Time

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | The Perception of Time Pressure

รถพยาบาลเปิดหวอเสียงดังมาแต่ไกล ผมนั่งกินข้าวอยู่ร้านริมถนน มองไปบนถนนพิบูลสงครามที่การจราจรติดขัด รถขยับกันไปได้แบบขยึกขยัก

     ตั้งแต่หลังปีใหม่มาสังเกตว่าถนนนี้รถติดมากขึ้นไปอีก วันไหนที่ออกจากซอยบ้านมาแล้วเจอรถติดหนักๆ ผมมักจะแวะพักกินข้าวแกงก่อนเพื่อฆ่าเวลา รออีกสักครึ่งชั่วโมงให้ปริมาณรถบนถนนคลี่คลาย

     มองออกไปจากร้านข้าว บนท้องถนนมีผู้คนอีกจำนวนมหาศาลยังต้องนั่งอยู่หลังพวงมาลัย พวกเขาคงไม่มีทางเลือกมากนัก จึงจำเป็นต้องรีบเร่งไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด

     คนขับรถพยาบาลประกาศเสียงออกโทรโข่งขอให้รถทุกคันช่วยให้ทาง ซึ่งส่วนใหญ่ดูให้ความร่วมมือดี เปิดไฟเลี้ยวซ้ายเพื่อพยายามเข้าเลนซ้าย ในขณะที่รถเลนซ้ายอยู่แล้วก็กำลังติดขัดไปไหนไม่ได้เหมือนกัน ก็เลยไม่รู้ว่าจะเปิดทางให้ได้อย่างไร สถานการณ์ดูอิหลักอิเหลื่อ และรถพยาบาลก็ยังคงไปไหนไม่ได้อยู่ตรงนั้น

     ผมนึกถึงคำเทศนาของพระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ แห่งวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ท่านเดินทางมาประเทศไทยและแสดงธรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งท่านยกตัวอย่างถึงการวิจัยทางสังคมของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่ทำไว้ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 70 เพื่อสำรวจว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     โดยอ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิลพระคริสตธรรมใหม่ ในบทที่เอ่ยถึงตำนานชาวซามาริตัน หรือชาวเมืองซะมาเรียผู้ใจดี ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญชื่นชมว่าชอบช่วยเหลือผู้คน แต่ในบางเหตุการณ์พวกเขาพบเห็นคนตกทุกข์ได้ยากแล้วกลับเมินเฉยไป ในคัมภีร์บอกว่าอาจจะเป็นเพราะพวกเขากำลังรีบมุ่งไปที่แห่งใด

     นักวิจัยสร้างการทดลอง โดยสร้างสถานการณ์ให้มีนักแสดงมาแกล้งนอนป่วยอยู่ข้างทาง ระหว่างอาคารที่นักศึกษากลุ่มทดลองจะต้องเดินทางผ่าน โดยพวกเขาได้รับคำสั่งจากอาจารย์แตกต่างกัน 3 แบบ นักศึกษากลุ่มแรก อาจารย์บอกว่าพวกคุณสายแล้ว ให้รีบเดินทางมาพบโดยด่วน กลุ่มที่สอง บอกว่าสถานที่พร้อมแล้ว ถ้าพวกคุณพร้อมก็มาพบผมได้เลย กลุ่มที่สาม บอกว่าสถานที่เกือบจะเรียบร้อยแล้ว ถ้าพวกคุณมาถึงก่อน กรุณารอผมแป๊บนึง

     ผลการทดลองออกมาว่าร้อยละ 10 ของกลุ่มที่เร่งรีบ ยอมหยุดมาช่วยเหลือคน ร้อยละ 45 ของกลุ่มรีบปานกลาง ยอมหยุดมาช่วยเหลือคน และร้อยละ 63 ของกลุ่มไม่รีบร้อน จะช่วยเหลือคน

     สอดคล้องกับคำสอนในคัมภีร์ว่า เมื่อคนอยู่ในอาการเร่งรีบ มีนัดหมายรออยู่ หรือมีจุดหมายให้เดินทางไป ในระหว่างทางนั้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นน้อยลง จากปกติที่เราต่างก็ได้รับการสั่งสอนขัดเกลามาให้เป็นคนดีมีศีลธรรมเหมือนกัน พอๆ กัน

     นักวิจัยของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเรียกสิ่งนี้ว่า The perception of time pressure เมื่อเรารับรู้พื้นที่และเวลาจากโลกภายนอกว่าอย่างไร ก็จะมีผลต่อจิตใจภายในของเราแบบนั้น พระปสันโนสอนว่า perception คือการทำงานร่วมกันระหว่างความจำและการให้ความหมาย เมื่อเรามีประสบการณ์อะไรเข้ามากระทบ เราก็รับรู้มันตามความจำและความสำคัญมั่นหมาย ความทุกข์ร้อนในใจหรือความสุขสงบในใจ ก็เกิดขึ้นจากการรับรู้เช่นนี้

     การทดลองทางสังคมศาสตร์ก็อธิบายคำสอนทางศาสนาได้ชัดเจน เมื่อเวลาจำกัด ความใจดีก็ลดลง ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องธรรมชาติและแสดงให้เห็นในทุกรูปแบบ ไม่น่าแปลกใจเมื่อเราอยู่บนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน เราส่วนใหญ่จึงใจร้ายกว่าปกติ

     มีจุดหมายให้มุ่งไป มีนัดหมายรออยู่ มีเวลาจำกัด ในพื้นที่ห้องโดยสารอันคับแคบ ระยะทางอีกยาวไกล แต่ความเร็วเกือบจะเท่ากับศูนย์ ความรู้สึกต่อพื้นที่และเวลามีผลต่อจิตใจของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

     อีกเกือบชั่วโมง หลังจากฝ่าการจราจรจากบ้านมาถึงออฟฟิศ พอจอดรถเสร็จปุ๊บ ก็ได้ยินเสียงโครมที่หน้าตึก มองออกไปเห็นมอเตอร์ไซค์สองคันชนกันล้มระเนระนาด คนขับทั้งสองนั่งกองร้องโอยๆ อยู่บนพื้นถนน ผู้คนเดินผ่านไปมาเริ่มเข้าไปมุงดูเหตุการณ์หนาแน่น

     ผมทอดถอนหายใจ นึกรู้สึกโชคดีที่เราเลี้ยวเข้าตึกมาได้ก่อน ไม่เช่นนั้นก็คงต้องรถติดอยู่ข้างนอกนั้นอีกนาน หวังว่าจะมีใครสักคนช่วยโทรศัพท์แจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลมาให้พวกเขา

     แล้วเดินขึ้นตึกไป ช่วงสายวันนี้มีนัดประชุม และตอนบ่ายก็มีนัดหมายส่งงานเขียนอีกหลายชิ้น…