพอารมณ์ของกันและกันแบบอาหารจานด่วน เหมือนกับการพล็อตกราฟจากจุด A ไปจุด B ระยะขจัดนั้นแสนสั้น พบเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้มาแล้วรีบด่วนสรุปว่ารักหรือเกลียด เสร็จแล้วก็ต้องป่าวประกาศออกไป คนอื่นก็เอาที่เราป่าวประกาศออกไปนั้น เข้าสู่ระยะขจัด จากจุด A ไปจุด B ของเขา เพื่อที่เขาจะรักหรือเกลียดเราไปอีกทอดหนึ่ง
วนเวียนอย่างไม่รู้จบสิ้น อยู่ในโลกของศูนย์และหนึ่งที่วิ่งวนไปมาในอากาศ ในแผงวงจร ที่ไม่มีอะไรเป็นจริงเลยสักอย่าง จนบางทีผมคิดว่าชีวิตของเราในโลกแห่งความจริง น่าจะต้องการเวลาที่ได้ปิดโทรศัพท์ ออฟไลน์ออกจากโลกเสมือน มานั่งคิดนั่งเขียนอะไรเงียบๆ คนเดียว เพื่อให้ทุกอย่างช้าลง
ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ พิจารณา ในที่สุด เราจะค่อยๆ โอนอ่อนผ่อนตาม เข้าใจความคิดของเขา เห็นอกเห็นใจ เข้าไปสวมหมวกใบเดียวกับเขา เข้าไปอยู่ในรองเท้าคู่เดียวกับเขา
สิ่งที่สำคัญมากกว่าความรัก น่าจะเป็นความเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งผมคิดว่าโลกออนไลน์ในตอนนี้กำลังขาดแคลน ในโลกแห่งความจริง เราไม่ได้ต้องการคนที่ออกมาประกาศว่าฉันรักหรือฉันเกลียด เราต้องการคนที่อยู่เงียบๆ นั่งทำงานของตัวเอง และเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โอนอ่อนผ่อนตามความร้อนแรงที่พลุ่งพล่านไปทั่ว
ความรักนั้นตัดแบ่งสิ่งต่างๆ ออกจากกัน ในขณะที่ความเห็นอกเห็นใจ จะผสานรวมสิ่งต่างๆ กลับคืนมา