resolution

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | สรุปความสำเร็จแห่งปีและปณิธานปีใหม่

กลายเป็นประเพณีในช่วงใกล้สิ้นปี ที่เพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียจะเขียนบรรยายถึงความสุข ความสำเร็จ ความล้มเหลว บทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้ ความเติบโต การเปลี่ยนผ่าน เป็นการสรุปเรื่องราวชีวิตตลอดปีที่ผ่านมา แล้วก็ประกาศปณิธานสำหรับปีต่อไป ในขณะที่บางคนเขียนไม่เก่ง เฟซบุ๊กเองก็มีฟีเจอร์ที่ช่วยทำสิ่งนี้แทนให้เราได้เล่นกัน เช่น การประมวลภาพถ่ายเรากับเพื่อนๆ ตลอดปีที่ผ่านมา สรุปรวมโพสต์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง หรือมีแอพฯ ที่ช่วยสรุปตัวเลขสถิติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวเรากับผู้อื่น

ความสัมพันธ์ในสังคมเกิดขึ้นจากการที่แต่ละคนนำเรื่องของตัวเองออกมาเล่า เพื่อแลกกับความสัมพันธ์ที่จะได้รับจากผู้อื่น เรื่องเล่าจึงถือเป็นระบบเงินตราที่แท้จริงที่ไหลเวียนอยู่เบื้องหลังสังคม

เรามองชีวิตว่ามีความต่อเนื่องตามตัวเลขปีที่เปลี่ยนผ่าน และตัวตนของเราดำรงอยู่ได้ด้วยการสถิตไว้ในรูปแบบของเรื่องเล่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมในช่วงสิ้นปี เราจึงได้เห็นโพสต์ทำนองนี้มากมายในโซเชียลมีเดีย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมโซเชียลมีเดียจึงดึงดูด เราใช้มันเพื่อประกอบสร้างตัวตน และเฝ้ามองดูตัวเองตลอดเวลา ผ่านเรื่องเล่าที่ใช้ฉากหลังเป็นพื้นที่และเวลาตรงนี้

คนเรารับรู้และทำความเข้าใจโลกรอบตัว ผ่านการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องเล่า แล้วก็แลกเปลี่ยนเรื่องเล่านี้สู่กันและกัน ความสัมพันธ์ในสังคมเกิดขึ้นจากการที่แต่ละคนนำเรื่องของตัวเองออกมาเล่า เพื่อแลกกับความสัมพันธ์ที่จะได้รับจากผู้อื่น เรื่องเล่าจึงถือเป็นระบบเงินตราที่แท้จริงที่ไหลเวียนอยู่เบื้องหลังสังคม เรื่องเล่าล่องลอยปกคลุมห่อหุ้มความสัมพันธ์อยู่ จนบางครั้งเราไม่ได้แค่หยิบเรื่องในชีวิตมาเล่า แต่เราดำเนินชีวิตเพื่อให้มีเรื่องมาเล่า

สเตตัสสรุปความสำเร็จประจำปีเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า คำตอบคือทั้งจริงและไม่จริง มันเป็นเหตุการณ์จริง แต่เป็นการเลือกบางเรื่องและเลือกวิธีการนำเสนอ เมื่อเรารู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่าภายใน ต้องการแสวงหาความเข้าใจจากภายนอกที่มองเข้ามา เราก็จะแต่งเรื่องตัวเองขึ้นมา

ในความเป็นจริง ชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน เต็มไปด้วยสถานการณ์ธรรมดาๆ และส่วนใหญ่มักจะน่าเบื่อ เต็มไปด้วยเหตุการณ์สะเปะสะปะ เกิดขึ้นแบบสุ่ม ไม่มีความหมาย ไม่มีความสอดคล้อง แต่เราตัดเรื่องเหล่านี้ออกไป เลือกเอาเรื่องที่คิดว่าสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินเรื่องเท่านั้นมาใช้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องดีมากๆ หรือไม่ก็แย่สุดๆ ไปเลย

เมื่อเรารู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่าภายใน ต้องการแสวงหาความเข้าใจจากภายนอกที่มองเข้ามา เราก็จะแต่งเรื่องตัวเองขึ้นมา

เราเลือกใช้เรื่องแย่ๆ เป็นอุปสรรคกลางเรื่อง และใช้เรื่องดีๆ เป็นจุดจบท้ายเรื่อง เรียงร้อยมันใหม่ให้เข้ามารวมอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกันที่อ่านแล้วเข้าใจได้ มีความหมาย ต่อเนื่อง และแสดงให้เห็นถึงความคงที่ของตัวตน โดยเลือกหยิบจับเอาปัญหาบางเรื่องขึ้นมาเป็นตัวเปิดเรื่อง แล้วเล่ามันด้วยสไตล์ของบันทึกการเดินทาง ออกค้นหาหนทางแก้ไขมัน เผชิญอุปสรรคความเหนื่อยยากนานา เร้าอารมณ์ด้วยช่วงจังหวะบีบคั้น มีดราม่าหรือมีแอ็กชัน ก่อนที่จะตกลงสู่ก้นบึ้งของความล้มเหลวที่น่าสะพรึงกลัว แล้วในท้ายที่สุด เราก็จะฟื้นกลับคืนลุกขึ้นหยัดยืนได้อีกครั้ง คราวนี้แข็งแกร่งและเก่งกล้ากว่าเดิม และสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้

ลักษณะของสเตตัสสรุปวันสิ้นปี มักจะมีโครงเรื่องวนเวียนแบบนี้ และถ้ามองลงไปในรายละเอียดอีกนิดถึงธีมหรือประเด็นที่เสนอ เราจะสามารถมองเห็นลักษณะคุณธรรมที่ผู้เขียนยึดถือ เช่น

การเล่าประสบการณ์ยากลำบากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งภายใน คล้ายกับโครงเรื่องการหัดว่ายน้ำในวัยเด็ก ประมาณว่าเคยโดนพ่อจับโยนลงน้ำ แล้วเราต้องดิ้นรนตะเกียกตะกาย ใช้ความสามารถของตัวเองจนรอดมาได้ แล้วก็ว่ายน้ำเป็นในที่สุด ตัวอย่างโพสต์สรุปวันสิ้นปีในธีมนี้ก็จะเป็นไปในลักษณะที่เราตกงาน เปลี่ยนงาน แล้วต้องลำบากฝ่าฟัน ดิ้นรนจนกระทั่งประสบความสำเร็จกับงานใหม่

บางคนที่สนใจเรื่องทางจิตวิญญาณ ธรรมะ การพัฒนาตนเอง มักจะชอบเล่าเรื่องที่มีธีมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่าน การเติบโต การเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนฝูงใหม่ๆ และการที่ตัวเองแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ออกจากกรอบหรือข้อจำกัดเดิม โดยเลือกและตัดสินใจอย่างอิสระ จนกระทั่งเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะใหม่

 เราเล่าเรื่องเหล่านี้เพื่อบอกคนอื่นว่าเพราะอะไรเราจึงกลายเป็นคนอย่างในวันนี้ และเพื่อบอกว่าเราในวันนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรในปีหน้า

ในขณะที่คนที่ต้องการแสดงออกถึงความใจบุญ ใจกุศล มักจะเล่าเรื่องที่มีธีมเกี่ยวกับการไถ่บาป การเปลี่ยนแปลงจากคนเลว เคยทำสิ่งชั่วร้าย เคยคิดในทางที่ผิดเมื่อตอนต้นปี แต่มาถึงตอนนี้ กำลังจะก้าวสู่ปีใหม่ เขาได้กลับใจกลายเป็นคนดี คิดบวก หรืออะไรทำนองนี้

คนอายุน้อยๆ มีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน การผจญภัยไปในสิ่งที่แปลกใหม่ ในขณะที่คนอายุมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องความคงที่ ยืนหยัด และยืนยันว่าตัวเองตัดสินใจเลือกทำอะไร เพื่อนำไปสู่ผลอย่างไรที่แน่ชัด

ทั้งหมดทั้งปวง เราเล่าเรื่องเหล่านี้เพื่อบอกคนอื่นว่าเพราะอะไรเราจึงกลายเป็นคนอย่างในวันนี้ และเพื่อบอกว่าเราในวันนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรในปีหน้า เรื่องเล่ามีเส้นทางของมัน เส้นทางประกอบด้วยทิศทางและเวลา ทิศทางที่เราดำเนินมาและกำลังจะก้าวไป เวลาที่ผ่านมาและเวลาต่อจากนี้ไป เส้นทางนี้จะเป็นสิ่งกำหนดตัวของเรา และเรื่องเล่าเหล่านี้จะคอยกำกับชีวิตที่กำลังจะดำเนินต่อไป

ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลช่วยให้เราสามารถปรุงแต่ง ให้เห็นว่าเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง และนำไปสู่อีกหลายๆ เหตุการณ์ที่มีรูปแบบสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นถึงความคงที่ ความต่อเนื่องของตัวตน และเรื่องเล่ามีประเด็นให้คนอ่านหรือคนฟังหยิบจับ

เรื่องเล่าส่วนใหญ่มีระบบเหตุผลที่ตายตัว มีโครงเรื่องเหมือนกัน และไม่อาจจะไม่สามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับชีวิตของทุกคน

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีทักษะในการเล่า จะมองว่าชีวิตฉันไม่มีอะไรน่าสนใจ แค่เรียน สอบ จบออกมาทำงาน มีครอบครัว แล้วก็แก่ตายไป ซึ่งถ้ามองกันดีๆ แล้วนั่นก็อาจจะเป็นเรื่องเล่าตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต

เรื่องเล่าส่วนใหญ่จึงเป็นไปตามสูตรประมาณว่า ต้นปีเป็นแบบหนึ่ง พอปลายปีเปลี่ยนผ่านไปเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยมีสูตรการดำเนินเรื่องแบบ Hero’s Journey หรือการเดินทางแสวงหาของวีรบุรุษ ในขณะที่กิจวัตรประจำวันของเราส่วนใหญ่ตามความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นไปตามสูตรเรื่องเล่านี้

เราได้รับอิทธิพลมาจากหนังฮอลลีวูด และหนังสือนิยายเบสต์เซลเลอร์ รวมไปถึงประวัติชีวิตคนดัง คนที่ประสบความสำเร็จ มีรูปแบบการเล่าที่ซ้ำซาก แบบชุดคุณธรรมแบบอเมริกัน ที่มองหาผู้เล่าที่สามารถฟื้นคืนจากความทุกข์ยากลำบาก ไถ่บาป พลิกฟื้น และก้าวขึ้นสู่ชนชั้นสูง

เรื่องเล่าจำนวนมหาศาลที่เราเขียนแชร์กัน และวนเวียนอยู่ทั่วไปในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทำให้เกิดความคาดหวังต่อความสุขความสำเร็จ มันอาจจะเป็นจริงและไม่เป็นจริงก็ได้ เพียงแต่ว่าคนที่เขียนมันขึ้นมา มักจะไม่ทันฉุกคิดว่าเรื่องเล่าส่วนใหญ่มีระบบเหตุผลที่ตายตัว มีโครงเรื่องเหมือนกัน และไม่อาจจะไม่สามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับชีวิตของทุกคน

หมายเหตุ : แนวคิดบางส่วนมาจากบทความ Life’s Stories: How you arrange the plot points of your life into a narrative can shape who you are—and is a fundamental part of being human. (theatlantic.com)