วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | 4 Years

ทุกๆ ปีตอนเดือนธันวาคม เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่กลิ่นดอกพญาสัตบรรณโชยมาตามลมหนาว มนุษย์เงินเดือนดีใจเพราะมีวันหยุดเยอะๆ เสียงเพลงคริสต์มาสเคล้าคลอในอากาศ เสื้อหนาวสีสันสดใสแขวนโชว์ในร้านรวงแฟชั่น และคุกกี้เนยกระป๋องแดงกองพะเนินในซูเปอร์มาร์เกต เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แม่มีนัดประจำปีกับทางโรงพยาบาล เพื่อไปตรวจการทำงานของเครื่องเพซเมเกอร์

มันคือเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจที่ผ่าตัดฝังเข้าไปไว้ภายในร่างกาย ในเครื่องมีวงจรเซนเซอร์และแบตเตอรี่ เมื่อมันตรวจพบว่าหัวใจเต้นช้าหรืออ่อนแรง ก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นให้ฟื้นกลับคืนมาเต้นต่อไป แม่ติดตั้งเจ้าเครื่องที่ว่านี้มาเกือบยี่สิบปีแล้ว ตั้งแต่หลังวัยทอง เขามีอาการเหนื่อยง่าย แขนขาไม่ค่อยมีแรง และหน้ามืดบ่อยๆ พอไปตรวจร่างกายแล้วเจอความผิดปกติ หมอกับลูกๆ ก็เลยตัดสินใจจับใส่เสียเลย

การนัดหมายให้คนไข้กลับมาปีละครั้ง ก็คือเพื่อมาตรวจสภาพการทำงานและปริมาณไฟที่เหลือในแบตเตอรี่ ในเมืองไทยไม่รู้ว่าคนใส่เครื่องนี้มากแค่ไหน แต่ในห้องตรวจที่ผมพาแม่มาทุกๆ ปี เห็นคนไข้นั่งรอคิวกันแน่นขนัด มีหมอหลายคนนั่งประจำโต๊ะและอุปกรณ์ของตัวเอง นำสายวัดต่างๆ มาวางไว้บนหน้าอกคนไข้ เชื่อมต่อระโยงระยางไว้ตามปลายแขนขา แล้วเริ่มต้นกระบวนการตรวจหัวใจ บนหน้าจอมอนิเตอร์ทันสมัย มีเส้นกราฟสัญญาณชีพจรกระตุกเต้นขึ้นลงเป็นจังหวะ

“เดี๋ยวมันอาจจะวูบๆ นิดนึงนะครับคุณป้า” หมอหันมาบอก ขณะที่กำลังจะกดปุ่มสั่งการจากภายนอก เพื่อทดลองอะไรสักอย่างกับเครื่องเพซเมเกอร์ของแม่

แม่นั่งสงบนิ่ง มองเส้นกราฟบนหน้าจอแกว่งไกวไปมาอย่างไร้ความหมาย แล้วเพียงแป๊บเดียวเครื่องก็กลับมาทำงานตามปกติ

ใช้เวลาตรวจแค่ไม่ถึงสิบนาที หมอถอดสายอุปกรณ์ต่างๆ ออกไป แล้วก็ก้มหน้าก้มตาจดบันทึกขยุกขยิกลงสมุดเวชระเบียน นอกจากเขาแล้ว คงไม่มีใครรู้ว่าเส้นกราฟเหล่านั้นหมายความว่าอะไร

“เอาล่ะครับคุณป้า เรียบร้อยแล้ว เครื่องทำงานปกติดีมาก” เขาปิดสมุดเวชระเบียนเล่มใหญ่หนาหนักอย่างกับสมุดโทรศัพท์ เก่าคร่ำคร่ากระดาษเหลืองกรอบ ในนั้นคงมีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจของแม่ตลอดเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา

แบตเตอรี่ที่ใส่อยู่ในเครื่องเพซเมเกอร์ของแม่ตอนนี้คือก้อนที่สองแล้ว โดยทั่วไปแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานประมาณสิบปี ขึ้นอยู่กับว่ากำลังไฟถูกใช้ไปเร็วแค่ไหน ในบางปี ชีวิตประจำวันของแม่มีกิจกรรมเยอะ ต้องออกจากบ้านไปไหนมาไหนบ่อยๆ เครื่องต้องทำงานหนักขึ้น ไฟแบตก็จะลดระดับลงเร็วกว่าปกติ หมอจะเอ่ยทักว่าปีนี้ไปเที่ยวไหนมา ไปทำอะไรมาบ้าง

การเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งถือเป็นเรื่องใหญ่ เราไม่สามารถเสียบอะแดปเตอร์กับปลั๊กที่บ้านได้เหมือนกับการชาร์จไฟโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ ใช้มีดกรีดแหวกเนื้อหนังเข้าไปเปลี่ยน กว่าจะรอให้แผลสมาน ร่างกายสร้างกล้ามเนื้อและพังผืดขึ้นมาปกคลุมชิ้นส่วนแปลกปลอม ต้องใช้เวลานาน และเต็มไปด้วยความเจ็บปวดทรมาน

“เหลืออีกกี่ปี” แม่ถามขึ้นมา

หมอหัวเราะ บอกว่าส่วนของแบตเตอรี่น่าจะเหลืออีกประมาณสี่ปี

ภายในห้องตรวจเพซเมเกอร์ที่แน่นขนัด แต่ละโต๊ะทำงานของหมอแต่ละคนจะมีเสียงซุบซิบบอกชะตาชีวิตกันประมาณนี้ สองปีนะลุง… ห้าปีนะยาย… เหลืออีกปีเดียวนะป้า…

สำหรับคนส่วนใหญ่คงไม่มีทางรู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง แต่ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ เราสามารถจะโกงความตายและมีอายุขัยยาวนานขึ้นไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีสิ้นสุด ถ้ายอมทนรับความเจ็บปวดจากการผ่าตัด และถ้ายังปรารถนาที่จะให้หัวใจของเราเต้นต่อไป

นางพยาบาลทำบัตรนัดสำหรับปีหน้า เราจะกลับมาที่นี่อีกครั้งในเดือนธันวาคม ผมนึกถึงย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่รับบัตรนัดสำหรับการมาหาหมอวันนี้

เวลาผ่านไปแต่ละปีๆ ไม่มีทางรู้เลยว่าชีวิตในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จหรือตกต่ำล้มเหลวแค่ไหน สุขสมหรือเจ็บปวดอย่างไร

ถ้ารู้ว่ามีเวลาชีวิตเหลืออยู่อีกแค่สี่ปี เราจะทำอะไร เราจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปเรื่อยๆ หรือจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้อย่างมีค่าที่สุด เรามีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร อะไรคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

ผมถามตัวเองแบบนี้ทุกๆ ปี ในตอนเดือนธันวาคม ช่วงเวลาดีๆ ที่กลิ่นดอกพญาสัตบรรณโชยมาตามลมหนาว มนุษย์เงินเดือนดีใจเพราะมีวันหยุดเยอะๆ เสียงเพลงคริสต์มาสเคล้าคลอในอากาศ เสื้อหนาวสีสันสดใสแขวนโชว์ในร้านรวงแฟชั่น คุกกี้เนยกระป๋องแดงกองพะเนินในซูเปอร์มาร์เกต และผมพาแม่มานั่งฟังคำพิพากษาชะตาชีวิตของเขา

สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรมากกว่า