วัฒนธรรมแห่งความกลัว

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | ลึกลงไปสู่ต้นเหตุแห่งความรุนแรงของมนุษยชาติคือ ‘วัฒนธรรมแห่งความกลัว’

ทุกครั้งที่มีข่าวการกราดยิงในโรงเรียนมัธยมที่อเมริกา ผมจะนึกถึงหนังสารคดี Bowling for Columbine ของ ไมเคิล มัวร์

วัฒนธรรมแห่งความกลัว

     คนส่วนใหญ่ชอบโทษความรุนแรงในวัฒนธรรมป๊อปทั้งหลาย หนัง ทีวี เพลง เกม ข่าว แฟชั่นต่างๆ ฯลฯ วัยรุ่นก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาจากสิ่งเหล่านี้ เมื่อซึมซับความรุนแรงเอาไว้จนเคยชิน ในที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นเหตุร้ายตามข่าว

     ไมเคิล มัวร์ ตั้งคำถามที่ท้าทายว่า ในขณะที่พวกเราโทษนั่นโทษนี่ไปเรื่อย แล้วทำไมเราไม่โทษความรุนแรงในกีฬาโบว์ลิงด้วยล่ะ เพราะตอนเช้าของวันเกิดเหตุ อิริก แฮร์ริส และ ดิแลน คลีโบลด์ เพิ่งไปเข้าเรียนวิชาพลศึกษาที่สอนการโยนโบว์ลิง เสร็จแล้วตอนบ่าย ทั้งสองก็เอาปืนออกมาก่อเหตุกราดยิงเพื่อนๆ

     เมื่อสิบปีก่อนตอนที่เกิดเหตุกราดยิงที่เวอร์จิเนียโปลีเทคนิค คนร้ายเป็นเด็กนักเรียนเชื้อชาติเกาหลี ก็มีการวิเคราะห์กันไปว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากหนังเกาหลีเรื่อง Oldboy เพราะหลังจากเหตุการณ์ ตำรวจไปค้นเจอรูปถ่ายของเขาถือค้อนแล้วเงื้อมือจะฟาด และอีกรูปเป็นภาพที่เขาถือปืนจ่อขมับตัวเอง ซึ่งเป็นท่าทางเหมือนทั้งพระเอกและผู้ร้ายในหนังเรื่องนั้น

     ในขณะที่คนทั้งโลกก็เปิดรับวัฒนธรรมป๊อปที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเหมือนๆ กัน แต่ทำไมเหตุการณ์ร้ายรูปแบบนี้จึงเกิดขึ้นบ่อยในอเมริกา แปลว่าที่นี่น่าจะมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ที่บ่มเพาะสิ่งนี้ขึ้นมาหรือเปล่า

     ไมเคิล มัวร์ บอกว่า ถ้าจะโทษเรื่องความรุนแรง ก็ต้องโทษกีฬาโบว์ลิงด้วย

     หรือไม่เช่นนั้นเราก็ต้องขุดลงไปให้ถึงรากฐานที่ลึกกว่านั้น และเขาเสนอคำตอบที่พาเราไปไกลมากๆ ว่ามันคือ ‘วัฒนธรรมแห่งความกลัว’

วัฒนธรรมแห่งความกลัว

     เขาไปสัมภาษณ์ มาริลีน แมนสัน นักดนตรีร็อกที่แต่งหน้าทาปากเหมือนภูตผีปีศาจ เป็นขวัญใจวัยรุ่นในซับคัลเจอร์แนวพังก์และโกธิค เวลาวัยรุ่นสร้างปัญหาอะไรขึ้นมาในสังคม คนอย่าง มาริลีน แมนสัน นี่แหละที่จะตกเป็นเป้าแรก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี แต่งตัวน่ากลัว ร้องเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและความตาย

     มาริลีน แมนสัน บอกว่า

     “วันๆ คุณดูข่าว คุณถูกอัดฉีดความกลัวเข้ามาจนเต็มตัว มีน้ำท่วมที่นั่น มีเอดส์ที่นี่ มีคดีฆาตกรรม เสร็จปั๊บก็ตัดเข้าโฆษณา ซื้อรถคันใหม่สิ ซื้อยาสีฟันยี่ห้อนี้สิ เพราะถ้าคุณปากเหม็นก็จะไม่ใครอยากคุยกับคุณ ถ้าคุณมีสิว สาวๆ ก็จะไม่มาอึ๊บกับคุณ ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือความกลัวและการบริโภค พื้นฐานของปัญหาทั้งหมดคือความคิดที่ว่า ต้องทำให้ทุกคนตกอยู่ในความกลัวเพื่อที่เขาจะได้บริโภค”

วัฒนธรรมแห่งความกลัว

     Bowling for Columbine เป็นหนังที่ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายเสรีนิยมในอเมริกา นำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์นิยม ด้วยความเชื่อว่ารัฐบาลฝ่ายขวาชอบมีนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างภายกลัวให้เกิดขึ้นภายในประเทศ เช่น การไปสร้างศัตรูภายนอกประเทศ เพิ่มกำลังทหาร เพิ่มงบประมาณซื้ออาวุธ กีดกันชาวต่างชาติ และมาจนถึงขั้นที่จะล้อมรั้วประเทศ

     การสร้างความตึงเครียดเรื่องสงคราม การก่อการร้าย ปัญหาชนกลุ่มน้อย ฯลฯ ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และรักษาคะแนนเสียงฝ่ายตัวเอง อเมริกาจึงกลายเป็นสังคมแห่งความกลัว และความกลัวเป็นพลังผลักดันที่แรงกล้าจากภายใน

     สถานการณ์และบรรยากาศแบบนี้ก็คล้ายๆ กับในบ้านเราทุกวันนี้ ยังพอมีใครจำได้ไหมว่าการตรวจกระเป๋าตรงทางเข้ารถไฟฟ้ากับศูนย์การค้าต่างๆ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน?

     เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนวันสิ้นปี หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนาน จู่ๆ ก็มีเหตุการณ์วางระเบิดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตามมาด้วยเหตุการณ์วางระเบิดอีกหลายจุดในกรุงเทพฯ และอีกหลายจุดทางภาคใต้ พร้อมกับสีสเปรย์ฉีดพ่นเป็นตัวอักษรหรือสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง ซึ่งก็แน่นอนว่าเหตุการณ์ผ่านมาจนทุกคนลืมไปหมด

     จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีรู้ว่าเป็นฝีมือของใคร แต่ระบบคิดของผู้คนในประเทศนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลนับตั้งแต่วันนั้น

     เป็นเรื่องประหลาดมากๆ ทุกครั้งที่เดินเข้าสถานีรถไฟฟ้า ก็เป็นอันรู้กัน และเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า ต้องเปิดกระเป๋าเป้แล้วให้ยามเอาไฟฉายส่องๆ แบบขอไปที เป็นการกระทำแบบลอยๆ เป็นแค่สัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวันว่าเราต้องทำไป โดยไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยอะไรเลย

     ความกลัวทำงานกับจิตใจของเราแบบนี้ ส่วนใหญ่เราไม่ทันสังเกตและมองข้าม หลงลืม และไม่เคยพูดถึงที่มาจริงๆ มันทำให้เราละทิ้งเหตุผลและสามัญสำนึก และอย่างน้อยที่สุด ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ระเบิดขึ้นมา ความเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมต่างๆ ก็ชะลอหรือถูกหยุดยั้งไปชั่วขณะ ทุกคนเซื่องและเชื่อง เปิดกระเป๋าให้ไฟฉายส่องไปแบบนั้น

วัฒนธรรมแห่งความกลัว

     สังคมที่ตกอยู่ในความกลัวจะสะสมพลังงานศักย์ไว้มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่มันระเบิดออกมาเป็นลักษณะอาการต่างๆ สิ่งที่เห็นชัดก็คือมันทำให้อเมริกาคลั่งปืน มีคนครอบครองปืนเยอะกว่าชาติอื่น ด้วยเหตุผลที่ทุกคนอ้างว่าเพื่อใช้ป้องกันตัว และเพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์ร้ายแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม อเมริกามีเหตุการณ์ความรุนแรงจากปืนบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

     เหมือนในหนังเรื่อง Panic Room ของ เดวิด ฟินเชอร์ ยิ่งป้องกันแน่นหนาเท่าไหร่ กลับยิ่งนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น โจดี้ ฟอสเตอร์ แสดงเป็นเศรษฐีผู้สร้างห้องกันภัยเอาไว้เก็บทรัพย์สินล้ำค่ามากมาย แต่ยิ่งห้องนั้นเจาะเข้ายากเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำภัยร้ายเข้ามาสู่เธอและครอบครัวมากเท่านั้น

     เหมือนกับในหนังสงครามเรือดำน้ำหลายเรื่อง ที่แสดงลักษณะอาการของความหวาดระแวง ความกลัว ความไม่รู้ เมื่อทหารอยู่ในเรือดำน้ำที่ถูกตัดขาดการสื่อสารจากโลกภายนอก และคิดว่าต้องรีบตัดสินใจเป็นฝ่ายกดปุ่มปล่อยจรวดหัวรบนิวเคลียร์ก่อน เพื่อยุติความรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างนอกนั่นโดยฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองนั่นแหละที่เป็นฝ่ายลงมือกระทำความรุนแรงก่อน

     ความเป็นชาติ บางครั้งก็เกิดจากการเขียนตำนานประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศัตรูรุกรานผู้โหดร้าย และการลุกขึ้นสู้อย่างห้าวหาญของบรรพบุรุษ ความคิดเกี่ยวกับตัวเอง พวกเดียวกัน ฝ่ายเดียวกัน ส่วนใหญ่นั่นเกิดขึ้นมาจากความกลัว

     เราก่อสร้างตัวตนในจินตนาการขึ้นมาจากศัตรูภายนอกในจินตนาการ เด็กวัยรุ่นก็สร้างตัวตนขึ้นมาด้วยวิธีเดียวกันนี้ เขาจินตนาการถึงโลกอันโหดร้ายข้างนอกนั่น ผู้ร้ายในจินตนาการรอบตัว และการลุกขึ้นมาต่อสู้ ทำตัวให้โหดร้ายรุนแรงกว่า

     ความกลัวคือรากของความรุนแรง การกล่าวโทษความรุนแรงที่เห็นกันผิวเผิน เป็นแค่การคุยถึงปัญหาในระดับยอดภูเขาน้ำแข็ง ทั้งที่ภายใต้ทะเลนั้นมืดมนไปด้วยความกลัว และสิ่งที่จะยุติความกลัวไม่ใช่การยิ่งปิดตัวเองไว้ ล้อมรั้วแน่นหนา แล้วก็คิดว่านั่นคือความปลอดภัย แต่คือความรู้ การเปิดกว้างออกรับสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

 

     ไมเคิล มัวร์ ถามมาริลีน แมนสัน ว่า ถ้าเด็กนักเรียนโคลัมไบน์และผู้คนที่นั่นมาอยู่ที่นี่ ตอนนี้ คุณอยากพูดอะไรกับพวกเขา

     มาริลีน แมนสัน ตอบว่า ผมจะไม่พูดอะไรสักคำ ผมจะรับฟังพวกเขาพูด ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครทำ

 

     ก่อนที่ความกลัวจะสะสมตัวไปจนกลายเป็นความรุนแรง สิ่งที่เราช่วยกันทำได้คือการรับฟังกันและกัน