ในวัยเด็ก เราคุ้นชินกับภาพสัตว์ใหญ่ชนิดนี้เท่าที่มีอยู่ในหนังสือแบบเรียน ตามรายการสารคดี หรือแค่ในสวนสัตว์เท่านั้นเอง วันนั้นเราได้แต่เฝ้ามองมันอยู่เงียบๆ เรียนรู้อยู่ห่างๆ จนวันที่เติบโตขึ้น ช้างก็อยู่ห่างไกลออกไปทุกทีๆ เราจึงออกเดินทางเพื่อตามหาความประทับใจในวัยเด็กนั้นอีกครั้ง ยังสถานที่ดูแลช้าง หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความรู้สึกห่างไกลนั้นก็พลันกลายเป็นความใกล้ชิดกันขึ้นได้ เมื่อ ‘หมอพลอย’ – ลาดทองแท้ มีพันธุ์ สัตวแพทย์ประจำหมู่บ้านช้างแห่งนี้ ผู้คลุกคลีกอยู่กับช้างมาตั้งแต่เด็กๆ ได้ช่วยถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับช้างในฐานะผู้เป็นเจ้าป่าที่แท้จริง เพื่อให้เข้าใจสัตว์ใหญ่ที่แข็งแรง แต่มีจิตใจนอบน้อม เมื่อถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงดูและฝึกฝน ให้เราทำความรู้จักกันและอยู่ร่วมกันด้วยดียิ่งขึ้น
ELEPHANTS THESE DAYS
ทุกวันนี้ คนไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของช้างมากขึ้น ทั้งในระดับคนทั่วไป และในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ ศูนย์ดูแลช้าง โรงพยาบาลช้าง หรือปางช้างที่เกิดขึ้นมากมาย ล้วนเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของสัตว์ใหญ่ที่น่าสงสารนี้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสถานที่ เช่น โรงเลี้ยง โรงเรือนของช้างต่างๆ รวมทั้งการรวมทีมจัดตั้งโรงพยาบาลช้าง โดยมีหมอผู้ดูแล พร้อมผู้ช่วยหมอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาสัตวแพทย์ที่หันมาช่วยกันดูแลช้างมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อช้างและทีมงานผู้ดูแลช้างคนอื่นๆ
ในขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องช้างบ้านยังคงมีอยู่ไม่น้อย สำหรับหมอพลอยแล้ว เธอให้ความสำคัญกับทั้งการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ช้าง และของผู้ดูแลช้างไปพร้อมกัน การช่วยเหลือควาญช้างก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องช้างได้อย่างตรงจุดด้วย
“การที่จะช่วยช้างได้ ก็ต้องตระหนักถึงคนเลี้ยง ในขณะที่ทุกคนหันไปช่วยช้าง ควาญช้างเองก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าความเป็นอยู่ของควาญดี เขาก็จะสนุกกับงาน เต็มที่กับงาน ช้างเองก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาไม่รักช้าง แต่เขาก็ไม่ต่างจากช้างที่ต้องการสิ่งที่ดีๆ เช่นกัน ที่สำคัญ ยังรวมไปถึงผู้ดูแลช้างทุกส่วน จะต้องพัฒนาความรู้ พัฒนาวิธีการฝึกช้าง การดูแลช้าง พร้อมเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เพื่อการเลี้ยงช้างให้ดีอย่างต่อเนื่อง”
TURNING ON WORK MODE
การดูแลช้างไม่ได้หมายความเพียงแค่การเลี้ยงดู ให้อาหาร ให้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมเท่านั้น แต่เป็นการให้ช้างได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานที่มากตามขนาดและน้ำหนักตัวไปกับทำงานที่เหมาะสมตามวัย และสุขภาพ
“สิ่งสำคัญก่อนที่จะให้ช้างทำงาน เราจะต้องดูความพร้อมของช้างและคนเลี้ยง เราจะเลือกช้างสุขภาพดี ผิวหนังไม่เหี่ยวย่น กล้ามเนื้อแข็งแรง ออกไปทำงานให้บริการนักท่องเที่ยวในส่วนของการขี่ช้างชมเมืองอยุธยา พวกเขาจะทำงานกันวันละประมาณ 6-8 ชั่วโมง และจะมีรถบรรทุกคอยรับส่งช้างในทุกๆ เช้าและเย็น มีวันหยุดเหมือนพนักงานออฟฟิศ คือ 1-2 วัน บางเชือกทำงานสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อม ช้างจะปลดเกษียณตอนอายุประมาณ 48-55 ปี แล้วแต่สภาพร่างกาย บางเชือกสุขภาพไม่ค่อยสู้ดีนัก ก็ต้องปลดเกษียณเร็วหน่อย แล้วให้อยู่ที่นี่ต่อไป เพื่อรับบริการด้านสุขภาพ ให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิดแทน ในขณะที่ช้างเล็กๆ ก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน”
Be Strong, Kind, and Humble
เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่อันตราย ไม่สนใจสิ่งใด และมีความเป็นนักเลงในตัวสูง ดังนั้น การจะเข้าไปทำความรู้จักกับเขานั้นไม่ใช่แค่จะเดินดุ่มๆ เข้าไปลูบงวง ถึงแม้จะเป็นช้างบ้านที่ได้รับการฝึกแล้วก็ตาม
“หากอยากรู้จักเขาจริงๆ สิ่งแรกคือควรมาหาเขาบ่อยๆ เริ่มแรกอาจจะมานั่งดูพฤติกรรมของช้าง พูดคุยกับคนเลี้ยงช้าง เห็นอะไรไม่เข้าใจก็ถามให้กระจ่าง เช่น การที่เขาดุ หรือต้องใช้ตะขอ นั่นคือส่วนหนึ่งของการควบคุมสัตว์ตัวใหญ่อย่างช้าง ซึ่งเรียกว่า ถ้าอยากรู้จักช้าง ก็ต้องสนิทกับควาญช้างด้วย
“จากนั้นคือการทำความเข้าใจในพฤติกรรม เช่น ช้างสะบัดหูหรือเหวี่ยงงวงไปมา อย่าคิดว่าเขากวักงวงเรียก แต่นั่นคือสัญญาณตรงกันข้าม เขากำลังหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ถ้าอยากเข้าใกล้ ก็ต้องรู้ระยะเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ที่สำคัญจะต้องมีควาญอยู่ใกล้ๆ เสมอ เพราะเขาเป็นสัตว์นายเดียว เขาจะเคารพนายของเขาคนเดียวเท่านั้น แต่เขาก็มีมุมน่ารักเยอะ อย่างพลายกิ่งแก้ว เวลาอ้อนเขาก็จะเอางวงมาวางบนตักแล้วก็หลับตา เหมือนเขาวางใจว่าอยู่ตรงนี้แล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขาแน่ๆ
“ส่วนช้างตกมันที่มักจะเห็นตามข่าว มันมี 2 กรณี คือ ช้างตกมัน และช้างอาละวาด ช้างบางตัวไม่ได้ตกมัน แต่นิสัยเหมือนอันธพาล ส่วนช้างตกมันก็คล้ายกับคนเมาเหล้า บางเชือกเมาแล้วนิ่ง บางเชือกเมาแล้วอาละวาด ก็มีลักษณะนิสัยต่างกัน สิ่งที่ทำได้คือไม่ยุ่งเกี่ยว แค่เข้าไปให้น้ำ ให้อาหาร แล้วปล่อยให้เขาอยู่ในอาการนั้นจนมันไหลออกมาหมด รวมทั้งช้างบางเชือกอาจจะโดนทำร้ายจิตใจมามากๆ เขาก็กลายเป็นตัวอันตราย ถึงกับฆ่าคนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น จะต้องมาเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งลูกช้าง หรือช้างตัวอื่นๆ อีกมากมาย ก็จะรักพวกเขาได้ไม่ยากเลย”
TRICKS AND TREATS
สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรตระหนักถึง เมื่อเจอช้างป่าหรือการเข้าหาช้างบ้านนั้น หมอพลอยได้ให้คำแนะนำไว้ว่า เมื่อเจอจังๆ ต้องหนีให้ไกลและไวที่สุด ถ้าเปลี่ยนเส้นทางได้ควรทำ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า อย่าพยายามเข้าใกล้เพื่อถ่ายรูป เพราะช้างเป็นสัตว์ที่วิ่งในระยะใกล้ได้ไวมาก
ส่วนช้างบ้าน ควรเว้นระยะการเข้าหาในเบื้องต้น และทำตามคำแนะนำของผู้ดูแลช้าง เพราะเราจะไม่มีทางรู้อารมณ์ของช้างได้ รวมทั้งการเคารพสถานที่ ทำตามกฎระเบียบและข้อห้ามต่างๆ ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของคน มากกว่าความปลอดภัยของช้าง เพราะช้างบ้านได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมและมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว
THROUGH THE EYES OF FOREIGNERS
ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ต่างจากมุมมองของชาวต่างชาติอย่าง อาสาสมัครจากประเทศอังกฤษ David Gray และ Leanne Wallace ซึ่งทำงานในหมู่บ้านช้างเพนียดหลวงมาเกือบ 1 ปี
พวกเขาบอกว่า คนอังกฤษจะเข้าถึงช้างได้เพียงแค่ในสวนสัตว์เท่านั้น ไม่สามารถใกล้ชิดหรือทำงานข้างๆ ช้างแบบนี้ได้ ซึ่งทำได้เพียงผ่านห้องแล็บที่อยู่หลังกรง และยังมองว่าช้างเป็นสัตว์ป่า ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ เป็นอันตรายอย่างมาก
แต่ความจริงแล้ว เมื่อได้มาสัมผัสจริงๆ ช้างเป็นแค่สัตว์ตัวใหญ่และเรี่ยวแรงเยอะ พวกมันไม่ได้ตั้งใจทำร้ายใคร แค่อยากอยู่ลำพังโดยไม่มีใครมายุ่ง หากเข้าไปยุ่ง มันก็จะผลักจนเหมือนโดนทำร้าย
อีกทั้งช้างไทยก็โชคดีมากที่มีสถานที่ดูแลช้างแบบนี้ เพราะทำให้ชีวิตช้างดีขึ้น ทั้งยังสามารถระดมทุนช่วยเหลือช้างได้ และช่วยให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจเกี่ยวกับช้างไทยได้มากขึ้น
ทุกวันนี้ป่าก็น้อยลงทุกที ช้างก็ต้องการที่ที่ปลอดภัย พวกเราเชื่อว่า สิ่งที่ทุกคนกำลังทำอยู่ตอนนี้คงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลและอนุรักษ์ช้างให้อยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน