หนังสารคดีเรื่อง Steve Jobs: The Lost Interview มาเข้าฉายบ้านเรา ในจังหวะใกล้ๆ กับที่บริษัทแอปเปิ้ลกำลังจะเปิดตัวไอโฟน 8 พอดี ผมได้ดูสารคดีเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อสี่ห้าปีก่อน ระหว่างอยู่บนเครื่องบินเดินทางไปดูงานด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ประเทศไต้หวัน และก็รู้สึกอินกับประเด็นนี้มากๆ เมื่อเห็นแนวโน้มเทคโนโลยีในช่วงนั้นว่าไอเดียต่างๆ ของ Steve Jobs กำลังครอบงำโลกทั้งใบ และเขมือบกลืนทุกสิ่งทุกอย่างมาไว้ในตัวมัน
Steve Jobs: The Lost Interview สร้างจากเทปวิดีโอการสัมภาษณ์ ที่ต้นฉบับสาบสูญไประหว่างการจัดส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยถ่ายทำไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ตอนนั้นเป็นยุคที่ สตีฟ จ็อบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเองไปแล้ว และหันไปเปิดบริษัท NeXT และ Pixar
เวลาผ่านไปเนิ่นนานจนทุกคนลืมไปหมดแล้ว จนกระทั่งหลังจากจ็อบส์เสียชีวิตลงในปี 2011 เผอิญมีทีมงานคนหนึ่งไปเจอม้วนเทปก็อบปี้เก็บไว้ในโรงรถที่บ้าน จึงนำกลับมาตัดต่อและเผยแพร่อีกครั้งในปี 2012
รายละเอียดเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตัวเขากับบริษัทแอปเปิ้ล ถ้าใครได้อ่านหนังสือของ สตีฟ วอซเนียก เพื่อนสนิทที่สุดคนหนึ่งของจ็อบส์ ที่ร่วมกันสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ออกขายเป็นเครื่องแรก เรื่อง iWoz: Computer Geek to Cult Icon คู่ขนานกันไปด้วย ก็จะได้เห็นเรื่องราวทั้งหมดจากอีกหนึ่งมุมมอง และจะรู้ว่าจ็อบส์ก็เขี้ยวกับคนอื่นไม่น้อย เขาไม่ใช่เพื่อนหรือหัวหน้าที่ดีที่สุด
แต่เมื่อเทียบกับใน The Lost Interview ใครที่ได้ดูก็จะต้องคิดตรงกันว่าเขาเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เฉียบคมที่สุด เขาให้เหตุผลว่าทำไมบริษัทอย่างแอปเปิ้ลจึงต้องมีอยู่ มีหลายอย่างที่เขาให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปี 1995 ยังคงเป็นจริงถึงวันที่ 2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ จอห์น สกัลลี่ และ บิลล์ เกตส์
สกัลลี่ถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายตลอดกาลในตำนานของจ็อบส์ เพราะเขาเป็นคนที่เสนอให้บอร์ดผู้บริหารบีบจ็อบส์ออกจากบริษัท จ็อบส์จึงใส่ไม่ยั้งในบทสัมภาษณ์นั้นว่า สกัลลี่ไม่ใช่คนที่ใส่ใจกับสินค้า แต่เป็นนักขายที่สนใจแต่เรื่องผลงาน เพราะโดยธรรมชาติของสกัลลี่นั้นเคยทำงานในบริษัทน้ำอัดลมมาก่อน และในธุรกิจน้ำอัดลมก็ไม่ต้องมีการปรับปรุงสินค้าหรือออกสินค้าใหม่ตลอดเวลา
บิลล์ เกตส์ ถูกพูดถึงในระดับที่เกรงใจมากกว่านั้นหน่อย จ็อบส์บอกว่าไมโครซอฟท์เป็นวัตถุที่โคจรอยู่รอบๆ ไอบีเอ็ม เมื่อคอมพิวเตอร์พีซีของไอบีเอ็มเติบโตขึ้น บิลล์ก็เพียงแค่สามารถฉวยโอกาสนั้นมาเพื่อประโยชน์ต่อตัวเอง โดยที่ไม่ได้สร้างสินค้าที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา
ในขณะที่บริษัทแอปเปิ้ลตามแนวทางของจ็อบส์เน้นไปที่การสร้างสินค้า เขานำคนที่เก่งที่สุดมารวมทีมเพื่อระดมสมอง เขาเปรียบเทียบไอเดียกับการนำก้อนหินก้อนกรวดมาใส่เครื่องโม่ที่หมุนไปเรื่อยๆ ปล่อยให้หินกรวดภายในนั้นเสียดสี กระทบกระทั่ง ขัดเกลาเหลี่ยมมุมจนกระทั่งหินกรวดนั้นเงางามวาววับ ไอเดียหลากหลายจากทีมงานทุกคนก็ต้องได้รับการขัดเกลาแบบนั้นเช่นกัน
โมเมนต์ที่ดีที่สุดอยู่ตรงที่ผู้สัมภาษณ์ถามว่า อะไรที่ทำให้จ็อบส์มีแพสชั่นกับเรื่องเทคโนโลยีมากขนาดนี้ จ็อบส์ตอบว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักสร้างและใช้เครื่องมือ เคยมีนักวิทยาศาสตร์สำรวจการเคลื่อนไหวของสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบว่าสัตว์ชนิดใดเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คำตอบคือนกแร้งตัวใหญ่
แต่เมื่อมนุษย์สร้างและใช้จักรยาน การเคลื่อนไหวบนอานจักรยานมีประสิทธิภาพสูงกว่านกแร้งที่บินโผอยู่บนท้องฟ้าหลายเท่า นั่นคือคำตอบว่าทำไมเทคโนโลยีจึงน่าหลงใหลนัก เทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นมาและนำมาใช้งาน นำพาให้เราไปได้ไกลขึ้น เร็วขึ้น
ในช่วงท้าย ผู้สัมภาษณ์ถามจ็อบส์ว่าเขาเป็นคนแบบไหน ระหว่างเด็กเนิร์ดกับฮิปปี้ เขาตอบว่าถ้าจะต้องเลือกระหว่างคนสองแบบนี้ เขาน่าจะเป็นฮิปปี้ เขาคิดต่ออีกสักพัก แล้วตอบเพิ่มเติมว่าบรรดาผู้คนที่เขาทำงานด้วยก็เป็นฮิปปี้เหมือนกัน ความเป็นฮิปปี้คือความรู้สึกอิสระและเสรีภาพ เป็นความรุ้สึกพิเศษบางอย่างภายในใจของผู้คนในยุคสมัยของเขา
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือการที่จ็อบส์สามารถรวบรวมคนแบบนี้มาทำให้กลายเป็นองค์กรเทคโนโลยีขนาดใหญ่ มุ่งเดินหน้าไปในทางเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะต้องกระทบกระทั่งกันเพื่อการขัดเกลาเหมือนกับกรวดหิน บทสัมภาษณ์ที่สาบสูญนี้ทำให้ผมรู้ว่าองค์กรที่ดีจะต้องเริ่มต้นด้วยเหตุผลว่าทำไมองค์กรนี้จึงต้องมีอยู่
ถ้าเพียงเพื่อทำกำไรให้สูง ปันผลให้ถูกใจ หรือเพียงเพื่อโคจรอยู่รอบๆ สิ่งอื่นที่สำคัญกว่า คุณจะไม่สามารถดึงดูดผู้คนหนุ่มสาวชั้นเยี่ยมให้มาร่วมงานด้วยได้ เพราะพวกเขาก็ต้องการเหตุผลในการทำงานของตัวเอง ว่าจะต้องเติมเต็มบางสิ่งบางอย่างภายในใจเช่นกัน
เช่นเดียวกับกับลูกค้า พวกเขาต้องการเหตุผลว่าทำไมจะต้องซื้อมือถือรุ่นนี้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่เพราะราคาถูกที่สุด หรือคุณสมบัติสูงที่สุด หน้าจอใหญ่สุด กล้องชัดสุด ฯลฯ พวกเขาต้องการบางสิ่งบางอย่างที่เติมเต็มภายในใจเช่นกัน
ในท้องตลาดเรามีสินค้ามากมายมาแข่งขันประชันกัน แต่เราต้องการความรู้สึกพิเศษบางอย่างที่เหนือกว่านั้น เช่นเดียวกับการทำงาน เรามีเส้นทางอาชีพให้เดินไปข้างหน้าหลายทาง เราเลือกงานที่ให้เหตุผลที่ดีที่สุดในการมีชีวิตอยู่