เพื่อน

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เคยมีคนบอกว่า เพื่อนแท้หาได้แต่ในวัยเรียน และผมคิดว่ามันจริง

เคยมีคนบอกว่า เพื่อนแท้หาได้แต่ในวัยเรียน และผมคิดว่ามันจริง…

ไม่ใช่เหตุผลว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ หรือเรื่องความไม่จริงใจอะไรทำนองนั้น เพราะมนุษย์เห็นแก่ตัวอยู่แล้ว และทุกโครงสร้างความสัมพันธ์ย่อมต้องมีการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนของผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น อย่างน้อยที่สุด ตอนเด็กๆ ที่โรงเรียน เราย่อมรู้ว่าเพื่อนคนไหนเรียนเก่ง หรือเพื่อนคนไหนมีนิสัย มีรสนิยมไปได้ด้วยกันกับเรา

     ความเป็นเพื่อนจึงน่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติลึกๆ ภายในจิตใจมากกว่า และมันเป็นไปตามเงื่อนไขขอบเขตตามธรรมชาติของสมอง

     คุณเคยได้ยินเรื่องตัวเลขของดันบาร์ (Dunbar’s number) ไหม? ที่เขาบอกว่าสมองของมนุษย์เรารองรับเพื่อนได้ประมาณ 150 คนเท่านั้น ถ้ามากเกินไปกว่านี้ เราจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพได้ ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อลองค้นกูเกิลดูดีๆ ยังมีความคิดเห็นอีกมากมายที่โต้แย้งคอนเซ็ปต์นี้ และมันคงจะไม่ใช่ตัวเลข 150 คนเป๊ะๆ หรอก อาจจะมากหรือน้อยกว่า แต่ผมคิดว่าคอนเซ็ปต์นี้มีส่วนจริงอยู่มาก

     โรบิน ดันบาร์ เป็นนักมานุษยวิทยา เขาศึกษาการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของสัตว์ประเภทลิงและมนุษย์ แล้วพบว่าจำนวนประชากรในฝูง หรือชนเผ่า หรือในชุมชนหนึ่งๆ จะมีขีดจำกัดตามระดับความสามารถของสมอง ลิงก็มีจำนวนสมาชิกในกลุ่มน้อยกว่าคนเราที่มีสมองใหญ่กว่า ซับซ้อนกว่า ในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เราจำเป็นต้องใช้พลังสมองในการประมวลผลเยอะมาก

     ชีวิตวัยเด็กที่ยังโลกแคบอยู่ มีแค่คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมห้องเรียนอนุบาล หรือประถม เราจึงผูกสายสัมพันธ์กับญาติและเพื่อนวัยเรียนได้ง่ายกว่า สบายใจกว่า สำหรับประชากรรุ่นเกิดล้านอย่างผม ห้องเรียนอนุบาลมีนักเรียนมากถึงสามสิบกว่าคน ห้องเรียนประถมมีนักเรียนมากถึงหกสิบคน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับตัวและคบหา แต่อย่างน้อยที่สุด เราทุกคนตอนนั้นก็ถูกบังคับให้ต้องไปโรงเรียนทุกวัน จำกัดวงเพื่อนประจำชั้นให้เราต้องพบเจอหน้าเจอตากันกับคนหลายสิบคนนี้ไปอีกหลายปี อย่างน้อยก็หกปีสำหรับชั้นประถม และอีกหกปีสำหรับมัธยม

     ชีวิตวัยรุ่นนั้นโหดกว่า เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องเจอเพื่อนร่วมคณะ ทั้งร่วมรุ่นและรุ่นพี่รุ่นน้อง รวมกันแล้วมากกว่าสามสี่ร้อยคนแน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปยืนอยู่บนสนามหญ้าท่ามกลางหมู่ตึกของคณะ เพื่อเปิดตัวเองออกไปทำความรู้จักกับทุกคน ธรรมชาติของสมองก็เลยจัดการแก้ปัญหานี้ ด้วยการให้เราสร้างวงเพื่อนสนิทแค่ไม่กี่คนขึ้นมา อาจจะห้าหรือหกคน หรือมากกว่านั้นได้นิดหน่อย ที่จะเกาะกลุ่มกันเดินไปเรียน ไปนั่งกินข้าวเที่ยง กลับบ้านตอนเย็นพร้อมกัน วันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอมก็ชวนกันไปไหนมาไหนได้อย่างสนิทใจ

     กล่าวอย่างถึงที่สุด ผมคิดว่าเพื่อนไม่ใช่อะไรมากไปกว่า คนที่เรารู้ว่าเขาอยู่ตรงนั้นแน่นอน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

     ประมาณว่าถ้ามาถึงมหาวิทยาลัยตอนเช้า ก็จะเห็นพวกเขานั่งเล่นอยู่ที่โต๊ะตัวเดิมที่กลุ่มเราจับจองประจำไว้ ตอนเที่ยงเรียนเสร็จออกมา ก็รู้ว่าจะไปกินข้าวกับใคร ร้านไหน คืนวันเสาร์อาทิตย์ก็มีกลุ่มคนที่รับโทรศัพท์เราแน่ๆ เพื่อตอบคำถามที่สำคัญที่สุดในวัยวันแบบนั้น ว่า เฮ้ย คืนนี้พวกมึงเอายังไง? เจอกันร้านไหน? โดยสมองไม่ต้องทำงานหนัก ในการตัดสินใจว่าจะทำอะไร กับใคร เขาจะคิดอย่างไรกับเรา เราทำแบบนี้จะดีหรือเปล่า ทุกอย่างดำเนินไปโดยอัตโนมัติ ปราศจากความลังเล สงสัย วิตกกังวล ซึ่งมันทำให้ชีวิตเราง่ายมาก

     ชีวิตวัยทำงานมันจะไม่ใช่แบบนั้นน่ะสิ อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์หรือความไม่จริงใจอะไรเลย แต่มันเป็นเพราะคนที่เรารู้ว่า ‘เขาจะอยู่ตรงนั้นแน่นอน’ มีน้อยลงเรื่อยๆ จากเงื่อนไขในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย เรื่องนี้เราโทษใครไม่ได้ มันเป็นเพราะในโครงสร้างความสัมพันธ์ของเรา มีเงื่อนไขและปัจจัยอื่นๆ เข้ามาแทรกซ้อนอีกเยอะ สมองจึงต้องทำงานหนักขึ้นในการมองหาใครสักคนที่จะอยู่ตรงนั้นแน่นอน หรือว่าเป็นฝ่ายตัวเราเองที่จะอยู่ตรงนั้นแน่นอนสำหรับใครสักคน

     ความลังเล สงสัย วิตกกังวลในความสัมพันธ์ เป็นความเจ็บปวดร่วมกันของผู้คนในวัยเรา ก่อนที่จะก้าวข้ามช่วงวัยไปแต่งงาน มีลูก มีครอบครัวของตัวเอง ซึ่งก็คือสายสัมพันธ์ใหม่ที่แทรกตัวเข้ามาทดแทน หักกลบลบกับจำนวนเพื่อนเก่าที่ถูกผลักดันออกไป เพื่อให้ตัวเลข 150 ของ โรบิน ดันบาร์ ยังคงที่ไว้แบบเดิม

     นานทีปีหนจะมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมา มีหน้าเพื่อนเก่าโผล่ขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย หรือมีเมสเสจแชตจากเขาเด้งขึ้นมาบนมือถือ เรียกให้เรากลับไปรียูเนียนในงานเลี้ยงรุ่นอีกครั้ง

     ในวัยวันแบบนี้ เพื่อนคือคนที่ถึงแม้เวลาจะผ่านไปยี่สิบสามปี ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาจะส่งแชตมา เฮ้ย ปีนี้มึงจะยังไง มาไหม? ถึงแม้รู้ดีว่างานเลี้ยงรุ่นปีที่ผ่านๆ มาเราไม่เคยกลับไปร่วม และถึงแม้ว่าเขาจะลังเลสงสัยว่าชวนคราวนี้แล้วเราจะไปหรือไม่ไป ซึ่งมันไม่สำคัญเลย

     เพื่อนคือความมั่นคงทางจิตใจ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการมีชีวิตที่ดี

     ผมอยากเขียนถึงเรื่องนี้ ในวันที่ตัวเองมีเพื่อนถึงสามพันกว่าคนในโซเชียลมีเดีย มีผู้ติดตามอีกสามพันกว่าคน ทุกๆ วันที่เปิดเข้าไปดูหน้าจอโซเชียลมีเดียของตัวเอง โดยรู้สึกว่าเราทุกคนต่างก็อยู่ตรงนั้นแน่นอน เราทุกคนจะมีชีวิตที่ดีร่วมกัน แม้ว่ามันจะเกินตัวเลข 150 ของดันบาร์ไปหลายสิบหลายร้อยเท่าแล้วก็ตาม